การพัฒนนาภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย


ภาษาภูไท

            การมีอาชีพที่ต้องรับผิดชอบสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีความพร้อมในการเรียนในชั้นที่สูงขึ้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากด้วยว่าเด็กที่ต้องจากอกพ่อแม่มาเข้าเรียนวันแรกนั้นมีความแตกต่างกันเด็กบางคนดีใจที่ได้มาโรงเรียนมาถึงจัดเก็บกระเป๋า และสัมภาระแล้วไปเล่นที่สนามเด็กเล่นเลย บางคนต้องให้ครูไปจูงมือและพูดทักทายด้วยคำไพเราะเสนาะหู ยิ้มแย้มจูงมือพาเข้าห้องเรียนแล้วพูดจ้อๆกับคุณครู และบางคนเกาะติดแม่แจไม่ยอมปล่อยมือจากแม่พอครูเอื้อมมือจะไปรับมาก็กอดแม่แน่นร้องไห้ไม่ยอมปล่อยแม่แม่พยายามแกะมืออกและให้ครูรับไปครูต้องออกแรงอุ้มและแม่ต้องรีบกลับไปเด็กร้องหาแม่เสียงดังครูต้องอุ้มชี้ให้ดูของเล่นตามมุมต่างพร้อมกับเล่าเรื่องหรือนิทานเท่าที่จะคิดได้ขณะนั้นจนกระทั่งเขาสะอื้นเบาลงค่อยๆวางเขาลงและจับมือไว้ให้นั่งใกล้ๆครูเพราะกลัวเด็กวิ่งกลับบ้าน บางวันเมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งร้องไห้เด็กบางคนจะร้องไห้ตามเพื่อนก็มีครูต้องมีของเล่นมาไว้ในห้องให้เด็กๆดูและเล่น มีวิดิโอเพลงต่างๆให้เด็กได้ดูในช่วงมาถึงโรงเรียนใหม่ๆ มีขนมมาล่อบ้างในบางวัน  เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นแทบทุกวันในสองสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ดังนั้นช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 อาคารเด็กปฐมวัยแทบจะไม่มีครูคนใดมาแวะเวียนเยี่ยมเลยล่ะ ครูปฐมวัยต้องอดทนและเป็นนางฟ้าให้เด็กรักและไว้วางใจให้ได้เพราะเมื่อเด็กรักและไว้วางใจเห็นครูเป็นนางฟ้าแล้วการจัดกิจกรรมก็ประสบผลสำเร็จในวันข้างหน้า

              วันแรกในการจัดกิจกรรมเด็กจะสื่อสารกับครูยังไม่เข้าใจนักเพราะในเขตบริการของโรงเรียนเป็นภาษาภูไท คำที่ครูมักจะได้ยินและสัมผัสในช่วงหนึ่งเดือนแรกในการเปิดภาคเรียนที่ 1 นอกจากเสียงร้องไห้แล้วคือ "เยอะเมอเฮอ" (อยากกลับบ้าน)   "เอ๊ดมิได๊"  (ทำไม่ได้)  "เยอะเยว"(ปวดปัสสาวะ)  "เยอะคี"(ปวดอุจจาระ) ดังนั้นสิ่งที่ครูต้องทำก็คือพยายามฝึกให้เด็กพูดภาษาไทยตามครูและช่วยเหลือเด็กในทุกเรื่องจนกว่าเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาเด็กปฐมวัย
หมายเลขบันทึก: 438378เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หน่วยการเรียนรู้เด็กปฐมวัยกับความชอบของเด็ก

            เด็กปฐมวัยกับความชอบมีผลในการจัดหน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้นหน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมแต่ละวันของเด็กปฐมวัยจึงยืดหยุ่นได้เสมอ วันหนึ่งเด็กๆมีแมลงทับมาด้วยเกือบทั้งห้อง เด็กๆไม่สนใจสิ่งใดเลยนอกจากแมลงทับ คนที่มีแมลงทับก็พยายามจับอย่างทะนุถนอม จ้องมองแมลงทับไม่ให้คลาดสายตา เด็กที่ไม่มีแมลงทับมาก็นั่งล้อมเพื่อนที่มีแมลงทับ ไม่สนใจสิ่งอื่นใด วันนั้นหน่วยการเรียนรู้เป็นผีเสื้อคงไม่มีเด็กคนใดสนใจ ครูและเด็กๆร่วมกันตั้งชื่อหน่วยว่า แมลงทับ ครูต้องปรับกระบวนการใหม่ตามสถานการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะแสดงท่าทางการบินของแมลงทับตามจังหวะคำคล้องจองที่ครูแต่งขึ้น

               แมลงทับสีเขียว   ปราดเปรียวน่ารัก

   เด็กเด็กชอบนัก   เพราะปีกมันสวย

              สองปีกขยับ     บินไปได้ด้วย

   เด็กเด็กต้องช่วย   อนุรักษ์ไว้เอย

   ส่วนกิจกรรมเสริมประสบการณ์ช่วยกันเล่าเรื่องแมลงทับมีปีกสองข้างสีเขียวสวยงามมาก ออกไข่ได้ คนชอบนำมาเป็นอาหารโดยการคั่วให้สุก สับเป็นชิ้นเล็กๆปรุงรสด้วยข้าวคั่ว ต้นหอม พริกป่น รับประทานกับข้าวเหนียวอร่อยมาก ครูต้องช่วยให้เด็กเกิดอยากอนุรักษ์ให้ได้ กิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กวาดภาพระบายสีแมลงทับ ปั้นรูปแมลงทับ พิมพ์ภาพจากใบไม้ที่แมลงทับชอบกิน กิจกรรมเสรีให้เด็กเล่นตามมุมที่ชื่นชอบครูคอยสังเกตพฤติกรรม กิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กเล่นเกมบินแมลงทับแข่งขันก้น เดินกระดึ๊บๆๆเหมือนแมลงทับ ส่วนเกมการศึกษาให้เด็กเล่นเกมต่อภาพที่มีรูปแมลงทับเป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท