ความรักอันยิ่งใหญ่ต่อสรรพชีวิต


มันเป็นเรื่องที่อาจดูเป็นความแปลกหากว่าเราได้เจอใครสักคนหนึ่งที่มีหัวใจอันกรุณาที่เปี่ยมล้น ... แต่ในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว หากว่าข้าพเจ้าได้เจอบุคคลเช่นนี้ ในความรู้คิดและความรู้สึกของข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกหรือมองว่า บุคคลนั้นแปลก...

หากแต่บุคคลนั้น เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมดาสามัญ ที่บุคคลหนึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์และพึงมีคุณลักษณะอันเมตตากรุณา...ทำให้ข้าพเจ้าได้หวนไปถึงบทความตอนหนึ่งที่ท่านหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ได้เขียนไว้ว่า...

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่นั้น นอกจากจะแสดงธรรมแก่ภิกษุและภิกษุณีแล้ว พระองค์ยังได้ทรงเทศนาโปรดกษัตริย์ อำมาตย์ ปุโรหิต ชาวนา และคนเก็บขยะ ตลอดจนฆราวาสชายหญิงอื่นๆ อีกนับหมื่นแสน เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีผู้อุปัฎฐากพระพุทธเจ้าและสังฆะอย่างเข้มแข็ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับความว่างและความไม่มีตัวตนแล้ว ท่านบังเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านจึงขอร้องพระอานนท์ให้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ฆราวาสก็อาจศึกษาและปฏิบัติคำสอนอันวิเศษเหล่านั้นได้

แต่ในระยะหลายศตวรรษหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว การปฏิบัติธรรมกลายเป็นกิจเฉพาะในหมู่ภิกษุและภิกษุณีฆราวาสนั้นถูกจำกัดทำได้เพียงถวายภัตตาหาร กุฏี จีวร และเภสัชให้แก่พระสงฆ์เท่านั้น ในช่วงร้อยปีแรกหลังพุทธกาล การปฏิบัติธรรมยังจำกัดอยู่แต่ในพระสงฆ์เท่านั้น จนกระทั่งเกิดการตอบโต้ขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นเหตุให้พระสูตรอุกรทัตตะและวิมนเกียรติได้เกิดขึ้นในช่วงยุคแรกของงานเขียนเรื่องปรัชญาปารมิตา

พระสูตรอุกรทัตตะได้ถามคำถามสามข้อคือ ภิกษุต้องปฏิบัติอย่างไร พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่วไปต้องปฏิบัติอย่างไร และพระโพธิสัตว์เหล่านี้ต้องปฏิบัติอย่างไรท่านจึงจะเท่าเทียมกับภิกษุและภิกษุณีได้

พระสูตรนี้ได้กล่าวถึงการปฏิบัติ หลังจากได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้แล้ว ฆราวาสห้าร้อยคนได้แสดงความจำนงขอบวชเป็นภิกษุและภิกษุณีแต่อีกสองร้อยคนที่จิตสามารถเข้าสู่สภาวะแห่งการตรัสรู้ในระหว่างการฟังพระพุทธองค์แสดงธรรม ไม่แสดงความประสงค์จะขอบวช พระอานนท์จึงถามอุกรทัตตะว่า "ทำไมท่านจึงไม่ขอบวชเป็นภิกษุเหมือนพวกเรา" อุกรทัตตะตอบว่า "เราไม่จำเป็นต้องเป็นภิกษุเราสามารถฝึกปฏิบัติในฐานะฆราวาสได้เช่นกัน..."

Cultivating the Mind of Love:

The Practice of Looking Deeply in

the Mahayana Bhuddhist Tradition

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้มองเห็นภาพของผู้คนมากมายที่ได้ชื่อว่านับถือศาสนาพุทธ ที่เป็นศาสนาตามทำเนียมเมื่อได้เกิดมาก็ได้เป็นไปตามธรรมเนียมอัตโนมัติ แต่เรานั้นปราศจากความเข้าใจอันลึกซึ้ง ชั่วชีวิตหนึ่งเราลองมองย้อนกลับไปดูว่า นอกจากไปวัดและใส่บาตร หรือบริจาคแล้ว หรือทำพิธีกรรมต่างๆ มากมายแล้ว เราได้แสดงออกซึ่งหนทางตามคำสอนแห่ง "ธรรม" หรือไม่...ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง "ทาน ศีล ภาวนา"...สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราได้สัมผัสด้วยหัวใจและลมหายใจเราหรือยัง...

ข้าพเจ้าเชื่อว่า...คนไทยเรานั้นได้อ่านหนังสือธรรมะมากมาย...

แต่...ข้าพเจ้าก็เชื่ออีกว่า มีคนไทยน้อยนิดมากที่ได้เจอธรรมะจริงๆ....

ความหมายของการเจอธรรมะในทัศนะของข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้อ่านธรรมะจนแตกฉาน หากแต่หมายถึงผู้ที่มีลมหายเข้าและออกอย่างเป็น "พุทธะ"... ซึ่งผู้ที่มีลมหายใจแห่งพุทธะอันหมายถึงการตื่นรู้นี้จะมีคุณลักษณะแห่งจิตใจที่เบิกบาน อ่อนโยน นอบน้อม และใช้ปัญญานำพาชีวิตก้าวย่างด้วยความรักและความกรุณาต่อผู้อื่นอย่างไร้เงื่อนไข...

ไม่นำพาเพียงเพราะยึดในเรื่องดีหรือเรื่องชั่ว หากแต่...ดำรงอยู่อย่างผู้รู้ตัวทุกๆ ขณะจิต

 

๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓

 

 

หมายเลขบันทึก: 416215เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดี ครับ คุณkapoom

แวะมาสวัสดี ปีใหม่ 2554 ที่จะมีมาถึงในเร็ววัน กับคุณ นะครับ

ซึ่งผู้ที่มีลมหายใจแห่งพุทธะอันหมายถึงการตื่นรู้นี้จะมีคุณลักษณะแห่งจิตใจที่เบิกบาน อ่อนโยน นอบน้อม และใช้ปัญญานำพาชีวิตก้าวย่างด้วยความรักและความกรุณาต่อผู้อื่นอย่างไร้เงื่อนไข...

ไม่นำพาเพียงเพราะยึดในเรื่องดีหรือเรื่องชั่ว หากแต่...ดำรงอยู่อย่างผู้รู้ตัวทุกๆ ขณะจิต

งดงามมากนะครับ

ถ้าการเดินทางของผมนั้น เดินเส้นทางเดียวกับทฤษฎีความรู้ของบลูม

ความรู้แห่งธรรมะของพระพุทธเจ้า ผมยังเดินทางไม่ถึงบันไดขั้นที่หนึ่ง

อ่านบันทึก บรรทุกธรรม ของอาจารย์แล้ว

เกิดแรงคึกคักในใจอีกครั้งไป

พ-ยา-ยาม ครับ

ขอชื่นชม คุณ kapoom คุณ แสงแห่งความดี  และ คุณ ทิมดาบ ค่ะ

ฝากกำลังใจ  ให้ นะคะ

ความแปลกที่ไม่แปลก....

อ่านบทความและความคิดเห็นแล้วรู้สึกเป็นสุขค่ะ ทำให้ใจเราสงบขึ้นมาก ขอบคุณนะคะ สำหรับสิ่งดีๆ ที่แบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท