มากกว่าเงินตรา


(คำนิยมสำหรับหนังสือ  “มากกว่าเงินตรา”  โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ)

 

                โลกทุกวันนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม จิตสำนึก หลักคิด วิธีคิด และอื่น ๆ

                ปัจจัยหลัก ๆ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้แก่  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่เสื่อมทรุดและบีบคั้นมนุษย์มากขึ้น ๆ ทุกขณะ   ภาวะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดภาวะวิกฤตอันได้แก่ ความล้มเหลวล่มสลายหรือล้มละลายเป็นระยะ  ๆ  หลายต่อหลายครั้ง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่เริ่มในประเทศที่ร่ำรวย ก้าวหน้าที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาเมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว  เป็นผลให้สถาบันการเงินและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดหลายแหล่งอยู่ในภาวะล้มละลาย  และภาวะวิกฤตนี้ได้แพร่ขยายไปยังประเทศในยุโรป เอเซีย และอื่น  ๆ  เป็นลูกโซ่  สะเทือนมาถึงประเทศทั่ว ๆ ไปอย่างประเทศไทยด้วย

                ภาวะวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ คงเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาตั้งสติ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและวิธีการประกอบธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ต้องพยายามดูแลเอาใจใส่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังต่อเนื่องแล้ว ยังต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องชุมชนรอบข้าง และสังคมโดยรวม  การดูแลเอาใจใส่เรื่องวิธีการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร ตลอดจนปรัชญา หลักคิด ยุทธศาสตร์  ฯลฯ ขององค์กรที่ไปเชื่อมสัมพันธ์กับ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility  หรือ  CSR ) หรือ  การสร้างและรักษาไว้ซึ่ง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ขององค์กรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (All Stakeholders)

                ได้เกิดความพยายามและ “นวัตกรรม”(Innovation) มากมายในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเพื่อรองรับ การ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หรือหลักคิด วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไปในด้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และวิธีการประกอบธุรกิจหรือบริหารจัดการธุรกิจ  เป็นต้นว่า ความริเริ่มเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness)  ซึ่งปัจจุบันแพร่ขยายไประดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง  จนถึงขั้นความพยายามที่จะวัด “ความก้าวหน้าที่แท้จริง”(Genuine Progress) หรือ ดรรชนีความก้าวหน้าของชาติ” (National Progress Index หรือ NPI)   ซึ่งในประเทศไทยกำลังมีความพยายามในรูป “แผนงาน” (Program)  ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และองค์กรหรือสถาบันอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เองก็ได้มีทั้ง “ตัวชี้วัดทางสังคม” (Social Indicators) และตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”(Green and Happiness Indicators)  อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งมาแล้ว

                ในระดับชุมชน ได้มีความพยายามหรือนวัตกรรมในการสร้าง “ตัวชี้วัดความสุขชุมชน” (Community Wellbeing Indicators)  “ตัวชี้วัดความดี” (Goodness  หรือ Virtue  Indicators)  ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเกิดการแพร่ขยายในหมู่ชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ

                สำหรับในภาคธุรกิจเองนั้น  ได้มีกิจกรรม โครงการ แผนงาน กลไก ฯลฯ เกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนถึงหลักคิดวิธีคิดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทหันมาให้ความเอาใจใส่ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้าง พนักงาน การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนและสังคม ฯลฯ โดยการเปลี่ยนแปลงไป “ตามธรรมชาติ “คือ มิได้มีโครงการแผนงานอะไรเป็นพิเศษ แต่เกิดจาก จิตสำนึก วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะวิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งมาจากสภาวะวิกฤตทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ปัจจัยทั้งสองนี้ ได้ส่งแรงกระตุ้นหรือบีบนำให้ธุรกิจขององค์กรหรือผู้บริหาร หันมา “คิดใหม่ ทำใหม่” ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดแผนงานหรือโครงการ เช่น “แผนงานองค์กรแห่งความสุข”  (Happy Workplace)  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งทำมาหลายปีแล้วและได้แพร่ขยายไปยังองค์กรทั้งในภาคธุรกิจและนอกภาคธุรกิจ  การจัดตั้ง “สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” (Corporate Social Responsibility Institute  หรือ  CSRI)  โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 การประกาศใช้และเผยแพร่ “เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  การประกาศการประยุกต์ใช้ ISO 26000 ว่าด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Social Responsibility)  ในประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2553  การกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจและการจัดสรรงบประมาณให้ เพื่อ”สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise Promotion)  ในปี 2553 และยังมีความริเริ่มและนวัตกรรมอื่น ๆ อีก ที่ชี้ไปในแนวทางการ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของภาคธุรกิจตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ

                ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นบ่งบอกชัดเจนว่า “การพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม และอื่น ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับมิติหรือองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตและสังคม ซึ่งมากกว่าการสร้างรายได้  มากกว่าการสร้างกำไร นั่นคือ “มากกว่าเงินตรา”  อย่างแน่นอน  ดังนั้น  หนังสือ “มากกว่าเงินตรา” โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ จึงเป็นหนังสือที่เข้ากับยุคสมัยและเหมาะกับช่วงเวลาเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือเล่มนี้ ท่านผู้อ่านจะได้รับรู้และเรียนรู้อย่างมีหลักการ อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างละเอียด ในลีลาการเขียนที่เรียบง่าย อ่านง่าย อ่านสนุก มีสีสัน  เกี่ยวกับแง่มุมและมิติต่าง ๆ ของการบริหารธุรกิจหรือการบริหารองค์กรและบุคลากร ให้เป็นธุรกิจหรือองค์กรและบุคลากรที่มีความสุข มีความรับผิดชอบ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชนรอบข้าง  สร้างสรรค์ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม พร้อม ๆ ไปกับการทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมั่นคงเป็นปึกแผ่น มีจิตวิญญาณ  มีคุณธรรม  มีความรักความสามัคคี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีผลกำไรที่เพียงพอ ซึ่งน่าจะเป็น “ธุรกิจที่พึงปรารถนา” หรือ “องค์กรที่พึงปรารถนา”  สำหรับ(คริสต) ศตวรรษที่ 21 และแม้หลังจากนั้น

                ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญการ เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการบริหารองค์กร การบริหารบุคคล และจิตวิทยา มาเป็นเวลานาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของ “สถาบันการบริหารและจิตวิทยา” หรือ “เอ็มพีไอ” (Management and Psychology Institute  - MPI)  โดยเป็นการรับช่วงต่อจากคุณพ่อ คือ ศ.ดร.หลุย จำปาเทศ  ซึ่งเป็นปรมาจารย์ในเรื่องดังกล่าวและมีชื่อเสียงที่เป็นต้องการของหลายหน่วยงานขอให้ไปเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้บริหารในช่วงเวลาที่ยาวนาน          ดร.มิชิตา  ไม่เพียงแต่ศึกษาค้นคว้าหลักวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว แต่ยังประยุกต์เข้าสู่การปฏิบัติทั้งในตัวผู้บริหารและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับบริการจากสถาบันเอ็มพีไอ  ประยุกต์ใช้ในองค์กรของ ดร.มิชิตา  หรือ สถาบันเอ็มพีไอ ตลอดจนประยุกต์ใช้ในตัวตนของ ดร.มิชิตาเอง  ดังนั้น  จึงต้องขอขอบคุณ ดร.มิชิตา ที่ได้ใช้ความพยายามกลั่นเอาความรู้  ประสบการณ์ และ “ปัญญา” ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน ให้เป็นหนังสือที่ค่อนข้างกระชับ อ่านง่าย อ่านสนุก แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์สร้างสรรค์  บนพื้นฐานของหลักวิชาผสมกับความรู้ความเข้าใจที่ได้มาจากการปฏิบัติและประสบการณ์แท้จริง

                ผมขอชื่นชมและเอาใจช่วย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ในความพยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ และที่จะเขียนเล่มที่ 2 ในอันดับถัดไป  และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างใช้วิจารณญาณ  พร้อมทั้งมีความคิดอิสระ  โดยอาจนำความคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปทดลองปฏิบัติ หรือไปเสริมเติมการปฏิบัติที่ท่านมีอยู่แล้ว หรืออาจตั้งประเด็นความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ดร.มิชิตา (ผู้เขียน) และหรือกับเพื่อนร่วมงานหรือกับเพื่อนร่วมวงการหรือผู้สนใจทั่วไป ผมเชื่อ ว่าจะเกิดผลรวมที่สะสมเพิ่มเติมเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศ รวมถึงต่อโลกและมนุษยชาติ

                ทั้งนี้เพราะหนังสือ “มากกว่าเงินตรา” เล่มนี้ แม้จะอ่านได้สบาย ๆ  แต่แท้จริงแล้วเกี่ยวพันกับเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งของชีวิต ของชุมชน ขององค์กร ของสังคม ของโลก และของมนุษยชาติ

  

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

หมายเลขบันทึก: 428998เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอร่วมชื่นชมแนวคิดดีๆเช่นนี้ด้วย..หากทุกฝ่ายมีจิตสำนึกดังกล่าว..สังคมย่อมเป็นสุขอย่างยั่งยืนนะคะ..

  • การค้าเสรี มุ่งที่กำไรมากเกินไป ขาดความสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สุดท้ายทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา
  • การทำธุรกิจแบบมีจิตสำนึก คืนกำไร รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม จะทำให้เราอยู่ได้ แต่บางทีเวลาทำก็มักมีโฆษณาแฝงอยู่ด้วย เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท