ศาสตร์ศิลป์สื่อวิทยาศาสตร์สร้างพลังการเรียนรู้ของสังคม : ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ


"...เครือข่ายผู้คนอันหลากหลายทั่วประเทศ ตื่นตัวที่จะเป็นผู้เรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่มีความหมายหยั่งถึงแก่นปัญญาความเป็นศาสตร์และศิลป์ ฝึกฝนความเป็นนักสังเกตการณ์ การพับกระดาษโอริกามิก็มีนัยยะต่อการมองเข้าไปเห็นตนเอง การดูเมฆก็มีนัยยะต่อการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของสรรพสิ่งในโลกภายนอก ......"

ผมได้รับหนังสือ ๓ เล่มจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เล่มหนึ่งเป็นหนังสือนิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๑๓ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งขึ้นปกเรื่องเมฆ รักเมฆเท่าฟ้า : รื่นรมย์ชมเมฆ ความสุขใกล้ๆเพียงแค่มอง...

ภายในเล่มก็มีสกู๊ปเรื่องราวเกี่ยวกับเมฆอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งข้อเขียนและรูปภาพที่นำมาเผยแพร่ร่วมกันของเครือข่ายสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลายวัยและหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศ อีกทั้งให้ความรอบรู้สู่อีกหลายพรมแดนที่เชื่อมโยงออกจากเรื่องเมฆ กระทั่งเมฆกับภาษาและวรรณกรรม ซึ่งทำให้ได้รู้จักคำว่า กจป ของภาษาสันสกฤต : ซึ่งแปลว่า ผู้ดื่มเมฆ !!! และหมายถึงหญ้า ช่างอลังการอะไรอย่างนี้

นิตยสารสารคดีให้พื้นที่หน้ากระดาษแก่เรื่องเมฆของท่านกับสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆถึง ๔๘ หน้าหรือเป็นความหนาด้วยกระดาษของรูปเล่มขนาด ๘ หน้ายกถึง ๖ ยกเลยทีเดียว ทั้งหมดพิมพ์ ๔ สี มีภาพถ่ายสวยงามจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสื่อสิ่งพิมพ์ระดับนี้ ทั้งบอกเล่าแสดงด้วยภาพ และใช้ภาพประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาบทความ อีกทั้งยกเป็นเรื่องเด่นขึ้นปกของนิตสารสารคดี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟิคของเมืองไทย

                         

ภาพที่ ๑ หนังสือและบทความเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องเมฆและการพับกระดาษโอริกามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ กับเครือข่ายนักพับกระดาษโอริกามิในประเทศไทย  บนซ้ายและล่างซ้ายสารคดีเรื่องเมฆ เป็นเรื่องขึ้นปก ของนิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๑๓ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ และ หนังสือ โอริกามิ : กระดาษพับ....อัศจรรย์ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และเครือข่ายนักพับกระดาษโอริกามิในประเทศไทย  บนขวาและล่างขวา : หนังสือ อัศจรรย์ฟ้าฝน โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ

อีกสองเล่มเป็นพ๊อกเก็ตบุ๊คอันเป็นผลงานที่ท่านเขียนและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงนักอ่าน เล่มหนึ่งคือ อัศจรรย์ฟ้าฝน ซึ่งเขียนร่วมกับสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ และอีกเล่มหนึ่งคือ โอริกามิ กระดาษพับ....อัศจรรย์ เล่ม ๒ ซึ่งมีเอกสิทธิ์ เข้มงวด นักพับกระดาษโอริกามิอีกคนหนึ่งของเมืองไทยผู้ได้ความบันดาลใจจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ร่วมเขียนด้วย แทนความขอบคุณและความซาบซึ้งในน้ำใจ พร้อมกับเป็นการให้กำลังใจที่หากจะพูดอย่างไรก็คงไม่ตรงกับความรู้สึกที่อยากจะให้ ผมก็เลยขอสะท้อนบทเรียนและร่วมส่องทางการเรียนรู้กันให้เป็นบันทึกนี้

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติผสานกับพลังความเป็นหนึ่งของจิตใจ

ผมรู้จัก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติผ่านผลงานของท่านในเว็บบล๊อก GotoKnow อาจจะเนื่องด้วยผมมีความสนใจอยู่เป็นพื้น ที่สอดคล้องกับเรื่องที่ ดร.บัญชาท่านเผยแพร่ให้การเรียนรู้แก่สังคม คือ เมฆ ท้องฟ้า และปราฏการณ์ธรรมชาติ ศิลปะของการพับกระดาษ การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมที่บูรณาการไปกับชีวิตการงานของคนทำงานสาขาต่างๆ รวมไปจนถึงศิลปะของการถ่ายภาพ การเขียนและทำหนังสือเพื่อสื่อสารความรู้กับสังคม

ผมเคยเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างมาก่อน ซึ่งการเขียนภาพทิวทัศน์ท้องฟ้า เมฆ ทะเล ภูเขา ท้องนา เหล่านี้ เป็นวิชาหนึ่งที่จะต้องศึกษาให้เป็นพื้นฐานสำหรับการเขียนรูปในเนื้อหาต่างๆ ซึ่งอารมณ์ของภาพและการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆด้วยภาษาการเขียนภาพนั้น เมฆและท้องฟ้า ตลอดจนแสงแดด เงา สีสันของบรรยากาศ ลีลาของต้นไม้ใบหญ้า ตลอดจนโครงสร้างเชิงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆของยามเช้า กลางวัน เย็น ฝนตก พายุเกรี้ยวกราด แดดจ้า ความร้อนแล้ง ความเจิดจ้าอุดมสมบูรณ์ เหล่านี้ เป็นองค์ประกอบภาพที่จะต้องศึกษาและฝึกฝนการเขียนออกมา ให้เพียงพอที่จะใช้ทำงานบันทึก บอกเล่า และถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆอย่างที่ต้องการได้

คนเขียนรูปจึงจำเป็นต้องนั่งวาดบันทึกประสบการณ์ต่อเมฆ ท้องฟ้า และปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ ให้ช่ำชองในทุกเทคนิค นับแต่การวาดเส้น การเขียนสีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน เกรยอง และสื่อประสมต่างๆ รวมไปจนถึงการเข้าห้องสมุดเพาะช่าง ศิลปากร และในยุคของผมก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องไปเดินแผงหนังสือสนามหลวงกับห้างขายหนังสือโอเดียนบุ๊คสโตร์ที่พาหุรัดซึ่งจะมีหนังสือต่างประเทศแถวหน้าสุดเข้ามาอยู่เสมอ เพื่อสะสมประการณ์จากการดูภาพและแนวคิด แนวการทำงานของจิตรกรในยุคต่างๆ ซึ่งในบรรดาจิตรกรในทุกยุคของโลกแล้ว เป็นที่เห็นตรงกันว่าไม่มียุคไหนที่จะเขียนท้องฟ้าและภาษาเล่าเรื่องด้วยความอลังการแห่งมวลเมฆ ท้องฟ้ากับแสงแดด ได้เกินไปกว่าจิตรกรของยุคโรแมนติกกับยุคเรอนาซองส์ ซึ่งส่งอิทธิพลมาจนถึงยุคปัจจุบันในงานหลายแนว

สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อผุดเรื่องราวเกี่ยวกับเมฆและท้องฟ้าในแวดวงศิลปะ ผู้คนก็มักจะต้องมุ่งความสนใจไปยังประเทือง เอมเจริญ จิตรกรซึ่งอาศัยดำเนินชีวิตเป็นช่างเขียนโปสเตอร์โรงหนังและเรียนรู้เคี่ยวกรำตนเองอย่างเข้มข้นในทางศิลปะด้วยการนั่งจ้องมองและเขียนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ลำแสงและหมู่เมฆ กระทั่งเป็นแนวสร้างสรรค์งานเฉพาะตนและเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศในการทำงานแนวเซอร์เรียลลิสต์

ขณะเดียวกัน เรื่องราวความน่าอัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นิยายและวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานศิลปะและภาพยนตร์ทางวิทยาศาสตร์กับจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ก็เป็นแนวหนึ่งของงานที่ผมชอบตั้งแต่เด็ก กระทั่งต่อมา ก็ได้ศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเวชนิทัศน์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสาขาการศึกษาทางด้านการสื่อสารและการทำสื่อเพื่อการศึกษาเรียนรู้ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุข เสมือนเป็นเครื่องมือทำงานความรู้และวิธีจัดการความรู้เพื่อการถ่ายทอดสื่อสารสิ่งที่ยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งทำสิ่งที่ศึกษาเรียนรู้ได้ยากให้สามารถเห็นภาพและเข้าสู่การศึกษาเรียนรู้ได้ ตลอดจนบันทึกข้อมูลภาพและเสียงเพื่อการศึกษาวิจัย ด้วยเหตุนั้น การถ่ายภาพ การวาดรูป การมีข้อสังเกต วิธีเล่าถ่ายทอด วิธีวิเคราะห์และเนื้อหาการบันทึกเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่มักจะสะดุดความสนใจผมได้อยู่เสมอ

                       

ภาพที่ ๒ ผลงานภาพถ่ายและการร่วมบันทึกรายงานปรากฏการณ์เมฆและท้องฟ้าในแหล่งต่างๆของประเทศ โดยสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ใน นิตยสารสารคดี

ด้วยความที่มีพื้นความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่บ้างอย่างนี้ เมื่อเห็นเรื่องราวต่างๆของ ดร.บัญชาและหมู่สมาชิกของชมรมคนรักมวลเมฆใน GotoKnow ก็ทำให้เป็นกลุ่มเรื่องราวและความเคลื่อนไหวที่ผมอดไม่ได้ที่จะต้องแวะเวียนเข้าไปชมภาพถ่ายและติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆอยู่เป็นระยะๆ

ต่อมาผมก็ได้พบและรู้จักตัวจริงของท่านในการได้ร่วมเวทีเสวนาแบ่งปันประสบการณ์กัน ซึ่ง GotoKnow ได้ขอเวทีย่อยเวทีหนึ่งจากสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส)  เชิญวิทยากร ๕ คนไปนั่งเสวนากัน ในเวทีการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๕ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุม ณ เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าวเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา คือ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช) รองศาสตราจารย์นายแพทย์จิตเจริญ ไชยคำภา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูหยุย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภาและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก คุณเอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร นักวิชาการอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกสาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และผม ซึ่งก็ช่วยกันทำให้เวทีย่อยของ GotoKnow ได้รับความสนใจและเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีพลังได้มากทีเดียว

คนใน GotoKnow รู้จักและเรียก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ว่า ดร.ชิว ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วท่านจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี ๒๕๓๑ ก่อนที่จะได้รับทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท) ไปศึกษากระทั่งจบปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาโลหะวิทยา จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐจอเจียร์ สหรัฐอเมริกา จากนั้น ก็กลับมาทำงานเป็นนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC-เอ็มเทค) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ในปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน

ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการมุ่งพัฒนาการเรียนรู้และสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเพื่อให้สังคมไทยได้รับประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนโอกาสการพัฒนาต่างๆบนฐานความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากยิ่งๆขึ้น การเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตลอดจนการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ความรู้ต่างๆเพื่อบรรลุจุดหมายดังกล่าว จึงเป็นงานที่ท่านให้ความสนใจ และก็เป็นเหตุปัจจัยเบื้องหลังอันสำคัญที่ผมกับผู้คนอีกเป็นจำนวนมากจึงได้มีโอกาสพบกับงานของท่านใน GotoKnow รวมทั้งผลงานหนังสือ สื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งจากสิ่งพิมพ์ สื่อมวลชน รายการโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างวาระการเรียนรู้อย่างรอบด้านผ่านเรื่อง เมฆ ท้องฟ้า และการพับกระดาษโอริกามินั้น นับว่าคือความเป็นดร.ชิว หรือดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่สาธารณชนจะได้สัมผัสและนึกถึงทั้งใน GotoKnow สื่อมวลชน และเวทีเรียนรู้ระดับต่างๆทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้พบปะสันถวะกันทั้งก่อนและหลังการเสวนา รวมไปจนถึงการได้นั่งฟังไปด้วยบนเวทีเสวนาในขณะที่ท่านแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆในการเคลื่อนไหวสังคมผ่าน GotoKnow แล้ว ก็ยิ่งได้ประจักษ์แก่ตนเองว่า ดร.บัญชา ธนบุญสมบัตินั้น ยังมีเรื่องราวและความน่าประทับใจอีกหลายมิติ จนแทบจะเรียกว่างานเขียนบล๊อก หนังสือ และผลงานมากมายที่ผมเคยเห็นก่อนหน้านั้น เป็นเกร็ดความรอบรู้และกิจกรรมตามความสนใจบางส่วนที่ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ มีอยู่ เท่านั้น

                       

ภาพที่ ๓ หนังสือการพับกระดาษโอริกามิ ใส่ลูกเล่นและศิลปะของหนังสือโดยทำสารบัญภาพและเรื่องควบคู่ไปกับสารบัญเนื้อหาแบบทั่วไป ศิลปะของหนังสือในลักษณะดังกล่าว บอกเล่าวิธีคิดและความสร้างสรรค์ในหลายด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการแสดงด้วยภาพซึ่งต้องใช้จำนวนหน้าหนังสือและค่าใช้จ่ายสำหรับการพิมพ์ภาพสี เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการให้แนวคิดที่ต่างจากทั่วไปในการใช้ภาพประกอบเรื่อง เมื่อแยกออกมาแสดงเป็นทางส่วนนำเข้าสู่เรื่องราวในเล่มหนังสือ ก็ทำให้มีความอลังการ ทำบทบาทเป็นสารบัญพร้อมกับเป็นส่วนแสดงภาพให้เห็นได้ดีกว่าเดิม

ในทรรศนะผมนั้น เท่าที่ได้เห็นงานของท่านที่เกี่ยวกับเรื่องเมฆและการพับกระดาษโอริกามิ รวมทั้งการได้นั่งสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันหลายจังหวะเมื่อครั้งได้ไปเจอกันในงานเวทีจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๕ ที่เซ็นทรัลลาดพร้าวแล้ว ก็ให้ตระหนักว่า ดร.บัญชานั้นไม่เพียงเป็นยอดนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ทว่า เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมที่ช่างแยบคาย ลึกซึ้ง มีความรอบรู้และทักษะเฉพาะตนหลากหลายมากอย่างยิ่ง โดยจะสังเกตได้ว่า ภายใต้เรื่องเมฆและศิลปะการพับกระดาษโอริกามิ นั้น มิใช่เพียงกิจกรรมทางความรู้มิติเดียว ทว่า เมฆคือเงื่อนไขการเรียนรู้ที่จะเปิดไปสู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ส่วนศิลปะการพับกระดาษโอริกามินั้น ในฐานะหนึ่งก็คือเงื่อนไขการเรียนรู้ที่จะเปิดไปสู่ปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งหยั่งและเชื่อมโยงออกไปนับแต่จิตใจและมิติด้านในของมนุษย์ออกไปสู่ความเป็นจริงทั้งมวลของระบบสังคม

ดังนั้น นอกจากเรื่องเมฆและการพับกระดาษโอริกามิ จะเป็นการนำเสนอความเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีความน่าสนใจอย่างสมบูรณ์อยู่ในตนเองมากอย่างยิ่งแล้ว ในแง่ของความเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ และการเคลื่อนไหวสังคมแห่งการเรียนรู้ ก็ต้องนับว่าเป็นการนำเอาปรากฏการณ์ธรรมชาติและกิจกรรมที่มีความลึกซึ้งต่อการนำมาสร้างวาระการเรียนรู้ได้อย่างบูรณาการ รวมทั้งสามารถสะท้อนความเชื่อมโยงไปสู่ศาสตร์สาขาต่างๆได้อย่างรอบด้าน มาใช้เพื่อเผยแพร่ส่งเสริมให้ผู้คนและสังคมได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจมากอีกด้วย

เชื่อว่าไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า ดร.ชิวกับสมาชิกของชมรมคนรักมวลเมฆ ได้ริเริ่มรูปแบบอีกรูปแบบหนึ่งในการเคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้ให้เกิดหลายอย่างไปด้วยกัน อันได้แก่ สามารถเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างบูรณาการ, กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดพลังความตื่นตัวของชุมชนเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พร้อมไปกับการทำให้ผู้คนเกิดประสบการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อสังคมไทยของตนเอง ทั้งเป็นประสบการณ์ตรงอย่างใกล้ชิดและอย่างเป็นระบบ ไปในเวลาเดียวกัน

ความรอบด้านของการปฏิบัติและเรียนรู้ทั้งหลักคิดและทรรศนะพื้นฐานภายใต้ปรากฏการณ์สองอย่าง ซึ่งครอบคลุมไปได้อย่างกว้างขวางในสาระสำคัญของระบบภูมิปัญญาและความเป็นศาสตร์ศิลป์ของสังคมมนุษย์ เหล่านี้ กล่าวได้ว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำงานปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ผสมผสานไปกับการทำงานเชิงออกแบบทางความคิด พร้อมไปกับปฏิบัติเชิงสังคมและเคลื่อนไหวสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีความผสมกลมกลืน ซึ่งก็จะหาได้ไม่ง่ายนัก

หนังสือและสื่อเพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย

หากจะย้อนกลับไปเรียนรู้พัฒนาการของสังคม เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องและความคืบหน้าในการพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศแล้ว ความริเริ่ม ตลอดจนพัฒนาการและความเคลื่อนไหวในแวดวงต่างๆก็มีความหลากหลายให้ได้รับรู้มากพอสมควร ผมเองนั้น เมื่อนึกถึงหนังสือและสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ก็จะนึกถึงหนังสือชัยพฤษ์วิทยาศาสตร์ ที่อาจารย์อนุช อาภาภิรมย์ และคณะ ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ ได้ทุ่มเทบุกเบิกและริเริ่มให้แก่สังคมไทยเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ในการพัฒนาการเรียนรู้แก่ประชาชน ก็จะต้องนึกถึงท้องฟ้าจำลองข้างสถานีขนส่งสายตะวันออกหรือเอกมัย ซึ่งทั้งเด็กและประชาชนทั่วประเทศที่สนใจก็จะต้องมุ่งไปที่นั่นมานับกึ่งศตวรรษเช่นกัน ในงานเขียนหนังสือ ทั้งในงานเชิงความคิดและงานเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็จะนึกถึงศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ คุประตกุล, ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล รวมทั้งงานแปลของนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ ที่เป็นนักเขียนหนังสือด้วยอีกหลายเล่ม ตลอดจนนึกถึงเพื่อนของผมคนหนึ่งซึ่งกำลังเกิดในบรรณภิภพจากการเขียนเรื่องสั้นและนิยายจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ก่อนจะถึงแก่กรรมหลังจากมีผลงานไม่กี่เรื่อง

นึกถึงงานหนังสือของศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน, ดร.นัยพินิจ คชภักดี และอีกหลายท่านที่ผมอ่านผลงานรวมทั้งชอบนั่งฟังท่านพูดความคิด ซึ่งในการชอบอ่านผลงานของท่านเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะชอบและมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากมายแต่อย่างใด ทว่า ผมชอบวิธีคิด วิถีทรรศนะการเข้าสู่ความจริงของสรรพสิ่ง ความรอบรู้ และความสามารถอธิบายมิติอื่นๆของสังคมและสรรพสิ่งออกจากจุดยืนของศาสตร์ทางความรู้ในสาขาของท่านเสียมากกว่า

งานของท่านศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไลนั้น ผมเดินตามท่านมาเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนหลังจากอ่านที่ท่านแปลงานของคาลิล ยิบราน ซึ่งผมได้อ่านพร้อมๆกับงานของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ๒-๓ เล่ม งานของท่านศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล นั้นมักเด่นในการเชื่อมโยงเรื่องราวระบบสุริยะ ดาราศาสตร์ ออกไปสู่ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาชีวิต มิติจิตใจ และที่สุดก็ศาสนธรรม โดยเฉพาะทางด้านพุทธธรรมและพื้นฐานความเป็นจริงของสรรพสิ่ง

                           

ภาพที่ ๓ ตัวอย่างผลงานสื่อสิ่งตีพิมพ์สื่อสารและถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับคนทั่วไปของ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน โภชนา-โรคา น่าฉงน ใน ชุดวิทยาการแห่งอารยะ. แนวการเขียนของศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน จะเหมือนกับแนวศิลปะแบบ Pop Art โดยใช้เรื่องที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยและสังคมโลก หรือสิ่งที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว มาเป็นหัวข้อเรื่องเพื่อศึกษาอย่างรอบด้านและเชื่อมโยงเข้าหาการอธิบายด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้ความเข้าใจที่กว้างขวาง รอบด้าน ได้กระบวนทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์ไปทำความเข้าใจมิติสังคมวัฒนธรรม ได้เรียนรู้และได้ความรู้ใหม่จากสิ่งเดิมๆที่อยู่รอบตัว

งานหนังสือและสื่อสารการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับคนทั่วไปของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุลนั้น จะออกไปในทางการเห็นความก้าวหน้า ความกว้างขวางของโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และระบบจักรวาล ส่วนแนวของ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ก็จะเชื่อมโยงความเป็นวิทยาศาสตร์เข้าสู่เรื่องราวรอบตัว ในวิถีชีวิต ในประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสังคม ตลอดจนอารยธรรมสำคัญๆของโลก ซึ่งเห็นงานของท่านทีไรก็มักจะทำให้ผมมักนึกถึงความรอบรู้ กว้างขวาง และความมีอารมณ์ขันอยู่บนงานความรู้ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ อาจารย์พิชัย วาสนาส่ง ทั้งที่ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นเอกกันในคนละทาง เช่นเดียวกับ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ซึ่งให้ผมยืนขาแข็งฟังท่านพูดเรื่องราวต่างๆอย่างที่ท่านอยากพูดสัก ๑ ชั่วโมงก็ไม่ยักรู้สึกเบื่อ

กล่าวได้ว่า การสร้างความรู้ สื่อ และสื่อสารวิทยาศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับสังคม ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องพอสมควรในสังคมไทยนั้น ในการรับรู้ของผมแล้ว ก็เห็นว่าเป็นการบุกเบิกและขึ้นต่อพลังของปัจเจกบุคคลในยุคต่างๆมากกว่าจะมีระบบดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้แก่สังคมโดยตรง ซึ่งก็นับว่าเป็นความโชคดีของสังคมไทยที่ก็มักจะไม่ขาดแคลนคนดีไปในห้วงเปลี่ยนผ่านแต่ละยุคสมัย

ในวงการอุดมศึกษาและสังคมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น ผมต้องยอมรับว่าหูตาแคบมาก คงจะรับรู้ได้ก็เพียงผ่านประสบการณ์ของตนเอง เป็นต้นว่าผมนึกถึงบทบาทของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลเพราะผมเรียนกับท่านที่นั่น ซึ่งท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งทำให้ท่านคัดเลือกครูแพทย์ที่มีความสามารถทางด้านศิลปะและสื่อด้วย ไปเรียนวิชาเวชนิทัศน์จากสหรัฐอเมริกาเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน ๒ คน

รวมทั้งเดินไปหาความร่วมมือกับโรงเรียนเพาะช่าง ช่วยกันค้นหาคนทำงานศิลปะฝีมือดีจำนวนหนึ่งมาสร้างเป็นทีมกับครูแพทย์ที่ท่านสร้างขึ้นมาได้ บุกเบิกแผนกการทำสื่อเพื่อพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ต่อมาก็ก่อตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนเวชนิทัศน์ และพัฒนาการเป็นสถานเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีหน่วยพัฒนาการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่สังคมได้จากโรงเรียนแพทย์และสาขาที่มีวิทยาศาสตร์เป็นฐานความรู้

ในอีกทางหนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลก็มีการพัฒนาสถาบันพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อวิจัยและพัฒนาสื่อ นวัตกรรมการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาการเรียนรู้บนพื้นฐานความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ เป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนอกเหนือจากระบบการพัฒนาครู การศึกษา และการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ที่อิงอยู่กับหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ซึ่งเกินสติปัญญาและความรู้ที่จะกล่าวถึงในรายละเอียดได้ของผม

กล่าวได้ว่า เป็นพัฒนาการที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องพอสมควร แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับสังคมโดยรวมแล้ว ก็นับว่าก่อเกิดไม่มากนัก มิพักที่จะต้องครอบคลุมไปถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในสังคมไทย ดังนั้น การสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสังคมไทย ในแทบจะทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงยังขาดแคลนบุคลากรและระบบปฏิบัติการ ที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและมีความเชื่อมโยงกับด้านอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นอยู่อีกมากทีเดียว

                      

ภาพที่ ๔ วิธีเขียนและนำเสนอ ในหนังสือ อัศจรรย์ฟ้าฝน ของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติและสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ มีการเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้มิติประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงเรื่องเล่า ตำนาน และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของสังคมไทยและสังคมโลกในวัฒนธรรมต่างๆที่เชื่อมโยงออกไปจากเรื่องเมฆและฟ้าฝน

ความต่างที่สำคัญในแนวทางของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ 

แนวทางของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัตินั้น ในทรรศนะผมแล้ว ก็มีภูมิปัญญาปฏิบัติที่ต่างออกไปอีกจากพัฒนาการและความเคลื่อนไหวในด้านนี้ที่สะท้อนอยู่ในผู้ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นนักดูเมฆและนักพับกระดาษโอริกามิ สื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปกับผู้คนผ่านการปฏิบัติกิจกรรมสะท้อนความคิดและสะท้อนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งนั้น เห็นได้อย่างแน่ชัดว่าการบุกเบิกริเริ่มของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ กำลังทำให้กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์กับการเรียนรู้ทางสังคม เคลื่อนออกจากฐานคติที่ว่า 'ความรู้คือพลัง' ซึ่งทำให้โครงสร้างและระบบสังคมภายใต้การเคลื่อนไหวทางความรู้เป็นโครงสร้างแนวดิ่งและมีพลังผูกขาดแบบรวมศูนย์ความรู้ ไปสู่ฐานคติที่ว่า 'เครือข่ายความรู้และการร่วมสร้างความหลากหลายทางปัญญาอย่างเชื่อมโยงและรอบด้านของสังคมคือพลัง' หรือ 'ชุมชนและเครือข่ายเรียนรู้คือพลัง'

นัยยะต่อการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

หากพิจารณากิจกรรมเคลื่อนไหวการเรียนรู้ของสังคมดังที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า วิธีการของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นั้น เป็นวิธีที่กำลังทำให้เมฆและท้องฟ้าซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและเกี่ยวข้องกับสรรพชีวิต เป็นแหล่งสร้างประสบการณ์ร่วม นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันได้ของทุกคน มีพื้นฐานในการที่จะทำให้ผู้คนจับต้องและได้ความลึกซึ้งแก่ตนเองได้ว่าวิทยาศาสตร์อยู่ในวถีชีวิตของทุกคน รวมทั้งการเรียนรู้และสร้างความรู้ก็เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องเป็นองค์ประกอบหนึ่งในชีวิตประจำวัน

จะว่าไปแล้ว กุศโลบายที่มหาตม คานธี ห่มผ้าทอมือและพาชาวอินเดียฝ่าลูกกระสุนปืนของเจ้าอาณานิคมไปทำผ้าย้อมครามและทำนาเกลือด้วยมือตนเอง เพื่อที่ทุกคนจะได้สนทนาภายในให้ภาวะตื่นรู้บังเกิดขึ้นแก่ตนเองได้ว่า ทรัพยากร ผืนน้ำ และแผ่นดินของอินเดีย คือเลือดเนื้อ ชีวิต และความดำรงอยู่ของอินเดียอยู่อย่างไร เหล่านี้นั้น ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ ไม่ใช่ด้วยวิธีสอนแบบสูตรสำเร็จและการอธิบายง่ายๆอย่างขาดมิติชีวิตของผู้คน ทว่า เป็นฐานอันหนักแน่นอยู่ข้างหลังให้ผู้คนได้เข้าไปสู่ประสบการณ์ตรงต่อสังคมและเรียนรู้ในบริบทของตนเองอย่างเชื่อมโยงไปกับผู้อื่น  

กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้เครือข่ายผู้คนอันหลากหลายทั่วประเทศ ตื่นตัวที่จะเป็นผู้เรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่มีความหมายหยั่งถึงแก่นปัญญาความเป็นศาสตร์และศิลป์ ฝึกฝนความเป็นนักสังเกตการณ์ ซึ่งในหลายปรากฏการณ์ก็ก่อให้เกิดวาระความสนใจและความมีบริบทร่วมกันทั่วประเทศอย่างน่าประทับใจ เช่น ผู้คนเป็นจำนวนมากพากันส่งข้อมูลและภาพถ่ายเมฆและปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเหตุการณ์เดียวกันจากระยะและมุมอันหลากหลาย ให้เป็นข้อมูลถักทอความรู้ สร้างเรื่องราวกลมกลืนไปกับการมีประสบการณ์ตรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยของผู้คนที่อยู่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน

การพับกระดาษโอริกามิก็มีนัยยะต่อการมองเข้าไปเห็นตนเอง การดูเมฆก็มีนัยยะต่อการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของสรรพสิ่งในโลกภายนอก ได้ถ่ายรูปและบันทึกข้อมูล ร่วมรายงานและสื่อสารด้วยตนเองจากทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศ สร้างความรู้ เขียนความรู้ ร่วมตีพิมพ์เผยแพร่ เกิดประสบการณ์ตรงต่อการสร้างความเป็นจริงด้วยตนเองในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งนอกจากในหลักสูตรการศึกษาและในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว จะเคยมีใครสักกี่คนกันที่สามารถจับมือคนทั่วไปทุกรุ่นวัยให้มีประสบการณ์ต่อสังคมความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยยุทธศาสตร์การเรียนรู้จากชีวิตจริงอย่างผสมผสานในลักษณะอย่างที่กำลังค่อยๆเกิดขึ้นอย่างนี้ได้

ความมีบทบาท ระดมการมีส่วนร่วมให้ได้ทำและเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างนี้ กำลังสร้างนักวิทยาศาสตร์ชาวบ้านและจิตวิญญาณของชุมชนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ขึ้นในปริมณฑลชีวิตของภาคประชาชน สร้างเครือข่ายและเพิ่มพูน Critical Mass ของกลุ่มคนที่สามารถเป็นครูวิทยาศาสตร์ของสังคมอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่จะสามารถทำให้ประสบการณ์ชีวิตต่อโลกรอบข้าง กลายเป็นห้องเรียนได้อย่างสนุกสนาน เหมือนกับที่ได้กำลังทำให้ทุกหนแห่งภายใต้ท้องฟ้าและมวลเมฆ กลายเป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงเข้าสู่การเรียนรู้มิติอื่นๆของระบบสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องกันไปได้อีกอย่างไม่จำกัด

นอกจากจะนำไปสู่การก่อเกิดมิติใหม่ๆของสังคมแห่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก หลายประการด้วยกันแล้ว แนวทางดังกล่าวนี้ของท่านเอง ก็เชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ให้บทเรียนและก่อให้เกิดความสร้างสรรค์อย่างยิ่งทั้งต่อท่านเองและต่อสังคมไทย เป็นทั้งความต่อเนื่องและความคืบหน้าไปอีกจังหวะก้าวหนึ่งจากประสบการณ์ทางด้านนี้ที่สังคมไทยมีอยู่ ที่เกิดจากพลังของคนรุ่นใหม่ตัวเล็กๆอีกคนหนึ่งในสังคม.

หมายเลขบันทึก: 435461เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2011 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

ขอบคุณดอกไม้ให้กำลังใจ
จากอาจารย์ณัฐพัชร์ และอาจาย์ปณิธิครับ

เจอพี่ชิวทุกครั้งก็ได้เรียนรู้จากพี่ชิวครับอาจารย์ พี่ชิวรอบรู้หลายสาขามากจนคนเรียนมาทางศิลป์ภาษาทึ่งเลยครับ สวัสดีในวันสงกรานต์ครับ

มักได้รับหนังสือจาก อ. ชิวเสมอๆค่ะ

ชอบสำนวนท่านค่ะ ที่ทำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้ง่ายขึ้น จนผู้อ่านเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลินค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
อาจารย์ก็เหมือนกันนะครับ ต้องขอชื่นชมสักหน่อย
เก่งรอบด้าน แต่เรียบง่ายและเป็นชาวบ้านๆดีครับ
มีความสุขในวันสงกรานต์นะครับอาจารย์

✿อุ้มบุญ✿มา  รดน้ำและขอพรจากท่านนะคะ

สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ

การมีความรู้ สามารถใช้ดำเนินชีวืต ทำการงาน
แล้วก็ถ่ายทอดและทำให้คนอื่นเรียนรู้เอาไปใช้ได้ด้วยนี่
เป็นสุขภาพทางปัญญาความรู้ของสังคมอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ 

สวัสดีปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ครับคุณอุ้มบุญครับ
ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล
อำนวยพรให้คุณอุ้มบุญประสบแต่สิ่งดีๆ มีความสำเร็จอยู่เสมอ
ได้ความร่มเย็น สุขกายสบายใจ จะคิดและทำสิ่งใด
ก็สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการนะครับฯ

ขอขอบคุณ ดอกไม้และกำลังใจ
จากคุณบีเวอร์ อาจารย์ขจิต คุณณัฐรดา และคุณอุ้มบุญด้วยครับ

"มิตรที่ดีจึ่งมอบหนังสือเป็นของบรรณาการแด่มวลมิตร" ;)...

นับถือการเขียนบันทึกอันลึกซึ้งและมีความหมายของท่านพี่ วิรัตน์ คำศรีจันทร์

นับถือการถ่ายทอดความรู้ลงงานเขียนของพี่ชิวที่บอกว่า "เทพ" มาก ๆ

ขอบคุณครับ ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
สุขสันต์วันปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์นะครับอาจารย์ครับ
อาจารย์ก็มักอ่านหนังสือมาแบ่งปันให้กับทุกคนใน GotoKnow อยู่เสมอ
นับว่าเป็นการเลือกสรรประสบการณ์ความรอบรู้ให้แก่หมู่มิตร
และเป็นกัลยาณมิตรเพื่อการเรียนรู้ที่งดงามมากเลยนะครับ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • อ่านบันทึกแล้วพอมองเห็นช่วงจังหวะการมองชีวิตผู้คนผ่านงานเขียนและอะไรอีกมากมาย ขอแค่คิดเชื่อมโยงให้ได้ ก็จากฐานที่มีอยู่และปรากฏการณ์ที่แสดงให้เราเห็น 'มองเห็นและเข้าใจ'
  • ขออนุญาตรดน้ำดำหัวผ่าน social network นะคะ อือม์! เดี๋ยวนี้ชีวิตอะไรก็ง่ายขึ้นนะคะ สวดมนต์ผ่านหน้าจอคอมฯ ก็ยังได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจ ความตั้งใจจริงของผู้กระทำทั้งสิ้น สุขภาพกายและใจมีแฮง มีแฮงง นะคะ =)

ขอขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากอาจารย์ประทีปครับ
ต้องหาโอกาสแวะเข้าไปดูรูปวาดชนบทจากบล๊อกของอาจารย์อีกเสียแล้วละ

สวัสดีปีใหม่สงกรานต์ด้วยเช่นกันครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • อีกวิธีหนึ่ง นอกจากการถือหลักอย่าง "...มีประสบการณ์ชีวิตให้มากและกว้างขวางอย่างมีการเรียนรู้ ให้งอกงามทางประสบการณ์เป็น รัตตัญญู.." แบบพุทธวจนะพระพุทธเจ้าในทำนองนี้, หรือ "...เที่ยวท่องเพื่อรู้จักบ้านเมืองและผู้คนให้มาก..." อย่างวิถีโคจรในชีวิตของสุนทรภู่
  • รวมทั้งอย่างในวิธีการสร้างความรู้สมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเทคนิคเชิงปริมาณของข้อมูลมากๆในโลกภายนอก ที่จะทำให้สามารถสร้างความรู้ เข้าถึงความจริง และได้ญาณทรรศนะต่อเรื่องต่างๆได้ดีแล้ว ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งในทำนองอย่างการถอดบทเรียนสร้างความรู้ขึ้นจากการปฏิบัติและผ่านประสบการณ์ชีวิตของผู้คนนี้แหละครับ
  • อาจจะเดินออกไปจากตรงนี้ครับ...มีคำกล่าวของขงจื้อ ทำนองว่า "....ด้วยการคิดใคร่ครวญและมีการเรียนรู้ แม้นนั่งอยู่ในห้องแคบๆ ก็นำไปสู่การสามารถเห็นและเข้าใจโลกกว้าง...."
  • หลักคิดอย่างนี้ เมื่อแปรไปสู่การปฏิบัติก็จะเป็นวิธีการที่เน้นวิธีวิทยา มากกว่าเน้นการควบคุมและเดินตามกิจกรรมทางเทคนิค ซึ่งในบางเงื่อนไขอาจมีข้อจำกัด อีกทั้งในบางเรื่องก็อาจทำให้ฐานคติต่อความรู้ไม่ยืดหยุ่นกว้างขวางพอกับโลกความซับซ้อนที่เป็นจริง
  • การเน้นที่วิธีวิทยาหรือ Methodology นั้น จะเป็นการเน้นที่หลักคิด มุมมองการเข้าสู่ความจริงอย่างที่เป็น การออกแบบระบบวิธีคิด วิธีวิเคราะห์และให้ความหมาย การเลือกภาพสะท้อนความเป็นจริงอันถูกต้องและตรงกับสิ่งที่ต้องการถอดบทเรียน อย่างเช่น บทเรียนและองค์ความรู้เรื่องเมฆกับการพับกระดาษโอริกามิในประเทศไทยนั้น จะถามความเห็นผู้นำทางสังคมที่สังคมเชื่อถือและเป็นที่อ้างอิงได้, สำรวจตัวแทนประชากรของประเทศ, สำรวจความรู้จากสื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เหล่านี้รวมกันหรือจะถูกต้องแม่นตรงและมีพลังอธิบายความเป็นจริงเท่ากับดูจากงานของดร.ชิว คุย และเรียนรู้จากชีวิตของท่านคนเดียวไปเลย ลักษณะอย่างนี้เป็นการเคร่งครัดทาง Methodology ซึ่งการถอดบทเรียนต้องเน้นส่วนนี้ให้มากครับ
  • นัยยะของการเน้นที่วิธีวิทยาที่ผมชอบมากเลยก็คือ เป็นหลักคิดและวิถีปฏิบัติที่สนับสนุนทรรศนะพื้นฐานที่บอกว่า ชีวิตเป็นการเรียนรู้ และผู้คนทุกคนทุกชีวิต มีความหมายและมีคุณค่าอยู่ในตนเองทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทฤษฎีการศึกษาเรียนรู้แบบอิงเกณฑ์หรืออิงกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างกันของบริบท เป็นวิธีสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการโน้มนำให้ไปเคารพความแตกต่างของผู้คนได้ดีครับ ที่สำคัญคือสอดคล้องกับลักษณะคำถามหลักที่เป็นคำถามสำคัญในพุทธธรรมและในศาสนธรรมของสังคมต่างๆครับ
  • แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งวิธีการอื่นๆหรอกนะครับ เพียงแต่ว่าแนวทางอย่างนี้มีคนเอามาทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมโดยเฉพาะระดับชุมชนได้น้อย มันเหนื่อย ใช้เวลา ไม่ค่อยได้ผลงาน อีกทั้งต้องมีประสบการณ์พื้นฐานในบริบทของสังคมไทยที่เป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตอยู่บ้าง เพราะหลายเรื่องจะเรียนรู้ผ่านความรู้ที่คนอื่นเขาสร้างให้แล้วไม่ได้ แต่ผมนั้นพื้นเพมาจากบ้านนอก ชนบท อีกทั้งน่าจะมีพื้นฐานแบบถึกๆดีกว่าอีกหลายคน เลยก็น่าจะเป็นคนหนึ่งพอที่จะเดินไปในทางนี้กับเขาได้บ้าง แล้วก็อยู่บนเส้นทางการเรียนรู้หรอกนะครับ หลายเรื่องก็เลยได้เรียนรู้จากอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

*ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ..พี่ใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ดร.ซิว ทั้งเรื่องศิลป์ของการพับกระดาษ และจินตนาการของการชมเมฆอย่างลึกซึ้งค่ะ ..รวมทั้งวิทยาการเชิงสังคมที่แทรกมาในวิทยาศาสตร์ในแต่ละเรื่องอีกด้วย..ได้ติดตามอ่านเสมอด้วยความสนใจเช่นกัน..แง่คิดในบันทึกนี้ให้มิติดีๆค่ะ..

 

 เพื่อนสามวัยในงาน KM Inside กำลังสนทนาเรื่อง "เงาปีศาจ"(Glory)

      

                       แสงเงายามใกล้ค่ำที่ตึก SCB

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

                        

นี่ผมก็ได้นกเพนกวินพับกระดาษมาจาก ดร.ชิวด้วยเหมือนกันนะครับ เป็นนกเพนกวินที่เกิดบนโต๊ะอาหารระหว่างสนทนาและเตรียมเสวนากันในเวทีแบ่งปันความรู้ ในการประชุมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๕ ครั้งที่ผ่านมา

คุยไปก็สังเกตว่าดร.ชิวท่านทำสักห้าร้อยแปดอย่างไปในเวลาเดียวกันมั๊งครับ คือ คุยกับผม คุยกับเอก คุยกับครูหยุย คุยกับอาจารย์หมอ JJ คุยกับเจ้าอาร์ม ผึ้ง เก๋ พร้อมกับพับกระดาษ สลับกับอธิบายความคิดและความเป็นมา

ขณะที่มือทำ ก็อธิบายความเป็นมาของชิ้นที่พับและให้แต่ละคนไปแล้ว อย่างของผมนี่ ดร.ชิวก็เล่าให้ผมฟังระหว่างพับดอกกุหลาบชิ้นใหม่ต่อไปอีกให้อาจารย์หมอ JJ ว่า นกเพนกวินที่ให้ผมนี้เป็นแพทเทิร์นที่ค้นพบโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่น นี่ถ้าหาผมพับคงต้องใช้เวลาสัก ๓ วัน แถมออกมาแล้วก็คงจะดูเป็นท่อนเหมือนกิ่งตะโกให้นกเพนกวินเกาะอีกทีหนึ่ง แต่ดร.ชิวพับสัก ๓ นาทีเท่านั้นมั๊งครับ

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากอาจารย์ Wasawat Deemarn
ขอบพระคุณดอกไม้และกำลังใจจากพี่ใหญ่ ท่านอาจารย์หมอ JJ
เป็นอย่างยิ่งครับ

กราบสวัสดีปีใหม่ไทยค่ะท่านอ.เซียนศิลป์

อ่านบันทึกอันลุ่มลึก ละเอียด ซาบซึ้งกับ ความสัมพันธ์ซึ่งเชื่อมโยงทุกสิ่งอย่าง ได้กลมกลืนอย่างเป็นธรรมชาติ งดงามยิ่งค่ะ

ขอยกประโยคของมิ่งมิตรท่านนึง .. แหงนหน้ามองฟ้า ก้มหน้ามองดิน .. แค่นี้ก็พบความสุข งาม ง่าย ได้ทุกวี่วัน ขอบพระคุณเจ้าค่ะ :)

สวัสดีครับคุณ Poo
หายแซ๊บไปนาน แล้วนานๆก็แวะมาบ้างนี่
ได้อารมณ์เหมือนมีญาติพี่น้องหรือเกลอเก่ามาเยือนเลย
ต้องปูเสื่อเอาน้ำท่าผลหมากรากไม้มาสันถวะกันหน่อยละ

สวัสดีค่ะ

  •  บันทึกที่มีความยาวจากใจ บูรณาการทุกอย่างได้ละเอียด...รวดเดียวจบ
  • ดร.ชิว ชมรมคนรักมวลเมฆ กับการพับกระดาษโอริกามิ เยี่ยมจริงๆค่ะ

                              

       มีกระเช้าเก็ดถวาหอมๆมาฝาก  ในเดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์ค่ะ

                                      ขอบคุณค่ะ

คุณครูดาหลานี่ก็อีกท่านหนึ่ง แถมมีกระเช้าดอกไม้มาฝากกันอีก...เขาเรียกเก็ดถวาหรือครับ
ดอกนี้มันหอมมากเลยนะครับ มีเป็นตะกร้าอย่างนี้นี่ ตั้งไว้ในห้องคงเป็นแอร์เฟรชอย่างดีเลย
ขอบคุณอย่างยิ่งครับผม

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจ
จากคุณแสงแห่งความดี และพี่คิม
อย่างยิ่งครับ

แวะมาก่อนอิ่มอร่อยมื้อเที่ยงอีกรอบค่ะอาจารย์

ปกติปูชอบมองฟ้า ดูเมฆ แอบตาหยีเหล่พระอาทิตย์ ส่งตาหวานกับพระจันทร์ บ่อยๆค่ะ พอได้มาอ่านความรู้จากท่านอ.หมอเมฆ ประธานชมรมฯ น้องฟ้ากะนายเมฆก็ยิ่งน่าหลงใหล ชวนให้ติดตาม น่าค้นหาเป็นทวีคูณเลยค่ะ :)

ขอบพระคุณความรู้ใหม่ๆ ของอาจารย์วิรัตน์ที่เชื่อมโยง เคยอ่านงานท่านดำเกิงเรื่องเดียวค่ะ แต่ไม่ค่อยเข้าใจ แหมมีเรื่องดาราศาสตร์ด้วยรึคะเนี่ย สงสัยคงต้องไปค้นกรุมาอ่านอีกรอบซะแล้ว :)

ส่วน กุศโลบายท่านคานธี เจ๋งจังเลยนะคะ นึกไปถึงท่านยูนุส แห่งบังคลาเทศ ที่ตั้งธนาคารกรามินช่วยเหลือคนจน จากพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อมั่นในสัจจะ จนได้ใจจากชาวบ้าน จนขยายต่อยอดไปในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น การรวมตัวกันของสตรี แม่บ้านเพื่อฟื้นฟูอาชีพ

แล้วก็นึกไปถึง หลายๆกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในบ้านเรา ที่จัดตั้ง รวมกลุ่มกัน เป็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ก็มีบางกลุ่มนะคะที่ตั้งไข่ได้ไม่นานก็ล้ม หายไปเลย :) เป็นที่น่าสังเกตว่า หากการรวมตัวกันที่มีงานศิลป์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจะยิ่งช่วยเสริมสร้างพลัง เชื่อมโยงยึดเหนี่ยวใจสมาชิกกลุ่มได้เข้มข้น เนิ่นนานยิ่งกว่า ท่านอ. ประเด็นนี้อย่างไรคะ

อิ่มอร่อยมื้อเที่ยง และ  คลายร้อน ค่ะ :)

สวัสดีครับคุณ Poo

มีเอกลักษณ์ของชมรมคนรักมวลเมฆมาฝากครับ

                        

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงไม่ได้เขียนเรื่องดาราศาสตร์หรอกครับ การได้อ่านงานของท่าน (หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง)กับเรื่องดาราศาสตร์นั้นเป็นการขยายความของผม ต่อเรื่องเนื้อหาและสไตล์การให้การเรียนรู้แก่ผู้สนใจทั่วไปของท่านศาสตราจารย์ดร.ระวี ภาวิไลน่ะครับ

หากนัยยะของการใช้งานศิลป์เป็นตัวเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวการทำสิ่งต่างๆด้วยกันของผู้คนนั้น อยู่ที่ความเป็นการใช้ 'กิจกรรม' เป็นสื่อให้คนได้เรียนรู้ เกิดโครงสร้างในการจัดปฏิสัมพันธ์กันและทำสิ่งต่างๆด้วยกันละก็ มีตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศอยู่พอสมควรว่าก็เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่งครับ แต่ก็เกิดได้ไม่ใช่เฉพาะงานศิลป์อย่างเดียว กิจกรรมอื่นๆอีกหลายกิจกรรมก็คงให้ผลที่อาจจะดีกว่าด้วยกระมังครับ

คุณ Poo อาจจะถามอย่างนี้และสนใจเนื่องจากคงจะเห็นผมมีงานและกิจกรรมทางนี้อยู่เยอะ คงคิดว่าอาจจะสะท้อนความเชื่ออะไรบางอย่างมากกว่าด้านอื่นหรือเปล่า อันที่จริงก็ไม่อย่างนั้นหรอกครับ แต่น่าจะเป็นเหตุผลจากความที่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคลุกคลีและทำอยู่ในชีวิตของตนเองมากกว่าครับ ก็เลยเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมต่อเรื่องต่างๆที่ตนเองทำได้และมีบทเรียนครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติได้เสียมากกว่าครับ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์  บันทึกนี้อ่านเพลินทั้งตัวบันทึกและความเห็น
  • ดิฉันรู้จัก ดร.บัญชาโดยบังเอิญ ตอนที่เข้าไปหาข้อมูลเรื่องหนังสือ ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น ด้วยความสงสัยในความรู้บางอย่าง  และได้ความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นจาก ดร.บัญชา ในหนนั้น
  • ด้วยความที่อ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ทีไรมันเหมือนมีม่านหมอกบางๆ มาขวางกั้นอยู่เสมอ เพราะพื้นฐานเราอ่อน แต่ก็ชอบอ่าน
  • นิตยสารสารคดี เคยเป็นสมาชิกอ่านอยู่หลายปีมาก สมัยอายุน้อยๆ พอแก่ตัวอ่านไม่ไหวแล้ว ก็เลยหยุดเป็นสมาชิก 
  • ไม่น่าเชื่อว่าฟ้ากรุงเทพ "แสงเงายามใกล้ค่ำที่ตึก SCB" ของพี่ใหญ่จะงามได้  เห็นแต่ฟ้าสีเทาทึม
  • เห็นภาพสีน้ำ? "เอกลักษณ์ของชมรมคนรักมวลเมฆ" ของอาจารย์แล้วต้องอมยิ้ม  แต่ไม่บอกว่าคิดถึงอะไร....
  • สวัสดีค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ nui ครับ

  • มิติความรู้และภูมิปัญญาที่อยู่ในประสบการณ์ชีวิตและอยู่ในความเป็นตัวตนของผู้คนนี่ เป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้และเล่าถ่ายทอดออกไปให้เป็นกำลังทางสติปัญญาของสังคมเสริมเข้ากับมิติอื่นๆ ให้ยิ่งมีความหลากหลาย ลุ่มลึก เชื่อมโยง และได้ความสมบูรณ์รอบด้าน มากจริงๆเลยนะครับ
  • พี่ใหญ่ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีน้ำใจนำสิ่งต่างๆมาแบ่งปันได้หลายหลากมิติมากเลยนะครับ
  • อย่างรูปท้องฟ้าในแหล่งต่างๆที่ใกล้ๆตัว ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดนี่ ก็ทำให้ฉุกคิดและมองโลกรอบข้างด้วยสายตาที่ละเอียดประนีตมากกว่าอย่างผิวเผิน แล้วก็ทำให้เห็นความงามง่ายๆที่สามารถนำมาอวดกันดูได้เยอะแยะไปหมดไปด้วยเลยนะครับ
  • การหาวิธีมอง หาวิธีเห็น ถ่ายรูปและบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้นี่ ทำให้ใน GotoKnow มีเครือข่ายคนเขียนและสื่อสร้างความรู้ได้หลากหลายมาก จากหลายวงการจริงๆเลยนะครับ
  • แอบอมยิ้มได้ความสุขจากการดูการ์ตูนคนเดียวเลยนะครับ

กำลังถวายความรู้พระและอาจารย์อยู่ครับ สนุกมากๆๆ

  • ขอร่วมอนุโมทนาอย่างยิ่งครับอาจารย์ขจิตครับ
  • เป็นการทำบุญด้วยความรู้ความสามารถ
  • กุศลแรงและงดงามมากเลยละครับ

แวะมาอ่านบันทึก ดร.ซิว ที่อาจารย์วิรัตน์พูดถึงบนโต๊ะอาหารกลางวันหลังงาน UKM ครั้งที่ 20

ขอบคุณมากครับที่อาจารย์ได้แสดงต้นแบบที่ดีในเรื่อง "จิตวิญญาณของการสร้างพลังความคิดและการเรียนรู้ชีวิต"

ยินดีมากๆ ที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์ในครั้งนี้ครับผม

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop ครับ

  • ยินดีด้วยเช่นกันที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์นะครับ ประทับใจความริเริ่มและสปิริตทางวิชาการของอาจารย์มากนะครับ เลยยิ่งยินดีมากขึ้นไปอีกที่เวทีนี้ได้มีอาจารย์เข้ามาร่วมด้วย เพราะทำให้ทั้งมหาวิทยาลัย เครือข่าย UKM และสังคมไทย ได้ร่วมเป็นแหล่งสร้างคนดีๆรุ่นใหม่มาเป็นผู้นำสร้างสิ่งดีและผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดโอกาสดีๆอยู่เสมอ
  • ดร.ชิว กับ Dr.Pop มีวิถีปฏิบัติและวิถีวิชาการที่ผสมผสานมากเลยนะครับ โดยเฉพาะความเป็นผู้มีเนื้อหาวิชาการแน่นที่สามารถสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ให้แก่สังคมได้ดีมากจริงๆ
  • Dr.Pop ช่วยให้เวทีมีชีวิตชีวาและ Chat-Chanel ที่อาจารย์นำมาเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมต่อที่ประชุมของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนตลอดเวลา ก็มีความหมายต่อการสร้างเสริมเครือข่ายและชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาเลยเชียว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท