เพลงอีแซว ตอนที่ 20 เกาะติดเวทีการแสดง "เวทีการแสดงอิสระกับเวทีที่มีข้อกำหนด"


ติดตามชมเพลงอีแซวของเยาวชนสุพรรณบุรี 3 คณะชั้นนำได้ที่ลานโพธิ์ตลาด 100 ปีสามชุก 14 พฤษภาคม 2554

เพลงอีแซว ตอนที่ 20

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(บนเวทีเปิดอิสระกับเวทีที่มีข้อกำหนด)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

          วันนี้ ผมขอนำเอาการแสดงบนเวที 2 รูปแบบมานำเสนอให้เห็นความเหมือนที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบการแสดงผลกระทบที่ตามมาหลังจากเสร็จสิ้นการแสดงเพลงพื้นบ้านไปแล้ว ในความเป็นจริง ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านเกือบจะทุกชนิด มีการแต่งกาย เครื่องดนตรี วิธีการแสดงที่คล้าย ๆ กัน จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเหตุนี้เอง ศิลปินพื้นบ้านแขนงหนึ่ง ๆ จึงมีความสามารถที่จะเรียนรู้ในศิลปะพื้นบ้านอีกแขนงหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว และมีความเข้าใจได้
          สถานที่ โอกาส ช่วงเวลาในการแสดงแต่ละงานมีความแตกต่าง ไม่เหมือนกันในข้อตกลง ข้อกำหนดที่เจ้าของงานหรือผู้ดำเนินกิจกรรมกำหนดมาให้ จึงทำให้รูปแบบ ลักษณะของการแสดงบนเวทีในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน บางสถานที่ผู้แสดงสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างอิสระ มีความสุขกับการแสดง 3 - 4 ชั่วโมง ได้ถ่ายทอดสาระ ความรู้ ความสนุกสนาน เฮฮาอย่างเต็มที่
          แต่ในอีกรูปแบบหนึ่ง บนเวทีที่มีกฎเกณฑ์ มีกติกาเป็นข้อกำหนดให้นักแสดงจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทำให้นักแสดงมีความวิตกกังวน มิอาจที่จะแสดงออกได้อย่างอิสระเต็มที่ เนื่องจากเวทีการแสดงประเภทนี้ มีคณะกรรมการคอยเฝ้าสังเกตและประเมินความสามารถเป็นคะแนนอกมา แถมยังมีการประกวด แข่งขัน ประชันกันอีกด้วย ทำให้ผู้แสดงมีความอึดอัดอยู่มากเหมือนกันในเวลาที่กำหนดมาให้ 5 - 25 นาที

         

         

          เวทีการแสดงที่เปิดอย่างอิสระ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามชมการแสดงได้อย่างตามใจชอบ ชอบใจก็ดูนาน ไม่ถูกใจก็จากไป ผู้แสดงมีอิสรเสรีในการนำเสนอผลงานแต่ก็จะต้องอยู่ในขอบเขตของวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม มีเวลาในการนำเสนอผลงานหลายชั่วโมง การนำเสนอใส่เนื้อหาเรื่องราวที่หลากหลายได้มาก มีการผสมผสานรูปแบบวิธีการแสดงแบบต่าง ๆ ได้
          เวทีการแสดงที่มีข้อกำหนด หรืออาจจะเรียกว่าเวทีปิด เวทีการแสดงแบบนี้ มีข้อกำหนดในกฎเกณฑ์ กติกาที่จะต้องนำเสนอไปตามข้อตกลงที่เจ้าของกิจกรรมหรือเจ้าของโครงการกำหนด ยิ่งถ้ามีการแข่งขัน โดยจัดอันดับเรียงตามคะแนนรวมของคณะกรรมการ 3 - 5 คนหรือมีคณะกรรมการมากกว่านั้นยิ่งมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้แสดงมาก เพราะทุกทีม ทุกคณะก็มุ่งหวังที่จะได้รับรางวัลสูงสุด อันดับที่ 1 (รางวัลชนะเลิศ) กันทั้งนั้น
          ผลกระทบที่ตามมาหลังจากจบการประกวด แข่งขัน คือ ความสมหวัง ดีใจ ภาคภูมิใจในความสำเร็จ อีกความรู้สึก ตรงกันข้าม เสียใจ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยลืมนึกไปว่า การชนะหรือพลาดในวันนั้นเป็นเพียง 1 ในอีกหลายสิบ หลายร้อยเวที ที่ยังมีโอกาสได้ขึ้นไปแสดงความสามารถ การแข่งขันที่ไหนก็ย่อมที่จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ควบคู่กันไปซึ่งการแพ้หรือชนะอาจจะมิได้อยู่ที่ความสามารถของนักแสดงเพียงอย่างเดียว แต่การแข่งขันยังถูกควบคุมด้วยกฎ เกณฑ์ กติกาอีกหลายข้อ รวมไปถึงความสามารถของคณะกรรมการผู้ตัดสินก็ส่งผลในการแพ้ชนะด้วย
          เมื่อผลการแข่งขันประกาศออกมา จึงเป็นที่มาของความพึงพอใจ ไม่พึงพอใจ พุ่งเป้าไปที่คู่แข่ง ไปที่คณะกรรมการ และผู้จัดกิจกรรมนั้น ๆ โดยลืมนึกถึงตนเอง ลืมไปว่าสิ่งที่เราได้แสดงออกมาทั้งหมดอยู่ในกรอบของกติกาครบถ้วนหรือยัง (หมายถึงมองที่ตัวเราเองด้วย) หยุดคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบก็จะเกิดผลดีต่อตนเองและเพื่อนร่วมกิจกรรม ผมเป็นผู้หนึ่งที่นำคณะนักแสดงไปประกวด แข่งขัน ประชันเพลงพื้นบ้านมาหลายครั้ง นับเป็นร้อย ๆ ครั้ง ผิดหวังก็มาก บางกิจกรรมเด็ก ๆ ของผมตกรอบแรกไปเลย ทั้งที่การแสดงไม่ได้เป็นรองทีมอื่น แต่ด้วยองค์ประกอบหลาย ๆ ประการทำให้ผลงานออกมาดูมีคุณภาพต่ำไป ก็ต้องมาปรับปรุงกันใหม่ ยังมีโอกาสข้างหน้าให้ได้ไปแก้ตัวอีก ยกเว้นในบางเวทีที่ไม่สามารถย้อนกลับไปร่วมงานได้อีกก็ต้องขอผ่านตลอดไป
          ในยุคปัจจุบันนี้ ท่านผู้รู้ได้กำหนดวิธีการในการประกวด แข่งขัน ประชันความสามารถแบบใหม่ ที่แสดงความสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน เมื่อจบการแข่งขันมีแต่ความพึงพอใจ มีความสมานสามัคคี ต่างก็คิดได้ว่าควรที่จะปรับปรุงผลงานอย่างไร นั่นคือการประกวด ประชัน การแข่งขันแบบจัดระดับคุณภาพ ได้แก่
          - ระดับคุณภาพดีเยี่ยม (เหรียญทอง)       9 - 10  คะแนน
          - ระดับคุณภาพดีเด่น   (เหรียญเงิน)        8 - 8.9 คะแนน
          - ระดับคุณภาพดี        (เหรียญทองแดง) 7 - 7.9 คะแนน
          - ระดับคุณภาพชื่นชม  (ชมเชย)            6 - 6.9 คะแนน
          เมื่อจัดเป็นระดับคุณภาพก็จะทำให้ทีมนักแสดง มีอันดับเดียวกันได้หลายทีม หมายความว่า ในการประกวด แข่งขันครั้งนั้น อาจจะมีผู้ที่ได้รับรางวัลสูงสุดมากกว่า 1 ทีมก็ได้ หรืออาจจะไม่มีผู้ที่ได้รับรางวัลสูงสุดเลยแต่เป็นรางวัลรองลงไปและได้รับรางวัลนั้นหลายทีม วิธีการนี้เป็นลดความขัดแย้งได้บ้างหรืออาจจะไม่มีความขัดแย้งเลยเพราะรางวัลที่ได้รับอยู่ในช่วงของคะแนนที่จัดเอาไว้เป็นกลุ่ม จากคะแนนต่ำสุดถึงสูงสุดของระดับหนึ่ง ๆ จะมีหลายทีมก็เป็นไปได้ ตามคุณภาพที่แสดงออกมา เมื่อไม่มีการแข่งขันเอาความเป็นหนึ่งเดียวก็สามารถที่จะลดความเป็นตัวตนลงได้
          ผมเคยได้เขียนถึงเรื่องของการประกวด แข่งขัน ประชันเพลงพื้นบ้านในบทความก่อน ๆ มาบ้างแล้วว่า วงเพลงพื้นบ้านบางวง ได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่มีเวทีให้ไปแสดงหลังจากที่ได้รับรางวัล หรือไม่มีสัญญาว่าจ้างให้ไปแสดงรับใช้สังคมอีกเลยหรือมีก็น้อยเต็มที  แตกต่างไปจากบางทีมงานได้รับรางวัลรองลงไป หรืออาจจะเข้าประกวดแต่ไม่ได้รับรางวัล กลับมีงานแสดงมีชื่อเสียงในระดับมืออาชีพได้ นั่นเพราะมีการมองตนเอง ปรับปรุงและพัฒนาไปสู่การแสดงอาชีพที่สนองตอบต่อผู้ชมส่วนใหญ่จนมีผู้ให้การยอมรับ มีงานแสดงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
          ที่ผมต้องยกเอามากล่าวในตอนที่ 20 ของเกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว ก็เพราะ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2554  ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ที่ เวทีลานโพธิ์ ตลาด 100 ปี สามชุก จะมีการประชันเพลงอีแซว 3 คณะ ซึ่งได้ผ่านการคัดสรรแล้ว โดยมี บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน-เพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรี ในปีนี้ ส่วนในโอกาสต่อ ๆ ไป บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือสังคม ทั้งด้านการศึกษา กีฬา นันทนาการและอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องทุกปี

         

           ผมขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เอาไว้ ณ โอกาสนี้ ที่ท่านได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น แขนงเพลงพื้นบ้านอย่างลึกซึ้งและเข้าถึงตัวบุคคลทำงานเพลงพื้นบ้านจริง ๆ ติดตามชมความสามารถของเยาวชนสุพรรณบุรี 3 คณะชั้นนำได้ที่เวทีลานโพธิ์ ตลาด 100 ปีสามชุก ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 นี้ ครับ

                 

ติดตามการประชันเพลงอีแซวประกอบการแสดงอื่น ๆ สนับสนุนโดย บสก.ที่ลานโพธิ์สามชุก

   

หมายเลขบันทึก: 438368เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท