มองตนเองอย่างสมดุล ด้วย ใจเขา ใจเรา


    สวัสดีครับ ท่านผู้สนใจที่ติดตามชม ทุกท่าน พบกันอีกเช่นเคยครับ กับ บล็อก "คุยกันวันเสาร์-อาทิตย์" คุยกันสบายๆ ในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2554 อีกเช่นเคยนะครับ วันนี้เราจะมาพูดในประเด็นการมองตนเอง สำคัญและสัมพันธ์ต่อชีวิตและการปฏิบัติงาน ในประเด็นที่ 2 นั่นคือ เรื่องของ"ใจเขาใจเรา" กันครับ

    พูดถึงเรื่องใจเขาใจเรา ผู้เขียนเคยได้สนทนากับเพื่อนๆ หลายคน ในเรื่องของความรัก และการดำเนินชีวิต ซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับเรื่อง ใจเขา ใจเรา ซึ่งหลายปัญหามักเกิดจาก การเอาใจเรามากกว่า เอาใจเขา เลยมองเหมือนการเอาแต่ใจ บางครั้งจึงมักจะได้ยินคำพูดที่ว่า "ต้องฉันก่อนสิ" "ทำให้ฉันก่อน" "ฉันต้องได้ก่อน" นั่นคือ การมองเรื่องใจเขาใจเรา ไม่ควรมองที่ใจเราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองทั้งเขาและใจด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขทั้งเราและเขานั่นเอง

    ทีนี้พอพูดกันถึงเรื่อง ใจเขา ใจเรา นั้น ก็เลยมองถึงเรื่องความต้องการทางจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวพันกัน ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เมื่อตอนเข้าทำงานใหม่ๆ ที่เคยคิดว่า "ทำไม ที่นี่ถึงไม่เหมือนที่โน่น" "ทำไมที่โน่นมี ที่นี่ไม่มี" "ต้องพัฒนาอย่างโน้น พัฒนาอย่างนี้ ปรับเปลี่ยนอย่างโน้น ปรับเปลี่ยนอย่างนี้ เพื่อให้มันดี " นั่นคือ มองในใจเราเป็นหลัก โดยพื้นฐานของพนักงานใหม่ทุกคนที่ยังไม่เคยได้เข้ามาสัมผัสกับชีวิตในที่ทำงานใหม่ มักมองมุมมองของตนเองว่า น่าจะมีอย่างโน้นนะ มีอย่างนี้นะ อยากให้ปรับแบบนี้ อยากให้ทำแบบนี้ นั่นคือ มองแต่ความต้องการของตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง และบางส่วนที่มีประสบการณ์ ก็จะมักเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ อยู่เสมอ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนเองมองแต่ใจเราเพียงอย่างเดียวเหมือนกัน และเพราะมองแต่ใจเราเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้เขียนเสียสมดุลในด้านความคิด มองไม่เห็นอีกด้าน นั่นคือ ในส่วนใจเขา ที่เราควรจะไปเรียนรู้ นั่นเพราะเรายังไม่ได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ ทำให้เรามองเห็นแต่เราเพียงอย่างเดียว

     การมองแต่ใจเราเพียงอย่างเดียว เหมือนกับเราส่องกระจกมองตนเอง ไม่หล่อเราก็บอกว่าหล่อ ไม่ดีเราก็บอกว่าดี ไม่สวยเราก็บอกว่าสวย นานๆ เข้าก็ติดกับกระจก คือต้องส่องกระจกทุกวัน กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตนเอง เพราะถูกกระจกมันหลอกเอา นั่นคือ "มองแต่ใจเรามักเอาแต่ใจตัว" เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อใจยึดติดหรือหลงไปกับความสวย ความหล่อที่กระจกนั้นสร้างรูปขึ้นมา จะรู้สึกร้อนรุ่ม กระวนกระวายหากวันใดไม่ได้ส่องกระจก รู้สึกไม่มั่นใจ ต้องหากระจกคอยพกเอาไว้ อุ่นใจไว้ก่อน หากวันใดได้ส่องกระจกจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม หลงใหลกับรูปนั้น หลายครั้งที่ใจของผู้เขียนเป็นเหมือนดั่ง คนส่องกระจก แต่ไม่ได้เป็นเหมือนกระจกที่คอยส่องตนเอง สักที เลยทำให้ มองแต่ใจเรา เพียงอย่างเดียว นั่นคือ "ฉันต้องได้" "ฉันต้องมี" "ฉันต้องเป็น" "ฉันต้องเห็น" "ฉันต้องรู้" อยู่ตลอดเพราะใจมีความกระวนกระวาย มีความอยาก ความต้องการ เป็นอารมณ์ จนติดเป็นพฤติกรรมแห่งความต้องการ เวลานั่งร้านอาหาร ต้องการให้เปิดพัดลม ต้องการอาหารเร็วๆ ต้องการให้บริการเร็วๆ เวลาทำงาน ก็ต้องการให้งานเสร็จเร็วๆ ต้องการให้สร้างงานเยอะๆ ต้องการได้คำชมเชยเยอะๆ ต้องการให้เป็นที่ยอมรับเยอะๆ นั่นคือ เรารู้อยู่แต่ใจเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    และหากจะมองตนเองอย่างพิจารณาอีกชั้นจะเห็นได้ว่า ความต้องการที่แสดงออกมาจากตัวเรา เป็นผลดีที่ทำให้เรารู้จักและเรียนรู้กับตัวเรามากขึ้น นั่นคือ  รู้ในสิ่งที่เราต้องการ หรือเป้าประสงค์ของเรา และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำตามความต้องการ หรือเป้าประสงค์ที่ได้วางเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการนั้น บางสิ่งก็ไม่ใช่เป้าประสงค์หลัก หากแต่เป็นเป้าประสงค์รองลงมาเท่านั้น ซึ่งหากจะมองถึงเป้าประสงค์หลักแล้ว นั่นก็คือ "ความสุข" ในชีวิตและการทำงานนั่นเอง

เรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิต

     หลังจากที่ผู้เขียนเข้ามาทำงาน ก็เริ่มปรับสภาพและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตและทำงานในสถานที่ทำงานดังกล่าวได้ ถึงแม้บางที ใจผู้เขียนเองอาจไม่ชิน นั่นเพราะคำนึงถึงประสบการณ์เดิมๆ หรือความรู้เดิมๆ ที่เคยมี เคยผ่านมา และนั่นทำให้ปิดบังโอกาสที่จะเรียนรู้ ความรู้ใหม่ๆ ไปเสีย ผู้เขียนพยายามเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยการเข้าไปเรียนรู้ใช้ชีวิตร่วมกันกับพี่ๆ น้อง เพื่อนร่วมงานทุกท่าน สิ่งนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกซึมซับบางสิ่งบางอย่างลงไป นั่นคือผู้เขียนเองได้สัมผัส เรียนรู้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ได้รู้บางอย่าง ก็เป็นคำตอบให้กับผู้เขียนได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นั่นคือบางอย่างได้ลบความคิดเดิมๆ ที่ไม่ถูกต้อง หรือมีความเห็นขัดแย้งที่เคยคิดมาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติงานไปเสีย

      สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ซึมซับเข้าไปนั้น หากจะพิจารณาแล้ว พบว่ามีสิ่งที่เรียกว่า "ใจเขา" ได้ซึมซับลงไปด้วย กล่าวคือ ผู้เขียนจากเดิม มองแต่ใจเราเพียงอย่างเดียว แต่พอหลังจากได้เรียนรู้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้มองเห็นเหตุปัจจัย ว่า บางสิ่งที่ควรจะเร็ว ทำไมถึงเขากลับทำช้า เพราะเหตุใด ช้าแล้วดีหรือไม่ เร็วแล้วดีอย่างไร ปัจจัยใดที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เร็วขึ้น และปัจจัยใดที่เป็นแรงผลักดันทำให้ช้าลง จนในที่สุด ก็ลงตัวในคำตอบ ที่การปฏิบัติ การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า บางสิ่งที่คิดว่าง่ายนั้น แต่เมื่อปฏิบัติจริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และบางสิ่งที่คิดว่ายาก อาจจะไม่ยากอย่างที่คิด ขึ้นกับการเรียนรู้ของตัวเราเอง ที่หาทางออกให้กับชีวิตของตนเองได้ นั่นคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง พิจารณาตนเอง ทำให้เข้าใจและยอมรับในคุณค่าของตนเอง เข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่สามารถดับซึ่ง ความกังขา หรือ ความต้องการในจิตใจของเราได้ เพียงเพราะเรามองเห็นตัวเราเอง ยังช่วยให้เรามองเห็นถึงโอกาส ที่จะก้าวสู่ความสุขคือ ความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงานอีกด้วย

การเรียนรู้ที่เนิ่นช้า

     ถึงแม้เป็นระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมา หลังจากผู้เขียนก้าวเข้ามาปฏิบัติงาน ผู้เขียนได้สังเกตตนเองว่า ในการเรียนรู้ตนเองจากการปฏิบัติงานนั้น ทำไมเราต้องการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ปัจจัยประการหนึ่งนั่นเพราะประสบการณ์ที่มีอยู่ หรือความรู้ที่มีอยู่ ถูกฝังลึกเอาไว้ ยังไม่ถูกถ่ายทอด ทำให้เรารู้สึกว่า ตนเองรู้แล้ว เข้าใจแล้ว เพราะได้เรียนมาแล้ว ได้มีประสบการณ์มาบ้างแล้ว การเรียนรู้ในขณะนั้น คือเรียนเพื่อต้องการระบายความรู้ ประสบการณ์ของตนเองที่มี มากกว่า เรียนเพื่อรู้สิ่งใหม่ๆ นั่นเพราะใจยังไปฝังติดกับตำราของตนเอง ความรู้ของตนเอง ความคิดของตนเอง เสียมากกว่า ทำให้ปิดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกด้านหนึ่ง หากแต่พิจารณาจะพบว่า เป็นการเรียนรู้ของตนเองที่เนิ่นนานและ เชื่องช้า เพราะจิตหลง ยึคติดกับความรู้เดิมๆ ทำให้เกิดข้อกังขา ต่างๆ นานา เกิดความไม่สนใจ ไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ส่งผลทำให้เราเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่นๆ นั่นเพราะ เราคิดถึง ใจเราเพียงอย่างเดียว คือมองความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียว

       ในภายหลัง ผู้เขียนเริ่มปรับเปลี่ยน ประยุกต์เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใช้กับการทำงาน โดยการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า จนสังเกตพบว่า การเรียนรู้ที่เนิ่นช้า ที่เกิดกับตนเองนั้น อาจมีปัจจัยจากหลายส่วนด้วยกัน นั่นคือ อาจเกิดจาก การขาดแรงกระตุ้น ขาดทักษะความสามารถ ขาดการพัฒนาความคิดวิสัยทัศน์ การขาดหลักการ การขาดเป็าหมาย หรือขาดวิธีการและขาดการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้อย่างเนิ่นช้า เพราะในบางครั้ง แม้วิธีการถูกต้อง แต่ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ก็ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ หรือ มีหลักการ เป้าหมาย และวิธีการที่ชัดเจน แต่ขาดการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ก็ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้เช่นกัน แม้ตัวผู้เขียนเองอาจจะไม่ชอบกับการเรียนรู้ที่เนิ่นช้า แต่ในบางครั้งผู้เขียนเองยังมองถึงข้อดีของการเรียนรู้ที่เนิ่นช้า นั่นคือ ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น เพราะสิ่งที่ขาดเหล่านั้น เราต้องไปศึกษาและเรียนรู้กับสิ่งนั้นเพื่อหาคำตอบ ซึ่งต้องละเอียด รอบคอบและอดทน แม้จะนานแต่ก็ทำให้เราเข้าใจในสิ่งนั้นได้ดีและมากขึ้น

คำนึงถึง ใจเขา เราก็เป็นสุข งานก็เกิดผล

     ผู้เขียนหาคำตอบ และทบทวนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จนพบว่า เหตุแห่งความไม่สำเร็จ ประการหนึ่งนั้นเกิดจาก เราไม่ได้ใจเขา หรือไม่รับรู้ถึงใจของเขา นั่นคือ เพราะผู้เขียนเองไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังไม่สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ นั่นเพราะ ไม่คำนึงและใส่ใจ เท่าไหร่ ทำให้การพัฒนาเนิ่นช้าลงไป ซึ่งหากจะพิจารณาแล้วนั้น พบว่า การปรับเปลี่ยนหากรวดเร็วเกินไปหรือเนิ่นช้าเกินไป ทำให้ขาดซึ่งสมดุล การทำงาน หากทำงานด้วยความรีบเร่งหรือเร่งด่วน ผลผลิตคืองานตามเป้าประสงค์ นั่นคือ ทำให้งานบรรลุผล แต่คนไม่เป็นสุข เพราะอาจเกิดความเหนื่อยล้าหรือย่อท้อได้ หรือแม้กระทั่ง การทำงาน หากทำด้วยความเนิ่นนานและเชื่องช้า แม้ผู้ปฏิบัติอาจมีความสุข แต่หากงานไม่สำเร็จตามเป้าประสงค์ นั่นคือทำให้คนเป็นสุข แต่งานไม่บรรลุผล ฉะนั้น การทำงานที่ให้ทั้ง งานเกิดผล คนมีสุข ได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก "ใจเขา"  เช่น มีเพื่อนร้องขอความช่วยเหลือจากเรา ทำให้เราพิจารณาตนเองว่าช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ ช่วยอย่างไร ตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถของตนเอง เพราะการคำนึงถึงใจเขาเป็นที่ตั้ง ย่อมทำให้เราเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเขามากขึ้น ดั่งคำที่ว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ทำให้เกิดมิตรเกิดไมตรี เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความผูกพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ส่งผลให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

"ใจเขา ใจเรา" สร้างสมดุลเห็นคุณค่าผู้อื่น

     ผู้เขียนขอเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยได้พูดคุยกับเพื่อน ถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและเธอเหล่านั้น พบว่า บางคนมี แต่ใจเรา ขาดใจเขา นั้น ย่อมทำให้อยู่ร่วมกันได้ยาก เพราะต้องการให้อีกฝ่ายยอมเราอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงใจของเขา พอเขาไม่ยอม ก็ร้องไห้ หรือต่อว่าเขาไม่เข้าใจเรา ไม่รักเรา นั่นเพราะเราคิดแต่เราอย่างเดียวจนลืมเขาไป นั่นเอง กระนั้นบางคนมีใจเขามากเกินไป จนไม่ได้คำนึงถึงใจเรา ก็ย่อมทำให้อยู่ร่วมกันอย่างไม่มีความสุข เพราะเธอต้องยอมเขาอย่างเดียว ต้องแคร์เขา ต้องคอยวิตกกังวล คอยสอบถามอยู่เสมอ นั่นคือ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเขา ความสุขของเธอจึงขึ้นอยู่กับเขา บ่อยครั้งที่เธอต้องเป็นฝ่ายรองรับอารมณ์ ทำให้เธอขาดความมั่นใจในตนเองไปเสีย

    ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า "ใจเขา ใจเรา" จะเป็นสิ่งสำคัญและสัมพันธ์กับการสร้างความสุขในชีวิตและการทำงานแล้วก็ตาม แต่การคำนึง ใจเขา หรือ ใจเรา มากเกินไป ย่อมส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุลได้เช่นกัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า การคำนึงถึง ใจเขา มากเกินไป ทำให้เราขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะการแคร์ความรู้สึกคนอื่นนั้น ทำให้เราเกิดความปริวิตก ต้องคอยสอบถาม หรือ ควากวิตกกังวล พะว้าพะวงใจ ทำให้เราเกิดความทุกข์ แทนที่จะเป็นความสุข เช่นกัน การคำนึงถึง ใจเรามากเกินไปนั้น ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ทำให้ไม่แคร์ต่อความรู้สึกคนอื่น หรือ การกระทำของคนอื่น อาจทำให้ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี สิ่งเหล่านั้น อาจทำให้เกิดความทุกข์ หากต้องปรับตัวเข้าหา หรือ ต้องทำงานเป็นทีม ซึ่ง หากลองพิจารณาแล้ว พบว่า สิ่งที่ทำให้ ใจเขา ใจเรา เกิดสมดุลได้ นั่นคือ การพิจารณาอย่างมีเหตุมีผล หรือคำนึงถึงเหตุปัจจัยว่า มันถึงเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นแบบนี้เอง นั่นเพราะมีปัจจัยย่อมมีเหตุ เพราะมันมีเหตุย่อมมีผล กล่าวคือเรียนรู้ถึงที่มา สาเหตุการเกิด และผลที่ตามมา ของการกระทำนั้น พิจารณาถึงข้อดี และข้อด้อยของการกระทำทั้งเขาและตัวเราเอง จะทำให้มองเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ นั่นคือ ข้อดีในตนเองและผู้อื่นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิตและการทำงาน นำมาเล่าสู่กันฟังครับ


20 มีนาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 431894เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2011 02:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คำโบราณสอนไว้ "ให้เอาใจเขามาใสใจเรา" คือรู้จักคิดแบบเขา

รู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราก็จะได้ทำที่เขาต้องการนะครับ

ท่านอาจารย์ โสภณ เปียสนิท ครับ Ico48 

  • ขอบพระคุณอย่างสูงที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้ข้อคิดดีๆ นะครับ
  • สิ่งที่ท่านอาจารย์ได้แนะนำ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียวครับ

บางคนก็เอาความคิดเขา..มาแทนความคิดเรานะ

เขาคิดว่า..เราต้องคิดแบบที่เขาคิด..

อย่างนี้จะเป็น..ใจเขา ใจเรา..มั๊ย?

ท่านอาจารย์ พี่ครูป.1 ครับ Ico48 

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้ข้อคิดเห็นดีๆ นะครับ
  • ด้วยความระลึกถึงอยู่เสมอครับ
  • ตรงนี้ ผมขออนุญาตเล่าจากประสบการณ์แลกเปลี่ยนด้วยนะครับ ตัวผมเองเจอบ่อยครับที่เขาต้องการให้เราเป็น ให้เราเห็น ให้เรารู้ ให้เรามีตามอย่างเขา แต่บางทีการตอบสนองต่อความต้องการของเขา บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าได้เสียทีเดียว หรือไม่ได้เสียทีเดียว แต่การที่จะไปห้ามเขาหยุดความคิดความต้องการไม่ให้ต้องการเป็นเรื่องยากครับ ตรงนี้บางทีผมเองก็ต้องเปิด"ใจเรา"ยอมรับถ้าเป็นความคิดเห็นที่มีเหตุมีผล ที่เป็นจริง และในบางทีก็ต้องมองย้อนถึงข้อดีของเขาที่มี ที่พอหาได้ครับ ถึงจะได้เห็นถึงคุณค่า เห็นถึง "ใจเขา" ครับ  
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับที่ให้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท