แม่หญิงเชียงตุง


เชียงตุง

 

แม่หญิงเชียงตุง

 

            ร่องรอยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคม  ได้บันทึกเรื่องราวบทบาทของผู้หญิงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ว่า   เป็นกลุ่มผู้หญิงที่บทบาทสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มชน

            ทั้งในฐานะของแม่และภรรยา ที่ต้องให้การแลและจัดหาจำเป็นสำหรับครอบครัว  เช่นเดียวกับผู้หญิงเชียงตุง ที่มีลักษณะพื้นฐานทางสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งจะให้เกียรติยกย่องเพศหญิงในฐานะของผู้ให้กำเนิดและสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์  ทั้งนี้จากการที่ได้มีโอกาสเยือนถิ่นเชียงตุงถึงสองครั้งสองครา  จึงทำให้ได้พูดคุยและพบเห็นการแสดงบทบาทในด้านต่าง ๆ ของเพื่อนหญิงชาวเชียงตุงแต่ช่วงวัย  จากข้อเท็จจริงที่สัมผัสจึงอยากนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแม่หญิงเชียงตุงดังนี้

 

บทบาทเชิงอุดมการณ์จากอดีตกาลสู่กาลสมัย  :

 

             นับจากอดีตผู้หญิงเชียงตุงก็เฉกเช่นผู้หญิงไทยทั่วไป  ที่ถูกคาดหวังจากสังคมให้ทำหน้าที่ของการเป็นเมียและแม่ที่สมบูรณ์มาตั้งแต่โบราณกาล โดยอาศัยกฎเกณฑ์พื้นฐานทางชีววิทยาว่า  ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถตั้งครรภ์และผลิตมนุษย์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้    โดยนัยเช่นนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งการตีความในเชิงวัฒนธรรมที่มองว่า  เป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับแวดวงของบ้าน โดยมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับงานบ้าน   การเลี้ยงลูกและงานการผลิตในครัวเรือน   

             จากอุดมการณ์ครอบครัวที่ตรึงผู้หญิงไว้กับบทบาทของการเป็นเมียและแม่ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากบนโลก รวมทั้งผู้หญิงเชียงตุงจึงต่างธำรงความเชื่อร่วมกันว่า  บทบาทดังกล่าวเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดที่ต้องแสดงและเป็นบทบาทที่ดูประหนึ่งว่า จะปฏิเสธไม่ได้       ประกอบกับกระบวนการกล่อมเกลาต่าง ๆ ของสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม  ล้วนหล่อหลอมเน้นย้ำให้ผู้หญิงต้องยอมจำนนต่ออุดมการณ์ดังกล่าว ด้วยความภาคภูมิใจ  ดังเช่นคำบอกเล่าของนางจอมคำ อายุ  50  ปี  แห่งบ้านเชียงคุ้ม  ซึ่งกล่าวถึงหน้าที่ของความเป็นหญิงอย่างเป็นสุขใจว่า

             “  ข้าเจ้าอยู่บ้านทำตุงขาย  คอยดูแลเตรียมอาหารให้คนในบ้านทั้งหมด 6 คนและช่วยเหลือลูกสะใภ้เลี้ยงหลานชายอายุ 2 ปี   เพราะเขายังไม่เคยมีลูกอ่อน ต้องคอยบอกกล่าวบ้าง   ทั้งยังแบ่งเวลาว่างในการช่วยเหลืองานวัด  งานในหมู่บ้าน  โดยเฉพาะเวลามีงานต่าง ๆ ที่ต้องดูแลเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน  ซึ่งเพื่อน ๆ ที่อายุรุ่นเดียวกับข้าเจ้าก็มีลักษณะเหมือนกัน  และเราคิดว่า  การทำงานเหล่านี้  ทำให้ผู้หญิงเรามีความสุข  “

              ซึ่งอุดมการณ์หรือค่านิยมในอดีตของสังคมที่มีต่อบทบาทของผู้หญิงในแง่นี้ ยังคงดำรงอยู่แม้ว่า  สภาพความเป็นจริงของเชียงตุงจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ  ผู้หญิงมิได้มีบทบาทเฉพาะการเป็นเมียและเป็นแม่  หรือ หน่วยผลิตภายในบ้านเท่านั้น  หากแต่ได้เปลี่ยนบทบาทในฐานะเป็นหน่วยการผลิตนอกบ้าน คือ  การทำงานเพื่อหาเงินเข้าบ้านเฉกเช่นบทบาทของผู้ชายด้วย  

 

แม่ค้า  : ตัวตนทางเศรษฐกิจของแม่หญิงเชียงตุง

 

            บทบาทของผู้หญิงในเศรษฐกิจเชียงตุงปัจจุบันนั้น  เป็นทั้งความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางเศรษฐกิจในมุมมองทางวัฒนธรรมจึงนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง

            ในวัฒนธรรมเชียงตุง  บทบาทของผู้หญิงมิใช่เพียงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนคอยปรนนิบัติสามี  หากแต่ยังมีส่วนร่วมในการผลิตของครอบครัวอย่างเต็มที่  แรงงานผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการผลิต ส่วนการบริโภคในครัวเรือนนั้น ผู้หญิงยังเป็นผู้จัดการใหญ่ ที่มิได้เพียงการทำครัวเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น หากแต่รวมเป็นถึงผู้กำหนดการใช้ทรัพยากรในครัวเรือนทั้งหมดทุกอย่าง  นับแต่การเก็บกันส่วนผลผลิตเพื่อการกินการขาย เป็นผู้เก็บเงินสดของครัวเรือนและตัดสินใจในการซื้อเครืองอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เข้าครัวเรือน 

             ดังเช่น  การที่ได้มีโอกาสไปแวะเยี่ยมครัวเรือนที่หมู่บ้านป่าแดง  ซึ่งที่บ้านมีอาชีพทำแคบหมู  น้ำพริกถั่วเน่า  พบว่า   ในบ้านมีผู้ชาย 5  คนช่วยกันโม่น้ำพริก และบรรจุใส่ถุง  รวมทั้งวุ่นวายกับกิจกรรมทอดแคบหมู  โดยไม่มีผู้หญิงช่วยทำงานเลย  จึงสอบถามถึงว่า  ผู้หญิงในบ้านไปไหน  ได้ความว่า  ผู้หญิงไปขายของที่ตลาด  เพราะผู้หญิงช่างพูดคุยเจรจาต่อรองจึงมีหน้าที่นำของไปขาย  ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้หลาย ๆ บ้าน   ดังนั้นเมื่อเราลองเดินสำรวจกาดหลวงเมืองเชียงตุง  จึงพบเห็นแม่ค้าหลากหลายวัยจำนวนนับร้อยคน  ท่าทางคล่องแคล่ว นำสินค้าประเภทต่าง ๆ    มาจำหน่ายตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม   เครื่องใช้ไฟฟ้า  อาหารสดอาหารแห้ง  ในขณะที่พ่อค้าชายมีจำนวนแทบนับได้

            ทั้งนี้การเป็นแม่ค้าของแม่หญิงเชียงตุงปรากฎให้เห็นโดยทั่วไป แม้กระทั่งเมื่อเดินทางไปเขตรอบนอกเมืองเชียงตุง ก็จะพบเห็นเพิงร้านค้าขนาดเล็ก สร้างแบบชั่วคราวตั้งอยู่ริมถนนในย่านกลางชุมชน  มีแม่ค้าหญิงสาววัยรุ่นในหมู่บ้านมานั่งขายสินค้าจำพวกเครื่องดื่ม  ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ทั้งเป็นสินค้าที่ผลิตในหมู่บ้าน  เช่น  ขนมกระบองถั่วลันเตา  ซึ่งนำเอาเมล็ดถั่วลันเตาแห้งแช่น้ำให้นุ่ม  จากนั้นจึงนำมาชุบแป้งปั้นเป็นแผ่นบาง  ทอดในน้ำมันให้เหลืองกรอบ  นิยมรับประทานเป็นของว่างสำหรับคนทุกวัย  นอกจากนั้น  ก็จะมีขนมสำเร็จรูปบรรจุถุงนำเข้าจากพม่า  จีนและไทย  รวมทั้งน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งในแต่ละจะมีลูกค้าหลากหลายวัยแวะมาอุดหนุน  โดยเฉพาะกลุ่มชายหนุ่ม 

            โดยนัยนี้ ผู้หญิงจึงมีบทบาทสำคัญต่อทั้งเศรษฐกิจของเมืองเชียงตุงและของครัวเรือน นับจากการนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนมาขายในตลาด  เพื่อแปรสภาพเป็นเงินตราสำหรับการซื้อสินค้าที่ผลิตเองไม่ได้ และเพื่อการออมของครัวเรือน    

            วิถีตลาดเมืองเชียงตุง  เป็นภาพหนึ่งที่บ่งบอกถึงพลังแห่งหญิงในด้านเศรษฐกิจ  ในเขตเมืองเชียงตุงจะมีตลาด 2 ประเภทคือ กาดหลวงประจำเมือง ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด  ตั้งอยู่กลางตัวเมือง  มีสินค้านานาชนิด ทั้งสินค้าพื้นบ้าน  นำเข้าจากไทย  พม่าและจีน  ตลาดนี้จะเริ่มมีการซื้อขายตั้งแต่เช้าและจะวายหรือเลิกในตอนเที่ยง 

            ในขณะที่ตลาดเช้ามีจำนวน  4 แห่ง  กระจายในจุดต่าง ๆ  ซึ่งตลาดลักษณะนี้จะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณตีสี่ครึ่งถึงเจ็ดโมงเช้า ที่ต้องจุดตะเกียงเจ้าพายุเพื่อให้ความสว่างในการซื้อขาย   มีลักษณะเป็นตลาดแบบง่าย ๆ ไม่ได้มีการตั้งอาคารร้านค้าแบบถาวร  มีเพียงตั้งหรือแคร่ไม้ไผ่ที่กลุ่มแม่ค้าแต่ละคนจัดเตรียมมาใช้สำหรับวางสินค้า   ทั้งนี้แม่ค้าบางรายก็จะใช้เพียงถาดที่วางปิดกระปุง หรือกระสอบสำหรับวางสินค้าที่นำมาขาย  ลักษณะของสินค้าที่นำมาขายมีตั้งแต่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์  ไก่ ปลา ที่หาได้ตามคูคลอง  ผักพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ  และอาหารพื้นบ้านที่นิยมคือ  ข้าวฟั่ง , ขนมจีน  ข้าวเหนียวนึ่งใส่สมุนไพรสีเขียว สีเหลือง   รวมทั้งสินค้าอุปโภคพื้นฐานเช่น  สบู่  ยาสีฟัน  น้ำปลา ฯลฯ

            ในลักษณะนี้  ผู้หญิงเชียงตุงจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนที่เกือบดูเสมือนหนึ่งว่าสูงกว่าผู้ชาย   ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ออกเรือนไปแล้ว      หากแต่ผู้หญิงสาวก็เป็นผู้สร้างเศรษฐกิจหลักของครัวเรือนเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมของชนบทที่  ครอบครัวส่วนมากยังคงคาดหวังความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจากลูกสาวมากกว่าผู้ชาย   เพราะลูกสาวคือคนที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรา และทำหน้าที่สืบทอดผีบรรพบุรุษประจำตระกูล      ในขณะที่ลูกชายจะได้รับความคาดหวังว่า  จะเป็นผู้นำเอาเกรียติยศชื่อเสียงอำนาจมาสู่ครัวเรือน  

            ดังนั้นในยามที่กระแสเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์แพร่สะพัดสู่ดินแดนต่าง ๆ  เมืองเชียงตุงก็มิอาจหลีกเร้นต่อกระแสที่รุกเร้าเพื่อความพยามในการครอบงำที่มากขึ้นทุกขณะ       ทำให้ลูกสาวของหลายครัวเรือนต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อไปรับจ้างทำงานตามที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมืองหรือในเขตประเทศไทย   พร้อมทั้งพยายามเก็บเงินรายได้จากน้ำพักน้ำแรงกลับบ้านโดยหวังว่า  จะสามารถนำเอาไปทำทุนอะไรสักอย่างที่บ้านเกิด  หรือ เพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่ที่มั่นคงสวยงามให้พ่อแม่ หรือแม้กระทั่งเก็บไว้สำหรับการจัดงานพิธีบวชให้แก่น้องชาย ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้หญิงและครอบครัวที่สามารถประพฤติตนได้ตามความคาดหวังและอุดมคติทางสังคม   อีกทั้งยังสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างผู้หญิงกับประเพณีพิธีกรรมในพุทธศาสนา ดังปรากฎถึงการแสดงบทบาทเป็นอุปัฎฐากใหญ่ของวัด จากการทำหน้าที่เป็นแม่งานในการเตรียมงานด้าน ๆ เช่น   อาหารเลี้ยงคนมาร่วมงาน   วัสดุเครื่องแต่งดา

แม่หญิง :  พลังเงียบที่สืบสานขับเคลื่อนจารีตประเพณี

         

            จากการได้มีโอกาสในการร่วมประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ  ของเมืองเชียงตุง ทำให้มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความคล้ายคลึงทางความเชื่อระหว่างคนไทยกับคนเชียงตุง  คือ  เชื่อว่า  ผู้หญิงมีพลังอำนาจพิเศษหรือลึกลับบางประการที่อาจทำให้ของขลังเสื่อมฤทธิ์เดช  หรือเป็นมลทินต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้กระทั่งทำให้ความเป็นชายเสื่อมลง    จึงทำให้มีการกำหนดข้อปฏิบัติบางประการให้ผู้หญิงพึงปฏิบัติต่อเพศชายเช่น   การไม่ซักผ้าถุงของผู้หญิงร่วมกับเสื้อของผู้ชายและไม่นำผ้าถุงแขวนตากแดดในระดับเดียวกับเสื้อของผู้ชาย   ฯลฯ

             อีกทั้งจากความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษ  ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาคเหนือของไทย  ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ยังคงมีการถือปฏิบัติในระดับครัวเรือน โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ววิญญาณจะยังคงคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานในรูปแบบของเทวดาประจำบ้าน   ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมการบูชาเทวดาประจำบ้าน   ซึ่งในตอนเช้าของทุกวันหลังจากทำอาหารสำหรับครอบครัวเสร็จ ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านจะทำหน้าที่นำดอกไม้   ข้าวสุกและขนม     มาเซ่นไหว้บูชาเทวดาประจำบ้านในทุกวัน พร้อมทั้งกล่าวอ้อนวอนให้เทวดาช่วยดลบันดาล คุ้มครองรักษาสมาชิกทุกคนในครัวเรือนให้มีความสุข  ความเจริญและมีความปลอดภัยในชีวิต  ทั้งนี้ในระหว่างที่แม่บ้านนำของเซ่นไหว้เทวดาประจำบ้าน  ก็มักจะมีลูกชายลูกสาวคอยนั่งดูอยู่ใกล้   โดยเฉพาะลูกสาวซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเธอจะถูกพร่ำสอนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและคำกล่าวบูชาในการเซ่นไหว้เทวดาประจำบ้าน    เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  อันจะช่วยสร้างสิริมงคลให้แก่ครอบครัวในอนาคตต่อไป  ซึ่งสิ่งนี้จึงสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับเพศหญิงในการเป็นแกนหลักของพิธีกรรม  และเป็นผู้ทำหน้าที่อบรมสืบทอดประเพณีพิธีกรรมแก่บุตรหลาน  

               อีกทั้งจากความเชื่อที่ว่า   เพศหญิงมักจะมีความสามารถพิเศษในการสื่อสารกับวิญญาณ   ซึ่งอาจก่อให้เกิดคุณและโทษได้   สำหรับในกรณีที่อาจเกิดโทษก็ต้องมีการปิดกั้นการสื่อสารนั้น ดังเช่นจากการที่ได้แวะศึกษาหมู่บ้าน  2 แห่ง  บริเวณรอบนอกเมืองเชียงตุง จะพบว่า  มีผู้หญิงหลายคนผูกเส้นด้ายสีแดงไว้ที่ต้นแขนซ้าย  สอบถามได้ความว่า   เป็นผู้หญิงที่มีสถานภาพเป็นหม้ายเนื่องจากสามีเสียชีวิต  และสำหรับผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตทุกคนจะมีเส้นด้ายที่ถักทอและปลูกเสกเป็นยันต์   ผูกติดต้นแขนทุกคน  โดยเหตุผลว่า  หากไม่ผูกยันต์ดังกล่าว   พวกเธอมักจะฝันถึงสามีที่ตายแล้วมาหา   ซึ่งอาจจะทำให้เจ็บป่วยได้   ดังนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่จึงสมัครใจผูกด้ายยันต์ต้นแขน  แม้ว่า  บางคนต้องผูกนานนับสิบปี     

               อย่างไรก็ตามแม้ว่า ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมพื้นบ้าน  หากแต่ในส่วนของพิธีกรรมทางพุทธศาสนากลับพบว่า  ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการทำบุญ แต่ไม่มีบทบาทในฐานะผู้นำหรือผู้ประกอบพิธีกรรมเฉกเช่นผู้ชาย   โดยจะมีหน้าที่เพียงให้ความสะดวกในการทำบุญ  เช่น  การตระเตรียมเครื่องประกอบพิธี     การช่วยเหลืองานบุญให้ลุล่วงไปด้วยการลงแรงงาน  หรือ การประกอบอาหารเพื่อรับรองผู้คนที่มาร่วมงาน   แต่กระนั้นผู้หญิงก็พึงพอใจและพยายามช่วยเหลืองานต่าง ๆ  อย่างเต็มความสามารถ    จากการสอบถามได้ความว่า ผู้หญิงมีความเชื่อว่า    การที่พวกเธอไม่มีมีสิทธิบวช จึงมีหน้าที่สนับสนุนจรรโลงพุทธศาสนาด้วยการบุญให้มากกว่าผู้ชาย    ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า  ตนเองมีบุญอยู่ก่อนแล้ว

               ทั้งนี้ผู้หญิงเชียงตุงไม่ได้มีความรู้สึกว่า  ตนเองด้อยกว่าผู้ชายในการเรื่องของการทำบุญหรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาแต่อย่างใด    โดยพวกเธอมีมุมมองต่อเรื่องความเท่าเทียมว่า  เป็นเรื่องความความเหมาะสมและความพอใจ   ซึ่งพวกเธอสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งที่ควรทำ  โดยมิต้องเรียกร้องว่า  จะต้องกระทำในสิ่งเดียวที่ผู้ชายทำ  ความเป็นจริงของแนวคิดนี้ปรากฏจากการที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกซึ่งความรื่นเริงได้อย่างเสรีและเท่าเทียมผู้ชาย   ดังเช่น  การที่เราได้เข้าร่วมพิธีบวชพระของวัดเชียงคุ้ม  ซึ่งจะมีการจัดขบวนแห่ผู้ที่จะบวชพระไปรอบ ๆ ย่านเขตเมืองเชียงตุง   ในขบวนแห่ก็จะมีกลุ่มผู้หญิงกลุ่มใหญ่ถือเครื่องบูชาในงานบวชเข้าร่วมในขบวนแห่   ในขณะที่ผู้หญิงอีกกลุ่มก็นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านร่วมบรรเลงในขบวนพิธี  และหลังจากนั้นเมื่อมีการเฉลิมฉลองงานบวช  ก็จะพบเห็นกลุ่มผู้หญิงหลายสิบคนร่วมรำวง  ฟ้อนรำอย่างสนุกสนานกับผู้ชาย  และมักจะมีบทบาทเป็นกลุ่มผู้นำในการรื่นเริง

 

ขบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของแม่หญิงเชียงตุง 

 

               คำกล่าวที่ว่า  ในสังคมที่ค่อนข้างเสมอภาคในเรื่องอำนาจระหว่างชายและหญิงนั้น  ผู้หญิงมักจะสร้างความร่วมมือผูกพันกับผู้หญิงด้วยกัน  และกับกลุ่มญาติผู้หญิง  เพื่อให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันสามารถลุล่วงไปด้วยดี   คงสามารถอธิบายถึงการรวมกลุ่มของผู้หญิงเมืองเชียงตุงได้เป็นอย่างดี 

              จากลักษณะสังคมของเชียงตุงที่ยังคงเรียบง่าย  มีการแข่งขันน้อย  ทำให้ขอบเขตของงานบ้านและงานนอกบ้านของผู้หญิงไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด    โดยเฉพาะในเขตรอบ ๆ เมืองเชียงตุง  ที่มักจะพบเห็นภาพชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้หญิง  นับจากช่วงเวลาประมาณแปดโมงเช้าหลังจากเสร็จงานประจำวันของครัวเรือน  ผู้หญิงวัยต่าง ๆ  รวมกลุ่มกันทำงาน เช่น  การปักผ้า  การทำช่อ ทำตุง หรืองานจักสาน  ในระหว่างการทำงานก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องคนในครอบครัว  การเลี้ยงลูก  อาหาร  การเพาะปลูก  ข่าวสารทางวิทยุโทรทัศน์  หนังละครต่าง ๆ  รวมทั้งเรื่องราวความเคลื่อนไหวของคนในหมู่บ้าน  จนถึงเวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น  ก็จะแยกย้ายไปจัดเตรียมอาหารเย็นและทำงานบ้านต่าง ๆ  ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ผู้หญิงมีเวทีทางสังคมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน  และ สามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกับการดูแลครอบครัว  อีกทั้งงานที่กลุ่มผู้หญิงเลือกทำเพื่อการสร้างรายได้  มักเป็นงานที่มีทักษะพื้นฐาน เช่น  การทำตุง  การปักผ้า และการจักสานกล่องใส่ข้าวที่ทำจากไม้ไผ่   ในขณะที่ตลาดเพื่อรองรับผลิตผลก็มีความชัดเจน  โดยส่วนใหญ่ล้วนแต่มีนายทุนจากเชียงใหม่ไปว่าจ้างให้ผลิต

                ดังนั้น เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นในชุมชนทั้งงานส่วนบุคคล  เช่น  งานบวช  งานขึ้นบ้านใหม่  งานแต่งงาน หรืองานชุมชน เช่น  งานประเพณีต่าง ๆ ผู้หญิงก็จะมีการรวมกลุ่มตามธรรมชาติเพื่อช่วยเหลือและดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง   ซึ่งจากการพูดคุยกับตัวแทนผู้หญิงในวัยต่าง ๆ  สรุปความได้ว่า  เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ในชุมชน จะมีการรวมกลุ่มและแบ่งงานกันตามความถนัดหรือความเหมาะสม   เช่น ผู้หญิงสาวและวัยกลางคนซึ่งได้รับการยอมรับว่า  มีความชำนาญการด้านการประกอบและถนอมอาหาร ก็จะทำหน้าที่ในการประกอบอาหาร และคอยดูแลอาหารเครื่องดื่มสำหรับเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมงาน ซึ่งในการทำงานร่วมกันนั้น สมาชิกในกลุ่มจะมีการเลือกสรรผู้ที่กลุ่มยอมรับว่า  มีความสามารถหรือชำนาญเป็นหัวหน้ากลุ่ม  และหัวหน้ากลุ่มจะเลือกสรรสมาชิกแกนนำกลุ่มเพื่อเป็นคณะทำงาน  ทั้งนี้ในการทำงานสมาชิกแกนนำของกลุ่มจะมีการพูดคุยวางแผนและสรุปงานร่วมกันเป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งงานสำเร็จ     ในขณะที่ผู้หญิงสูงวัยก็จะมีการรวมกลุ่มเพื่อจัดเตรียมเครื่องแต่งดาสำหรับงานพิธีกรรม  รวมทั้งการช่วยเหลือในการต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน   ซึ่งการรวมกลุ่มเช่นนี้ นับเป็นเวทีสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน  การสร้างเครือข่ายทางสังคมของผู้หญิงและการสร้างการยอมรับในพลังแห่งหญิง  

                 ความจริงของการบอกเล่านี้   มีโอกาสสัมผัสได้จากเมื่อครั้งที่ได้ร่วมงานบวชพระที่วัดเชียงคุ้ม ซึ่งได้เห็นการทำงานร่วมกันของผู้หญิงซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้หญิงในชุมชน  และชุมชนข้างเคียงที่มาช่วยงาน  รวมทั้งญาติมิตรที่มาจากต่างถิ่น  ต่างร่วมมือกันทำงานตามความถนัด และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เช่น   เรื่อง เทคนิคการประกอบอาหาร   ดังนั้นอาหารหรือเครื่องดื่ม  ที่ใช้รับรองแขกที่มาร่วมงานจึงมีลักษณะที่สอดคล้องต่อสมัยนิยมและมีรสชาดที่ได้มาตรฐาน  เช่น   ข้าวมันไก่   ขนมวุ้น  น้ำส้ม ฯลฯ        

                  นอกจากนี้  ผู้หญิงเมืองเชียงตุง  ยังมีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการ   เพื่อทำกิจกรรมด้านศาสนาและรื้อฟื้นประเพณีท้องถิ่น   โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักวัฒนธรรม (โคปะกะ)  โดยมีการจัดโครงสร้างกลุ่มประกอบด้วย ประธาน  รองประธาน  สำหรับกิจกรรมที่ปรากฎได้แก่   การรวมกลุ่มสวดมนต์   การส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีปอยสังขารหรือปีใหม่   ซึ่งได้มีการผลิตเสื้อยืดประทับตราสัญลักษณ์งาน  และนำเอาจำหน่ายเพื่อหารายได้เข้ากลุ่ม  รวมทั้งรณรงค์ให้สมาชิกสวมใส่มาร่วมงานเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม

 

                  เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับการศึกษา  ซึ่งพบว่า  พ่อแม่ที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจนิยมสนับสนุนให้ลูกผู้หญิงมีโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมชาย และปู่ย่าตายายล้วนให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้หลานสาวได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  ด้วยความหวังว่า  จะสร้างโอกาสที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ และหลานสาวจะยังคงไม่ละเลยจารีตประเพณีของท้องถิ่น   ดังนั้นหญิงสาวเชียงตุงรุ่นใหม่จำนวนมากยังมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา พร้อมกับความหวังว่า   การศึกษาจะทำให้เธอมีโอกาสในการทำงานที่ดี หรือ แม้ว่า หากไม่มีโอกาสทำงานประจำในหน่วยงานหรือองค์กร   ก็เชื่อว่า การศึกษาจะทำให้เธอมีความรู้และมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล สามารถตัดสินใจและบริหารจัดการชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ท่ามกลางกระแสสังคมภายนอกที่เริ่มแผ่อิทธิพลต่อสังคมเมืองเชียงตุงเพิ่มมากขึ้น

 

แม่หญิงเชียงตุงในวันนี้

 

              เชียงตุงในวันนี้  ผู้หญิงจึงยังคงมีบทบาททางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนในระดับสูง  นับจากหลังจากการทำนา  ก็จะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ หมุนเวียนตามลักษณะความเหมาะสมหรือความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ดิน  หลังจากนั้นบางชุมชนที่ใกล้เขตเมือง   ผู้ชายก็อาจจะออกมาหางานในสังคมเมืองเช่น  ขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง  ในขณะที่ในพื้นที่ชนบทชายก็อาจเข้าป่าหาฟืน  พร้อมกับการเลี้ยงวัวควาย  ในขณะที่ผู้หญิงจะพยายามทำงานเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนเช่น  งานเย็บปักถักร้อย  งานจักสาน โดยมีนักธุรกิจชาวไทยนำไปว่าจ้าง  ฉะนั้นทำให้ผู้หญิงจึงสามารถสร้างรายได้ช่วยครัวเรือนได้อย่างสม่ำเสมอ

            อย่างไรก็ตาม   แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นในเมืองเชียงตุงทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม   จะทำให้บทบาทเชิงเศรษฐกิจของผู้หญิงโดดเด่นมากยิ่งขึ้น   ในขณะที่บทบาทด้านอื่นก็ยังคงได้รับการคาดหวังเช่นอดีต   จึงอาจจะทำให้เกิดความสับสนของวัฒนธรรมระดับครัวเรือนขึ้นบ้าง   หากแต่จากการแบ่งสรรปรับปรนบทบาทระหว่างหญิงชายที่เหมาะสม  ประกอบกับการที่สังคมท้องถิ่นยังคงให้คุณค่ากับงานที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมรับผิดชอบในภาคการเกษตรแบบยังชีพและงานบ้าน  หรือในด้านกฎหมายที่กำหนดคำนำหน้านามระหว่างหญิงที่แต่งงานกับหญิงสาวด้วยคำเดียวกันคือ  คำว่า “นาง” เฉกเช่นชายที่มีคำนำหน้านามคือ “นาย”   

            โดยเฉพาะลักษณะสังคมของเชียงตุงที่ยังคงยึดถือระบบเครือญาติที่มีแม่เป็นศูนย์กลาง     ทำให้ผู้หญิงมีฐานะและอำนาจเป็นที่ยอมรับในครอบครัว

หรือในส่วนของพิธีกรรมท้องถิ่น ที่ผู้หญิงยังคงมีบทบาทหลักในฐานะของผู้ประกอบพิธีกรรม    และผู้กล่อมเกลาพิธีกรรมสู่สมาชิกในครัวเรือน  

            ซึ่งการยอมรับของสังคมท้องถิ่นดังกล่าว   เป็นผลให้พลังหรือเสียงของผู้หญิงเชียงตุง จึงยังคงเป็นเสียงที่มิใช่เสียงที่ไร้เสียงเฉกเช่น เสียงของผู้หญิงในสังคมที่อยู่ภายใต้การครอบงำของกระทัศน์กระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไป

หมายเลขบันทึก: 436622เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นบทความที่ดีมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้พบกันในนี้ครับ

โลกกลมจริง ๆ

เขียนเรื่องดี ๆ ลงมาแบ่งปันเรื่อย ๆ นะครับ

(แหะ แหะ บทความนี้ต้องขอ copy ออกไปอ่านครับ)

ชัดเจน ที่สุด ผู้หญิงเป็น แกนหลักของสังคม ;-)

This supports a well observed logic for NGOs that 'helping women in education, job and safety and they will help more people around them' (while helping men more often results in pampered playboys).

น่าจะเอาบทความนี้ ไปใช้ประกอบการเรียน สังคมศาสตร์/ภูมิศาสตร์

ขออนุญาติ เอาไปใช้เป็นตัวอย่าง ในการฝึกหัดเขียน นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท