อภิเษกสมรส และ เสกสมรส


คำว่า "อภิเษกสมรส" และ "เสกสมรส" ดูๆ ก็มาจากที่มาเดียวกัน แต่คำหนึ่งเขียน -เษก อีกคำหนึ่งเขียน -เสก ไม่มีใครเขียนผิดนะครับ ถูกตามหลักภาษาเป๊ะทีเดียว เรื่องนี้มีความเป็นมาสั้นๆ ดังนี้ครับ

 

คำว่า อภิเษก นั้น มาจาก  อภิ + เสก  อธิบายได้ดังนี้ :-

     เติมอุปสรรค (prefix) "อภิ" (อะพิ) กับ  คำนาม "เสก" (เสกะ)

แต่มีหลักสนธิสระอยู่ว่า เมื่อ "ส" อยู่หลังสระ "อิ" ให้เปลี่ยน "ส" เป็น "ษ" 

อภิ+เสก จึงกลายเป็น อภิเษก  เพราะเสือกลายเป็นฤษี นี่เอง ;)

อภิ+สิทฺธ จึงกลายเป็น อภิษิทฺธ ในภาษาสันสกฤต (ส่วนในภาษาบาลีไม่มี ษ จึงได้เป็น อภิสิทฺธ เช่นเดิม)

 

คำว่า เสก (เสกะ) ที่เป็นแกนหลักของสองคำข้างต้นนี้ แปลว่า การรดน้ำ  มีที่มาอีกนั่นแหละครับคือ มาจาก รากศัพท์ชนิดกริยา (เรียกว่า ธาตุ) คือ √สิจฺ (sic) 

คำว่า สิจฺ ที่เป็นกริยา แปลว่า รดน้ำ พรมน้ำ เมื่อนำมาแผลงเป็นนาม ก็ยืดสระอิ เป็นสระเอ  อักษร จฺ นั้นเลื่อนฐานเป็น กฺ ได้ แถมสระอะอีกทีตามหลักไวยากรณ์ (อักษรที่มีจุดข้างล่าง เมื่อเติมสระเข้าไป ให้เอาจุดออกครับ) จึงกลายเป็น "เสก"

เมื่อเติม อภิ ข้างหน้าคำนาม เสก จะได้ความหมายเพิ่ม  โดยที่คำว่า "อภิ" แปลว่ายิ่งใหญ่ คำว่า "อภิเษก" จึงอาจแปล ว่า พิธีรดน้ำใหญ่ หรือ การรดน้ำในพิธีสำคัญ เช่น ในพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ พระราชพิธี ฯลฯ

คำหลักอีกคำ คือ สมรส หมายถึง การแต่งงาน, อภิเษก+สมรส หรือ เสก+สมรส แปลได้่ง่ายๆว่า การสมรสที่มีการรดน้ำ

ท่านอาจนึกออกว่า มีราชพิธีหลายอย่างที่ใช้คำว่า อภิเษก ก็เนื่องจากธรรมเนียม นับแต่สมัยโบราณ ที่ใช้การหลั่งน้ำประกอบพิธี ท่านจึงใช้คำว่า อภิเษก ประกอบคำเรีัยกพิธีต่่างๆ เช่น ราชาภิเษก (คำนี้เป็นคำสันสกฤตแท้) เทวาภิเษก ปราบดาภิเษก รัชดาภิเษก ฯลฯ  (คำว่า เสกสมรส หรือ อภิเษกสมรส คงจะประกอบศัพท์ขึ้นในภาษาไทยนี้เอง)

 

ตามหลักการใช้ราชาศัพท์ของไทย  คำว่้า "อภิเษกสมรส" ให้ใช้กับพระบรมราชวงศ์ ส่วน "เสกสมรส" ให้ใช้กับพระราชวงศ์ทั่วไปครับ

หมายเลขบันทึก: 436987เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2011 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

      แวะมาเยี่ยมค่ะ  ดีจังได้อ่านบันทึกดีๆๆ เหมือนกับมาทบทวนความรู้ เพิ่มความรู้ให้มากขึ้น

ระลึกถึงค่ะ...

สวัสดีครับ คุณครูพี่Ico48 เมียวดี

พี่เปลี่ยนเสื้อแล้ว อิอิ

ขอบคุณมากครับ พอดีช่วงนี้คนถามกันเยอะ เลยเอามาเขียนไว้ตรงนี้ครับ ;)

ระลึกถึงเช่นกันครับ

ขอบคุณมากๆ ค่ะ

สงสัยอยู่ตั้งหลายวันค่ะ คราวนี้ ชัดเจน มากๆ ค่ะ

สวัสดีครับ คุณIco48 ดอกผักบุ้ง

ขอบคุณมากครับ คำนี้เพื่อนๆ ถามกันเยอะครับ

เมื่อวานดูทีวีแล้ว กำลังสงสัยพอดีเลยครับ

ขอบคุณครับ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

เผอิญลองค้นคำคำนี้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตราชสถานแล้วไม่เข้าใจค่ะ เพราะพจนานุกรมบอกว่า

อภิเษก ก. แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน.

(ส.; ป. อภิเสก).

เลยสงสัยค่ะว่า ภาษาบาลี อภิเสก ทำไมไม่สนธิล่ะคะ? แล้วคำว่า เสก (เสกะ) เป็นคำยืมจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตค่ะ?

ขอบพระคุณค่ะ^o^

สวัสดีครับ คุณ Ico48 อ.นุ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะครับ

 

สวัสดีครับ ครูภาษาไทย

อภิเษก แปลว่า แต่งตั้งด้วยการรดน้ำ เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า อภิเษก นะครับ ยังมีความหมายอื่นๆ เช่น การอาบน้ำในพิธีของฮินดูก็ได้ ความหมายหลักอยู่ที่พิธีการรดน้ำ พรมน้ำ นะครับ 

เสก เป็นคำจากทั้งบาลี และสันสกฤตครับ แต่ในภาษาบาลี เมื่อสมาสกันแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนเสียง คือ ไม่ต้องสนธิ  ภาษาบาลีไม่มี ษ นี่ครับ ;)  

(สำหรับการอธิบายเรื่องสนธิข้างต้นนี้อธิบายอย่างรวบรัดนะครับ หลักจริงๆ ยืดยาวกว่าีนี้มากกกก)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณมากค่ะ กระจ่างชัดเช่นเคยค่ะ ^o^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท