แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

วิธีฝึกเปล่งเสียง "โอม" ตามตำราโยคะสูตร (๑/๓)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


วิธีฝึกเปล่งเสียง "โอม" ตามตำราโยคะสูตร
(๑/๓)

วีระพงษ์ ไกรวิทย์ (ครูโต้) และ
จิรวรรณ ตั้งจิตเมธี (ครูจิ)
แปลและเรียบเรียง

คอลัมน์ ; ตำราโยคะดั้งเดิม
โยคะสารัตถะ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

ตอนที่แล้วพูดถึงที่มาแห่งสัญลักษณ์ของเสียงหรืออักษร "โอม" (ॐ Om) และคัมภีร์โบราณทางศาสนาที่สำคัญก็มีแนวคิดว่าเสียงโอมเป็นการปรากฏตัวของพระเป็นเจ้า รวมทั้งยังเป็นวิถีที่จะสื่อสารและเข้าถึงพระเป็นเจ้าโดยตรงอีกด้วย

ในประโยคถัดมา (๑ : ๒๘) ได้กล่าวถึงวิธีการปฏิบัติของเสียงโอมว่า "ตัชชปัสตทรรถภาวนัม" ซึ่งแปลได้ ๒ ความหมายคือ

๑) ประณวะคือการสวดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง (หรือชปะ-Japa) และควรจะปฏิบัติด้วยการหลอมรวมจิตเข้ากับเสียง โอม หรือประณวะ

๒) เราควรที่จะใช้การสวดเสียง โอม หรือประณวะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่องด้วยการใคร่ครวญหรือบริกรรมความหมายของมัน

อรรถกถาจารย์แต่ก่อนส่วนใหญ่แล้วได้ตีความประโยคข้างต้นนี้ตามความหมายที่สอง ในการตีความนี้ผู้ปฏิบัติได้รับคำแนะนำว่าให้สวดเสียง โอม อย่างซ้ำๆ และต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันให้พยายามใคร่ครวญความหมายของเสียง โอม หรือประณวะไปพร้อมๆ กันด้วย

มีอรรถาธิบายจาก George Feuerstein[1] ได้แปลความหมายต่างออกไปบ้างเล็กน้อยว่า "การสวดสัญลักษณ์ โอม นำไปสู่การใคร่ครวญในความหมายของมัน"

การแปลความเช่นนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความหมายที่ถูกต้องของประโยคนี้ โดยเฉพาะจากมุมมองในทางปฏิบัติ อักษรโอมโดยพื้นฐานแล้วมิได้มีความหมายใดๆ ความจริงแล้วมันเป็นเพียงเสียงง่ายๆ เสียงหนึ่ง การพยายามมองหาความหมายใดๆ ที่อยู่เบื้องหลังของเสียงนี้อย่างเช่น เสียงนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระเป็นเจ้า เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่ปราศจากเหตุผลและยึดถือเอาตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่ยอมรับขนบธรรมเนียมดั้งเดิมจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามวิธีการปฏิบัติของประโยคนี้ในความหมายที่สองได้

ในการแปลความหมายแบบแรกนั้นเน้นที่ความหมายของคำว่า "ชปะ" คือ การสวดโอมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งการสวดโอมหรือชปะนี้นับเป็นความดีสูงสุดที่ไม่มีการสวด มันตระ[2]อื่นใดให้ผลเทียบเท่าได้ เนื่องจากมันตระอื่นมักจะแฝงด้วยความคาดหวังทางโลกทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย (บางครั้งผู้สวดมันตระมักจะคาดหวังให้การสวดมันตระนั้นเกิดผลบางอย่างตามที่ต้องการ) ในขณะที่การสวดโอมเป็นมันตระเดียวซึ่งเป็นเพียงแค่เสียงที่ปราศจากความคาดหวังและความหมายใดๆ จึงทำให้การสวดโอมนี้เป็นที่ยกย่องอย่างสูงสุด

[1] The Yoga Sutra of Patanjali by George Feuerstein, publisher, WM. Dawson, Flokestone, England, 1979; George Feuerstein เป็นนักวิชาการทางด้านอินเดียศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโยคะ เขาเป็นผู้แต่งหนังสือมากกว่า 30 เล่มในเรื่องลึกลับทางจิตวิญญาณ โยคะ ตันตระ และศาสนาฮินดู เขาได้แปลคัมภีร์โบราณอย่างเช่นโยคะสูตรของปตัญชลีและภควัทคีตา ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักปฏิบัติโยคะเพื่อเข้าสู่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณด้วย(ผู้แปล) ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Georg_Feuerstein

[2] มันตระ หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์ คำสำหรับสวด ในทางศาสนาพราหมณ์ใช้สวด เสก เป่า

[ อ่านต่อ -(๒/๓)- ]


.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 432150เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2015 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท