ความเป็นครูตามแนวพุทธ (2)


พุทธจิตวิทยาสำหรับครู

ครูกับหลักการสอนแนวพุทธ

 

         

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรแก้ว นามเมือง

มจร. วิทยาเขตพะเยา

        ครูเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการสอนโคยตรง หลักการปฏิบัติจึงเน้นความบริสุทธิ์ ความมีเมตตา และความจริงใจต่อศิษย์ หลักการสอนตามแนวพุทธที่สำคัญมีดังนี้คือ

๑. ธรรมเทศกธรรม คือ ธรรมของผู้แสดงธรรม ในที่นี้หมายถึง หลักธรรมของครูผู้สอน มี ๕ ประการ คือ

    ๑.๑) อนุปุพพิกถา : สอนตามลำดับขั้นตอน คือ การสอนเนื้อหาวิชาตามลำดับ เช่น จากง่ายไปยาก จากเบื้องต้นไปสู่ความลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ

    ๑.๒ ปริยายทัสสาวี : สอนโดยจับจุดสำคัญนำมาขยายเข้าใจเหตุผล คือ การอธิบาย ชี้แจงให้เข้าใจชัดแจ้ง ทุกแง่ทุกมุม ทุกประเด็น ให้ผู้เรียนได้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งอย่างมีเหตุมีผล

    ๑.๓ อนุทยาตา : ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนศิษย์ด้วยจิตเมตตา มุ่งให้เป็นประโยชน์แก่ศิษย์ทุกคน

    ๑.๔ อนามิสันดร : ไม่มีจิตเห็นแก่ค่าตอบแทน คือสอนศิษย์โดยไม่มุ่งที่ค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่น ๆ

    ๑.๕ อนุปหัจจ์ : วางจิตตรง ไม่กระทบตนและผู้อื่น คือสอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งอธิบายตามหลักวิชาการ ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

๒ ทิศ ๖ หลักทิศ ๖ เป็นหลักที่ครูอาจารย์มีหน้าที่สั่งสอนศิษย์ ๕ ซึ่งกล่าวไว้ว่า

     ๒.๑ หน้าที่แนะนำให้ฝึกอบรมให้เป็นคนดี ได้แก่ การแนะนำด้วยการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อศิษย์ กระตุ้นเตือนศิษย์ให้กระตือรือร้นในการศึกษาและปฏิบัติตนให้เป็นคนดี

     ๒.๒ สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ได้แก่ สอนเรื่องที่ฟังเข้าใจยากให้เข้าใจง่าย มีการเปรียบเทียบให้เห็นจริง หมั่นสอบถามความเข้าใจในสิ่งที่สอนไปแล้ว เอาใจใส่ ติดตามผลการสอนสม่ำเสมอ

     ๒.๓ สอนให้ศิลปวิทยาให้ไม่ปิดบังอำพราง ได้แก่ ใส่ใจแนะนำสั่งสอนศิษย์ให้เล่าเรียนศิลปวิทยานั้น ๆ ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แตกฉาน และเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ ได้ด้วยการไม่ปกปิดหวงแหนวิชาความรู้แต่อย่างใด

     ๒.๔ ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ ได้แก่ แสดงความชื่นชมยินดีด้วยน้ำใจไมตรีประกอบด้วยเมตตาปราณีแก่ศิษย์ ประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏในหมู่คณะ

     ๒.๕ สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศ ได้แก่ การสอนศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริงและรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นหลักประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดีมีความสุขความเจริญ

๓. ลีลาการสอน ครูที่มีความสามารถในการสอนควรมีลีลาของนักสอนที่ดี ดังนี้[1]

     ๓.๑ สันทัสนา : สอนโดยชี้ชัด คือสอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง โดยการอธิบาย ชี้แจง จำแนกแยกแยะ และแสดงเหตุผลให้ชัดเจนจนทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เห็นจริง

     ๓.๒ สมาทปนา : สอนโดยชี้ชวนให้ปฏิบัติ คือการสอนชักจูงให้เห็นจริง ชวนให้คล้อยตามจนต้องยอมรับ และนำไปปฏิบัติ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดควรปฏิบัติ ก็แนะนำหรืออธิบายให้ผู้ฟังซาบซึ้งในคุณค่า ให้มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนหรือนำไปปฏิบัติ

     ๓.๓ สสมุตเตชนา : สอนโดยเร้าใจให้กล้าปฏิบัติ คือสอนเร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกใจให้มีความอุตสาหะ มีความเข้มแข็ง มีความมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นต่อความยากลำบาก สอนเร้าใจให้ผู้ฟังกล้าหาญ มีความกระตือรือร้น ในการปฏิบัติตามให้เกิดผลในที่สุด

     ๓.๔ สัมปหังสนา : สอนโดยปลุกเร้าใจให้ร่าเริง คือ ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัตินั้น



[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. หน้า ๑๓๔-๑๓๕.

๔. กลวิธีและอุบายประกอบการสอนพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้[1]

     ๔.๑. การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำได้แม่นยำ เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน เกิดอรรถรสในการฟัง พระพุทธเจ้าทรงยกอุทาหรณ์และนิทานประกอบการสอน จะเห็นได้จากมีอุทาหรณ์และนิทานปรากฏอยู่ทั่วไปเฉพาะคัมภีร์ชาดก มีนิทานชาดกถึง ๕๔๗ เรื่อง

     ๔.๒. การเปรียบเทียบด้วยอุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้นโดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบเทียบให้เห็นชัดด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม การใช้อุปมานี้ เป็นกลวิธีที่พระพุทธเจ้าใช้มากที่สุด

     ๔.๓. การใช้อุปกรณ์การสอน ในสมัยพุทธกาลใช้อุปกรณ์การสอนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ ตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงใช้อุปกรณ์การสอน โดยทรงใช้เครื่องใช้ที่มีอยู่ ในกรณีสอนผู้เรียนที่อายุน้อย ๆ ซึ่งเข้าใจจากวัตถุได้ง่ายกว่านามธรรม

     ๔.๔. การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นการสาธิตให้ดู พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำที่ดีในการสอนโดยการทำเป็นตัวอย่าง ก๊พระจริยวัตรอันดีงามที่เป็นอยู่โดยปกตินั่นเอง

     ๔.๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ข้อนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่มีความรอบรู้ไปทุกด้าน เมื่อผู้ใดทูลถามเป็นร้อยกรอง พระพุทธองค์ก็ทรงตอบเป็นร้อยกรอง หรือทรงตรัสทวนคำพูดของผู้ทูลถาม เป็นต้น บางครั้งผู้มาเผ้าบริภาษพระองค์ด้วยคำพูดต่าง ๆ ที่รุนแรงยิ่ง พระองค์ทรงยอมรับคำบริภาษนั้นทั้งหมดและทรงแปลความหมายอธิบายเสียใหม่ให้เป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นต้น

     ๔.๖. อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล  การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงดำเนินพุทธกิจด้วยพระพุทโธบาย ที่เรียกว่า การวางแผนที่ได้ผลยิ่ง ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นหนึ่งถิ่นใดควรไปโปรดใครก่อน เช่น เลือกโปรดปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์เมื่อครั้งออกแสวงธรรมก่อน โดยทรงพิจารณาในแง่ของผู้ใฝ่ธรรม มีอุปนิสัยอยู่แล้ว หรือในแง่ที่เป็นผู้เคยมีอุปการะมาก่อน เป็นต้น

    ๔.๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้สอนต้องรู้จักจังหวะและโอกาสให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตามจังหวะและโอกาส เช่น การทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เมื่อพระสงฆ์มาชุมนุมกันพร้อมเพรียงในวันมาฆบูชา เป็นต้น

    ๔.๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าครูสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้เหลือน้อยที่สุด และมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะใช้กลวิธีใดก็ตามที่ทำให้การสอนได้ผลดีที่สุด ก็ให้เลือกกลวิธีนั้น ๆ

    ๔.๙. การลงโทษและการให้รางวัล การใช้อำนาจลงโทษไม่ใช่วิธีการของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้การชมเชย การย่องบ้าง ในการยอมรับคุณความดีของผู้นั้น กล่าวชมโดยธรรมให้เขามั่นใจในการกระทำความดีของตน แต่ไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบข่มคนอื่น บางทรงชมเพื่อให้ถือเป็นตัวอย่าง หรือเพื่อแก้ความเข้าใจผิดล ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง

    ๔.๑๐. กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องอาศัยปฏิภาณ คือ ความสามารถในการประยุกต์หลักวิธีการและกลวิธีต่าง ๆ มาใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์

๕. แนวการสอนพุทธวิธี มีดังนี้[2]

     ๕.๑ การสอนแบบอุปมา อุปไมย

            วิธีการสอนแบบอุปมา อุปไมย หมายถึง วิธีสอนโดยการบรรยายเนื้อหาเปรียบเทียบกับคน สัตว์หรือสิ่งของ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและมองเห็นภาพ เกิดมโนทัศน์ง่าย ชัดเจนและสมจริง ใช้วิธีการบรรยาย อธิบายเนื้อหาที่เป็นนามธรรมหรือเรื่องที่เข้าใจยาก เปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้เรียนจะเข้าใจและมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ ในการเปรียบเทียบอุปมา อุปไมย จะต้องเลือกตัวอย่างสิ่งของที่นำมาเปรียบเทียบอุปมา อุปไมยที่ชัดเจน และตรงกับเนื้อหา ตรงกับจุดมุ่งหมายของการสอนเรื่องนั้น ๆ มากที่สุด

    ๕.๒ วิธีสอนแบบปุจฉาวิสัชนา

            วิธีสอนแบบปุจฉาวิสัชนา หมายถึง วิธีสอนที่ใช้การถาม – ตอบ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ในการถามตอบนี้ผู้สอนจะไม่ตอบคำถามเอง แต่จะกระตุ้นเร้าหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันตอบ เป็นวิธีทำให้ผู้เรียนเกิดปัญญาขึ้นในตนเอง คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น

    ๕.๓ วิธีสอนแบบธรรมสากัจฉา

            การสอนแบบธรรมสากัจฉา หมายถึง วิธีสอนที่ผู้สอนกำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ให้ผู้เรียนสนทนากันจนได้ข้อสรุปความรู้ในเรื่องหรือปัญหานั้น ๆ โดยมีลักษณะการสอนทนา ดังนี้

            ๕.๓.๑ อภิปรายตามหัวข้อที่กำหนดในหมู่ผู้เรียน จนผู้เรียนสรุปเนื้อหาได้

            ๕.๓.๒ ซักถามกันระหว่างผู้เรียนด้วยกัน หรือผู้เรียนกับครูผู้สอน โดยผู้เรียนเป็นฝ่ายถาม หรือเป็นฝ่ายตอบสลับกัน หรือผู้เรียนและครูผู้สอนผลักกัน ถาม – ตอบ จนผู้เรียนสรุปเนื้อหาได้

            วิธีการสอนนี้เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีพื้นความรู้ในเนื้อหาพอสมควร และต้องการที่จะหาความกระจ่างในเนื้อหาเพิ่มขึ้น วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับผู้เรียนจำนวนน้อย และมีความสามารถในการใช้ภา การซักถาม โต้ตอบ แสดงความคิดเห็น อภิปราย อธิบายได้ดีพอสมควร

    ๕.๔ วิธีสอนแบบอริยสัจ ๔

            วิธีสอนแบบอริยสัจ ๔ มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ๔ ขั้นตอน ดังนี้

            ๕.๔.๑) ขั้นกำหนดปัญหา หรือ ขั้นทุกข์ ครูช่วยผู้เรียนให้ได้ศึกษาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ด้วยความรอบคอบ และพยายามกำหนดขอบเขตของปัญหา ซึ่งผู้เรียนจะต้องคิดแก้ไขให้ได้

            ๕.๔.๒ ขั้นตั้งสมมติฐาน หรือ ขั้นสมุทัย มีลำดับขั้นตอนดังนี้

                      ๑) ครูช่วยผู้เรียนให้พิจารณาว่าสาเหตุของปัญหาที่กำหนดมามีอะไรบ้าง

                      ๒) ครูช่วยผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจว่า ในการแก้ปัญหาใด ๆ นั้น จะต้องกำจัด หรือดับที่ต้นเหตุ หรือแก้ปัญหาเหล่านั้น

                      ๓) ครูช่วยผู้เรียนให้คิดว่าในการแก้ที่สาเหตุนั้น อาจจะกระทำให้หลายวิธี และให้กำหนดสิ่งที่กระทำเป็นข้อ ๆ ไป

          ๕.๔.๓ ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล หรือ ขั้นนิโรธ มีลำดับขั้นตอนดังนี้

                    ๑) ขั้นทำให้แจ้ง ครูต้องสอนให้ผู้เรียนได้กระทำหรือทำการทดลองด้วยตนเองตามหัวข้อต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

                    ๒) เมื่อทดลองได้ผลประการใด ต้องบันทึกผลการทดลอง เพื่อนำไปพิจารณาในขั้นต่อไป

          ๕.๔.๔ ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล หรือ ขั้นมรรค มีลำดับขั้นตอนดังนี้

                    ๑) จากผลการทดลอง จะต้องวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากผลการทดลอง จนแจ่มแจ้งว่าจะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ

                    ๒) จากผลการวิเคราะห์ นำมาสรกุปการกระทำที่ได้ผลนั้น ๆ ไว้เป็นข้อ ๆ เป็นระบบ หรือเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติ

     ๕.๕ วิธีสอนแบบสืบสวน สอบสวนตามแนวพุทธศาสตร์

       ระบบการเรียนการอสนแบบสืบสวน สอบสวน มีแนวคิดว่า การสืบสวน สอบสวนเป็นกระบวนการหาความจริงและวิธีการแก้ปัญหาด้วยการตั้งคำถามในแนวกระบวนการวิทยาศาสตร์ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนดังนี้

       ๑) การเห็นปัญหา และการวิเคราะห์ปัญหา

       ๒) การเสนอเหตุแห่งปัญหาในรูปของการตั้งสมมติฐาน

       ๓) การเก็บรวบรวมข้อมูล

       ๔) การทดสอบสมมติฐานด้วยข้อมูล

       ๕) การสรุปผล

๕.๖ วิธีสอนแบบไตรสิกขา

       วิธีสอนแบบไตรสิกขา เป็นวิธีการสอนที่ประกอบด้วย ขั้นตอนในการศึกษา ๓ ขั้นตอน ดังนี้

       ๑) ขั้นศีล คือ การควบคุมให้ผู้เรียนอยู่ในระเบียบวินัย ทั้งทางกายและวาจา ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นปกติ พร้อมที่จะเรียน

       ๒) ขั้นสมาธิ คือ การฝึกสมาธิขั้นต้นในการควบคุมสติ ให้ผู้เรียนรวมจิตใจความคิดแน่วแน่เป็นจุดเดียว ผู้เรียนตัดสิ่งรบกวนอื่น ๆ ออกจากจิตใจ

       ๓) ขั้นปัญญา คือ ขั้นที่ผู้เรียนใช้สมาธิ ความมีจิตใจแน่วแน่ ทำความเข้าใจปัญหา การหาเหตุของปัญหาเพื่อการแก้ไข พิจารณาผลที่เกิดขึ้นจนเกิดความรู้แจ้งเข้าใจและแก้ปัญหาได้ เกิดการเรียนรู้ เกิดปัญญาญาณขั้นในตนเอง มีมโนทัศน์ในเรื่องนั้นได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

       การสอนแบบไตรสิกขา มีความเชื่อว่า คนจะมีปัญญาเกิดจากการฝึกกำลังใจแน่วแน่ มีสมาธิ การที่จะมีสมาธิแน่วแน่ก็ต่อเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพปกติ อยู่ในระเบียบวินัยอันได้แก่ การมีศีล เมื่อทางกายควบคุมสติได้ จิตใจก็สงบ ช่วยให้กำลังความคิดคมกล้า เกิดปัญญารู้แจ้ง

๕.๗ วิธีสอนแบบเบญจขันธ์

       การสอนแบบเบญจขันธ์ ใช้หลักการยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งมี ๕ ขั้นตอน

       ๑) ขั้นกำหนดและเสนอสิ่งเร้า (ขั้นรูป) โดยครูกำหนดสิ่งเร้าเป็นสิ่งที่สัมผัสรับรู้แล้วเกิดอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสถานการณ์หลาย ๆ สถานการณ์

       ๒) ขั้นรับรู้ (ขั้นเวทนา) ครูควบคุมการสัมผัสให้ผู้เรียนได้สัมผัสโดยอายตนะทั้ง ๖ ให้ถูกช่องทางการรับรู้อย่างแท้จริง และใช้คำถามการเรียนการสอนทางรับรู้

       ๓) ขั้นวิเคราะห์เหตุผลและสังเคราะห์ความรู้สึก (ขั้นสัญญา) ครูตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนคิดแยกแยะ ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร ใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนสรุปความรู้สึกขั้นต้นที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

       ๔) ขั้นตัดสินความดีงาม (ขั้นสังขาร) เป็นขั้นให้ผู้เรียนวิจารณ์ความผิด ความถูก ความดีงาม ความชั่วร้าย คุณ โทษ ความเหมาะสม ความประพฤติ และไม่ควรประพฤติ เป็นต้น

       ๕) ขั้นก่อเกิดอุปนิสัยหรือคุณธรรมฝังใจ (ขั้นวิญญาณ) เป็นขั้นใช้คำถามเพื่อโน้มนำความดีหรือความรู้สึกอันชอบธรรมเข้ามาไว้ในใจของตน เป็นคำถามให้นักเรียนตอบโดยคำนึงถึงตนเองเป็นที่ตั้ง

๕.๘ วิธีสอนโดยการสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ

       วิธีสอนโดยการสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ

       ๑) ขั้นนำ การสร้างเจตคติที่ดีต่อวิธีการเรียน และบทเรียน

                 ๑) การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสม

                 ๒) บุคลิกภาพของครู และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้เรียน

                 ๓) การเสนอสิ่งเร้าและแรงจูงใจ

       ๒) ขั้นสอน มีขั้นตอนดังนี้

                 ๑) ครูเสนอปัญหาที่เป็นสาระสำคัญของบทเรียนหรือเสนอหัวข้อเรื่อง ประเด็นสำคัญของบทเรียน ด้วยวิธีการต่าง ๆ

                 ๒) ครูแนะแหล่งวิทยาการและแหล่งข้อมูล

                 ๓) นักเรียนฝึกการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ และหลักการ โดยใช้ทักษะที่เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และทักษะทางสังคม

                 ๔) จักกิจกรรมที่เร้าให้เกิดการคิดวิธีต่าง ๆ และยกตัวอย่างวิธีคิด ๔ อย่างคือ คิดสืบค้นต้นเค้า คิดสืบสาวตลอดสาย คิดสืบค้นต้นปลาย และคิดโยงสายสัมพันธ์

                 ๕) ฝึกการสรุปประเด็นของข้อมูล ความรู้ และเปรียบเทียบ ประเมินค่าโดยวิธีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทดลอง ทดสอบ จัดเป็นทางเลือกและทางออก ของการแก้ปัญหา

                 ๖) ดำเนินการเลือกและตัดสินใจ

                 ๗) กิจกรรมฝึกปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ผลการเลือกและการตัดสินใจให้ประจักษ์จริง

       ๓) ขั้นสรุป ประกอบด้วย

                 ๑) ครูและผู้เรียนสังเกตวิธีการปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขให้ปฏิบัติถูกต้อง

                 ๒) อภิปรายและสอบถามข้อสงสัย

                 ๓) สรุปบทเรียน

                 ๔) วัดและประเมินผล

      การสอนโดยการสร้างศรัทธานั้น ครูเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถจัดสภาพแวดล้อม จูงใจ และวิธีการสอนให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาที่จะเรียนรู้ และได้ฝึกฝนวิธีการคิดโดยแยบคายนำไปสู่การปฏิบัติ ปฏิบัติจนประจักษ์จริง มุ่งเน้นให้ครูเป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน ครูและผู้เรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ผู้เรียนได้มีโอกาสคิด แสดงออก ปฏิบัติอย่างถูกวิธี จนสามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

๕.๙ วิธีสอนตามหลักพหูสูต

       กระบวนการเรียนการสอนแบบพหูสูต มี ๓ ขั้นตอน ดังนี้

       ๑) การสร้างศรัทธา ประกอบด้วย

                 ๑) การจัดบรรยากาศของชั้นเรียนให้เหมาะสม

                 ๒) บุคลิกภาพของครูและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้เรียน

                 ๓) การเสนอสิ่งเร้าและสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้

       ๒) การฝึกทักษะภาษาตาหลักพหูสูต ประกอบด้วย

                 ๑) การฝึกหัดฟัง พูด อ่าน เขียน

                 ๒) การฝึกปรือ เพื่อจับประเด็นสาระและจดจำ

                 ๓) การฝึกฝน ฝึกการใช้ภาษาให้แคล่วคล่องจัดเจน

                 ๔) การฝึกคิดพิจารณาจนเข้าใจแจ่มแจ้ง มีวิธีคิด ดังนี้ คิดจำแนกแยกแยะ คิดเชื่อมโยงสัมพันธ์ และคิดสรุปหลักการ

                 ๕) การฝึกสรุปรวมสาระความรู้เป็นหลักการด้วยความเข้าใจแจ่มแจ้ง และนำไปใช้ได้จริง

       ๓) การมองตนและการประเมินของกัลยาณมิตร ประกอบด้วย การวัดและประเมินตนเอง การวัดและประเมินโดยเพื่อนนักเรียน การวัดและประเมินโดยครูผู้สอน และการซ่อมเสริมและช่วยเหลือกันฉันกัลยาณมิตร

            การสอนตามหลักพหูสูต เน้นการสร้างศรัทธาที่ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เน้นการฝึกหัด ฝึกปรือ และฝึกฝน เน้นการฝึกคิดอย่างถูกต้องแยบคาย และเน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

           



[1]  วิชาการ,กรม. การจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา. (กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔), หน้า ๑๗๐-๑๗๓.

[2] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๗๓-๑๗๘.

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 436552เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท