ผลกระทบของการถูกจองจำต่อผู้ต้องขัง
นัทธี จิตสว่าง
สังคมของผู้ต้องขังเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากสังคมภายนอกอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็คือสังคมของผู้ต้องขังเป็นสังคมของการถูกจำกัดสิทธิและเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นสังคมที่ถูกตัดความสัมพันธ์กับสังคมภายนอก จึงทำให้สังคมของผู้ต้องขังของผู้ต้องขังเป็นสังคมเพศเดียวและโดดเดี่ยว ดังนั้นการพิจารณาถึงผลกระทบของการถูกจองจำที่มีต่อผู้ต้องขังจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะลักษณะพิเศษของสังคมผู้ต้องขังดังกล่าว จะมีผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขัง ซึ่งนักทัณฑวิทยาและนักสังคมวิทยาหลายคนเชื่อว่า ผลกระทบดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับตัวของผู้ต้องขังในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และแบบพฤติกรรมของผู้ต้องขังในเวลาต่อมาด้วย
Gresham Sykes (1958) เป็นคนแรกที่ได้ศึกษาถึงผละกระทบของการจองจำต่อผู้ต้องขังอย่างจริงจัง โดยได้เรียกผลกระทบดังกล่าวว่าเป็น “ความเจ็บปวดของการถูกจองจำ”
Sykes ได้กล่าวถึงการถูกจำกัดในด้านต่างๆ ของผู้ต้องขัง ซึ่งก่อให้เกิดความกดดัน และเป็นความเจ็บปวดของการจองจำ การถูกจำกัดดังกล่าวมีอยู่ 5 ประการด้วยกันคือ
ก. การถูกจำกัดด้านเสรีภาพ
การสูญเสียเสรีภาพเป็นสภาพความกดดันประการแรกที่ผู้ต้องขังประสบเมื่อถูกจองจำ เพราะเมื่อผู้ต้องขังถูกส่งเข้าเรือนจำก็หมายความว่า เขาจะถูกจำกัดให้อยู่ในเรือนจำไม่สามารถที่จะไปไหนมาไหนได้ การถูกจำกัดด้านเสรีภาพนี้ นอกจากจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวมิให้ออกนอกเรือนจำแล้ว ยังหมายถึง การถูกจำกัดภายในเรือนจำอีกด้วย ผู้ต้องขังจะไม่สามารถเดินจากแดนหนึ่งไปยังอีกแดนหนึ่ง หรือจากตึกหนึ่งไปยังอีกตึกหนึ่งได้ตามใจชอบ นอกจากนี้การถูกจองจำในเรือนจำยังหมายถึง การถูกตัดขาดจากครอบครัว และญาติมิตรอีกด้วย โดยที่การแยกจากกันนี้มิใช่เป็นการแยกจากกันธรรมดา แต่เป็นการแยกจากญาติมิตรในฐานะของผู้กระทำผิดกฎหมายและถูกลงโทษ และด้วยเหตุนี้เอง Sykes เน้นว่า สิ่งที่ทำความเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ ความจริงที่ว่า การถูกจองจำเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการถูกปฏิเสธจากสังคมผู้ต้องขังจะถูกปฏิเสธจากสังคมภายนอกและถูกตีตราว่า เป็นนักโทษนับตั้งแต่ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งผู้ต้องขังจะต้องตัดผมสั้น แต่งชุดนักโทษ มีเลขหมายประจำตัว และทำความเคารพเจ้าพนักงาน ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตนนั้น ได้สูญเสียสถานภาพของสมาชิกในสังคมและสถานภาพของคนธรรมดาไป สภาพดังกล่าวเป็นผลมาจากการถูกจำกัดด้านเสรีภาพ เป็นส่วนสำคัญของความเป็นมนุษย์ และเป็นผลให้ผู้ต้องขังได้รับความกดดันอย่างมาก
ข. การถูกจำกัดด้านเครื่องอุปโภค บริโภค และบริการ
ในเรือนจำ ผู้ต้องขังจะได้รับการตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานด้านวัตถุ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่หลับนอน ซึ่งคนโดยทั่วไปอาจจะคิดว่า ผู้ต้องขังยังได้เปรียบคนจนในสังคมภายนอกในเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม Sykes ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังนั้นถูกจำกัดสิทธิในการที่จะ “เลือก” พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะเลือกรายการอาหารประจำวัน ไม่มีสิทธิที่จะคำนึงถึงรสชาติของอาหาร ไม่มีสิทธิที่จะดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ได้ตามชอบใจ ไม่มีสิทธิที่จะใส่เสื้อ กางเกงส่วนตัวที่ชอบ ไม่มีที่พักผ่อนเป็นส่วนตัว ไม่มีเครื่องใช้ อุปกรณ์เป็นของตนเอง ไม่มีแม้กระทั่ง “เวลา” ที่จะเป็นตัวของตัวเองที่จะเลือกทำในสิ่งที่ชอบ เหมือนดังเช่นที่เคยมีเมื่ออยู่นอกเรือนจำ การถูกจำกัดในการับบริการและเลือกอุปโภคบริโภคเช่นนี้ ทำให้มองตนเองว่าเป็นผู้สูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสียสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลไป ในขณะที่สิ่งที่มีอยู่ในตัวเขาคือ “แรงงาน” กลับถูกรรัฐนำไปใช้ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “การฟื้นฟูแก้ไขฝึกอาชีพ” สภาพการดังกล่าวนี้จึงเป็นความกดดันและเจ็บปวดอีกประการหนึ่งที่ผู้ต้องขังได้รับ
ค. การถูกจำกัดด้านความสัมพันธ์ทางเพศ
การถูกจองจำหมายถึง การที่ผู้ต้องขังต้องถูกตัดขาดจากเพศตรงข้าม โดยเฉพาะการถูกตัดขาดจากการมีเพศสัมพันธ์และการคบหาสมาคมกับเพศตตรงข้ามติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงทำให้ผู้ต้องขังได้รับความกดดัน ความกดดันที่ว่านี้มิได้เกิดจากการขาดการตอบสนองต่อความต้องการทางเพศเท่านั้น แต่เป็นความกดดันทางด้านจิตใจ ซึ่งเกิดจากการที่ต้องอยู่รวมกับเพศเดียวกัน ทำให้ผู้ต้องขังเกิดความวิตกกังวลว่าความเป็นชายของเขากำลังถูกคุกคาม ทั้งการถูกยั่วยวนให้เขาหันเหไปสู่ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ หรือถูกข่มขืนโดยผู้ชายด้วยกันก็ตาม ความวิตกกังวลเหล่านี้แทบจะไม่บังเกิดขึ้นในโลกที่มีสตรีอยู่ด้วย แต่ในเรือนจำเป็นโลกของผู้ชายเพศเดียว ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดความด่างพร้อยกับตนขึ้นเมื่อไร
ง. การถูกจำกัดด้านอิสรภาพ
ผู้ต้องขังได้รับความกดดันจากการถูกจำกัดด้านอิสรภาพเพราะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และคำสั่งของเจ้าพนักงานที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของตนอยู่ทุกเวลา การตรวจตราเฝ้าดูทุกฝีก้าว การตรวจจดหมาย การกำหนดให้กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา การเข้าแถวไปทำงาน และการห้ามนำอาหารเข้าไปในห้องนอน เป็นต้น กฎเกณฑ์และคำสั่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกกว่าถูกจำกัดอิสรภาพ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกดดันก็คือ การไม่มีเหตุผลของกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ในหลายๆ เรื่องซึ่งจะหาคำอธิบายไม่ได้และเจ้าหน้าที่ก็มักจะปฏิเสธที่จะอธิบายคำตอบที่ผู้ต้องขังจะได้รับก็คือ “มันเป็นกฎของเรือนจำ” ผู้ต้องขังไม่ทราบว่าทำไมจดหมายถึงล่าช้า ทำไมสิ่งของที่ส่งมาถึงไม่ได้รับ และทำไมถึงต้องมีกฎเกณฑ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ ผลก็คือผู้ต้องขังจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวเขาถูกจำกัดทุกสิ่งทุกอย่างและทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง อ่อนแอ และช่วยตัวเองไม่ได้ นับเป็นความกดดันทางจิตใจที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากกว่าความกดดันทางร่างกายเสียอีก
จ. การถูกจำกัดด้านความปลอดภัย
การที่ผู้ต้องขังต้องอยู่รวมกับผู้ต้องขังอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนมีประวัติอาชญากรร้ายๆ มาทั้งสิ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าตนอาจจะถูกกลั่นแกล้ง ลักขโมย ทำร้าย ฆาตกรรม หรือข่มขืนได้สักวันหนึ่ง พวกเขารู้ตัววาในวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องถูก “ทดสอบ” จากพวกเจ้าถิ่นหรือจากคนใหม่ว่า จะอยู่ในคุกต่อไปในฐานะผู้แข็งแรง หรือผู้อ่อนแอ ในบรรยากาศของการแข่งขนกันเป็นเจ้าในเรือนจำ ผู้ชนะจะใช้กำลังข่มขู่ผู้แพ้หรือผู้ที่อ่อนแอกว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่จะให้การดูแลไม่ทั่วถึง จึงทำให้ผู้ต้องขังเกิดความวิตกกังวลว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องประสบกับการท้าทาย พวกเขาจะรู้สึกว่าพวกเขาได้สูญเสียหลักประกันในด้านความปลอดภัยไปสิ้น
ความเจ็บปวดที่ผู้ต้องขังได้รับอันเนื่องมาจากการถูกจำกัดในด้านต่างๆ ทั้ง 5 ด้านนั้นมิใช่แต่จะเป้นความเจ็บปวดทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ความเจ็บปวดที่สำคัญก็คือ ความกดดันทางจิตใจที่ผู้ต้องขังได้รับจากการถูกจำกัดดังกล่าว อันเป็นผลให้ผู้ต้องขังเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เบื่อหน่าย เหงา กลัว และเกิดความเครียดในจิตใจ จนทำให้ผู้ต้องขังต้องหาทางออกในการปรับตัว เพื่อที่จะระบายความเจ็บปวดดังกล่าวโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังให้สอดคล้องไปกับข้อจำกัดต่างๆ ของเรือนจำ รวมทั้งพัฒนาวัฒนธรรมย่อยขึ้นในเรือนจำและมีการปรับตัวของผู้ต้องขังประเภทต่างๆ
นอกจาก Sykes แล้ว Goffman ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของระบบเรือนจำต่อผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดความกดดันทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง Goffman (1960) ได้ให้ทัศนะว่า เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ (Total Institution) ที่สามารถทำลายปัจเจกภาพของผู้ต้องขังที่ถูกส่งเข้าไป เพราะเมื่อ ถูกส่งเข้าไปในเรือนจำผู้ต้องขังจะรู้สึกว่าสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเคยมีอยู่ในขณะที่อยู่ในสังคมภายนอกไปจนหมดสิ้น ทั้งนี้โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะเผชิญกับภาวการณ์สูญสิ้นในสิ่งที่เคยมีอยู่ (Mortification) ไม่ว่าจะเป็นการสูญสิ้นในเสรีภาพ อิสรภาพ และสิทธิต่างๆ ที่เคยมี ผู้ต้องขังจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวในเรือนจำไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ตามความพอใจ การผ่านจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่งจะต้องผ่านการตรวจค้น การเคลื่อนไหวใดๆ จะอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่โดยตลอดเวลาแม้แต่การเข้าห้องส้วม ทำให้รู้สึกขาดความเป็นอิสระส่วนตัว ผู้ต้องขังยังไม่มีสิทธิที่จะเลือกรายการอาหารและรสชาติได้ตามความพอใจได้เพียงแต่มีอาหารทานไปวันๆ เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังถูกตัดสัมพันธ์กับโลกภายนอก ขาดการติดต่อจากญาติมิตรและครอบครัว ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวในขณะที่การติดต่อสื่อสารต้องผ่านการตรวจ ทำให้หมดโอกาสที่จะดำเนินชีวิตเหมือนก่อน ที่สำคัญก็คือผู้ต้องขังจะถูกตีตราว่าเป็น “นักโทษ” นับตั้งแต่การที่ถูกตรวจค้นร่างกายอย่างละเอียดในวินาทีแรกที่เข้าเรือนจำ การสวมใส่เครื่องแบบของนักโทษ การถูกตัดผม และถูกกำหนดให้มีหมายเลขแทนชื่อ ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่า สถานภาพเก่าของเขากำลังถูกเปลี่ยนให้สูญสิ้นไปพร้อมๆ กับที่สถานภาพใหม่ของการเป็นนักโทษได้เข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับว่ามีผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก
แนวความคิดของ Goffman เกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานภาพหรือการสูญสิ้นสถานภาพของผู้ต้องขังสอดคล้องกับความคิดของ Harold Gerfinkel ซึ่งได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมลดสถานภาพ (Status degradation ceremonies) ไว้ตั้งแต่ปี 1956 โดย Gerfinkel (1956) เสนอแนวคิดว่า การจองจำเป็นกระบวนการของพิธีการลดสถานภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งพิธีการดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ 2 ประการคือ ทำลายเอกลักษณ์ที่มีมาก่อนของผู้ต้องขัง และหยิบยืนเอกลักษณ์ใหม่ที่มีลักษณะต่ำต้อยกว่าเดิมให้ ต่อมา Richard Cloward (1960) ได้ขยายแนวความคิดของ Gerfinkel ในเรื่องนี้ต่อไปอีกโดยได้ชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้เริ่มต้นตั้งแต่ที่ผู้กระทำผิดถูกตำรวจจับ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำผิดถูกส่งเข้าเรือนจำ สิ่งที่ผู้ต้องขังต้องประสบก็คือ การถูกลดค่าของความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จนทำให้ผู้ต้องขังตกอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยทางสังคมมากที่สุด ความกดดันที่ผู้ต้องขังได้รับจากพิธีกรรมดังกล่าวนี้เอง เป็นผลให้ผู้ต้องขังสร้างวัฒนธรรมย่อยของผู้ต้องขังขึ้นมาเป็นเกราะกำบังความกดดันเหล่านั้น ซึ่งเช่นเดียวกับแนวคิดของ Sykes and Messengers (1960) ที่อธิบายถึงกระบวนการในการที่ผู้ต้องขังถูกลดสถานภาพว่าเป็นการทำลาย ego ของผู้ต้องขัง จนทำให้ต้องหาทางออกในการบรรเทาความเจ็บปวดที่ได้รับ ในขณะที่ Gordon Trasler (1972: 207) เน้นว่าการปฏิบัติของผู้คุมต่อผู้ต้องขังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา การบังคับควบคุม หรือการตรวจค้นเป็นการตอกย้ำการลดสถานภาพทางสังคมของผู้ต้องขังอยู่ตลอดเวลา
แนวความคิดเกี่ยวกับผลกระทบของระบบเรือนจำที่ได้กล่าวข้างต้นส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากการศึกษาในเรือนจำที่มีระดับความมั่นคงแข็งแรงสูงสุดของสหรัฐ เมื่อประมาณต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งมีระยะเวลากว่า 50 ปีผ่านมาแล้ว ปัญหามีอยู่ว่า แนวความคิดดังกล่าวจะสามารถอธิบายระบบสังคมเรือนจำในปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะหากจะพิจารณาถึงระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังไปในทางที่เป็นมนุษยธรรมยิ่งขึ้น และมีการคำนึงถึงสิทธิมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นข้อเท็จจริงในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังบางอย่างจากการศึกษาในช่วงปี 1960 จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เช่นการห้ามผู้ต้องขังซื้ออาหารภายนอกมา หรือรับประทาน การให้ผู้ต้องขังตัดผมสั้น เป็นต้น ปัจจุบันกล่าวได้ว่าผู้ต้องขังในสหรัฐมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม มีการผ่อนปรนด้านกฎระเบียบต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากจะพิจารณาจากการศึกษาของ Sykes และคนอื่นๆ แล้ว จะพบว่าแม้ข้อเท็จจริงในบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเปลี่ยนแปลงไป แต่โครงสร้างของระบบสังคมของเรือนจำยังคงอยู่ โดยเฉพาะลักษณะของการจำกัดเสรีภาพและสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง ดังนั้นความเจ็บปวดจากการถูกจองจำหรือผลกระทบจารกการถูกจองจำทั้ง 5 ประการที่ Sykes กล่าวถึงนั้นก็ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ลดความรุนแรงลง ดังที่ Johnson and Toch (1982: 17) กล่าวว่างานของ Sykes ยังสามารถอธิบายสังคมของเรือนจำในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี การถูกจำกัดด้านต่างๆ ของผู้ต้องขังยังคงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้การศึกษาวิจัยในระยะหลังๆ ก็สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้เช่น Toch (1982) ได้ชี้ให้เห็นถึง “ความเครียด” ที่ผู้ต้องขังได้รับจากการถูกจองจำ โดยเปลี่ยนจารกคำว่า ”ความเจ็บปวด” ของ Sykes มาเป็น “ความเครียด” เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดได้ง่ายกว่า Toch พบลักษณะของสภาพในเรือนจำหลายประการมีผลกระทบต่อความเครียดของผู้ต้องขัง เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต หรือการถูกตัดขาดจากญาติพี่น้อง เป็นต้น นอกจากนี้ Smith (1982) ยังพบว่าความแออัดยัดเยียดในเรือนจำมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก ในขณะที่ Bowker (1982) ได้เห็นว่า ปัญหาการขาดความปลอดภัยในเรือนจำยังเป็นปัญหาสำคัญของเรือนจำในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้กำลังและความรุนแรงเช่น การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการรักร่วมเพศ การแบ่งแยกผิว ปัญหายาเสพติด Bowker สรุปว่า การเอารัดเอาเปรียบและตักตวงผลประโยชน์ยังคงเป็น “แก่น” สำคัญของชีวิตในเรือนจำของสหรัฐในปัจจุบัน
ไม่มีความเห็น