การปฏิบัติที่เป็นเลิศ


การปฏิบัติที่เป็นเลิศ

                                        การปฏิบัติที่เป็นเลิศ

                                         (Best  Practice)

      การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best  Practice)  เป็นวิธีการในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของสถานศึกษา  ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของชุมชน  ผู้ปกครอง  และนำมาสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินการ

 

1.  การเกิดขึ้นของ Best  Practice

      Best  Practice  มีปัจจัยการเกิดมาจากสิ่งดังกล่าวต่อไปนี้

      1.1  บุคคล

      เป็นการเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของตัวบุคคล  ภาวะผู้นำของผู้บริหาร  หรือเกิดจากข้อเสนอแนะของผู้ปกครอง  ชุมชน  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)  กลุ่มต่างๆ

      1.2  ปัญหาอุปสรรค

       การบริหารจัดการทั้งระบบ  ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ  และผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ความกดดันจากผู้รับบริการ  การขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริหารระดับสูง  ภาวะข้อจำกัดของทรัพยากรทางการบริหาร  ภาวะวิกฤตทำให้การแสวงหาแนวทาง  กระบวนการ  วิธีการที่ดีกว่า  เพื่อให้ได้ผลผลิตความสำเร็จสูงสุด

      1.3  แรงขับเคลื่อน

       การค้นหาวิธีการในการเพิ่มผลผลิต  ผลกำไร  การสร้างความพึงพอใจของผู้รับบริการเสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์การ

2.  กระบวนการกระตุ้นและรวบรวมความคิดสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ

      กระบวนการกระตุ้นและรวบรวมความคิด  ประกอบไปด้วย  7  ขั้นตอน  ดังนี้

      2.1  กระตุ้นและเปิดรับความคิด

      2.2  ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอความคิด

      2.3  ประเมินความคิด  และให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุง

      2.4  นำความคิดไปปฏิบัติ

      2.5  ทบทวนเพื่อขยายผลความคิด

      2.6  ยกย่อง  ชมเชย  และประกาศความสำเร็จ

      2.7  วัดผล  ทบทวน  และปรับปรุง

       การสร้างหน่วยงานแห่งความเป็นเลิศ  ผลลัพธ์ที่ได้จะประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญมี  3  ส่วนด้วยกัน ดังนี้

           1)  ผลงานที่เป็นเลิศ

           2)  วัฒนธรรมแห่งความเป็นเลิศ

           3)  ทีมงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ

        ปัจจัยที่สำคัญที่จะผลักดันระบบรวบรวมความคิดให้ประสบความสำเร็จคือ  ผู้นำในหน่วยงานจะต้องมีความมุ่งมั่น  ตั้งใจจริง  และพร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง  7  ประการ  ดังต่อไปนี้

        ขั้นตอนการรวบรวมความคิด

             ขั้นตอนที่  1  กระตุ้นและเปิดรับความคิด

             เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ  มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรของหน่วยงานได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการคิดเพื่อเสนอแนะแนวทางในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

             ในการวางแผนการกระตุ้นให้บุคลากรในหน่วยงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดโดยผู้บริหารจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง  อาจใช้วิธีการกระตุ้นแบบเป็นทางการ  เช่น  ประกาศเป็นนโยบายของหน่วยงาน  หรือใช้วิธีการกระตุ้นแบบไม่เป็นทางการ  เช่นการพูดคุยเชิญชวนแต่ละคนแบบตัวต่อตัว  การเลี้ยงอาหารกลางวันแบบเป็นกันเองและชวนคุยขอความคิดเห็นโดยการขอความร่วมมือจะง่ายขึ้น 

              การกระตุ้นให้คนในหน่วยงานเสนอความคิดควรกำหนดวิธีการให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน  ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ควรแต่เพียงทำงานตามคำสั่งโดยไม่ต้องใช้ความคิด  ผู้บริหารควรให้โอกาสบุคลากรในหน่วยงานคิดวิธีการทำงานและแก้ปัญหาในการทำงานบ้าง  โดยควรมีความยืดหยุ่นตามสมควร  ไม่ยึดติดกับวิธีการทำงานที่ตนเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว

                ปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิด

                ความคิดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย ปัจจัย  3  ปัจจัย  ดังนี้

                   1)  ความรู้ความเข้าใจในสาระ

                   2)  มุมมองที่รอบด้าน

                   3)  ความตื่นตัวและช่างสังเกต

          หน่วยงานต้องการกระตุ้นให้คนในหน่วยงานมีความสามารถในการแสดงความคิดเห็นจำเป็นที่หน่วยงานจะต้องพัฒนาให้คนทำงานมีความรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่  ความรับผิดชอบของตนในเชิงลึก  เพิ่มมุมมองให้กับคนทำงานได้มีความรอบรู้ในเชิงกว้าง  เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้งานข้ามสายงาน  และสุดท้ายต้องส่งเสริมให้คนทำงานเป็นคนช่างสังเกต  และสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล

          วิธีการที่จะส่งเสริมให้บุคลากรผลิตความคิดออกมาอย่างสม่ำเสมอและได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สามารถทำได้โดย

             1)  ต้องรู้ว่าใครมีความรู้ในเนื้องานนั้นๆ

             2)  สร้างสิ่งกระตุ้นควมคิดแก่บุคลากร

             3)  ทำอย่างไรให้มีความคิดและมุมมองที่กว่างไกล สัญลักษณ

             ขั้นตอนที่  2  ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอความคิด

             การเสนอความคิดควรเป็นขั้นตอนที่ง่าย  ไม่ซับซ้อน  มีความรวดเร็วในการตอบรับ

             เทคนิคการกระตุ้นให้บุคลากรมีความคิดและมุมมองที่กว้างไกล

             1)  การหมุนเวียนการปฏิบัติงาน (Job  Rotation)  เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรได้มีมุมมอง  ภารกิจของทั้งสถานศึกษาได้ชัดเจน  มีการเชื่อมโยงความรู้ใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน

             2)  นำมุมมองจากบุคคลกลุ่มอื่นๆ  มาพิจารณา  เช่นผู้ปกครอง  ชุมชน  คณะกรรมการสถานศึกษา 

             3)  การลดรอบเวลาการทำงาน  พึงระลึกถึงคำกล่าวโบราณที่ว่า  “เวลา  หมายถึง  เงิน”  หน่วยงานใดสามารถทำงานเสร็จเร็ว  ย่อมได้ผลิตภาพมากกว่า

             4)  ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง  เช่น  ส่งเสริมให้บุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม  ศึกษาต่อ  ดูงาน ฯลฯ

             5)  การตั้งเกณฑ์เทียบเคียง ( Benchmarking)  เป็นการองออกไปนอกหน่วยงานเพื่อศึกษาว่าหน่วยงานอื่นใดบ้างที่มีสิ่งดีๆ  และเหนือกว่าหน่วยงานของเรา  แล้วหนกลับมามองตัวเองว่าเราจะสามารถปรับปรุงอย่างไรให้ดีเท่าเขา

             6)  สร้างความตื่นตัวต่อปัญหาของหน่วยงานและหาโอกาสในการปรับปรุง

             ขั้นตอนที่  3  ประเมินความคิดและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุง

             หัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้คือความรวดเร็วและความมีประสิทธิภาพ  ผู้ร่วมในการพิจารณาประเมินความคิดจะต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นๆ  โดยตรง 

             หากความคิดมีส่วนคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน  จำเป็นต้องรวมตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ  ไว้ในกลุ่มพิจารณาด้วย  เช่น  การตั้งทีมงานข้ามสายงาน  เพื่อพิจารณาประเมิน

             ถ้าหากผู้พิจารณาเป็นผู้ที่อยู่ห่างจากเนื้องาน  ซึ่งเขาไม่อาจเห็นถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนของการเสนอความคิดเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานนั้นๆ  หากต้องการความรวดเร็ว  การพิจารณาประเมินความคิด จะทำในระดับล่างก็สามารถจัดทำได้  เพราะอยู่ใกล้ชิดกับงานและเป็นผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเนื้องานมากที่สุด

             ขั้นตอนที่  4  นำความคิดไปปฏิบัติ

             ในขั้นตอนนี้  เป็นการนำความคิดไปปฏิบัติ  โดยการนำความคิดไปปฏิบัติจริงในการทำงานนี้จะต้องมีความรวดเร็วและต่อเนื่องสอดคล้องกับภาระงานและแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่

              การจัดระบบหรือแนวทางการปฏิบัติให้เอื้อต่อการจัดการความคิดลงสู่การปฏิบัติจริง  รวมถึงการจัดเตรียมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้การนำความคิดไปปฏิบัติเกิดขึ้นได้โดยง่าย  เป็นปัจจัยนำความสำเร็จที่สำคัญ  ต้องอาศัยความยืดหยุ่น  ความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์สิ่งต่างๆ  เข้าด้วยกัน 

                ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก  เพราะหากขั้นตอนนี้ไม่ประสบความสำเร็จ  อาจส่งผลให้เจ้าของความคิดหมดความกระตือรือร้น  และอาจเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อหน่วยงาน  แต่ในทางตรงกันข้าม  หากหน่วยงานนำความคิดไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้เจ้าของความคิดรับรู้ถึงความตั้งใจจริงของหน่วยงาน  ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ  ช่วยทำให้เขาส่งความคิดดีๆ  มาเรื่อยๆ  อย่างต่อเนื่อง  และยังเป็นแบบอย่างจริงให้บุคลากรคนอื่นๆได้เป็นอย่างดี

                ความล่าช้าในการนำความคิดไปสู่การปฏิบัติทำให้หน่วยงานต้องสูญเสียโอกาส  เช่น  โอกาสในการประหยัดค่าใช้จ่าย   โอกาสในการประหยัดเวลา  ซึ่งหลายหน่วยงานได้มองข้ามต้นทุนการเสียโอกาสไป  ซึ่งต้นทุนการเสียโอกาสนี้มีมูลค่ามหาศาลที่หน่วยงานอาจคาดไม่ถึง

                ขั้นตอนที่  5  ทบทวนเพื่อขยายผลความคิด

                ในขั้นตอนนี้เป็นการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลความคิด  มองทั้งการขยายผลในเชิงลึก  และเชิงกว้าง  เช่น  สามารถขยายผลให้เชื่อมโยงสู่การทำงานในเชิงลึกได้หรือไม่  หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณอื่นหรือหน่วยงานอื่นได้หรือไม่

                ขั้นตอนที่  6  ยกย่อง  ชมเชย  และประกาศความสำเร็จ

                ในขั้นตอนนี้  เป็นการแสดงการยกย่อง  ชมเชยของความคิด  และประกาศให้บุคลากรส่วนรวมของหน่วยงานได้รับทราบเมื่อความคิดนั้นได้รับการนำไปปฏิบัติแล้วเห็นผลของความสำเร็จ

                 ขั้นตอนที่  7  วัดผล  ทบทวน  และปรับปรุง 

ในขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่เป็นกระบวนการกระตุ้นและรวบรวมความคิด  เป็นการติดตาม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  นำมาทบทวนเพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น

การเก็บข้อมูลในขั้นตอนนี้ควรเป็นการเก็บข้อมูลจริง ที่เป็นตัวเลขเชิงปริมาณเพื่อนำมาใช้

ในการคำนวณสถิติ  รวมทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อช่วยในการวิเคราะห์และสรุปผลเพื่อทบทวนและปรับปรุง

                         ..................................................

               

                                               อ้างอิง

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  สพฐ. , กพร.  (2553).  การปฏิบัติที่เป็น

       เลิศ (Best Practice). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 419705เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท