ทฤษฎีแบบว่าเกรงใจ-วิธีเกรงใจ [EN]


อาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ ตีพิมพ์เรื่อง "ทฤษฎีว่าด้วยความเกรงใจ" ใน "กรุงเทพธุรกิจ" ออนไลน์ เล่าเรื่องประสบการณ์ในการเป็นเทรนเนอร์ (ผู้ฝึกอบรม) บริษัทสัญชาติเยอรมันที่จะเข้ามาทำงานในไทยว่า ความเกรงใจเป็นอย่างไร-แสดงออกอย่างไร
.
ความเกรงใจเป็นส่วนสำคัญใน "การทำงาน-การอยู่ร่วมกันข้ามวัฒนธรรม (cross culture)" เช่น การทำงาน-ค้าขาย-ติดต่อ-คบหา (ไปจนถึงความรัก) กับคนต่างชาติ ฯลฯ, ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยจะขอแทรกศัพท์ภาษาอังกฤษ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเข้าไปครับ 
คำ "เกรงใจ" ในภาษาไทยมีความหมายคล้าย (ไม่ตรงเป๊ะ) กับภาษาอังกฤษว่า '(to be) considerate', '(to be) courteous'
  • [ considerate ] > [ ข่อน - ซิด - เดอ - เหร็ท - t  ] > http://www.thefreedictionary.com/considerate > adjective = (ซึ่ง) เกรงใจ พิจารณาความรู้สึกของคนอื่น; คำนี้มาจากภาษาละติน = 'to consider' = พิจารณา ไตร่ตรอง
  • [ courteous ] > [ เค้อ - เฉียส - s ] > http://www.thefreedictionary.com/courteous > adjective = (ซึ่ง) สุภาพ นอบน้อม; คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส = court = ศาล ผู้พิพากษา-พนักงานศาล; courtship = การเกี้ยว จีบ ขอความรัก
ถ้าจำไม่ผิด, ท่านดะไล ลามะได้อธิบายว่า ความเห็นอกเห็นใจของคนเราเกิดจาก 2 ปัจจัยได้แก่ ความเข้าใจ (ตรงกับสำนวนที่ว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา") และความรัก (คงจะรวมเมตตา - ความปรารถนาดี, และกรุณา - ความปรารถนาให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีทุกข์น้อยลง)
.
อาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ แนะนำทฤษฎี-วิธีทำงานข้ามวัฒนธรรมไว้อย่างนี้ 
.
(1). ความ "เกรงใจ-ใส่ใจ-ให้เกียรติกัน" เป็นพลังงานที่แสนดี และกระเพื่อมกลับไปกลับมาได้แบบไม่รู้จบ ไม่ว่าจะในสังคม ที่ทำงาน องค์กร หรือครอบครัวใด ยิ่งให้-ยิ่งสะท้อน-ยิ่งได้รับกลับมามาก
.
ยิ่งผู้ใหญ่เป็นฝ่ายให้-ยิ่งมีอานุภาพมาก ตรงกับคำสอนของเต๋าที่ว่า "รวงข้าวสมบูรณ์ (คนที่ยิ่งใหญ่จริง) ย่อมน้อมลง (อ่อนน้อม) - รวงข้าวไม่สมบูรณ์ (คนที่ใหญ่ไม่จริง) ย่อมชูเชิด (หยิ่งยะโส โอหัง)"
.
วิธีแสดงความ "เกรงใจ-ใส่ใจ-ให้เกียรติกัน" เริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยการกล่าวคำทักทาย (สวัสดี ไหว้ทักทาย ฯลฯ), ขอบคุณ-ขอบใจ, ขอโทษ (เมื่อพลาดพลั้่ง หรือกล่าวแม้ไม่ผิด-เพื่อรักษาใจของคนอื่น)
.
(2). สร้างช่องว่างบางๆ ไว้คั่นกลาง
.
กล่าวกันว่า คนเรามีพลังแห่งธาตุไฟหรือความร้อนแรงมากบ้างน้อยบ้าง ทำให้ "ใกล้ไปก็ร้อน ไกลไปก็หนาว) โดยเฉพาะระยะทางระหว่างผู้บริหารกับคนในองค์กร
.
อาจารย์พอใจแนะนำให้สร้างช่องว่างบางๆ ไว้เพื่อป้องกันการ "เข้าใกล้" หรือสนิทสนมกันมากเกินไป เนื่องจากการถอยให้ห่างทำได้ยากกว่าการอยู่ไกลไว้หน่อย แล้วค่อยๆ ขยับใกล้เข้าไปช้าๆ
.
เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่งอุตส่าห์ "เสนอหน้า (present face)" กับครูบาอาจารย์ได้อย่างแนบเนียน เริ่มจากหัดเล่นเทนนิส หาโอกาสเล่นเทนนิสกับอาจารย์ แกล้งแพ้ให้มาก-ชนะให้น้อย หรือไม่ก็แกล้งชนะก่อน-แพ้ทีหลัง ทำแบบนี้บ่อยๆ จน "ได้ใจ" อาจารย์ และได้เรียนต่อเป็นอาจารย์สมใจ (ขอสงวนนาม)
.
ไก๊ด์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ดีเช่นกัน ท่านบอกว่า ท่านถือเป็นธรรมเนียมที่จะไม่ตีตัวเสมอลูกค้าเป็นธรรมดา เช่น ถ้าจะตากผ้า... ท่านจะตากไว้ที่พื้นห้อง (พื้นห้องโรงแรมส่วนใหญ่ค่อนข้างสะอาด), ให้โอกาสลูกค้าตากไว้ที่ราว ฯลฯ ทำแบบนี้ถึงจะทำทัวร์ได้นาน
.
(3). แสดงน้ำคำและน้ำใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น ยกย่องความดีคนอื่นลับหลัง หลีกเลี่ยงการนินทาลับหลัง ฯลฯ
.
โลกเบี้ยวๆ ใบนี้มีภาวะโลกร้อน มีน้ำลายจากการนินทา และมองโลกในแง่ร้ายท่วมโลก, ทว่า... แห้งแล้งน้ำใจจากการแสดงความชื่นชม (appreciation) การทำดีของคนอื่น และการมองโลกในแง่ดี
.
(4). ไม่เสนอทางเลือกทางเดียว
.
เมื่อมีโอกาสเสนอความคิดเห็น... ควรเสนอทางเลือก ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์ (อาจารย์นิด้า) แสดงไว้ดี คือ เสนอไว้สัก 2-3 ทางกำลังดี น้อยไปจะทำให้อีกฝ่ายอึดอัด-ขาดทางเลือก มากไปจะทำให้อีกฝ่ายสับสนงุนงง
.
คนทั่วโลกต้องการอะไรคล้ายๆ กัน คือ "Voice & Choices (voice = การมีสิทธิ์มีเสียง; choice = ทางเลือก)", ถ้าใครให้ 2 สิ่งนี้กับคนอื่นได้จะมีโอกาสชนะใจคนทั่วโลกได้ในระยะยาว เช่น ถ้าจะชวนใครไปเที่ยวก็ควรให้คนอื่นมีโอกาสแสดงความคิดเห็น (มี voice) และมีโอกาสเลือกทางเลือก (มี choices)
.
(5). หาสมดุลแห่งความเกรงใจเขา-เกรงใจเรา
.
ผู้บริหารชาวเยอรมันกล่าวว่า ฝรั่งมักจะงงเพราะไม่รู้ว่า คนไทยอยากได้อะไร, เพราะคนไทยไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกไปตรงๆ ซึ่งตรงนี้... อาจเป็นเพราะคนไทยยังไม่เก่งภาษา
.
วิธีแสดงความเห็น "ข้ามวัฒนธรรม" ที่ดีขั้นแรก คือ รีบเรียนภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาหลักๆ ของโลก เช่น ภาษาอังกฤษ จีน ฯลฯ เพราะยิ่งเราเก่งภาษา... จะกล้าเกรงใจตัวเองมากขึ้น (กล้าแสดงความรู้สึกตามโอกาส)
.
กล่าวกันว่า ความเกรงใจคนอื่นทำให้ "คนอื่นสุขมาก-ตัวเราสุขน้อย", ความเกรงใจตัวเองทำให้ "ตัวเราสุขมาก-คนอื่นสุขน้อย", ถ้าอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายมี "ความสุขร่วมกัน" ได้จริงๆ จะต้องหาจุดสมดุล หรือพื้นที่ "ทับซ้อน (overlap)" แห่งความพอเหมาะ-พอดีตรงนี้ให้ได้
.
คนที่สุดโต่งไปทางเกรงใจ "เขา" (ถ้าเกรงใจคนอื่นฝ่ายเดียว = ขาดความเป็นตัวของตัวเอง และเสี่ยงแห้งแล้งความสุข) หรือคนที่สุดโต่งไปทางเกรงใจ "เรา" ฝ่ายเดียว (ถ้าเกรงใจตัวเองฝ่ายเดียว = เอาแต่ใจตัวเอง) มักจะมีพลังแห่งความเกรงใจไม่เต็มเปี่ยม
.
คนที่มีพลังแห่งความเกรงใจมากจริงๆ มักจะเป็นคนที่หาความพอเหมาะ-พอดี หรือพื้นที่ทับซ้อนระหว่างความเกรงใจ "เขา" กับความเกรงใจ "เรา" ได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
 

 > [ Twitter ]                             

  • ขอขอบพระคุณ > กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 8 มีนาคม 2554.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 430246เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Perhaps, 'to show respect' or 'to show regard' or 'to give considerations' may be an act of เกรงใจ. ;-)

Thanks & many thanks - ขอขอบคุณครับ - ความเห็นของท่านผู้อ่านมีคุณค่าต่อท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ มาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท