พระพุทธศาสนาที่เน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา ปี 2546 เป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ม. 4

หลักศรัทธา
              ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา หมายถึงความเชื่ออย่างมีเหตุผล
อาจแบ่งความเชื่อออกเป็น 2 ประเภทง่าย ๆ คือ 
              1. ความเชื่อแบบปิดกั้นปัญญา หมายถึง การใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกเร้า หรือการบังคับให้เชื่อ โดยไม่ให้มีข้อสงสัย ข้อคำถาม แต่ให้ทำตามเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม ยึดมั่นโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล

              2. ความเชื่อแบบสื่อนำสู่ปัญญา หมายถึง ความเชื่อที่มีเหตุผล โดยผู้ศึกษาอาศัยปัญญาพิจารณา วิเคราะห์ในสิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อเชื่อแล้วก็ค้นหาข้อเท็จจริง พยายามศึกษาค้นคว้าทดลอง

หลักความเชื่อในพระพุทธศาสนาใน กาลามสูตร   กล่าวไว้ดังนี้
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ฟัง (เรียน) ตามกันมา
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะอ้างตำรา
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะโดยตรรกะ
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะอนุมานเอา
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
                 อย่าเชื่อ เพียงเพราะเห็นว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูอาจารย์ของเรา

หลักปัญญา

            ปัญญา หมายถึง ความรู้ทั่ว ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน บุคคลจะเกิดความรู้ได้ต้องอาศัยปัญญา 3 ประเภทคือ
           1) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
           2) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับตรับฟัง การเล่าเรียน หรือถ่ายทอดสืบต่อกันมา
           3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติ ฝึกหัด อบรมสัมมนา เป็นต้น

      ศรัทธาที่เกิดจากปัญญา
           ศรัทธาหรือความเชื่อเป็นสื่อนำไปสู่ปัญญา นั่นก็คือเมื่อเกิดความเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นสิ่งจูงใจให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า
หาเหตุหาผล จึงเป็นกระบวนการในการพัฒนาปัญญา กล่าวโดยสรุปดังนี้คือ

           1. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวว่าเป็นขั้นต้นที่สุด
           2. ศรัทธาที่พึงประสงค์ คือต้องเป็นความเชื่อที่มีปัญญารองรับ เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล
           3. ศรัทธาที่ใช้อารมณ์ เป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดหรือแก้ไขให้ถูกต้อง
           4. ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น เป็นศรัทธาที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากพิสูจน์ความจริง
จึงมุ่งมั่นที่จะค้นหาความรู้นั้น ๆ
           5. คุณประโยชน์ของศรัทธามี 2 ลักษณะคือ ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปิติซึ่งทำให้เกิดความสงบเยือกเย็นนำไปสู่สมาธิและปัญญาในที่สุด และศรัทธาทำให้เกิดความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ มุ่งมั่นค้นหาความรู้ที่เกิดจากความเชื่อนั้น ๆ ให้รู้แจ้งเห็นจริง นำไปสู่ปัญญาในที่สุด
           6. ศรัทธาเป็นไปเพื่อปัญญา เมื่อเกิดศรัทธาต่อเรื่องใด ๆ สิ่งใด ๆ ก็ตาม ก็คิดเห็นเหตุผล หรือค้นหาความจริงนั้น ๆ ดังนั้นศรัทธาจึงส่งเสริมค้นคิดหาเหตุผล ด้วยความพึงพอใจและเต็มใจ การขอร้องให้เชื่อก็ดี การบังคับให้ยอมรับความจริงตามที่กำหนดก็ดี การขู่ให้เชื่อก็ดี เป็นวิธีการที่ไม่ใช่สิ่งที่ก่อให้เกิดศรัทธา
           7. ในการพัฒนาปัญญา อาจกำหนดขั้นตอนที่จัดว่าเป็นระยะของศรัทธาได้ดังนี้คือ

              1) สร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามหลักกาลามสูตร
              2) ยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยใจเป็นกลาง คิดพิจารณาถึงข้อเท็จจริง
              3) พิจารณาหาเหตุผล รู้จักคิดวิเคราะห์ พิจารณาถึงที่มาของหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความคิดเห็นต่าง ๆ
              4) นำมาคิดวิเคราะห์ ทดสอบหรือทดลองด้วยเหตุผล จนเกิดความมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแท้จริง
              5) เมื่อมีข้อเคลือบแคลงสงสัย ก็สามารถสอบถามหรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความรู้ที่แท้จริง

             

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 438399เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท