แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โลกอาสนะ ๓๖๐ องศา..ประสบการณ์เรียนรู้แบบ East Meets West (บทที่ ๑)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 


โลกอาสนะ ๓๖๐ องศา..
ประสบการณ์เรียนรู้แบบ East Meets West

ธำรงดุล; เรียบเรียง
คอลัมน์ เทคนิคการสอน
โยคะสารัตถะ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

บทที่ ๑ (ละม้ายว่าจะเป็น)ปฐมบทของชั้นเรียนวินยาสะอาสนะ

หากเราลองพิจารณาท่วงท่า และตำแหน่งแห่งที่ของร่างกายทั้ง ๓ รูปนี้

มองเผินๆ ดูเหมือนเป็นการขยับหมุนภาพทีละ ๙๐ องศา แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงการทำงาน ทิศทางการเคลื่อนไหว ของร่างกายแต่ละท่วงท่า ย่อมสะท้อนถึงการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ รวมถึงผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นคือสิ่งที่ผมและเพื่อนอีก ๖ คน ใช้เวลาร่วมกันเกือบ ๒ เดือนที่ผ่านมาหกคะเมนตีลังกา ตะแคงดูโลกของอาสนะในมุมมองที่ต่างออกไปจากที่เคยเห็นและสัมผัส โดยมีพี่เละ ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ เป็นมัคคุเทศก์นำทาง

พี่เละ (แรกๆที่ยังไม่ได้รู้จัก ผมก็ไม่ค่อยกล้าเรียกพี่เค้าอย่างนี้ เพราะมันฟังดูเละๆ ชอบกล) ออกตัวตั้งแต่เริ่มทักทายกันว่า "เรียกพี่ได้ไหม" (อันนี้ผมแซว ขำๆ) จริงๆก็คือว่า พี่เละสะดวกใจที่จะให้ใครเรียกว่า พี่ หรือหมอในฐานะผู้เยียวยาทางอายุรเวท มากกว่าที่จะให้เรียกว่า "ครู" เพราะความหมายของคำว่า ครู หรือ คุรุ ที่พี่เละได้สัมผัสมาตอนที่เรียนอยู่ที่อินเดียนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่ามาก ซึ่งพี่เละกล่าวอย่างถ่อมตนว่า "ผมคงเป็นได้แค่ทูตของครู นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากครูมาเล่า และแลกกัน"

รูปแบบของการเรียนรู้ของเราไม่เน้นทำท่า เพราะบางทีสุดยอดของอาสนะอาจเป็นที่ไร้กระบวนท่า(ซึ่งเป็นคนละความหมายกับไม่เป็นท่า..ฮา) แต่เน้นที่จะเล่าถึงการเรียนรู้ และแลก (แต่อาจจะไม่เปลี่ยน)ความรู้สึกของพวกเราหลังจากได้ฝึกกันมากกว่า ตลอดระยะเวลา ๘ ครั้งที่ได้เรียนรู้ (แต่ก็ดูจะกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าประเด็นที่มาเล่าและแลกมักไม่พอจนต้องมีภาคต่อ ประมาณว่าหนังมหากาพย์)

พี่เละบอกว่า "เครื่องมือที่สำคัญในการฝึกอาสนะก็คือ การสังเกต และวิเคราะห์" ลองกลับขึ้นไปมองทั้ง ๓ ภาพ ซึ่งล้วนเป็นการก้มตัวไปข้างหน้า พี่เละชวน"สังเกต" (ซึ่งหลายคนรวมทั้งผมคงไม่เคยเห็นมาก่อน)ว่า ถ้าเราเรียกอาสนะตามทิศทางของการเหยียดยืด ตามตำราตะวันตก เราคุ้นชินกับคำว่า forward bending แต่โยคะนั้นมีหน่อกำเนิดจากอินเดียซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นฐาน ท่วงท่าเช่นนี้ มาจากคำว่า ปัศจิม(ด้านหลัง) + ตานะ (เหยียดยืด) แปลตามรากศัพท์จึงหมายถึงการเหยียดยืดร่างกายด้านหลัง จะเห็นว่าในมุมมองแบบตะวันออก ให้ความสำคัญของผลที่เกิดกับร่างกายมากกว่าทิศทางที่ร่างกายมุ่งไปสู่ (โดยมีหมายเหตุเล็กๆที่น่าสนใจว่า ปัศจิม นั้นหมายถึงทิศตะวันตก ด้วยวัฒนธรรมอินเดีย จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกจึงหมายถึงด้านหลัง)

การจับตะวันตกชนตะวันออก (ไม่ใช่แพะชนแกะ)ทำให้ผมเริ่มรู้สึกถึงความสว่างวาบที่เริ่มผุดพร่างขึ้นมาในสมองอันน้อยนิดของผม เหมือนเรากำลังพลิกหมุนโลกของอาสนะที่เราเคย(คิดว่าพอ)รู้ สู่ด้านใหม่ที่มีเลื่อมพรายหลายหลากมิติ

พี่เละชวน"วิเคราะห์"ต่อไปว่า ท่วงท่าทั้ง ๓ แม้จะมีลักษณะร่วมกัน (ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า สามานยะ) คือมีทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยการก้มตัวไปทางด้านหน้าเหมือนกันจากท่ายืน นั่ง และนอน(หมายถึงดึงเข่าเข้าหาลำตัว) แต่อิริยาบถและผลที่เกิดกับร่างกายกลับแตกต่างกัน(หรือ วิเศษะ) เช่นนี้แล..ในความเหมือนย่อมมีความต่าง แต่ละคนล้วนมีสภาพร่างกาย ความแข็งแรง ความยืดหยุ่นที่ต่างกัน อาสนะเดียวกัน เมื่อให้แต่ละคนทำจึงอาจจะต้องมีการจัดปรับให้เหมาะสม นั่นคือเราใส่ความเป็นวิเศษะ (หรือเฉพาะเจาะจง)ลงไป และนี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า วินยาสะอาสนะ หรือ วินยาสกรรม ซึ่งหากหยั่งให้ลึกลงไปถึงรากศัพท์แล้วจะทำให้เราเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้นี้มากขึ้น

วิ มาจาก วิเศษะ หรือวศิษฐ ซึ่งหมายถึง เฉพาะ แตกต่าง หลากหลาย นยาสะ มาจาก วางลง putting down หรือ นำไปใช้ applyingกรม (อ่านว่ากระมะเป็นคำสันสกฤต,ไม่ใช่กรรมที่เป็นภาษาบาลี ซึ่งแปลว่าการกระทำแบบที่เราคุ้นชิน) แปลว่า การกระทำที่สืบเนื่องไป (growing หรือ proceeding)

รวมความแล้ว วินยาสะ จึงหมายความว่า การนำสิ่งต่างๆมาเรียงร้อยจัดวางรวมกันในลักษณะเฉพาะและมีลำดับขั้น ซึ่งในมุมมองของการฝึกอาสนะจึงหมายถึง การเรียงร้อยท่วงท่า ออกแบบชุดการฝึก รวมถึงการดัดแปลงท่วงท่าให้เหมาะกับเหตุปัจจัยที่รายล้อม(ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) แต่วินยาสะ ยังกินความในบริบทของวิถีชีวิต การเรียงร้อยกิจกรรมต่างๆที่เราทำในชีวิตประจำวันด้วย

นั่นคือพวกเราจะได้เรียนรู้ที่จะออกแบบอาสนะโดยจัดปรับชุดฝึกให้เหมาะสมกับแต่ละคน เหมือนกับเวลาเราเลือกซื้อเสื้อผ้าแม้เราจะรู้ขนาดมาตรฐานที่เหมาะกับเรา แต่ใช่ว่าเสื้อขนาดเดียวกันนั้นจะใส่ได้พอดีเสมอไป บางครั้งเราก็ต้องการช่างตัดเสื้อ การฝึกอาสนะก็เช่นกัน

พวกเราเริ่มเห็นเค้ารางของมุมมองต่ออาสนะที่ลุ่มลึก รวมถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง คำอธิบายอาสนะที่มีการเชื่อมโยงแนวคิดแบบตะวันตกพบตะวันออก ทั้งในแง่ของสรีรวิทยากายวิภาคและแง่มุมในทางอายุรเวทในฐานะที่พี่เละเป็นผู้เยียวยา รวมถึงการตีความเข้าไปถึงแก่นแกนคัมภีร์โยคะโบราณ จากอาหารเรียกน้ำย่อยที่พี่เละเริ่มเสิร์ฟในคลาสนี้ ซึ่งทำให้ผม(และเชื่อว่าเพื่อนร่วมชั้นทุกคน) อึ้ง ทึ่ง และเสียวว่า น้ำย่อยนั้นไม่ได้ถูกเรียกจากสิ่งที่เรากำลังเล่าและแลก แต่มันกำลังหลั่งจากกระเพาะของเราจริงๆ เพราะจวนจะบ่ายสองแล้ว จากเดิมที่กำหนดกันว่าจะเริ่มสิบโมงเลิกเที่ยง

วันแรกของการเรียนรู้จึงเป็นการเล่าและแลกอยู่ ๔ ชั่วโมง ซี่งถ้ามีการจัดเรตคลาสนี้เหมือนรายการโทรทัศน์ คลาสเราคงได้เรต "ย" หมายถึง ยาวมาก ผู้เป็นโรคกระเพาะ หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรได้รับการแนะนำ 

  


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

 

หมายเลขบันทึก: 432340เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2011 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท