ย้อนรอย...มหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่ 5 : วันที่ 1


22-23 พ.ย.53 …ผ่านการเรียนรู้ของผู้ร่วมงานทั่วประเทศ...

          งานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่5 หรือNKM5 ซึ่งผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ก็พึ่งมีโอกาส...เขียนและตกผลึกความรู้ที่ได้รับจาการมาร่วมงาน NKM5 ซึ่งอดเสียดายไม่ได้ถ้าไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง

 

 

 

          ซึ่งงานนี้จัดขึ้นที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าวและมีผู้สนใจจำนวนมาก รูปแบบการจัดงานนั้นดูแปลกตา แต่ก็ดูน่าดึงดูดใจในการค้นหาความรู้ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละโซน ดินแดนแห่งการเรียนรู้มี 9 โซนคือ หาดฝึกกระบวนท่า ทะเลTacit  ชนเผ่าจับเข่าคุย เทือกเขาปันๆ สะพานเชื่อมใจ ศาลาศิราณี เกาะสุขสันต์ ประภาคารเกื้อกูล บึงบูรณาการ เนื่องจากคนเยอะมากที่ให้ความสนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งรูปแบบนั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญนั้นคือเนื้อหาที่มีคุณภาพมาก ขอบอกว่าเสียดายมากที่เข้าไม่ได้ครบทุกโซน เนื่องจากมีข้อจำกัดให้แต่ละคนมีโอกาสเข้าได้เพียง 6 โซนจาก 9 โซนที่มีอยู่

 

 

ไม่มีใคร...ไม่รู้จัก....ศ.โนนากะ 

            ถือว่าคุ้มค่ามากที่ได้มีโอกาสได้ฟังศ.โนนากะ ท่านมาปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับเรื่องKM เมืองไทยก็ได้แบบการทำKMจากท่านมาใช้ ในวงการการจัดการความรู้ไม่มีใครไม่รู้จัก SECI Model และSECI Spiral ที่มุ่งเน้นความเป็นจริง ประสบการณ์ที่แท้จริง สร้างจิตตระหนัก ทำให้รู้ความคิดภายนอกมาสู่ภายใน เป็นวงหมุนก้นหอยเกลียวความรู้

            มีคำถามว่า...ภาวะผู้นำแบบไหน?ที่ต้องมี...เราต้องการผู้นำแบบใหม่ที่มีภูมิปัญญาเชิงปฏิบัติแล้วทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งผู้นำควรมีความสามารถ 6 อย่างคือ 1)ความสามารถในการสนับสนุนใช้คุณงามความดี 2)ความสามารถในการใช้BA 3)ความสามารถในการเข้าใจและสถานการณ์ต่างๆ 4)ความสามารถในการปะติดปะต่อใจความสำคัญ 5)ความสามารถในการใช้อำนาจทางการเมือง 6)ความสามารถในการแจกจ่ายภูมิปฏิบัติไปให้ผู้อื่นได้

         ท่านกล่าวว่าการแจกจ่ายนวัตกรรมทำให้เกิดความรู้ทันทีในเครือข่ายและทั้งหมดและพยายามสร้างความรู้ในเชิงปฏิบัติในเรื่องKM ซึ่งท่านยกตัวอย่างของ พานาโซนิค โตชิบาและฮอนด้า ที่ให้ความสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาในเชิงปฏิบัติ

การสร้างงานให้มีคุณภาพ 

1.      การนำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี การสอนงานที่มีคุณภาพดีแล้วทุกอย่างก็มาเอง เป็นทฤษฏีการสร้างความรู้ในญี่ปุ่นและพันธกิจของการบริการต้องมาก่อน 

2.      การสร้างด้านบา(BA) ในเรื่องความเป็นจริง BAสถานที่ให้ความรู้ มีการพัฒนาขึ้นมาด้วย การพูดคุยไม่เป็นทางการ “Wai gaga” at Honda : ซึ่งในวันแรก สามารถนินทาว่ากล่าวหัวหน้าโดยไม่มีการอึดอัดใจ  วันที่2 มีการเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าใจความเชื่อความคิดเห็นของผู้อื่น วันที่ 3 การเปิดใจ การก้าวกระโดดของจิตใจในการละลายพฤติกรรม 

           ความคิดในการมองและเข้าใจ พัฒนาทางจิตวิทยาใน 3 ขั้นตอนของการมีจิตสำนึเหมือน แม่และลูก ความสัมพันธ์คุณกับผมมีการสัมผัสและส่งผ่าน สร้างความรู้โดยมี Inside Subject Intivity ในด้านความรู้สึกและสติปัญญาในองค์รวม การไม่มุ่งเน้นตัวเองอีกต่อไป

           การออกแบบ สร้างความคิดให้มีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์กันเป็นการใช้จอขนาดใหญ่และสิ่งต่างๆแบบเปิดเผย ไม่มีอะไรขวางกั้น มีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีที่นั่งประจำ อยากนั่งที่ไหนก็ได้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นบริบท 

  Agile Scrum  เป็นกระแสหลักในการพัฒนา softwareในอเมริกา สร้างความรู้สึกในการแบ่งปันความรู้ เป็นกระบวนการที่สำคัญ วิธีการคือ 1)สมาชิกในทีมประมาณ 7คนในตอนเช้าทุกวันจะมาพบกันในเวลาสั้นๆและแบ่งปันความคิดในการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย 2)ทุกคนจะรับเอาความคิดของลูกค้าไว้ในจิตใจ ทำงานร่วมกันทุกวัน ได้ความรู้ใหม่ทำให้เป็นทุนทางสติปัญญา

            ตัวอย่างเช่น นักพัฒนา 2 คนแบ่งปันกันใช้ IT ร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันตลอดเวลา ทุกคนสามารถเริ่มต้นในการพัฒนา การพบกันในเวลาสั้นๆร่วมกันเป็นการเปลี่ยน Tacit Knowledge เป็น Explicit Knowledge

          เป็นการพัฒนาภูมิปัญญาในการปฏิบัติในการเฝ้าดูและมีการรวมตัวเป็นกลุ่มพูดคุยกัน ก่อให้เกิดการฝึกฝนและปฏิบัติ การสอนในห้องเรียน การฝึกปฏิบัติ ความท้าทายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การประเมินด้วยตัวเองจะทำให้ให้เกิดความรู้แบบก้าวกระโดด ใช้ระยะของการประเมินซึ่งห่วงใยผู้คนและความรู้ การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ของที่ปรึกษา 

          จะเห็นว่าศ.โนนากะ จะเน้นให้เห็นถึงการหมุนเวียน แลกเปลี่ยน ถ่ายโอนความรู้ในองค์กรและให้ความสำคัญกับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น เน้นการสร้างภูมิปัญญาในเชิงปฏิบัติ พร้อมยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมูลนิธิต่างๆที่นำKMไปใช้ในการพัฒนางาน

สิ่งที่ได้รับประสบการณ์ในแต่ละโซนกิจกรรมเรียนรู้

โซนที่1:  ทะเลTacit   โซนแรกอยากได้ความรู้ที่จะได้จากประสบการณ์ทะเลTacit ว่าคงจะมีประโยชน์กับงานมาก คุณรุ่งทิพย์และคุณมนต์ชัยเป็นวิทยากรนำเข้าสู่การเรียนรู้Tacit ที่เป็นความรู้แต่ละคนมีจากประสบการณ์

           คุณรุ่งทิพย์  ได้ปูพื้นฐานนำเข้าสู่ทะเลTacit โดยได้ยกโมเดลภูเขาน้ำแข็งมาใช้ซึ่งยังใช้ได้ผลดีเสมอในการยกตัวอย่างของTacit Knowledge ที่มีอยู่ในใต้น้ำ การได้สำรวจว่าตนเองเป็นช่างอะไรบ้าง เช่น ช่างฝัน ช่างจุด(ประกาย) ช่างก่อ(ในสิ่งที่ไม่มีให้เกิดขึ้น) ช่างสนับสนุน ช่างคิด(นอกกรอบ) ช่างเจาะ(ลึกถึงแก่น) ช่างสร้างสรรค์ ช่างชื่นชม(เชิงบวก) ช่างเปลี่ยน ช่างตีความ ช่างสำรวจ ช่างเปิดใจ ช่างออกแบบ ช่างประยุกต์ ช่างทำงาน ช่างทำงานเป็นทีม ช่างขยาย ช่างแลกเปลี่ยน ช่างเล่า ช่างฟัง ช่างเขียน ช่างเก็บ(บทเรียน) ช่างทบทวน ช่างเรียนรู้ เป็นต้น ส่วนช่างที่ไม่ควรมีคือ ช่างสวน ช่างมันฉันไม่แคร์ ช่างมันฉันไม่เกี่ยว ช่างยุ ช่างหัวมัน ช่างประจบ

          การดึงความรู้แบบฝังลึกออกมานั้น ทำบ่อยๆเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆดูบ้าง สร้างสรรค์ อยากรู้ อยากเห็นอยู่เสมอ กล้าคิดออกจากนอกกรอบ อย่าให้อุปสรรค์ที่จะทำใหญ่เกินตัว อย่าปล่อยเวลาให้เสียเปล่า เรียนรู้จากคนรอบข้างและให้เคล็ดลับในการทำKM ว่า 1) ต้องลงมือทำเลย 2)ไม่ต้องรอผู้บริหาร

        คุณมนต์ชัย ได้เล่าประสบการณ์การทำ KM ในองค์กรให้ฟังได้อย่างน่าสนใจว่า เริ่มแรกนั้นให้ทดลองเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและกล้าแสดงออก อาจจะเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องงานก็ได้ ถ้าใครมีไอเดียดีๆก็นำไปขายไอเดียกับผู้อำนวยการฝ่ายว่าทำแล้วจะได้อะไรและคุยกับพนักงาน 5 นาทีตอนเช้าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปดูงานข้างนอกบ้าง มีการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับบุคลากรที่เราร่วมกิจกรรม ซึ่งหัวหน้าจะต้องรู้ว่าใครเก่งอะไร เรื่องไหนบ้าง เขียนรายชื่อออกมา

ปัญหาที่พบ

1) เริ่มแรกเลยคือคนไม่อยากเล่า...(เล่าไม่เป็น ไม่มั่นใจหรือไม่กล้าแสดงออก)

2) ความเป็นตัวตนในแต่ละคน อมภูมิ วางฟอร์ม ไม่ช่างพูด ต้องชักจูงใจนำเข้าสู่กิจกรรมเพื่อละลายพฤติกรรม และพาให้ไปเรียนรู้ข้างนอกบ้างเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และความคิดนอกกรอบและเห็นว่า คนข้างนอกเก่งกว่าตนองที่คิดว่าดีแล้ว เก่งแล้วให้ออกมาสู่ความคิดใหม่ๆ

เสริมประสบการณ์ด้วย 2 กิจกรรมคือ

1. ภาวะผู้นำ  โดยให้แต่ละคนจับคู่กันและให้ใช้นิ้วชี้แตะกันและผลัดกันนำและผลัดกันตาม ในทิศทางที่แต่ละคนเป็นผู้นำ แล้วผลัดกันเล่าว่าประสบการณ์การเรียนรู้และการรับร็ได้ด้วยตนเองเป็นอย่างไร การเชื่อใจผู้นำ จะทำให้ทิศทางที่ไปราบรื่น ถ้าเกิดความไม่ไว้วางใจว่าจะพาไปทางใด ก็จะเกิดแรงต้านหรือแรงเสียดทานขึ้นมา ดังนั้นภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญมาก

2. หาคำที่คลิกความสุข  เมื่อพนักงานอยากแชร์จะทำอย่างไร? โดยกิจกรรมได้แจกซองบัตรคำที่มีคำนามสั้นๆมากมายให้เลือก ในแต่ละกลุ่มให้จับกลุ่ม 5-6 คน เนื่องจากว่าความสุขที่แต่ละคนมีนั้นแตกต่างกัน แล้วให้เลือกมาคนละหนึ่งคำ เล่าถึงความสุขที่คลิกกับคำนั้นๆ ผลัดกันเล่าให้สมาชิกในกลุ่มฟัง แล้วส่งตัวแทนกลุ่มมาบอกเล่า ใคร?อยากแชร์เพื่อนๆบ้าง? ทำให้ได้เห็นความสุขหลากหลายที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้คนอยากพูด อยากเล่าสู่กันฟังเช่น

 หนังสือ : คนเล่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ชีวิตเกี่ยวพันกับหนังสือมาตลอด ทั้งเขียน แต่ง อ่าน ทำให้มีความสุข

เพลง : เธอเล่าว่า...พ่อแม่พาไปร้องเพลงในโบสถ์คริสตั้งแต่เด็กๆ เลยมีความสุขที่ได้ร้องเพลง

ตอนเย็น  : ผมมีความสุขในการทำอะไรหลังเลิกงาน ในตอนเย็น รู้สึกอิสระ

จังหวะ : สาวน้อยมาดเซอๆ เล่าว่าเธอชอบเล่นกีต้าร์และแต่งเพลง เคาะจังหวะและมีความสุขกับดนตรีในจังหวะต่างๆ

ทำวัตรเด็ก : หนุ่มอารมณ์ดีเล่าว่า...ผมมีลูกที่เกิดในปีเดียวกัน เดือนเดียวกันทั้งๆที่ตอนนั้นหมดหวังว่าจะมีลูกเลยชวนกันเข้าวัดและสวดมนต์ ปรากฏว่าได้ลูกแบบไม่คาดฝัน และลูกก็ชอบทำวัตรสวดมนต์ เลยได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน

โซนที่2 :  เทือกเขาปัน...ปัน..เครือข่าย gotoknow.org

          เครือข่ายgotoknow.org นั้นได้เริ่มปี 2549 เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีสมาชิก1 แสน3หมื่นคนมี3แสนกว่าบันทึกเป็นอันดับที่38ของประเทศ เป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ทีเดียวและเป็นโซนที่ทำให้เข้าถึงประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปัน ทำให้เกิดเครือข่ายพันธมิครในความรู้มากมายหลายด้านและในครั้งนี้ได้นำbloggerที่มากประสบการณ์มาเล่าเรื่องต่างๆ โยได้แนะนำblogและประโยชน์ที่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งน่าสนใจมาก

          คุณวัลลภ ตัณคณานุรักษ์ (ครูหยุย) เป็นbloggerหน้าใหม่และมีบันทึกจำนวนมากและได้นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังมากมายและเล่าถึงการเข้ามาสู่สังคมออนไลท์ โดยที่ตอนแรกไม่ได้ชอบ IT เท่าใดนัก แต่ก็มาเห็นประโยชน์จากG2K ในเรื่องราวมากมายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำทุกวันและท่านยังบอกว่าได้คุยในประเด็นที่ไม่คิดว่าจะได้เจอและเป็นการต่อยอดกศน.และท่านชอบแวะไปเยี่ยมบทความที่มีความคิดเห็นเป็นเลขศูนย์ เพื่อเป็นการให้กำลังใจคนเขียน

          รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยคำ (อ.JJ)  ทำงานที่ภาครังสี จ.ขอนแก่น เป็นbloggerที่มีเอกลัษณ์คือผมขาวโดดเด่น แต่ตัวจริงดูหนุ่มกว่าในblogเยอะเลย เห็นแต่ไม่กล้าเข้าไปทักทาย ท่านเป็นคนแรกๆที่เข้ามาในG2Kและมีเรื่องราวมากมายที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ขาดสายและท่านยังกรุณาเข้าไปแนะนำการทำกิจกรรม Focus group ของผึ้งงานทำให้เกิดการก้าวหน้าและยังติดตามผลอีกทั้งเป็นกำลังใจให้มือใหม่หัดขับด้วย (ขอขอบคุณในความกรุณาอีกครั้งค่ะ) เรื่องราวการทำKM ในงานของท่านได้ถูกนำมาเล่าให้สมาชิกG2K ได้รับความรู้มากมาย เป็นบุคคลคุณภาพจริงๆ

          ท่านยังมีบทบาทเป็นคุณอำนวยในมหาวิทยาลัย ทำเครือข่ายมหาวิทยาลัยจึงเขียน G2Kและมีการเขียนบันทึกเชื่อมเครือข่ายมหาวิทยาลัย (blog to blog) และใช้การบันทึกข้อมูลโดยใช้blogบนG2Kเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลและนำมาเรียนรู้ เพื่อดูว่าวันนี้กับวันก่อนเขียนต่างกันไปไหม? ทำให้ได้มองเห็นอะไรมากมายที่เกิดขึ้นและชอบแวะไปเยี่ยมบันทึกที่มีความคิดเห็นเป็นศูนย์เพื่อเป็นกำลังใจให้เช่นกัน

        ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ(พี่ซิว) “ ชายผู้หลงรักมวลเมฆ พี่ซิวเป็นคนที่ทำให้ผู้ที่ฟังเรื่องราวของท่านที่นำเมฆมาให้ชมมากมายว่ามีหลากหลายและแปลกๆ มีภาพส่งมาร่วมจากทุกสารทิศจนกลายเป็นชมรมคนดูเมฆที่ได้รับความนิยมสูงมาก มีกิจกรรมมากมายและมีblog, web, Facebook ,TV, หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ต่างๆมาให้ความสนใจและติดตามผลงานของท่าน ซึ่งจากการที่เราไม่ค่อยสนใจดูท้องฟ้าเท่าไหร่ ก็ทำให้ผู้คนมากมายพากันแหงนดูฟ้า ดูความแปลกใหม่ของก้อนเมฆรูปต่างๆ แล้วส่งรูปมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน ได้รับความรู้เรื่องเมฆมากมายจากท่านและเป็นบุคคลที่hot มากจริงๆในblog

         ผศ.ดร.วิรัตน์ คำสีจันทร์  ท่านทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น Facitator ของคนมากมายในความรู้ที่ท่านสอนวิธีสร้างความรู้และวิธีสร้างคนบนblog ท่านมีคติว่า”ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ” จากเป้าหมายเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ซึ่งG2Kเป็นระบบที่รองรับการบันทึกบทเรียน การถ่ายทอดประสบการณ์ทำให้ผู้อื่นได้ปัญญา โดยแปลงทุนประสบการณ์เป็นทุนทางปัญญาของสังคมและวิธีการเขียนของท่านเขียนแบบmini Research มีการระบุปัญหา สนองตอบต่อปัญหา นำข้อมูลมาเสริมการทำงานของพื้นที่ในส่วนชนบท สะท้อนวิธีคิดและเน้นเป็นคลังความรู้ เครือข่ายการเรียนรู้ การเขียนเรื่องเล่า ท่านกล่าวทิ้งท้ายว่า “เรือต้องมีเข็มทิศ...ชีวิตต้องมีเป้าหมาย...”

โซนที่ 3 : ศาลาศิราณี “ความเชื่อมโยงระหว่าง KM , Strategy and Policy  : นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมี

          นพ.สมศักดิ์ ได้เล่าถึงการจัดการความรู้ของกรมอนามัยว่า การแปลงความรู้ให้มีความหมาย ซึ่งต้องรู้จักการจัดการความรู้แฝง มีคำถามยอดฮิตว่า ...ทำKMแล้วได้อะไร?.... การจัดการความรู้แล้วต้องได้นโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพ  ท่านกล่าวถึงKMว่า...มีแผนแต่ไม่ได้วัดตามแผน...แต่วัดตามสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาในการทำงาน การตอบปัญหาเรื่องKMในองค์กรท่านตอบเป็นเรื่องกว้างๆและการแก้ปัญหาในองค์กรในการทำKMนั้นบางครั้งทำไม่ตรงจุดเช่นนิทานที่ท่านนำมาเล่าประกอบว่า

          มีชายคนหนึ่งกำลังก้มๆเงยๆ มองหาอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่ริมถนน มีชายอีกคนหนึ่งเดิมาพบก็เลยถามว่า...คุณกำลังหาอะไรอยู่ครับ เขาบอกทำเงินหล่นหาย หาไม่เจอ ทั้งสองคนเลยช่วยกันหา สักพักชายคนนั้นก็ถามว่า คุณลองนึกดูดีๆซิว่าคุณทำเงินหล่นตรงไหน?แน่...ผมจำได้ว่าผมทำเงินหล่นในซอยถัดไป แต่ที่ตรงนั้นมันมืดเลยมาหาที่เสาไฟที่ถนนนี้เพราะว่ามันมีแสงไฟสว่างๆ เผื่อว่าจะเจอได้ง่าย....แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ???  จากเรื่องเล่านี้คงทำให้หลายองค์กร ได้หันมาสำรวจตนเองว่าได้ทำงานตามแผนที่ทำไว้หรือเปล่า? หรือว่ากำลังหลงทางแบบชายคนนี้หรือเปล่า?

          สิ้นสุดการเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันแรก


ความเห็น (6)

          สิ้นสุดการเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันแรก ทำให้กลับมาต้องมาประมวลคร่าวๆว่าเราได้อะไรกลับมาใช้กับองค์กรเราบ้าง? และก็เตรียมแผนที่จะเข้าไปเรียนรู้ในวันที่สองให้ได้ความรู้กลับไปใช้ในองค์กรให้มากที่สุด  ซึ่ง...การเรียนรู้...ไม่มีการสิ้นสุด   ดังนั้น...อย่าหยุดการเรียนรู้...

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ

พร้อมกับมาชมภาพบรรยากาศค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ^^

สวัสดีครับ ได้แวะมาบันทึกตอนเช้าในขณะที่สมองยังไม่ได้รับอะไร

มาพบอาหารสมองชิ้นใหญ่ ที่ต้องกินอย่างละเอียดแล้วเค่ยวให้ละเอียด ให้ส่งผลไปเกิดพลังงานความคิด  วิเคราะและนำไปปรับใช้ จัดการความรู้ฝังลึกที่มีอยู่ โดยเฉพาะ โนนากะ ชื่อนี้ได้ยินครั้งแรกจากปากของท่าน คุณนายดร.นุช คาดว่าคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามถามหาว่าท่านจัดการความรู้อย่างไร ......เพื่อจะได้เป็นครูพักลักจำนำไปใช้

สวัสดีค่ะคุณต้นเฟิร์นIco48

  • ขอบคุณค่ะที่คุณต้นเฟิร์นแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ
  • ผึ้งงานชอบรูปแบบการเรียนรู้นี้เหมือนกันแต่เสียดายในโซนที่เราไม่ได้แวะเข้าไปทำกิจกรรม
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--Ico48

  • ได้รับเกียรติจากท่านแวะมาเยี่ยมแต่เช้า...ในวันที่ฝนตกหนักทั่วกรุง
  • หวังว่าท่านคงได้ประโยชน์จากบันทึกนี้บ้างไม่มากก็น้อย
  • เสียดายสิ่งที่ได้รับมาแล้วไม่ถูกแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
  • ถึงจะเขียนช้าไปบ้าง....แต่ก็มีความตั้งใจค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท