การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา


มุมมองเรื่องการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา จากทัศนะพระไตรปิฎกเถรวาท

               ปัจจุบันคำว่า “ห้ามลอกเลียนแบบ” ถูกหยิบยกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย นับแต่รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎหมายอื่น ๆ อันเนื่องด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่ทำให้สิ่งที่เป็นประดิษฐกรรมหรือผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามเงื่อนไขของกฎหมายโดยอัตโนมัติ[๑]

               กล่าวคือ สิ่งที่สร้างหรือประดิษฐ์โดยผลงานทางปัญญาของมนุษย์ เช่น หนังสือ ภาพวาด ภาพถ่าย หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  กฎหมายถือให้เป็น “ทรัพย์สิน” “ทางปัญญา” ชนิดหนึ่ง ที่ผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะหวงแหนกีดกันโดยสิ้นเชิงไม่ยอมให้ใครนำผลงานทางปัญญาของตนไปใช้ได้ (exclusive rights)[๒] หรือแม้แต่ผู้สร้างสรรค์จะนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเพียงการแสดงออกซึ่งความคิดของตน (expression of idea) ไปซื้อขายก็ย่อมทำได้

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/ed/Thai_Buddish_Monk_and_Football_Boy.jpg/453px-Thai_Buddish_Monk_and_Football_Boy.jpg

               กฎหมายประเภทนี้เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว จึงกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่แปลกกว่ากฎหมายอื่น เพราะยอมให้มีการซื้อขายได้แม้กระทั่ง “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” แต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวก็เป็นกฎหมายสำคัญที่คุ้มครองสิทธิของผู้มีความพยายามในการสร้างสรรค์ผลงาน ในอันที่จะได้รับสิทธิผูกขาดการแสวงหาประโยชน์จากผลงานทางปัญญาของตน

               แม้พัฒนาการของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันดังกล่าว จะเริ่มต้นมาจากแนวคิดของตะวันตก[๓] และพึ่งเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยไม่นาน แต่ปรากฏว่าคนไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญามานานแล้ว และแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในสมัยก่อน แต่ก็ปรากฏในธรรมเนียมปฏิบัติของครูอาจารย์สำนักต่าง ๆ เช่น สำนักหมอยาพื้นบ้านไทย ที่มีวิธีการหวงกันองค์ความรู้ โดยจะส่งต่อให้เฉพาะแก่ผู้สืบสกุล, สายศิษย์ของตนหรือกลุ่มของตนเท่านั้น (ทัศนคติเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาไทยสูญหายไปพร้อม ๆ กับบุคคล) ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามนิยามในปัจจุบัน แต่ก็ผิดวัตถุประสงค์ของการค้นพบองค์ความรู้ใหม่และกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้การคุ้มครองมีวันสิ้นสุดตามกำหนด เพื่อให้องค์ความรู้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ[๔]

               ซึ่งหากมองการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย และวิธีคิดโบราณในการสืบต่อองค์ความรู้ของไทยดังกล่าว โดยพิจารณาจากเนื้อหาที่ปรากฎในคัมภีร์หลักทางพระพุทธศาสนา ก็อาจกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าว เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับทัศนคติเชิงพุทธในหลักการที่ไม่นิยมสิ่งที่สุดโต่งเกินไป[๕] โดยพระพุทธศาสนากล่าวว่าการหวงกันองค์ความรู้จัดเป็นความตระหนี่อย่างหนึ่ง  ดังปรากฏในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค[๖]  ที่กล่าวถึง “มัจฉริยะ ๕” หรือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ว่ามี

                                        ๑.  อาวาสมัจฉริยะ                            ตระหนี่ที่อยู่

                                        ๒. กุลมัจฉริยะ                                  ตระหนี่สกุล

                                        ๓. ลาภมัจฉริยะ                                ตระหนี่ลาภ

                                        ๔. วัณณมัจฉริยะ                              ตระหนี่วรรณะ

                                        ๕. ธัมมมัจฉริยะ                                ตระหนี่ธรรม

               จากข้อความดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การหวงกันผลงานหรือองค์ความรู้ของตน แม้เพื่อประโยชน์ของตน ก็จัดได้ว่าเป็นมัจฉริยะอย่างหนึ่งได้ คือ ธัมมมัจฉริยะ และ ลาภมัจฉริยะ ซึ่งมัจฉริยะก็นับเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจรุ่มร้อน ไม่มีความสุข เกิดความวุ่นวายและปัญหาต่าง ๆ ตามมา ดังปรากฏว่า มีหลายครั้งที่การให้สิทธิเด็ดขาดการหาผลประโยชน์ในงานสร้างสรรค์ไว้กับบุคคล แม้กับผู้สร้างสรรค์เอง ก่อให้เกิดการผูกขาดซึ่งทำให้มีการแสวงหากำไรโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม เช่นในกรณีของการค้นพบยาที่รักษาโรคร้ายได้ แต่ผู้ค้นพบกลับกดราคาไว้สูงเกินไป ทำให้ผลงานที่ควรเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทุกชนชั้น กลับไม่เป็นประโยชน์ได้อย่างที่ควรจะเป็น[๗]

               ที่กล่าวเช่นนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าผู้เขียนจะบอกว่า “พระพุทธศาสนาให้ลอกเลียนแบบได้” กระนั้นหรือ?

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/712/797/large_Nekasi_Labhate.jpg?1303326317

               ความจริงแล้ว แม้การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นกิเลสอย่างหนึ่งในทัศนะทางพระพุทธศาสนา แต่ พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาวิภัชวาที คือเป็นศาสนาที่ไม่กำหนดบัญญัติหรือบังคับฟันธงลงไปว่าสิ่งใดคือดีหรือชั่วโดยประการเดียว ทุกสิ่งมีเหตุผลในตัวของมันเอง คือทุกสิ่งทั้งส่วนดีและไม่ดี ให้รู้จักแยกแยะ ไม่ตีรวม[๘]

               กล่าวคือ แม้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะดูเหมือนขัดแย้งกับทัศนคติเชิงพุทธ แต่พระพุทธศาสนาก็ให้ความเคารพในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หากพิจารณาจากกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็น “ทรัพย์สิน” และผู้ละเมิดมี “ความผิด” ตามกฎหมาย เมื่อนำมาปรับเข้าหลักการให้เบญจศีลแล้วผู้ละเมิดก็ย่อมผิดหลัก “อทินนาทาน” (ที่ขโมยเอา “องค์ความรู้” ที่เจ้าของหวงแหนไม่อนุญาตให้ใครไปใช้หาประโยชน์) ได้เช่นเดียวกัน

               นอกจากนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบจากพุทธจริยาวัตรต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ เช่น การเคารพในความเป็นเจ้าของต้นฉบับ (original) ที่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงกล่าวหลักธรรมที่ทรงนำมาจากแหล่งใดหรือผู้ใดกล่าวไว้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงให้ความเคารพ โดยกล่าวอย่างชัดเจนว่าผู้ใดเป็นต้นคิดหลักธรรมนั้น โดยไม่ปิดบังหรือกล่าวตู่ว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น ศีล ๕ (ที่รู้จักกันทั่วไปดีว่าเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธ แต่ความจริงแล้วศีล ๕ นั้น ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใหม่แต่อย่างใด) โดยทรงกล่าวว่าหลักศีล ๕ นั้นเป็นเพียงแค่ทรงนำหลักธรรมเก่าคือ “กุรุธรรม ๕”[๙] ที่มีอยู่แล้วในชมพูทวีปมาตรัสแสดงให้ชาวพุทธปฏิบัติ[๑๐] เป็นต้น


                นอกจากนี้ยังปรากฏพุทธจริยาในลักษณะนี้มากมายในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องการให้ความสำคัญกับการอ้างอิงที่มาของนิพนธ์คาถา หรือหลักคำสอนต่าง ๆ โดยอ้างอิงโยงเข้ากับความเป็นมาในประวัติศาสตร์หรืออดีตนิทาน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับที่มาหรือผู้กล่าวที่เป็นผู้ทรงสิทธิทางปัญญาตามนิยามในปัจจุบันอย่างแท้จริง

               ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ในมุมมองทางพระพุทธศาสนา แม้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยให้สิทธิเด็ดขาด จะดูขัดกับหลักการเชิงพุทธ ที่ให้เป็นคนใจกว้าง ไม่มีการหวงกันในการเผยแพร่ความรู้  (วัตถุทาน, ธรรมทาน) แต่พระพุทธศาสนาก็สอนให้มีความเคารพและให้ความสำคัญกับผู้ทรงสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการให้ความเคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย ในอันที่จะไม่ละเมิดโดยประการใด ๆ และอาจกล่าวได้ว่า การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธจริยา คือแนวทางที่พระบรมศาสดาของชาวพุทธทรงวางเอาไว้เมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ที่ยังคงมีความทันสมัยมาจนปัจจุบันฯ

 


[๑]  พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๘ และ ๙

[๒] จักรกฤษณ์ ควรพจน์.  (๒๕๔๙). แนวคิดและวิวัฒนาการของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

[๓] Greenstreet, C.H.  (1972). “History of Patent System” In Liebesny, F. (ed.) Mainly on Patents: The Use of Industrial Property and Its Literature. London : Butterworths. p.2.

[๔]  พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๙, ๒๐, ๒๑, ๒๒, ๒๓, ๒๔, ๒๕, ๒๖ และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๕

[๕] ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรที่หมุนกงล้อแห่งธรรม) เป็นพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้าแสดงแนวทางปฏิบัติเพื่อหลักเลี่ยงแนวทางสุดโต่งสองทางคือ กามสุขัลลิกานุโยค (หย่อนเกินไป) และ อัตตกิลมถานุโยค (ตึงเกินไป) แต่ให้ปฏิบัติตาม มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ซึ่งทางสายกลางนี้คือธรรมะสำคัญที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ ยังผลให้พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น กงล้อแห่งธรรมเริ่มหมุน  การเผยแพร่พระพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นขึ้นนับแต่การแสดงทางสายกลางของพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๘ เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช (วันอาสาฬหบูชา)

[๖] พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ที. ปา. ๑๑/๒๘๒

[๗] เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลัก มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) เพื่อให้รัฐสามารถยกเว้นหลักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะได้

[๘] พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ทสก. อัง. ๒๔/๒๐๕

[๙] พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ขุ ชา. ๑๙/๔๗๒, อรรถกถาพระไตรปิฎก  ขุททกนิกาย ชาดก. อรรถกถา กุรุธรรมชาดก

[๑๐] พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ).  (ม.ป.ป.).  อธิบายหลักธรรมตามหมวดจากนวโกวาท.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา.


ข้อมูลในบทความนี้ สำหรับเผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณะ ไม่มีหวงห้ามและไม่ควรหวงห้าม  (ผู้นำข้อมูลในเว็บไซท์นี้ไปใช้ ต้องแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-และไม่ดัดแปลง) ดั่งคำภาษิตที่ว่า " อมเอาไว้หาย คายออกอยู่ "

   

หมายเลขบันทึก: 436132เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 02:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท