ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๒๙. ไปดูนกที่อุทยานนกน้ำ บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์



          บ่ายวันที่ ๒๖ มี.ค. ๕๔ ผมออกจากการประชุม “ขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังความรู้และความร่วมมือ”  ซึ่งเป็นงานสังเคราะห์ความรู้จากการวิจัยแบบ ABC ที่ประสานงานโดย สกว.  เพื่อนั่งรถไปนครสวรรค์   โดยมีกำหนดการดังนี้

          ผมนัดกันไว้กับท่านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ คือ นพ. สมพงษ์ ยูงทอง ล่วงหน้าเป็นปี ว่าผมอยากไปดูนกที่บึงบอระเพ็ดสักครั้ง   โดยเวลาที่เหมาะคือดูตอนเย็น ๑ ครั้ง  และตอนเช้ามืด ๑ ครั้ง   และผมอยากนอนในอุทยานนั้นเลย   กำหนดการที่ได้ถือว่ายอดเยี่ยม   และผู้นำเที่ยว คือคุณพนม คราวจันทึก ก็ถือว่าเป็นมืออาชีพ หรือมือหนึ่งของไกด์นำเที่ยวดูนกน้ำบึงบอระเพ็ด
แต่ที่พลาดเป้าคือตัวผมเอง   เพราะต้องไปเป็นวิทยากรอภิปรายในงานประชุม ABC ของ สกว. ก่อน   แล้วขอตัวมาขึ้นรถ บึ่งไปนครสวรรค์   ซึ่งเอาเข้าจริงเวลาก็ออกเดินทางล่าช้ากว่าแผนไปกว่าครึ่งชั่วโมง   และไปถึงอุทยานนกน้ำเวลา ๑๗ น. ตรง ช้าไป ๑ ชั่วโมง

          สาวน้อยหายจากโรคเวียนศีรษะ กระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวากับการเตรียมตัวไปดูนกในธรรมชาติที่สวยงาม   เธอเตรียมเข้าเว็บไซต์ ไปดูรูปนกสวยงามหลายชนิด   ค้นหาเส้นทางไปอุทยานนกน้ำ  และพยากรณ์อากาศ   เธอบอกว่าโอกาสฝนตก ๔๐%  

          หมอสมพงษ์บอกว่าให้นำหนังสือ Bird Guide และกล้องส่องดูนกไปด้วย   ซึ่งผมมีทั้ง ๒ อย่าง   คือ หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย บุญส่ง เลขะกุล และ ฟิลลิปส์ ดี. ราวน์ด   และกล้องส่องทางไกล Leica 10 x 25 เล็กกะทัดรัด ที่ผมซื้อที่สนามบิน ฮัมบูร์ก เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว

          ผมเตรียมกล้องถ่ายรูปตัวเล็กๆ ทั้งสิ้น รวม ๓ ตัว คือ Canon Powershot SX 10 กำลังขยาย 20x, Canon Powershot SX 200 กำลังขยาย 12x, และกล้องถ่ายวิดีโอตัวจิ๋ว Panasonic HM-TA1   และไม่เอาขาตั้งกล้องไป   ถือว่าเป็นนักดูนกสมัครเล่นระดับเล่นๆ ไม่เอาจริงเอาจัง   หวังไปพักผ่อนหย่อนใจมากกว่า

          เอาเข้าจริง เจ้า SX 10 ใช้งานได้ดีมาก   และสาวน้อยก็ถือ SX 200 ถ่ายรูปสวยๆ ได้หลายรูป   เราไม่ได้ใช้ HM-TA1 เลย    

          ทางมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ เตรียมซื้อกล้องส่องดูนกยี่ห้อ Olympus ทำจากจีนแดง กำลังขยาย ๘x๔๐ ที่เหมาะสำหรับดูนกมาก  มาหลายตัว ในราคาเพียงตัวละ ๑,๙๕๐ บาท เตรียมไว้สำหรับทำค่ายเยาวชน หาเด็กที่ชอบธรรมชาติเข้าเรียนในหลักสูตรที่จะเปิดในอนาคต   ผมจึงได้ความรู้ว่ากล้องที่ดีต้องขนาดลำตัวพอเหมาะที่จะจับเต็มมือ   และลำตัวรับแสงใหญ่พอควร   ที่สำคัญ eye piece ต้องใหญ่เต็มตา   มีฉะนั้นดูไปครู่เดียวก็จะปวดตา   โดยเฉพาะในเรือซึ่งแล่นและสั่น   กล้องของผมเป็นกล้องชั้นดี เลนส์คมมาก แต่ขนาดเล็กเกินไปทุกส่วน

          ผมมีเพื่อนร่วมไปดูนกเป็นครอบครัวหมอสมพงษ์ และทีมอาจารย์หนุ่มสาวของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ประมาณ ๒๐ คน   ที่เพิ่งจบ workshop ทำความเข้าใจหลักของการเป็นอาจารย์ใน 21st Century   ทำความเข้าใจ 21st Century Learning   และทำความเข้าใจ Learning Community   โดยมี รศ. ประภาภัทร และ รศ. ดร. อนุชาติ มาเป็นวิทยากร   เมื่อจบ workshop ก็มาเตรียมลงเรือดูนก

          เรือดูนกของคุณพนมนั่งและเคลื่อนไหวสบายมาก   เพราะพื้นราบ ลำโตพอที่จะตั้งโต๊ะตรงกลางและที่นั่ง ๒ ข้างได้   ติดเครื่องแบบเรือหางยาว   ผมเพิ่งได้ความรู้ว่าบึงบอระเพ็ดไม่ใช่บึงธรรมชาติ   แต่เกิดจากการทำเขื่อนกั้นลำคลอง ที่ชื่อคลองบอระเพ็ด  ในสมัย ร. ๖ – ร. ๗ โดยคำแนะนำของฝรั่ง   ทำให้เกิดบึงขนาดใหญ่ขึ้น   ที่เรียกชื่อคลองบอระเพ็ดเพราะมีต้นบอระเพ็ดมาก ขนาดเท่าขา    ซึ่งเดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้แล้ว

          เราโชคดีที่ฝนไม่ตก   และอากาศเย็นสบาย   เรือแล่นเอื่อยๆ ไปตามลำคลอง   ออกไปสู่บริเวณบึง ซึ่งมีบัวเต็มไปหมด ทั้งบัวหลวงและบัวสาย   ใบบัวหลวงชูเหนือน้ำ สีเขียวสดงดงามมาก  แต่ช่วงนั้ไม่ใช่ฤดูบัวหลวงออกดอก   บางช่วงเรือลุยกอบัวสาย   แต่ช่วงเย็นอย่างนี้ดอกบัวโรยหมดแล้ว   

          พอเริ่มออกจากท่า นกตัวแรกที่พบคือยางโทนน้อย (Intermediate Egret, Egretta intermedia)  ซึ่งพบบ่อย  และผมแยกไม่ออกจากนกยางโทนใหญ่ (Great Egret, Egretta alba) แต่ทีมที่ไปเขาดูออก  และที่พบไม่บ่อยแต่เมื่อเห็นก็แยกได้ชัด คือนกยางเปีย (Little Egret, Egretta garzetta) คือดูที่เปียตรงท้ายทอย   นอกนั้นก็มีนกยางอีกหลายชนิด   อีกชนิดหนึ่งที่เราพบมากคือนกอีโก้ง (Purple Swamphen, Porphyrio porphyrio) ซึ่งตัวใหญ่เท่าไก่ทีเดียว ฤดูนี้มีลูกขนาดรุ่นกระทงอยู่เป็นฝูงย่อมๆ ๔ – ๕ ตัว

          อีกชนิดที่พบทั่วไป แต่เห็นยากคือนกเป็ดผีเล็ก (Little Grebe, Tachybaptus ruficollis) เพราะว่ายอยู่ในน้ำเห็นแต่คอกับหลัง   และเปรียว พอเข้าใกล้ก็มุดน้ำหนีไป หรือบินเรี่ยน้ำหนี เป็นภาพที่สวยงามมาก   ผมถามถึงนกเป็ดผีใหญ่ที่สวยงาม (Great Crested Grebe, Podiceps cristatus) ได้ความว่าเคยมีคนเห็น แต่หาดูยาก   นกเป็ดผีเล็กมักว่ายน้ำอยู่ตัวเดียว หรือเป็นฝูงเล็กๆ    

          ที่เราไปพบเป็นฝูงใหญ่มากนับร้อยตัวเล่นน้ำอยู่   และบินเป็นฝูงๆ มากมาย คือเป็ดแดง (Lesser Whisling-Duck, Dendrocygna javanica)   บินไปร้องเสียงเหมือนนกหวีดไปด้วย

          นกกาน้ำก็พบบ่อย ทั้งนกกาน้ำเล็ก (Little Cormorant, Phalacrocorax niger)  นกกาน้ำใหญ่ (Great Cormorant, Phalacrocorax carbo)  และนกกาน้ำปากยาว (Indian Shag, Phalacrocorax fuscicollis)  แต่ผมรู้สึกว่าแยกยาก และไม่ได้สนใจที่จะแยก   ที่น่าสนใจคือนกอ้ายงั่ว (Oriental darter, Anhinga melanogaster) ที่เวลาว่ายน้ำโผล่แต่คอยาว คล้ายงู

          ออกไปแล่นเรือดูนก และหยุดดูเป็นครั้งคราว เป็นเวลาชั่วโมงเศษๆ ก็กลับมาขึ้นฝั่งที่เดิม   และไปกินอาหารค่ำที่แสนอร่อยที่ศูนย์ห้ามล่าสัตว์ป่า   ที่มีปลานิลตัวใหญ่มากทอด  แกงส้มปลาช่อนทอดกับไหลบัวหลวง   และต้มกะทิสายบัว   เป็นครั้งแรกที่ผมได้กินไหลบัวหลวง กรอบอร่อยจริงๆ   เรากินท่ามกลางยุงและริ้น
เรานอนค้างคืนที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์  แล้วรีบตื่นแต่เช้าเพื่อออกจากโรงแรมตอนตีห้าครึ่ง ไปล่องเรือตั้งแต่ ๖ โมงเช้าเศษ จากท่าเดิม   ยามเช้ามีนกแซงแซวหางปลาเกาะที่ต้นไม้ริมตลิ่งและบินโฉบจับแมลงเป็นฝูงๆ มากมาย   รวมทั้งนกนางแอ่นที่บินเรี่ยๆ น้ำ จับแมลงจากผิวน้ำ   ดูด้วยกล้องส่องทางไกลสวยงามมาก

          ยามเช้ามีนกมาก   เราไปลอยเรือกินอาหารเช้าท่ามกลางดอกบัวแดงสล้างเต็มบริเวณ   ได้บรรยากาศดีมาก  เราแล่นขึ้นเหนือไปบริเวณเกาะวัดไปดูนกกาน้ำ  นกแขวก (Black-crowned Night-Heron, Nycticorax nycticorax) ทำรังบนต้นไม้เป็นจำนวนมากเต็มต้น   จนได้กลิ่นขี้นกจากระยะไกล)   เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก 

          ระหว่างทาง เราเห็นนกกาน้ำและนกอ้ายงั่วบินลงใต้เรี่ยๆ น้ำ เป็นแนวยาว จำนวนหลายร้อยตัว ในเวลาเป็นสิบนาที   คงจะบินไปจากที่นี่   แสดงว่าถ้าเรามาถึงเช้ากว่านี้อีกหน่อย จะเห็นนกบนต้นไม่มากกว่านี้มาก

          น้ำในบึงบอระเพ็ดช่วงฝั่งทิศเหนือและตะวันออก ขุ่น  หมอสมพงษ์บอกว่าเกิดจากการดูดดินโดยหน่วยราชการ   ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน ต้นบัวตายหมด   ทำให้ผมมองว่างานของราชการหลายเรื่อง ทำตามคำสั่งของหน่วยเหนือ ด้วยความเชื่อว่าจะได้ผลดี  เป็นการตัดสินใจโดยไม่ใช้ความรู้ หรือโดยไม่รู้จริง และไม่ได้ติดตามผลกระทบ

          ก่อนลงเรือตอนเช้า เราเดินไปดูบริเวณที่มีถนนยื่นเข้าไปในบึง  บริเวณริมบึงมีโครงสร้างเหล็กทิ้งเรี่ยราดอยู่   หมอสมพงษ์ชี้ให้ดูว่าสมัยสิบกว่าปีก่อน ตอน ดร. คนดังคนหนึ่ง เป็นอธิบดีกรมป่าไม้  หมอสมพงษ์และคณะประชาคมนครสรรค์ จะจัดเรือนำเยาวชนเที่ยวศึกษาบึงบอระเพ็ด   อธิบดีบอกว่าไม่ต้องทำ ตนจะทำแพเหล็กลอยน้ำให้   และได้ทำมาให้ถึง ๕ แพ ในราคาแพละเป็นล้านบาท   คนทั่วไปรู้ว่าราคาจริงควรจะเพียง ๒ – ๓ แสนบาท 

          เราขึ้นฝั่งที่ท่า อบจ. ด้วยความอิ่มเอมในบรรยากาศธรรมชาติ   และความรู้ที่ได้รับ   รวมทั้งกากาศเย็นสบายอย่างไม่น่าเชื่อ   โดยมีฝนปรอยอยู่ช่วงสั้นๆ ระหว่างที่เราหยุดลอยเรือกินอาหารเช้า 

          ขึ้นจากเรือ เราขึ้นรถตรงไปมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ที่บึงเสนาท   โดยผมมีกำหนดไปเป็นประธานเปิดงานตลาดนัดเครือข่ายโรงเรียนชาวนา ครั้งที่ ๔ ของมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสรรค์ เวลา ๙.๐๐ น.

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ มี.ค. ๕๔
บนรถกลับจากนครสวรรค์ และรถติด

 

นกตัวแรกที่เห็นและถ่ายรูปได้ นกยางโทนน้อย

 

นกอีโก้ง

 

เป็ดหัวดำสีน้ำตาล (Aythya nyroca) ใช่ไหม

 

ลูกเป็ดแดงใช่ไหม

 

นกยางโทนใหญ่กับฝูงเป็ดแดง

 

ฝูงเป็ดแดง

 

ฝูงเป็ดแดงโผบิน

 

บินมา

 

เกาะ ใช่นกยางเขียว (Butorides striatus) หรือไม่

 

 ตัวนี้หาชื่อไม่พบ

 

ตัวนี้ก็ไม่ทราบชื่อ

 

นกเป็ดผีเล็ก

 

เป็ดคับแค

 

 

เป็ดคับแค

 

 

เป็ดแดง

 

 

พระอาทิตย์ตกที่บึงบอระเพ็ด

 

 

ฝูงเป็ดแดงบินฉวัดเฉวียนพร้อมส่งเสียงนกหวีด

 

 

ทุ่งบัวแดง

 

 

กาน้ำ

 

 

กาน้ำกับนกยาง

 

 

นกแขวก

 

 

นกอ้ายงั่ว

 

 

นกอ้ายงั่ว

 

 

นกอ้ายงั่ว

 

 

นกกระสานวล

หมายเลขบันทึก: 436276เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านอาจารย์เขียนเล่าแล้วสนุก น่าสนใจ จากนักวิชาการมือโปร แต่เขียนแบบบ้านบ้านน่าอ่านมากครับอาจารยื ผมทำงานอยู่ที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ตำบลพนางตุง ตามบัญชาหรือลายแทงความคิดของท่านอาจารย์สุธิวงศ์ ได้ทำการบ้านเก็บข้อมูลเป็นภาพถ่ายเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นทางการส่วนตัว ตามโจทย์ที่อาจารย์บอกผมเมื่ออาจารย์นั่งรถผ่านถนนสายยกระดับจากสงขลามา ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เมื่อเดือนกุมภา ปี ๒๕๕๐ และอาจารย์ได้เขียนให้ข้อคิดข้อแนะนำไว้มากมาย ดังตอนหนึ่งที่ว่า "ผมขอให้ อ. ไพฑูรย์พาไปดูพื้นที่โดยรอบวิทยาลัยฯ โดยให้รถไป ต. พนางตุงผ่านถนนและสะพานใหม่ที่ตัดจาก อ. ระโนด ทำให้ผมได้เห็นความงามของดงตาลบริเวณนี้ ได้รูปงามๆ ของดงตาลมาฝาก ได้รับรู้เรื่องกลุ่มเลี้ยงควายและถ่ายรูปควายนอนแช่น้ำอย่างมีความสุขโดยมีนกกระยางเป็นเพื่อน รถแล่นผ่าน "แหลมดิน" ซึ่งด้านขวามือเป็นทะเลน้อย ซ้ายมือเป็นทะเลสาบส่วนที่เรียกว่า "ทะเลหลวง" บริเวณนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่มาก ผมชื่นชมที่เขาตัดถนนยาว ๖ กม. ผ่านโดยทำอันตรายต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยสร้างเป็นสะพานเตี้ยๆยาว ๖ กม. ในที่ลุ่มริมถนนมีนกน้ำหากินอยู่มากมาย ผมเกิดความคิดว่า ภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ติดทั้งทะเลสาบ และทะเลมหาสมุทรนี่แหละคือลักษณะจำเพาะของที่นี่ ที่เป็นโอกาสให้เรียนรู้และสร้างผลงานวิชาการได้อย่างมากมาย โดยจะไม่มีมหาวิทยาลัยใดแข่งขันได้เลย เพราะพื้นที่แบบนี้มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย" ทิศทางในการพัฒนา และแก้ปัญหา เรื่องความขัดแย้งการใช้ทีดินที่ยังแก้ปัญหาไม่รู้จักจบ ขณะนี้สภามหาวิทยาลัยแก้ปัญหาชุมชนแบบเกาไม่ถูกที่คัน ด้วยเพราะว่าไม่ใช้ข้อมูลชุมชน มาวิเคราะห์แก้ปัญหา ดังการทำงานของนักพัฒนาชุมชนที่ว่า "ข้อมูลเป็นสำคัญ ชุมชนเป็นฐานบูรณาการกับชีวิตจริง" อ่านข้อเขียนของอาจารย์แล้วที่ไปดูนก อยากให้อาจารย์มีเวลามาพักผ่อน นอนชิม วัฒนธรรม และธรรมชาติของป่าชุ่มน้ำพนางตุง และช่วยชี้แนะอะไรต่อมิอะไร และเพื่อให้ผมได้มีโอกาสรับใช้บริการอาจารย์ในการท่องชุมชนในป่าพรุที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มากๆหากมีเวลาขอเรียนเชิญและยินดีรับใช้ด้วยความตั้งใจครับอาจารย์

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากๆๆๆๆๆๆๆ บอกไม่ถูกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท