การติดตั้งวัสดุกั้นรังสีสำหรับห้องตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด


Lead requirement for IR suite

การติดตั้งวัสดุกั้นรังสีสำหรับห้องตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด 

Lead requirement for IR suite construction

วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์             วท.บ.รังสีเทคนิค
เอนก สุวรรณบัณฑิต            วท.บ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์, เอนก สุวรรณบัณฑิต. การติดตั้งวัสดุกั้นรังสีสำหรับห้องตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553; 4(1) : 9-11

         
 เอกซเรย์มีผลต่อร่างกายของมนุษย์ ในการใช้เอกซเรย์ทางการแพทย์ จำเป็นจะต้องตระหนักถึงการป้องกันรังสีรั่วไหลระหว่างการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะห้องตรวจทางรังสีที่ต้องใช้ปริมาณรังสีจำนวนมาก เช่น ห้องเอกซเรย์หลอดเลือด ซึ่งให้บริการทางรังสีร่วมรักษา โดยการป้องกันรังสีรั่วไหลออกนอกบริเวณห้องตรวจ มี 2 วิธี ได้แก่ การใช้ protective plasters เช่น Barium sulphate plaster ผสมในผนังห้อง อีกวิธีหนึ่งคือการใช้แผ่นตะกั่วกั้นรังสี

            การใช้ barium sulphate plaster ค่อนข้างอันตรายหากมีการผสมปูนในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้มีผนังบางส่วนที่ไม่กั้นรังสีได้ ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการผสมเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของการดูดกลืนรังสีในผนัง และไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการวัดความสม่ำเสมอของการกั้นรังสีอีกด้วย อีกทั้งยังมีความเปาะบางต่อแรงกระแทกอาจทำให้เกิดการรอยแตกในผนัง ซึ่งทำให้รังสีสามารถรั่วไหลออกมาได้ การใช้แผ่นตะกั่วช่วยลดปัญหาในการก่อสร้างและช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีได้ดี โดยคณะกรรมการด้านการป้องกันอันตรายจากเอกซเรย์ของ the international congress of radiology ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ protective plaster ในห้องที่มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้กำลังเกินกว่า 75 kV

 

แผ่นตะกั่วเป็นตัวเลือกที่แพร่หลายที่สุดในการใช้เป็นวัสดุกั้นรังสีเนื่องจากมีหนาแน่นสูง (11340 kg/m3) มีอำนาจการหยุดยั้งรังสีสูง รวมไปถึงการติดตั้งที่ง่ายและราคาถูก ตะกั่วสามารถทำให้โฟตอนของรังสีเอกซ์ทำปฏิกิริยากันได้ในทุกตำแหน่ง โดยโอกาสที่จะไม่เกิดการชนกันในระดับอะตอมมีน้อยมาก การเพิ่มความหนาของตะกั่วจะเพิ่มผลของการป้องกันเป็นทวีคูณ การเลือกใช้ความหนาของตะกั่วสัมพันธ์กับระดับพลังงานของรังสีเอกซ์ ดังตารางแนะนำของ the Second International Congress of Radiology

การติดตั้งห้องเอกซเรย์หลอดเลือด จะต้องกำหนดขนาดห้องให้มีความเหมาะสม กว้างขวางเพียงพอต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก โดยมีตัวเลือกทางสถาปัตยกรรมหลายด้าน อย่างไรก็ตามโดยทั่วไป ขนาดห้องที่ได้รับความนิยม ได้แก่ 8 ม. X 10 ม. หรือมากกว่า เนื่องจากตัวเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดมีความใหญ่และยาว รวมไปถึงระบบรางต่างๆ พื้นที่ปฏิบัติงาน และห้องควบคุมอีกด้วย การติดตั้งวัสดุกันรังสีต้องใช้ตะกั่วชนิด Pure Lead หรือ Lead-Antimonial Alloy หนา 2 มม. ติดในผนังรอบห้อง ประตูทางเข้า  เนื่องจากค่าพลังงานรังสีที่ใช้โดยทั่วไปของฟลูโอโรสโคปี คือ 120 KeV และกระจกมองผ่านจากห้องควบคุมไปยังห้องปฏิบัติการ โดยกระจกตะกั่วที่ดีจะเป็น lead oxide ซึ่งต้องมีความหนาแน่นสูง โดยทั่วไปถือว่าต้องมีน้ำหนักตะกั่วสูงเกินกว่า 65 เปอร์เซนต์น้ำหนัก ซึ่งต้องมีการกระจายของตะกั่วเป็นไปตามหลักเกณฑ์วัสดุกันรังสีสำหรับงานรังสีวินิจฉัยของ International Electrotechnical commission ที่ IEC 61331-2 และ DIN 6841 ว่าด้วย protective glass plate และกรอบของกระจกควรที่จะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเพื่อป้องกันรังสีรั่วไหลในตำแหน่งรอยต่อ

 

ตัวอย่างผังห้องเอกซเรย์หลอดเลือดแสดงค่าความกว้างของห้องที่ต้องการคือ 8 เมตร และความยาวสำหรับห้องปฏิบัติงานคือ 8.5 เมตร โดยที่ห้องควบคุมมีความยาว 2.9 เมตร โดยมีห้องสำหรับล้างมือและเปลี่ยนชุดของแพทย์ที่ความยาวอีก 2 เมตร แสดงภาพรวมพื้นที่ใช้สอยรวม 8 x 13.4 เมตร หรือเท่ากับ 107.2 ตารางเมตร

ดังนั้นหากคิดถึงปริมาตรตะกั่วที่ต้องใช้เท่ากับ (8.5x2) + (7x2) = 29 เมตร ซึ่งโดยทั่วไปผนังห้องจะสูงประมาณ 3 เมตร ดังนั้นจะใช้ปริมาตรตะกั่ว 87 ลูกบาศก์เมตร ร่วมกับกระจกตะกั่วขนาด 1.2 x 2 ตารางเมตร และประตูตะกั่วจำนวน 3 บาน ส่วนผนังนอกจากนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ตะกั่วในการกั้นรังสี

บรรณานุกรม

  1. Recommended Thickness of Lead Shielding for X-Ray Rooms. Alcamy casting Inc. http://www.alchemycastings.com/lead-products/sheet.htm
  2. Nollert G. the cardiovascular hybrid OR-clinical & technicalconsiderations. http://www.ctsnet.org/portals/endovascular/nutsbolts/article-9.html
  3. Refurbished Radiographic Fluoroscopic Systems. www.amberusa.com
  4. _________________.IEC61331-2. http://webstore.iec.ch/webstore/webstore.nsf/Artnum_PK/16764

  

คำสำคัญ (Tags): #angio#lead shield
หมายเลขบันทึก: 420234เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท