ภูมิปัญญาพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง


อาหารที่เราทำกินเองแบบพื้นเมือง นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังมีความหลากหลายได้สารอาหารครบถ้วน เป็นสมุนไพร รักษาโรคชั้นดีอีกด้วย

 

 

วันหยุด 3 วันที่ผ่านมา (10-12 ธ.ค. 53) ผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองเลยมาครับ ไปครั้งนี้เหมือนกลับไปชาร์จแบตใน Mode ของการใช้ชีวิตที่ไม่เร่งรีบอย่างคนเมืองหลวง ได้ใช้ชีวิตในวิถีธรรมชาติ กินอาหารพื้นเมืองที่เราทำเอง ไม่ได้ซื้อหา วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ ที่เราปลูกเอง กินได้สนิทใจ ไร้สารเคมี บันทึกนี้มีอาหารพื้นเมืองหลายอย่างนำมาเล่าแบ่งปันกันครับ

 

 

วันแรกที่เดินทางไปถึงบ้านประมาณบ่ายแก่ๆ ก็เริ่มต้นด้วยการทำแกงปลีครับ ซึ่งปลีที่ใช้เป็นปลีของกล้วยป่า บ้านผมเรียก “ปลีกล้วยฮก” นำมาทำแกงคล้ายๆ กับแกงเลียง ใส่ตะไคร้ เติมความเปรี้ยวด้วยมะกอกสุก (มะกอกที่ใส่กับส้มตำ) และมะเขือเครือ (มะเขือเทศพื้นเมือง) วิธีการทำเริ่มด้วยการปอกปลีแล้วหั่นเป็นชิ้นพอคำ นำไปล้างด้วยน้ำเกลือให้หายฝาด จากนั้นก็นำไปต้มใส่กับเกลือตะไคร้ ให้เปื่อย เมื่อเปื่อยได้ที่ก็ใส่ปลานิลสดที่หั่นเป็นชิ้นๆ ไว้ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ปลาร้า พริกบุบ จากนั้นใส่ผักอื่นๆ ที่สุกง่าย เช่น ต้นหอม ผักชีลาว ใบแมงลัก หรือผักอื่นๆ ที่หาได้ตามที่เราปลูกไว้ ยกลงตัดใส่ชาม ซดร้อนๆ กินกับข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้ เย็นวันนั้นก็กินแกงปลีเป็นหลัก ร่วมกับเนื้อแดดเดียวที่คุณปู่ของหลานๆ ทำไว้ก่อนหน้านี้ พอดีในตู้เย็นมีหมอน้อยที่น้องเขยทำไว้ ก็เอามาแจมด้วย หมอน้อยนี้ทางอีสานใต้เขาเรียกหมาน้อย ทำจากต้นเครือหมอน้อยนำมาขยี้ใส่น้ำอุ่น ทิ้งไว้ให้เย็นมันก็จะกลายเป็นวุ้น สามารถนำไปทำเป็นอาหารคาวหรืออาหารหวานก็ได้ ถ้าใส่ปลาป่นเข้าไปปรุงรสด้วยน้ำปลาปลาร้า ก็จะเป็นของคาว หรือจะกินใส่น้ำเชื่อมก็เป็นอาหารหวานเหมือนกับเฉาก๊วยก็ได้ หมอน้อยนี้มีฤทธิ์เป็นยาเย็น คล้ายๆ กับย่านางครับ

 

  

แกงปลี

 

หมอน้อย

 

ตามแผนที่วางไว้ครอบครัวเราทั้งปู่ย่า พ่อ อา หลานจะไปทำบุญที่วัดกันในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็เลยต้องเตรียมกับข้าวกันไว้ตั้งแต่ตอนเย็นคือ ปลานิลเผา วิธีการก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แค่เอาปลามาคลุกโอบเกลือยัดไส้ด้วยต้นตะไคร้ ใบเตยแล้วนำไปย่างให้สุกเท่านั้นเอง จากนั้นก็มาทำแจ่ว (น้ำจิ้ม) ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ ตำกระเทียมกับพริก (เก็บมาจากข้างบ้าน) บีบมะนาว เติมน้ำปลา เติมความเปรี้ยวด้วยมะเขือเครือ (มะเขือเทศพื้นเมือง) ก็เป็นอันเสร็จ

  

 

วันรุ่งขึ้นเราก็ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี 4- ตี5 นึ่งข้าวเหนียวตามกรรมวิธีที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว (ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับการนึ่งข้าวเหนียวไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/406464 ) หุงข้าวเจ้า วันนั้นเรานำดอกอัญชันมาใส่ในน้ำที่จะหุงข้าวเจ้าด้วย ข้าวที่หุงออกมาก็จะได้สีฟ้าสวยน่ากินเลยทีเดียว ปลาที่เผาไว้ตั้งแต่เมื่อวานเราก็นำมาแกะเอาแต่เนื้อเพื่อให้พระฉันได้สะดวก ปกติอาหารประเภทนี้จะต้องมีนึ่งผักกินกับด้วย แต่วันนั้น ในสวนไม่ค่อยมีผัก ก็เลยใช้มะละกอดิบจนเกือบห่ามมานึ่ง (ที่บ้านปลูกเอง แต่ความจริงไม่ได้ปลูกหรอกเพราะกินเม็ดเหลือแล้วโยนไปไว้ข้างบ้าน มันก็ขึ้นมาเอง ) นึ่งมันหำอีมู้ (มันพื้นเมือง : ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับมันชนิดนี้ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/222684 ) เสริมเข้าไปด้วย ส่วนอาหารหวานก็ไม่มีอะไรมากเป็นมะละกอสุกนั่นเอง เสริมด้วยผลไม้อื่นๆ ตามฤดูกาล ปอกเปลือกจัดใส่ปิ่นโตให้สวยงามหยิบง่าย

 

  

นึ่งข้าวใส่หวด และ บมส่วยข้าว

 

  

เนื้อปลาแกะ และ หำอีมู้

 

มะละกอนึ่ง และ มะละกอสุก

 

เตรียมสำรับอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ เราเดินทางออกจากบ้านประมาณเกือบ 7.00 น. เดินทางไปที่วัดซำบุ่น (ห่างจากบ้านประมาณ 7 ก.ม.) วัดที่ครอบครัวเราทำบุญประจำ ไปถึงวัดก็มีชาวบ้านนำอาหารมาเตรียมไว้ถวายเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นเมือง ผมเห็นแล้ววันนั้นก็คิดว่า วันนี้มีลาภปากจริงๆ เพราะบางอย่างไม่ได้กินมานานแล้ว ไม่ต้องพูดถึงในเมืองหลวง หายากมาก เช่น หมกหยวก หมกถั่วเน่า (ถั่วแต้/ถั่วหมัก) หมกฮวยไข่ (ไข่อ่อน) แกงคั่ว (แกงอ่อม) ใส่ผักผ่อง ผักคาด ซุบผักนึ่งใส่งา แกงหน่อไม้ดอง แกงขี้เหล็ก เป็นต้น พระที่นี่เป็นพระธรรมยุต ฉันในบาตร วันละ แค่ 1 มื้อ ท่านจะนำอาหารที่เราเตรียมไว้แบ่งใส่อย่างละเล็กอย่างละน้อย รวมกันลงในบาตร ที่เหลือ ญาติโยมก็นำไปกินกันต่อ

 

  

แกงคั่ว (แกงอ่อม) ใส่ผักผ่อง ผักคาด และ ซุบผักนึ่งใส่งา

 

หมกฮวยไข่ (ไข่อ่อน) และ หมกหยวก

 

แกงหน่อไม้ดอง และ หมกถั่วเน่า (ถั่วแต้/ถั่วหมัก)

 

เสร็จจากทำบุญที่วัดประมาณ 10 โมง ก็เดินทางกลับ ยังไม่ทันไรก็ถึงมื้อเที่ยงแล้ว แต่มื้อนี้เราไม่ได้ทำกินเอง ไปซื้อที่ตลาดมากิน วันนั้นก็ได้ขนมเบื้องญวนมาแผ่นละ 20 บาทเอง ใส่ไข่ด้วย ใส่ขนมเบื้องทำจากหมูสับผัดกับแครอทหน่อไม้ ใส่ถั่วงอก นอกจากนี้ยังมียำแหนมคลุกที่รสไม่จัด กินแทนข้าวได้ ร่วมกับปอเปี๊ยะทอด ความจริงเป็นกะยอต่างหาก เพราะแผ่นแป้งที่ทำกะยอจะใส่และกรอบกว่า

 

 

อาหารกลางวันเพิ่งเริ่มย่อย ไม่ทันไร ประมาณบ่ายสามโมง เราก็ต้องมีภาระกิจทำกับข้าวมื้อใหญ่กันอีกแล้ว คุณปู่ของหลานๆ เอาเป็ดมาจากตลาดแล้วบอกว่า วันนี้จะทำลาบเป็ดกัน ผมกับน้องเขย (อาของหลานๆ) ก็รับหน้าที่ดำเนินการตามคำบัญชา ช่วยกันทำแค่ 2 คนตามสูตรที่ผมเคยบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/235715 และ http://gotoknow.org/blog/attawutc/325622 กว่าจะเสร็จก็ปาไปถึง 5 โมงเย็นกันเลย ช่วงเย็นๆ น้องเขยของผมก็ ก็พาหลานๆ ไปเก็บผักสดในสวนมากินกับลาบ งานนี้นอกจากผักที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้ในhttp://gotoknow.org/blog/attawutc/222684 นี้แล้ว ผมยังได้ยอดมะดัน ฝักแคอ่อน มาด้วย

 

 

 

 

วันรุ่งขึ้นถึงเวลากลับมาขายแรงงานในเมืองหลวงต่อ ผมไม่อยากกลับมาเลย ต้องมาใช้ชีวิตใน Mode การแข่งขันต่อสู้ในเชิงธุรกิจ ปากกัดตีนถีบอีกแล้ว วิถีชิวิตบ้านนอกแบบนี้ ผมคิดว่าผมมีความหวังจะต้องกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่นั่นอย่างแน่นอน เพราะจะเห็นว่าการใช้ชีวิตในเมืองหลวงถึงแม้จะสะดวกสบายแต่ทุกอย่างต้องซื้อหา แหล่งอาหารก็ห่างไกลจากแหล่งผลิต ผักผลไม้กว่าจะมาถึงผู้บริโภคต้องผ่านการขนส่งและใส่สารเคมีเพื่อป้องกันการบูดเน่าเสียหาย ไม่เหมือนกับชีวิตบ้านนอกที่เรามีตู้เย็นขนาด 1 ไร่ ที่อยู่ข้างบ้าน เพียงแค่เดินไปเก็บก็ได้กินของสดๆ แล้ว บางทีไม่ต้องล้างด้วยซ้ำ อาหารที่เราทำกินเองแบบพื้นเมือง นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังมีความหลากหลายได้สารอาหารครบถ้วน เป็นสมุนไพร รักษาโรคชั้นดีอีกด้วย การกินพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้เราได้สารอาหารหลากหลายอย่างครบถ้วนโดยปริยาย ไม่เหมือนอาหารในเมืองหลวงที่กินซ้ำๆ หรือพืชผักผลไม้ที่ถูกบังคับให้ออกนอกฤดูกาล ผมคิดว่าอาจจะเกิดโทษได้ จะเห็นว่าในเมืองหลวงมีผักให้กินตลอดปี ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตงกวา แต่ผักพวกนี้ต้องโดนสารเคมีเท่าไหร่ถึงจะถึงมือผู้บริโภค ถึงแม้จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่ถ้ากินมากเกินไปก็เป็นโทษเช่นกัน เช่น มะรุมที่เค้าเห่อกันว่ารักษาโรคมะเร็ง ถ้ากินเดี่ยวๆ มากเกินไปก็มีผลต่อระบบย่อยอาหารได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 414257เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2010 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาหารน่ากินทั้งนั้น คงอิ่มสมใจอยากนะท่าน นานๆที่ได้มารับประทาน

หมาน้อย ผมไปเห็นที่ ภาคกลางเขาเรียนทองเกษมครับ

ขอบคุณท่าน อ. พรชัย Ico32 ที่ให้คำแนะนำเรื่องทองเกษมครับ

- บ่งบอกความสุขที่เกินบรรยายจริง ๆ เมื่อเวลาได้ "กลับบ้้านเฮา" นะค่ะ สื่อสะท้อนความรักความอบอุ่นที่อยากให้ทุกครัวในสังคมไทยเป็นเยี่ยงนี้จริง ๆ ว่าแล้วก็ช้อบจังกับข้าวกับปลาประมาณนี้ อยากหม่ำจริง ๆ แซบหลายเด้อ ขอบคุณที่แบ่งปันอย่างได้บรรยากาศร่วมจริง ๆ ค่ะ :)

สุขใจเวลาเข้ามาอ่านค่ะ คิดถึงอาหารฝีมือแม่ขึ้นมาทันที 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท