อาวุธเคมี


อาวุธเคมี ความปลอดภัยทางการบิน

อาวุธเคมี

รวบรวมโดย..ณัฐวุฒิ  ศิลาโชติ 

M.S.A.M.10

Eastern Asia University

บทนำ

            สารเคมีได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

ในสงครามเพโลพอนนีเชียน (Peloponnesian War) ประมาณ พ.ศ. 114 ได้มีการเผาสารกำมะถัน

เพื่อรมฝ่ายตรงข้ามในการรบ

            ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการใช้ก๊าซน้ำตาคลอรีน (Chlorine) สารฟอสจีน (Phosgene) สารคลอโรพิคริน (Chloropicrin)

            ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2462 มีการใช้สารแอแดมไซด์ (Adamsite) ในรัสเซีย ผลที่ได้จากสารเคมีเหล่านี้ได้ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงอันตรายต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ และได้พยายามหาวิธีการต่อต้านการใช้สารเคมีเหล่านี้มาเป็นอาวุธประหัตประหารมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ได้มีการลงนามในพิธีสารเจนีวาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธสารเคมี แต่หลังจากลงนามในครั้งนั้นก็ยังพบว่ามีการใช้สารเคมีในสงครามอีก เช่น เหตุการณ์ในปีเดียวกันได้มีการใช้ก๊าซมัสตาร์ด (Mustard Gas) ขึ้นอีกในการรบระหว่างอิตาลีกับอะบิสซีเนีย (ปัจจุบันคือเอธิโอเปีย)

            ความศักดิ์สิทธิของพิธีสารเจนีวาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธเคมีได้ถูกละเลยบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482 – 2488 กองทัพเยอรมันหรือที่ถูกรียกว่านาซีได้ใช้กรดไซยานิก (Cyanic Acid) หรือที่เรียกว่าไซโคลนบี (Zyklon B) สังหารหมู่ชาวยิว และมีหลักฐานว่ากองทัพเยอรมันได้มีการสะสมสารพิษที่ทำลายระบบประสาทจำนวนมาก ได้แก่ ทาบุน (Tabun) และซารีน (Sarin)

            ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุทธวิธีในการทำสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากการที่ทำการรบในสมรภูมิกันซึ่งหน้า ได้ถูกมาเปลี่ยนใช้กลยุทธสงครามเย็นซึ่งหมายถึงสภาวะแห่งการไม่ไว้วางใจในกลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำโลกโดยการแสดงออกด้วยวิธีการที่เรียกว่าการก่อการร้าย ซึ่งจัดว่าเป็นสงครามนอกรูปแบบที่มุ่งทำร้ายประเทศผู้นำโลก โดยไม่ให้ทันรู้ตัวหรือไม่ทันรับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยมีการนำอาวุธรูปแบบต่างๆ มาใช้ และหนึ่งในอาวุธเหล่านั้น สารเคมีที่สามารถทำลายระบบประสาทได้ถูกเลือกมาใช้ด้วย แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไปเมื่อแต่ละฝ่ายได้ใช้ความพยายามสืบหาความจริงเพื่อตีแผ่ว่าแต่ละฝ่ายได้มีการสะสมอาวุธเคมีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา รัสเซีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ ประชาคมโลกไม่มีโอกาสได้รับทราบ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อได้ว่ามีการสะสมอาวุธเคมี และมีการนำมาใช้กันด้วย ดังตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่เป็นข่าว เช่น พ.ศ. 2525 มีการกรรโชกทรัพย์จากบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผู้ผลิตยาแก้ปวด ลดไข้ไทลินอล (Tylenol) โดยการปนเปื้อนสารประเภทไซยาไนด์เข้าไปกับตัวยาส่งผลให้ผู้บริโภคยาที่ปนเปื้อนสารดังกล่าวเสียชีวิต และในครั้งนั้นไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุร้ายที่แท้จริงได้ พ.ศ. 2538 ขบวนการคลั่งลัทธิโอม ชินริเคียว (Aum Shinrikyo) ได้ใช้ซารีนในรถไฟใต้ดินของญี่ปุ่นครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บนับพันรายทีเดียว.

 

ความหมายของอาวุธเคมี

            องค์การอนามัยโลกได้นิยามความหมายของอาวุธเคมีไว้ดังนี้

            อาวุธเคมี หมายถึง สารใด ๆ ที่ออกฤทธิ์โดยสำแดงพิษ เช่น พิษต่อกระบวนการทางชีวเคมีในการดำรงชีพของชีวิตจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย หรือก่อเกิดภาวะชะงักการทำงานหรืออันตรายชั่วขณะ หรือเกิดขึ้นอย่างถาวร นอกจากนั้นสารเคมีบางอย่างอาจถูกนำมาใช้ในกิจการพลเรือน หรือการทหาร เช่น ก๊าซน้ำตา สารฟอสจีน สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ จะถือว่าเป็นอาวุธเคมีด้วย ส่วนสารบางอย่างที่อาจก่อพิษจากผลพลอยได้ระหว่างการใช้ เช่น ควันจากวัตถุระเบิด เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นอาวุธเคมีตามความหมายนี้

 เหตุผลที่มีการนำอาวุธเคมีมาใช้

การที่มีกลุ่มก่อการร้ายทำสงครามนอกรูปแบบ นิยมนำอาวุธเคมีมาใช้เนื่องจาก

1.     มีต้นทุนการผลิต และเทคโนโลยีที่ไม่สูงนัก

2.     มีความปวดร้าวในการออกฤทธิ์

3.     สามารถแพร่กระจายเป็นพื้นที่กว้างพอสมควรกับสถานที่ก่อเหตุ เช่น รถไฟใต้ดิน

4.     สามารถนำเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการก่อเหตุได้ง่าย เนื่องจากสามารถซุกซ่อนในรูปแบบต่างๆ ได้ดี ป้องกันได้ยาก ตรวจสอบยาก

5.     ก่อให้เกิดความเสียหายได้พอสมควร โดยเฉพาะการทำลายขวัญของประชาชนทั่วไป หรือมุงให้เกิดผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองบ้านเมืองต่อไป

 ประเภทของอาวุธเคมี

            เนื่องจากสารเคมีต่าง ๆ ที่ถูกนำมาเป็นอาวุธเคมีนั้น ผู้ใช้มุ่งให้เกิดผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายแตกต่างกันออกไป จึงมีการจำแนกประเภทอาวุธเคมีโดยพิจารณาจากผลต่อระบบของร่างกายซึ่งแยกออกเป็นดังนี้

1. สารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ โยสารเหล่านี้เมื่อได้รับจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อบุในทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความทรมาน หรือเกิดภาวะชะงักการหายใจ สารเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน (Asphyxiant) พร้อมทั้งทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อบุทันทีที่สัมผัสสารและก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อตามมาภายหลัง ตัวอย่างสารเหล่านี้ ได้แก่ สารคลอรีน (Chlorine) สารไดฟอสจีน (Diphosgene) สารฟอสจีน (Phosgene) สารพีเอฟไอบี (PFIB) เป็นต้น

2. สารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบผิวหนังและเนื้อเยื่อบุ สารเหล่านี้เมื่อสัมผัสผิวหนังจะก่อให้เกิดการระคายเคืองเกิดตุ่มแผล และทำลายเนื้อเยื่อบุอ่อน เช่น ตา ทางเดินหายใจด้วย สารที่ใช้เป็นอาวุธมักพบเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อนุพันธ์ของไดคลอโรอาร์ซีน (Dichloroarsine Delivatives) ซึ่งระคายเคืองไม่มากนัก และกลุ่มมัสตาร์ดซึ่งก่อความระคายเคืองมากกว่า ดังนั้นจึงพบมีการใช้เป็นอาวุธบ่อยครั้ง

            3. สารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้เข้าไป แม้ในปริมาณน้อยสารนี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยายับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetycholinesterase) ในเนื้อเยื่อซึ่งจะส่งผลให้การนำกระแสประสาทของระบบประสาทถูกขัดขวาง ส่งผลให้กล้ามเนื้อของร่างกายหยุดการทำงาน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งการออกฤทธิ์คล้ายกับสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ตัวอย่างได้แก่ สารซาริน สารทาบุน เป็นต้น

            4. สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งไม่ทำให้ถึงแก่ความตายแต่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต่อไปได้ชั่วขณะ สารกลุ่นี้ได้แก่สารเสพติดทั้งหลาย เช่น ยาบ้า กัญชา สารกล่อมประสาท สารแอลเอสดี เป็นต้น

            5. สารออกฤทธิ์ก่อให้เกิดความรำคาญ เกิดภาวะชะงักงันชั่วขณะ การออกฤทธิ์โดยให้เกิดความระคายเคืองชั่วขณะต่อระบบสัมผัส เช่น แสบตา แสบจมูก จาม อาเจียน จนถึงปวดแสบปวดร้อนในบริเวณสัมผัสสาร ได้แก่ ก๊าซน้ำตา สารจามหรือแอแดมไซด์ (Adamsite) สารจากพืช เช่น หมามุ่ย วัตถุประสงค์การใช้ส่วนมากเพื่อสกัดกั้น หรือสลายฝูงชนเพื่อระงับเหตุจลาจล มากกว่ามุ่งทำอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย

            6. สารออกฤทธิ์ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสารเคมีที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำลายพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งพบว่าเคยมีการใช้ในสงครามเวียดนาม โดยทางสหรัฐได้นำมาโปรยด้วยเครื่องบินเป็นบริเวณกว้างเพื่อทำลายป่าไม้อันเป็นที่ซุ่มซ่อนของพวกเวียดกง สารที่ใช้มุ่งผลใน 2 ลักษณะ คือ ให้เกิดการทำลายพืชโดยตรง ได้แก่ สารพวกฟอสจีน (Phosgene) หรือคาร์บอนิลคลอไรด์ (Carbonyl Chloride) กรดไดคลอโรฟีนอกซีแอซิติก (Dichlorophenoxyacetic) กรดคาโคไดลิก (Cacodilic) หรือสารที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน ได้แก่ สารโบรเมซิล (Bromasil) สารโมนูรอน (Monuron) เป็นต้น

 สารที่นำมาเป็นอาวุธเคมีที่ควรรู้จัก

            สารเคมีที่มีการนำมาใช้เป็นอาวุธเคมีนั้นมีจำนวนมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะนำเสนอสารเคมีบางชนิดเท่านั้นที่มีการใช้บ่อย โดยนำเสนอในประเด็นคุณสมบัติพิษเมื่อได้รับสารนั้น และแนวทางในการรักษาพยาบาล ดังนี้

            1. สารฟอสจีน (Phosgene) หรือคาร์บอนิลคลอไรด์ (Carbonyl Chloride) ปกติจะมีสภาพเป็นก๊าซไร้สี การนำไปใช้เป็นอาวุธนั้นพบว่าทำโดยการนำสารบรรจุภาชนะที่ความดันสูงเพื่อให้กลายเป็นของเหลว และใช้ฉีดพ่นใส่เป้าหมาย ฟอสจีนเหลวก็จะกลายสภาพเป็นก๊าซทันที ในภาวะเจือจางจะมีกลิ่นคล้ายหญ้าที่ถูกตัดใหม่ ๆ แต่หากมีความเข้มข้นสูงจะมีกลิ่นฉุน และก่อความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อบุต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อน สารนี้หาได้ง่ายเนื่องจากมีการใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป อันตรายที่น่ากลัวของฟอสจีนคือ ในขณะที่สัมผัส สูดดม ก๊าซที่เจือจางเข้าไปในเบื้องต้นร่างกายจะไม่รู้สึกถึงความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ มากนัก แต่ขณะนั้นสารได้เข้าทำลายเนื้อเยื่อบุอ่อน เช่น ปอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขนาดความเข้มข้นที่ทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็วมีค่าประมาณ 3200 มิลลิกรัมลิตร – นาทีต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากการเสียชีวิตแล้วสารฟอสจีนก่อให้เกิดผลต่อร่างกายในลักษณะต่าง ๆ เช่น การทำลายเนื้อเยื่อบุผิวของถุงลมปอด ผลที่ตามมาคือ การไหลเวียนของเลือดในปอดจะเกิดอุดตันเนื่องจากลิ่มเลือด ตามด้วยการบวมน้ำของปอด การอักเสบเนื่องจากมีการติดเชื้อที่ปอด ผู้สัมผัสสารจะมีอาการเหนื่อยหอบเนื่องจากร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น นอกจากปอดแล้วสารนี้ยังทำอันตรายกับเยื่อบุตาทำให้เกิดการอักเสบของแก้วตาได้ด้วย แนวทางในการรักษานั้น เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันแพทย์ทำได้เพียงการรักษาไปตามอาการ และการป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งทำให้การรักษาต้องใช้เวลานาน และเมื่อพ้นขีดอันตรายแล้วผู้สัมผัสสารส่วนมากไม่สามารถกลับมามีร่างกายปกติตามเดิม เนื่องจากมีการถูกทำลายเนื้อเยื่อบางส่วนไปแล้วอย่างถาวร ในการสลายสารฟอสจีนในสิ่งแวดล้อมจะใช้ละอองน้ำเข้าทำปฏิกิริยาให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์

            2. มัสตาร์ด (Mustard) (Bis (2-Chloroethyl) Sulfilde) ที่พบว่ามีการใช้อาวุธเคมีมักอยู่ในสถานะก๊าซ ลักษณะทั่วไปเป็นก๊าซไร้สี ถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุนคล้ายหัวหอม ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ และไขมัน สามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย ก๊าซนี้จะทำอันตรายต่อมนุษย์ได้จะต้องมีความเข้มข้นสูง เช่น ที่ 200 มิลลิกรัม – นาทีต่อลูกบาศก์เมตร เป็นความเข้มข้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตาได้ และทำให้ผิวหนังไหม้ ความเข้มข้นที่ 1500 มิลลิกรัม – นาทีต่อลูกบาศก์เมตร จะเสียชีวิตได้ อาการเริ่มแรกเมื่อได้สัมผัสก๊าซมัสตาร์ดจะเริ่มจากเดความระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม เมื่อผ่านไปหลายชั่วโมงอาการจะเพิ่มมากขึ้น บางรายเกิดผื่นผิวหนัง ท้องเดิน หายใจติดขัด หอบ อาการที่มากขึ้นจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้ล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด ภายใน 3 – 5 วัน ในการรักษาแพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ และพยายามป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยแข็งแรงพอ และโชคดีก็อาจมีโอกาสรอด แต่สภาพร่างกายคงไม่ปกติดังเดิม

            3. ซารีน (Sarin) (Isopropylphosphonofluoridate) จัดเป็นก๊าซพิษที่มีความสามารถทำลายล้างสูง ในสภาวะปกติจะเป็นก๊าซไร้สี ไร้กลิ่น สามารถละลายน้ำได้ดี ในการใช้ซารีนเป็นอาวุธในการก่อการร้าย จะใช้คุณสมบัติที่สามารถระเหยเป็นไอได้ดีที่อุณหภูมิห้อง และยิ่งสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภมิสูงขึ้นก็ยิ่งกลายเป็นไอได้ดี และไอนี้เองที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตามซารีน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางทั้งการสูดดม การกลืนกิน และทางผิวหนัง โดยปริมาณเล็กน้อยก็ทำให้เสียชีวิตได้ โดยการออกฤทธิ์จะเกิดขึ้นกับระบบประสาทที่ทำให้การสั่งการต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดลมใหญ่ เป็นเหตุให้หายใจไม่ออก นอกจากนั้นยังทำให้เป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งความเป็นพิษที่เกิดขึ้นคล้ายกับพิษที่ได้จากสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ดังนั้นยาที่ใช้ในการแก้พิษของซารีนก็เป็นชนิดเดียวกัน คือ อาโทรพิน (Atropine) นั่นเอง

            4. วีเอกซ์ เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ยังคงเป็นความลับ แต่ความเป็นพิษคล้ายคลึงกับสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ในอุณหภูมิห้องจะอยู่ในสภาวะเหลว มีจุดเดือดประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีความสามารถละลายน้ำได้ดี และมีความคงตัวสูงไม่เปลี่ยนสภาพได้ง่าย ดังนั้นจึงสามารถทิ้งความเป็นพิษภัยไว้กับสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะแหล่งพื้นดินในธรรมชาติ ผู้สัมผัสสารนี้หากได้รับปริมาณมากพอที่จะเกิดอันตรายจะเริ่มมีอาการ น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก หอบ คลื่นไส้  อาเจียน ปวดมวนในท้อง ควบคุมอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ มีการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต อาการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา สำหรับการรักษา แพทย์จะใช้วิธีเดียวกันกับการแก้พิษของซารีน

 

บทสรุป

การเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันจากเหตุการณ์การใช้อาวุธเคมี

            นับแต่การเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยได้มีการเตรียมการกำหนดมาตรการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อการป้องกันจากเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีของภาครัฐบาลนั้นได้กระทำขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานหลายหน่วยงาน อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนด้วย โดยในการเตรียมความพร้อมดังกล่าวได้มีการวางกรอบการดำเนินงานกว้าง ๆ ไว้ 5 ด้าน

1.     งานด้านข่าวสาร และประชาสัมพันธ์

2.     งานด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน และชันสูตร

3.     งานด้านการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุ

4.     งานด้านรักษาพยาบาล

5.     งานด้านเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์

 ซึ่งแนวความคิดในการเตรียมการเหล่านี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับประชาชน ในอันที่จะวางใจได้ระดับหนึ่งว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ เฝ้าคอยดูแลเราอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยที่แท้จริง ประชาชนทุกคน ควรหาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันสารเคมีที่เป็นพิษเหล่านี้ไว้บ้าง ในกรณีฉุกเฉินที่อาจประสบเข้ากับเหตุการณ์ดังกล่าว จะได้ทราบหนทางในอันที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

เพื่อการรู้เท่าทันที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีดังกล่าว ควรศึกษาจากเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และหากเราพิจารณาถึงอาวุธเคมีต่าง ๆ ที่ได้มีการใช้ในอดีต และที่ได้กล่าวมาในบทความนี้จะพบว่าส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ให้ออกฤทธิ์แพร่กระจายในสถานะของก๊าซ แต่ขณะอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ขนย้ายอาจอยู่ในสถานะของเหลว ดังนั้นหากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ประสบเหตุ ใคร่ขอแนะนำว่าก๊าซที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเคมีส่วนใหญ่เดิมจะอยู่ในสถานะของของเหลวภายใต้แรงดันสูง และพร้อมที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซได้ง่ายเมื่อมีการลดแรงดันด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ และเมื่อกลายสถานะเป็นก๊าซ มักจะมีคุณสมบัติที่หนักกว่าอากาศ และจะกลายเป็นไอฟุ้งกระจายได้ดียิ่งขึ้นหากอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นสูงขึ้น และนอกจากนั้นยังพบว่าน้ำจะเป็นตัวจับก๊าซพิษเหล่านี้ได้ค่อนข้างดี ดังนั้นท่านอาจใช้วิธีนำผ้าชุบน้ำปิดจมูกไว้ และรีบหนีออกจากบริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของอาวุธเคมี หรือหากประสบพบต้นเหตุโดยตรง เช่น พบเห็นภาชนะที่บรรจุอาวุธเคมีที่กำลังฟุ้งกระจาย ท่านอาจจะหาสิ่งใดไปปิด ปกคลุมไว้เพื่อยับยั้งการฟุ้งกระจายต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ การมีสติ อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากขณะที่ท่านตกใจร่างกายท่านจะหายใจแรงขึ้น จึงควรควบคุมจิตใจให้สงบ และค่อย ๆ หาทางแก้ไขอย่างมีสติ น่าจะทำให้ท่านปลอดภัยอย่างแน่นอน

 

 บรรณนุกรม

กลุ่มพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ.” เอกสารเผยแพร่, 2545.

 

กลุ่มงานวิชาการและเลขานุการ สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม “สาระน่ารู้ในการควบคุมวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535,” 2545.

 ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล. Available form

URL:http//www.pantip.com/wahkor/article/chaiwat/cwt_subj.html

 ศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาอาวุธเคมี สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม. “สารเคมีภายใต้อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง,” 2546.

 Peter Atkins Julio de Paula. Physical Chemistry. England : Oxford university press, 1998.

 

The airforce association “Chemical and Biological Weapon,” Airforce Magazine. Vol 81, No.3. March, 1988.

 

World Health Organization. “Health aspects of chemical and biological weapon,” Report of a Group of Consultants, Geneva, 1970.

หมายเลขบันทึก: 425539เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท