หอยเสียบ..หอยสองฝา..หรือหอยทราย..


วันศุกร์หอยขึ้นเขา วันเสาร์หอยอยู่รู เป็นสำนวนของชาวบ้านชุมชนชาย'เล ของอำเภอสทิงพระที่ เล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวการไปขุดหา "หอยเสียบ"

"วันศุกร์หอยขึ้นเขา วันเสาร์หอยอยู่รู เป็นสำนวนของชาวบ้านชุมชนชาย'เล ของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เป็นอำเภอที่อยู่ติดกับทะเลฝั่งอ่าวไทย ได้เล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวการไปขุดหา "หอยเสียบ" ซึ่งหมายถึงว่าถ้าหากไปขุดหาหอยเสียบที่ชายหาดริม'เลในวันศุกร์มักจะได้น้อย ไม่เหมือนกับวันเสาร์ที่ไปหาทีไหนก็จะหาได้ง่าย และได้หอยเสียบตัวใหญ่เป็นจำนวนมาก อันนี้ผู้เขียนเองก็เคยตั้งคำถามกับคนเฒ่าคนแก่ กะอธิบายถึงสาเหตุ หรือเหตุผลไม่ได้

ทะเลฝั่งอันดามันยามเย็นที่อ่าวนางจังหวัดกระบี่

    หอยเสียบ เป็นหอยทะเลที่มีเปลือกแข็ง รูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมซึ่งมีมุมโค้งมน บนเปลือกมีเส้นแสดงการเจริญตามความยาวของลำตัว ส่วนมากมักมีสีเหลืองอ่อนเป็นพื้นและมีน้ำตาลคาดเป็นเส้นหรือเป็นแถบกระจายอยู่ทั่วไป แต่ละตัวจะมีลวดลายสีสันต่างกันเป็นตามแหล่งที่อยู่อาศัย ลักษณะ ตามที่นักวิชาการได้ศึกษา และบอกไว้ว่า เป็นหอยที่มีฝาเปลือกสองชิ้นประกบกัน ไม่มีหัวใจ ขากรรไกรและลิ้น ขนาดตัวที่สมบูรณ์ที่สุดความกว้างของปากหอยประมาณ ๒  เซนติเมตร ถึง ๒.๕ เซนติเมตร เปลือกหนาสีเหลือง บริเวณปากสีเหลืองปนเขียว จะฝังตัวอยู่ในทราย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หอยทราย "หรือ "หอยสองฝา" ก็เรียก กินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย โดยฝังตัวอยู่ในทราย ตามบริเวณที่มีเขตน้ำขึ้นลง พบทั่วไปตามชายหาด พบมากบริเวณหาดทราย   ชายฝั่งทะเลและจังหวัดใกล้เคียงแถบภาคใต้ของประเทศไทย  โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน แถบหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

 

หอยเสียบที่ผุดโผล่ริมชายหาดยามคลื่นไหลย้อนกลับ /หอบเสียบที่ชาวบ้านขุดได้

     การหาหอยเสียบของชาวบ้านที่รู้ว่าในช่วงที่นํ้าทะเลลดลง  ชาวบ้านจะชวนกันออกมาเตรียมเครื่องมือ อาจเป็นช้อน มีดทำครัว หรือหากไม่มีก็ใช้เท้าที่เป็นอาวุธประจำตัวในการขุดหาหอยเสียบโดยการใช้เท้ากวาดทรายหลังคลื่นที่ซัดขึ้นฝั่งไหลย้อนกลับลงทะเล เอามันมาล้างขัด และแช่น้ำให้มันคลายทรายคลายดินหลังจากนั้นก็นำไปดอง หรือปรุงเป็นอาหารตามท้องถิ่นนิยม เช่น ดองน้ำปลา ผัดกะเพรา ผัดพริกกับโหระพา หรือเอายำกับมะม่วงและน้ำพริกเผา แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปจะเก็บหาหอยเสียบไปทำอาหาร เช่น ผัดกระเพรา ผัดนํ้าพริกเผา หรือดองนํ้าปลาไว้กินกับข้าวต้มกุ๊ย และนำมาดองเค็ม เนื้อใช้ปรุงอาหารได้ ซึ่งการปรุงดังกล่าวนั้นจะทำให้เปลือกหอยเปิดออกง่ายต่อการนำตัวหอยมากินเป็นอาหาร

 

สาวมุสลิมกระบี่มาแบบเดี่ยวๆ เพื่อขุดหาหอยเสียบยามเช้าที่อ่าวนาง

   

ชุดนี้..มาแบบครอบครัวทั้งลูกเล็กเด็กนุ้ย

   

บรรยากาศการขุดหาหอยเสียบของนักท่องเที่ยวที่อ่าวนางในยามเช้า

    หอยเสียบ หรือหอยทราย  ไม่ค่อยมีผู้นิยมนำไปจำหน่ายเพราะตัวเล็กต้องใช้เวลาการเก็บนานจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันของคนทั่วไปนอกจากชาวบ้านที่อยู่แถบชายทะเลทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย รู้จักหอยเสียบดี และจักนำมาปรุงเป็นอาหาร

หอยเสียบดองน้ำปลา ขอภาพจากคนอื่นก่อน

     แถมท้ายการใช้ประโยชน์ของหอยเสียบหลังจากใช้เนื้อเป็นอาหารแล้วชาวบ้าน จะนำเปลือกหอยเสียบมาใช้ประโยชน์ ในการเกาหลัง เกาส่วนที่คันบนผิวหนังแทนเล็บมือสำหรับคนที่ไม่มีเล็บ หรือเล็บสกปรก อากัปกิริยาการใช้เปลือกหอยเกาตรงที่คัน ภาษาบ้านครู'ฑูรย์ ใช้คำว่า "จุดหน่วยคัน"

 

 

หมายเลขบันทึก: 432300เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2011 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

นำภาพหอยเสียบมาแสดงไว้ใช่หรือเปล่าครับ

เผลอหน่อยเดียวกลายเป็นชามล่างไปเสียแล้วนะครับ

หอยสองฝา คืออันนี้ใช่หรือเปล่าครับ

หอยทรายใช่หรือเปล่าเอ่ย



  • หอยเสียบจ้าา  คุณมะเดื่อเคยใช้ฝาหอยขาวไปขูด ๆ ตามพื้นทรายได้หอยเสียบมาแช่น้ำปลา กินกะข้าวต้ม  ชาวเลบอกว่าเอาไปผัดกะปิ หรือผัดขึ้เมาก็อร่อยนะครูฑูรย์

 

 

ของอาจารย์มีทั้งหอยหลอดดอง หอยแมลงภู่ผัดกะเพราน่ากินเชียวครับ ส่วนภาพต่อมาใช่ครับหอยสองฝา แถบบ้านผมอำเภอสทิงพระ และชาวสงขลา เรียก "หอยเล็บควาย" หรือ "หอยเล็บวัว" เพราะจะมีตัวขนาดใหญ่กว่าหอยเสียบ เนื้อมากกว่า และแน่นกว่ากินอร่อยชนิดที่เรียกว่า..ได้เนื้อได้น้ำทีเดียว..ขอบคุณครับอาจารย์ที่เข้ามาเยี่ยมชม..และแลกเปลี่ยน..เรื่อง..วิถีหอย..

เมนูสุดท้ายของอาจารย์โสภณนั่นนะครับเป็นเมนูผัดกะเพราหอยหวาน..อันนี้อร่อยสุดยอดของผัดกะเพราหอยทีเดียวแหละครับ..วันข้างหน้าหากมีโอกาสไปเที่ยวกระบี่จะเขียนเรื่อง "หอยชักตีน"อันเป็นหอยที่เป็นหน้าตาและขึ้นชื่อของเมืองนี้ครับ

ของคุณมะเดื่อนั่นใช่เลยหอยเสียบทั้งเพ และตัวใหญ่ด้วย ขอบคุณคร้าบ..ที่แลกเปลี่ยน

ฮายชอบจ้านนิ เข้ามาบ้านนี้แล้ว คนที่ผูกพันกับวิถีบ้าน ชอบจ้านครูเหอ....(จุดถูกหนวยคันแล้วหลาว.)....

วันศุกร์หอยขึ้นเขา วันเสาร์หอยอยู่รู....เป็นนัยบอกเล่าถึงธรรมชาติของสัตว์ท้องถิ่น เพียงแต่บางเรื่องเราปริศนาธรรมของคนเฒ่าไม่ออก หรือคนเฒ่าไม่บอกเล่าให้แจ้ง....

เหมือนกับที่" ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ  ลมหักคอไม้ไผ่" มีนัยแฝงคำบอกเล่าให้เข้าใจถึงธรรมชาติ หยามที่ข้าวออกรวง ดอกข้าวหล่นเป็นอาหารปลา ปลาจะพ่วงมีมีอาหารอุดม ปลาหมอพีจนหัวแตก แล้วปลาหมอหยามนี้มันราสา ลมหักคอไม้ไผ่ หยามที่ข้าวท้องข้าวออกรวงคนทำนาบายใจ ธรรมชาติเกื้อหนุน  ต้นลมว่าเริ่มเข้าหยามพัดมาเบา ไมรู้ไซรเข้าไปหาหน่อไม้มักพบหน่อไม้ยอดหัก.....ครูว่าปรือมั้ง .....หัวเช้าอาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้านจะไปทำงาน ได้แวะกินข้าวยำ น้ำชาและได้สนทนากับครูก่อนไปทำงาน  จินตนาการ บรรเจิด สมองแล่นไปถึงอดีตตอนทำว่าว.....

บังนิยังอ้ายไหรลุยแหม็ดแบบเรื่องบ้านบ้าน หายากคนพันธุ์นี้ นานๆอิพบสักคนใครได้อยู่แค่นอกจากบายใจแล้วยังได้ความรู้ ขอบคุณที่ช่วยเสริมเติมแต่งนะบัง..คนเอินพอได้พลอยโร่กัน..

อบต.หลอง ที่สทิงพระ เคยเอามาฝาก กินกับข้าวสวยก็ได้ กินกับข้าวต้มก็ดีเยี่ยม สุดยอด

ภูิมิปัญญาท้องถิ่น ขอบคุณครูฑูรย์ที่นำมาเผยแพร่ และขอบคุณน้าหลอง ที่เอามาฝากครับ

หอยเสียบเป็นอาหารพื้นบ้านของคนที่อยู่ชุมชนแถบริมเล การนำของฝากที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต้องเป็นของที่ถูกใจ และใช้ได้ กินได้ ชมรมบินหลารับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็เหมือนกัน ต้องเป็นของที่จำเป็นเรื่องกินเรื่องอยู่ เช่น เคย น้ำผึ้ง เกลือ ข้าวสาร อาหารแห้ง ขนมพื้นบ้าน เช่น ยาหนม เหนียวกวน หนมคอเป็ด ฯลฯ

หอยเสียบจะมีมากที่สุดในช่วงเดือนไหนค๊ะ

ขอโทษที่ละเลย...ไม่ได้เข้ามาดูโกทูโนว..เสียนาน..หอยเสียบจะมีมากทุกเดือน และครับ แต่จะหาได้มากในช่วงเดือน หรือวันที่คลื่นลมสงบ..ครับ..

หาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับหอยเสียบ หรือหอยทราย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท