ประวัติหลวงปู่โง่น


ประวัติหลวงปู่โง่น

 

หลวงปู่โง่น   โสรโย    

                                                                                                                                                                  

หลวงปู่โง่น  โสรโย 
ที่มา  :  (องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร,  2550,  หน้า  32) 

 1.  ประวัติ 
      หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2447 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลา 05.58 น. บนแพกลางลำน้ำปิง บิดาเป็นหัวหน้าล่องแพไม้ซุง มารดาเป็นชาวลำพูน เมื่ออายุได้ประมาณ 10  ปี ซาโต้โมมอง เลขานุการข้าหลวงใหญ่ชาวฝรั่งเศสประจำอินโดจีน รับตัวเป็นบุตรบุญธรรม และได้ศึกษาที่ต่างประเทศจนจบปริญญาเอก  ณ  มหาวิทยาลัยในเยอรมัน  สามารถพูดได้ถึง 7 ภาษา เดิมนับถือศาสนาคริสต์ 

      หลวงปู่โง่น ได้เกิดมาใช้ชีวิตในสมณเพศบำเพ็ญประโยชน์และคุณูปการแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ตลอดถึงสังคมทุกระดับอย่างดียิ่ง เป็นแบบอย่างอันงดงามของผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หลวงปู่โง่นมีอัธยาศัยเปี่ยมล้นด้วยเมตตา สันโดษ รักสงบ เสียสละ ตามวิสัยของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในอุบาย แนะนำสั่งสอนเหล่าประชากรโดยพุทธวิธี มีกุศโลบายในการรักษาตนให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งภายนอกและภายใน มีวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติตนที่สมสมัย มีจิตใจใฝ่รู้วิชาทุกแขนง เพื่อนำมาแก้ไขดัดแปลงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทำความแช่มชื่นให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น มีความเยือกเย็นเป็นสุขใจแก่ผู้เข้าใกล้ ด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน อย่างน่าอัศจรรย์           
     หลวงปู่โง่น อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2482 ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม โดยมีท่านเจ้าคุณสารภาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์
มีพระมหาพรหมมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทปีแรกพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ผู้อุปการะ คือ หลวงพ่อวัง ได้ร้องขอและส่งให้ไปอยู่กับพระสหายของท่าน คือ เจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ธมฺมญาโณ ที่วัดสุวรรณารามราช มหาวิหาร นครหลวงพระบาง  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งต่อมาืเจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมากรุงเวียงจันทน์เกิดเหตุจลาจล ใน พ.ศ. 2518  พระองค์ได้เสด็จลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และสิ้นพระชนม์ ใน  พ.ศ. 2528  ส่วนหลวงปูโง่นในขณะนั้นเป็นพระนวกะ  ได้เรียนนักธรรมและบาลีแบบลาว  ซึ่งเจ้ายอดแก้ว บุญทัน  บุปผรัตน์  ทรงรักใคร่โปรดปรานมาก  เพราะดั้งเดิมเป็นสายญาติกันและใช้งานได้คล่อง  พูดไทยได้เก่ง  พูดลาวได้ดี  ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสก็อาศัยได้  เพราะในระยะนั้นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ยังเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นของฝรั่งเศส  ท่านจึงต้องการให้พระภิกษุที่คุยกับชาวต่างชาติ

รู้เรื่องอยู่ด้วย  เมื่อเวลาว่างท่านให้เข้าป่า  เพื่อแสวงหาต้นไม้ที่เป็นยาสมุนไพร 

เพราะพระองค์ท่านทรงสนใจรับรู้ในเรื่องยาสมุนไพรมาก  ตอนเข้าไปในป่าถึง

เขตทุ่งไหหิน  ถูกทหารลาวและทหารฝรั่งเศสจับในข้อหาเป็นจารชนจากเมืองไทย

ไปสืบความลับ  ถูกขังคุกขี้ไก่  30  วัน  พร้อมพระลาว  2  รูป  กับเด็กอีก  1  คน  

เด็กคนนั้น  คือ เจ้าสิงคำ  ซึ่งต่อมา  ก็คือ  ท่านมหาสิงคำ  ผู้ทำงานช่วยพวกลาวอพยพร่วมกับสหประชาชาติอยู่ที่วัดยานนาวา  กรุงเทพฯ  ท่านจึงไปมาหาสู่บ่อย  เพื่อขอ            

ความช่วยเหลือให้พี่น้องชาวลาว  หลวงปู่โง่นก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ความสามารถจะมี

                   เรื่องการติดคุกขี้ไก่อยู่ที่ทุ่งไหหินนั้นสนุกมาก  เขาเอาไก่ไว้ข้างบน         คนและพระอยู่ข้างล่าง  ไก่ขี้ใส่หัวตลอดเวลา  เหม็นก็เหม็น  ทรมานก็ทรมาน  

สนุกก็สนุก  ได้ศึกษาธรรมไปในตัว  ความทราบถึงเจ้ายอดแก้ว  พุทธชิโนรส

สกลมหาสังฆปาโมกข์  ท่านได้ร้องขอให้ปล่อยตัวแต่ทหารปล่อยเฉพาะพระลาว  

2  รูป กับเด็ก 1  คน  ส่วนหลวงปู่โง่นเขาไม่ปล่อย  เพราะเข้าใจว่าเป็นคนไทย 

ด้วยเหตุที่พูดไทยได้เก่ง  ทั้งนี้  ขณะนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน  ฝรั่งเศส

ยุให้คนไทยกับคนลาวเป็นศัตรูกัน  เห็นคนไทยก็จับขังหรือฆ่าทิ้งเสีย  จึงมารู้ตัวเข้าคราวหลังว่าเรามันคนปากเสีย  ปากพาเข้าคุกเพราะพูดภาษาไทย
                   ภายหลังสมเด็จพระสังฆราชลาวท่านออกใบสุทธิให้ใหม่  โอนเป็น       พระลาวเป็นคนลาวไป  เขาจึงปล่อยตัวออกมา  แต่ก็ยังไม่พ้นสายตาของพวกนักสืบ จึงกราบทูลลาผู้มีพระคุณหาทางมุ่งกลับเมืองไทย  แต่ไม่รู้จะมาอย่างไร  จึงตัดสินใจไปพบคนที่รู้จักรักใคร่  คือ  ท้าวโง่น  ชนะนิกร  ซึ่งเป็นข้าราชการลาวอยู่  ในระยะนั้น ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมีแต่หลุมหลบภัยและเสียงปืนที่ไทยกับลาวยิงกันไม่ขาดระยะ หลวงปู่โง่นต้องธุดงค์ปลอมแปลงตัว  เดินเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงลงมาทางใต้จนใกล้

ถึงเมืองท่าแขก  ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระลาวที่รู้จักกัน  คือ  ครูบาน้อย  

หาทางให้ได้เกาะเรือของชาวประมงข้ามฝั่งมาไทย  พอถึงแผ่นดินไทยก็ถูก

ร้อยตำรวจเอกเดช  เดชประยุทธ์  และร้อยตำรวจโทแฝด  วิชชุพันธ์  จับในข้อหา

เป็นพระลาวหลบเข้ามาสืบราชการลับในราชอาณาจักรไทย  ถูกจับเข้าห้องขัง

ฐานจารชนอยู่  10  วัน  ร้อนถึงพระพนมคณานุรักษ์  ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมือง  ได้เจรจา

ให้หลุดรอดออกมา  พอพ้นจากห้องขังมาได้ก็เข้ากราบพระอุปัชฌาย์  คือ  ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี  ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณีสั่งให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมพระกรรมฐาน

กับพระอาจารย์วังที่ถ้ำไชยมงคลภูลังกา  และไปหาพระอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล  

ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  ตอนเข้าพรรษาพระอุปัชฌาย์

ให้มาจำพรรษาอยู่วัดอรัญญิกาวาส  จังหวัดนครพนม

                   พ.ศ. 2485  สอบได้นักธรรมตรี  พ.ศ. 2486  สอบได้นักธรรมโท          พ.ศ. 2487  สอบได้นักธรรมเอก  ต่อมาหนีออกธุดงค์เข้าถ้ำจำพรรษาที่ถ้ำบ้านยางงอย

อำเภอนาแก  จังหวัดนครพนม  กับอาจารย์สน  อยู่  1  ปี  พระอุปัชฌาย์รู้ข่าวเรียกตัวกลับ  

สั่งให้มาอยู่วัดอรัญญิกาวาส  จังหวัดนครพนม  โดยบังคับให้เป็นครูสอนนักธรรมโท  อยู่วัดศรีเทพ  2  ปี  เพราะวัดทั้งสองอยู่ใกล้กันไปกลับได้สบาย  ผลของการสอนได้ผลดีมาก  นักเรียนสอบได้ยกชั้นทั้ง  2  ปี  พระอุปัชฌาย์ชมเชยมาก และปีต่อมา

ได้เปลี่ยนเป็นครูสอนนักธรรมเวลาเช้า  ส่วนเวลาบ่ายหลวงปู่โง่นเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์
                   พ.ศ. 2491  สอบเปรียญธรรม  ป.ธ.3  แต่ต้องตกโดยปริยายเพราะข้อสอบรั่ว

ทั่วประเทศจึงต้องสอบกันใหม่  หลวงปู่โง่นเกิดความไม่พอใจในวิธีการเรียนแบบสกปรก 

จึงย้อนกลับไปพึ่งใบบุญของสมเด็จพระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตย

ประชาชนลาว  ไปเรียนและตั้งใจเรียนจนสอบเทียบได้เปรียญ  5  โดยสมเด็จพระยอดแก้ว

สกลมหาปรินายกออกใบประกาศนียบัตรให้  จากนั้นท่านสั่งให้ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่า  พอดีขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ในพม่าพากันเดินขบวนขับไล่รัฐบาลของอูนุ 

มีการจับพระชาวต่างชาติเข้าคุก  หลวงปู่โง่นก็พลอยโดนด้วย  แต่โชคดีที่พระมหานายก

ของพม่า  คือ  ท่านอภิธชะมหา  อัตฐะคุรุ  ได้ขอร้องและทำใบเดินทางให้เข้าประเทศอินเดีย  เลยเข้าไปเมืองฤๅษีเกษ  แคว้นแคชเมียร์  ไปฝึกฝนอบรมวิชาโยคะ  1  ปี 

เมื่อมีเพื่อนนักโยคะชักชวนขึ้นไปเมืองยางเซะและเมืองลาสะ  ซึ่งเป็นเมืองหลวง

ของประเทศธิเบต  เพื่อศึกษาภูมิประเทศและหลักการทางพระพุทธศาสนามหายาน

                   พ.ศ. 2494  กลับมาเมืองไทย  ท่านเจ้าคุณรัชมงคลมุนี  วัดสัมพันธวงศ์    ส่งให้ไปเป็นหัวหน้าก่อสร้างอุโบสถจัตุรมุขหลังใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

ที่วัดสารนาถธรรมาราม  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง  อยู่ได้  5  ปี  อุโบสถจวนเสร็จ    

ขออำลาหนีไปพักผ่อนชั่วคราว  ไปพักอยู่กับญาติ ๆ  ที่เมืองอังกานุย  ประเทศนิวซีแลนด์  

แล้วไปอยู่แคนเบอร่า  ประเทศออสเตรเลีย  อยู่แห่งละ  1  ปี  แล้วไปอาศัยอยู่กับ

ญาติโยมเก่าที่เขาเคยอุปการะอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ที่เมืองรียอง  ประเทศฝรั่งเศส

                   พ.ศ. 2498  กลับเมืองไทยไปช่วยท่านมหาโฮม  คือ  เจ้าคุณราชมุนี

วัดสระประทุม  ที่ปากช่อง  จากนั้นเดินธุดงค์เข้าป่าเข้าถ้ำหลายแห่ง  คือ  ถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว  ถ้ำตับเต่า  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่  แล้วล่องใต้ไปอยู่ถ้ำจัง   อำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง  ถ้ำขวัญเมือง  อำเภอสวี  จังหวัดชุมพร  แล้วมาถ้ำมะเกลือ เหมืองปิล็อก  จังหวัดกาญจนบุรี  จากนั้นขึ้นถ้ำฤๅษี  (ถ้ำมหาสมบัติ)  ถ้ำเรไร  

จังหวัดเพชรบูรณ์
                    ในปี  พ.ศ. 2502  หลวงพ่อแพร  คือ  ท่านเจ้าคุณเพชราจารย์ 

เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้น  ได้นิมนต์มาสร้างโรงเรียนประชาบาล  

วัดท่าข้าม  และสร้างพระประธานใหญ่ไว้ที่เขตอำเภอชนแดน  แล้วท่านร้องขอ

ให้ไปอยู่แคมป์สน  เขตอำเภอหล่มสัก  อยู่ได้ปีเดียวท่านเจ้าคุณวิมลญาณเวที 

วัดมงคลทับคล้อ  ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาก่อนขอให้มาสร้างฌาปนสถานและบูรณะศาลาการเปรียญวัดมงคลทับคล้อ  พอเสร็จเรียบร้อยท่านร้องขอให้มาช่วยเหลือ

ประจำอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวก  เมื่อปี  พ.ศ. 2507  เพราะเป็นแดนทุรกันดาร  หน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้  ด้วยความเห็นชอบและเลื่อมใสของท่านเจ้าอาวาส  ตลอดจนญาติโยมได้ลงมือพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นหลายอย่าง อาทิ  ได้ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณหมู่บ้าน  เก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดปี   สร้างถนนจากบ้านวังหลุมถึงเขารวกเป็นระยะทาง  5.5  กิโลเมตร  และสร้างโรงเรียนประถมศึกษาเป็นอาคารชั้นเดียว  ยาว  50  เมตร  มีห้องเรียน  8  ห้อง  อีกทั้งปั้น        รูปสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ที่หน้าเสาธง  มีขนาด  1  เท่าครึ่ง  ตั้งอยู่ตลอดจนถึง         ทุกวันนี้  และในวันที่  23  ตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป  พร้อมทั้งแจกทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไม่น้อยกว่าปีละ  100  ทุน  ตลอดมาจนทุกวันนี้

                  หลวงปู่โง่นละสังขารของท่านเมื่อวันที่  7  มีนาคม  พ.ศ.  2542                   รวมสิริชนมายุได้  94  ปีเศษ  นับว่ามีอายุมากแต่สังขารของหลวงปู่โง่น  ไม่แก่เฒ่าอย่างที่ทุกคนคิด  เพราะท่านมีวิธีรักษาจิตเพื่อชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัติ  

มีธรรมสมบัติเป็นจิตใจจึงเป็นใจที่สงบ  อันใจที่สงบนั้นย่อมไม่แก่ชราดัง

พระพุทธภาษิตว่า  สตญฺจ  ธมโม  นชรํ  อุเปติ  ธรรมของผู้มีใจสงบนั้นย่อมไม่เข้าถึงความแก่ชรา  ก็คือการชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัตินั่นเอง

                    คนส่วนมากมักปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม  แต่หลวงปู่โง่น

ใช้ชีวิตของท่านเดินย้อนรอยกรรม  โดยการนำตัวแฝงเข้ามาเป็นอุปกรณ์การเดินทาง     เพื่อย้อนรอยกรรม  จึงทำให้ชีวประวัติของท่านโดดเด่น  โลดโผน  เป็นวรธรรมคติ  แก่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี  อันปฏิปทาของหลวงปู่โง่นนั้น  ตรงกับคำว่า   “ปะฐะ  วิปปะภาโส”  แปลว่า  ผู้ยังพื้นปฐพีให้สว่างไสว  เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย

ที่เป็นดวงตาของโลก  มีความชื่นชมยินดี  เป็นที่รวมใจ  มีรัศมีสีทองผ่องอำไพ

ส่องโลกนี้  เป็นคาถาที่ปรากฏในโมรปริตร์  ถ้าคิดถึงหลวงปู่โง่นก็ให้เจริญมนต์บทนี้  จะได้รับความคุ้มครองจากธรรมสมบัติตามปฏิปทาบารมีของหลวงปู่โง่นเหมือนท่านอยู่กับเราในฐานะตัวแฝงตลอดไป

                      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพ 

      วันที่  31  พฤษภาคม  พ.ศ.  2545  คณะสงฆ์  คณะศิษยานุศิษย์  และพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพนับถือ  ได้ร่วมกันประกอบพิธีในการพระราชทาน

เพลิงศพหลวงปู่โง่น  ณ  เมรุวัดพระพุทธบาทเขารวก  ตำบลทับคล้อ  อำเภอตะพานหิน

จังหวัดพิจิตร  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี  เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่โง่นในครั้งนี้  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คณะสงฆ์                      คณะศิษยานุศิษย์  มิตร  ญาติ  อย่างหาที่สุดมิได้

 

 

ศพของหลวงปู่โง่นก่อนสรงน้ำศพ 
ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

 

พิธีพระราชทานน้ำสรงศพหลวงปู่โง่น 
ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่โง่น โสรโย
ณ เมรุวัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
ที่มา  :  (พิธีพระราชทานเพลิงศพ  หลวงปู่โง่น   โสรโย,  ม.ป.ป.)

2.  ผลงาน 
         1.  เป็นครูสอนนักธรรมโทที่วัดศรีเทพ 2 ปี ผลของการสอนได้ผลดีมาก นักเรียนสอบได้ยกชั้นทั้ง 2 ปี                     
         2.  ในปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อแพร คือ ท่านเจ้าคุณเพชราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นิมนต์มาสร้างโรงเรียนประชาบาล วัดท่าข้าม และสร้างพระประธานใหญ่ไว้ที่เขตอำเภอชนแดน แล้วท่านร้องขอให้ไปอยู่แคมป์สน เขตอำเภอหล่มสัก อยู่ได้ปีเดียวท่านเจ้าคุณวิมลญาณเวที วัดมงคลทับคล้อ  

ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาก่อนขอให้มาสร้างฌาปนสถานและบูรณะศาลาการเปรียญ                วัดมงคลทับคล้อ  พอเสร็จเรียบร้อยท่านร้องขอให้มาช่วยเหลือประจำอยู่                      วัดพระพุทธบาทเขารวก  เมื่อปี  พ.ศ. 2507  เพราะเป็นแดนทุรกันดาร  หน้าแล้ง         จะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้  ด้วยความเห็นชอบและเลื่อมใสของท่านเจ้าอาวาส  ตลอดจนญาติโยมได้ลงมือพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นหลายอย่าง อาทิ  ได้ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณหมู่บ้าน  เก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดปี   สร้างถนนจากบ้านวังหลุมถึงเขารวกเป็นระยะทาง  5.5  กิโลเมตร  และสร้างโรงเรียนประถมศึกษาเป็นอาคารชั้นเดียว  ยาว  50  เมตร  มีห้องเรียน  8  ห้อง  อีกทั้ง

ปั้นรูปสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ที่หน้าเสาธง  มีขนาด  1  เท่าครึ่ง  ตั้งอยู่จนถึงทุกวันนี้  และในวันที่  23  ตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป  พร้อมทั้งแจกทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไม่น้อยกว่าปีละ  100  ทุน  ตลอดมาจนทุกวันนี้

 

รูปปั้นสมเด็จพระปิยมหาราช  ที่โรงเรียนวัดเขารวก
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

            3.  หลวงปู่โง่นได้ตระหนักถึงเด็กที่ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ได้นำโต๊ะเก้าอี้  100  กว่าชุด  ไปบริจาคให้โรงเรียนหลายสิบแห่งทางภาคเหนือ  เช่น  ที่บ้านเหล่า 

บ้านหนองแดง  จังหวัดลำปาง  และโรงเรียนชุมชน  ที่อำเภอเนินมะปราง  จังหวัดพิษณุโลก  นอกจากนั้นยังบริจาคสิ่งของต่าง ๆ  ในหลายเขตพื้นที่  เช่น  บ้านวัดจันทร์  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่  โดยบริจาคเครื่องแต่งกาย  เครื่องเขียน  เครื่องเรียน 

เครื่องกีฬา  ผ้าห่ม  พระพุทธรูป  ยารักษาโรค  ตู้ยาเวชภัณฑ์  และสิ่งของเครื่องใช้  ฯลฯ    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลวงปู่โง่นแจกพระพุทธรูป  ผ้าห่ม  สิ่งของเครื่องใช้  ยารักษาโรค  ฯลฯ

ที่บ้านวัดจันทร์  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่

ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลวงปู่โง่นบริจาคสิ่งของต่าง ๆ  เช่น  เครื่องแต่งกาย  เครื่องเขียน  เครื่องเรียน

เครื่องกีฬา  ผ้าห่ม  พระพุทธรูป  ยารักษาโรค  ตู้ยาเวชภัณฑ์  ฯลฯ

ในถิ่นทุรกันดารหลายเขตพื้นที่

ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

                      4.  พระพุทธวิโมกข์  เป็นพระพุทธรูปที่หลวงปู่โง่นท่านได้สร้างขึ้น  

เพื่อแจกให้แก่โรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่จะให้ทุกโรงเรียน

ได้มีพระพุทธรูปบูชาประจำโรงเรียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าเสาธง  ในการนี้                หลวงปู่โง่นท่านได้ขอรับหน้าที่ดังกล่าว  ท่ามกลางเรื่องของผลประโยชน์ของ

การประมูลรับเหมาของนายทุนต่าง ๆ  ซึ่งท่านก็ต้องผจญกับความชั่วร้ายต่าง ๆ        ทั้งการขัดขวางและที่สุดคือท่านถูกลอบยิง  แต่ท่านก็ยังสามารถจัดสร้างขึ้นได้       โดยท่านส่งมอบพระพุทธวิโมกข์ในขั้นต้นจำนวน  2,528  องค์  จนถึงก่อนที่ท่าน      จะมรณภาพลงจำนวนของพระพุทธวิโมกข์ที่ท่านได้สร้างขึ้นและมอบให้ไว้คิดเป็นจำนวนมากถึง  300,000  องค์  ซึ่งทั้งหมดนั้นท่านมอบให้โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลวงปู่โง่นกำลังสร้างพระพุทธวิโมกข์

เพื่อแจกให้แก่โรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

 

ขบวนพุทธยาตราของหลวงปู่โง่นที่นำพระพุทธวิโมกข์ไปประดิษฐานไว้ตามสถาบันการศึกษา  และหน่วยงานราชการทั่วประเทศไทย
ที่มา  :  (ย้อนรอยกรรม  ตำนานพระสุพรรณกัลยา,  ม.ป.ป.)

 

พระพุทธวิโมกข์ที่โรงเรียนวัดเขารวก
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                   5.  เมื่อสร้างพระพุทธรูปบูชาแล้ว  ท่านก็ได้ดำริที่จะสร้างพระพุทธวิโมกข์ขนาดบูชาติดตัวเมื่อปี  พ.ศ.  2528   เป็นครั้งแรก  เพื่อแจกจ่ายให้แก่เหล่าทหาร

ที่ประจำการอยู่ตามฐานห้วยโกร๋น  หินร่องกล้า  ดอนมะเกลือ  เมืองน่าน  ทุ่งช้าง  

ท่านจัดสร้าง และอธิษฐานจิต  เสร็จแล้วก็นำไปมอบให้กับเหล่าทหารดังกล่าว  

โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด  มวลสารที่ใช้สร้างพระกริ่งพุทธวิโมกข์เป็นโลหะผสม  

สีออกเหลืองอมเขียวเล็กน้อย  ปลุกเสกโดยหลวงปู่โง่น  และหลวงปู่ดู่  วัดสะแก  พุทธคุณที่ปรากฏแก่เหล่าผู้กล้ารั้วของชาตินั้น  ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  

ดีทางแคล้วคลาด  ปกป้องอุบัติภัยได้อย่างรอบด้านเลยทีเดียว  จัดเป็นของดีที่น่าบูชาติดตัวเพื่อหวังพึ่งพุทธคุณได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากผ่านการปลุกเสกและอธิษฐานจิตโดยหลวงปู่โง่นและหลวงปู่ดู่

  

 

 

 

 

 

 

 

 

พระพุทธวิโมกข์ขนาดบูชาติดตัว

ที่มา  :  (พระพุทธวิโมกข์,  2548)

                      6.  หลวงปู่โง่นได้นำพระบรมรูปของพระนางสุพรรณกัลยา 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และสมเด็จพระเอกาทศรถ  มาประดิษฐานบนพระธาตุดอยเวา สืบเนื่องมาจากนิมิตของหลวงปู่โง่น  ที่ได้แยกกายแฝงสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยกับพระนางสุพรรณกัลยา  วีรสตรีไทยที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง  และเกิดแรงบันดาลใจ  จึงได้อัญเชิญพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มาประดิษฐานที่แห่งนี้  ณ  วันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2541  ต่อมาได้อัญเชิญ

พระบรมรูปของสมเด็จพระเอกาทศรถ  และพระนางสุพรรณกัลยามาประทับเรียงกันสามพระองค์  ในวันที่  13  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2542  และผินพระพักตร์ไปยังประเทศพม่า  ที่มีพระบรมรูปของบุเรงนองประทับหันหน้ามายังฝั่งไทย  ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสี่

พระองค์ได้ระลึกถึงสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและพม่าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  

อีกทั้งยังก่อให้เกิดความรุ่งเรืองสืบมา

 

พระบรมรูปของพระนางสุพรรณกัลยา  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 
และสมเด็จพระเอกาทศรถ  ประดิษฐานบนพระธาตุดอยเวา
ที่มา  :  (พระธาตุดอยเวา,  ม.ป.ป.)

                7.  ปีไหนฝนแล้ง  ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดี  จึงได้จัดตั้งธนาคารข้าวเปลือกไว้อย่างน้อยปีละ  100  เกวียน  ให้ชาวบ้านได้กู้ยืมไปกินโดยไม่คิดดอกเบี้ย  กู้ไปเท่าไรก็ให้เอามาคืนเท่านั้น 

                      8.  ส่วนในจังหวัดต่าง ๆ  ทางเขตภาคเหนือ  เมื่อฤดูหนาวมาถึงได้จัดหา

สต๊อกผ้าห่มไว้ปีละ  3,000 – 5,000  ผืน  เพื่อนำไปแจกผู้ยากไร้  พร้อมด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  ตลอดจนเครื่องยาเวชภัณฑ์ต่าง ๆ  การเดินทางไปแจกต้องอาศัย

หน่วยราชการในท้องถิ่นนั้น ๆ  เป็นผู้นำทาง  ถ้าเป็นแดนทุรกันดารจริง ๆ  ก็อาศัยทหารนำพาไป

                      9.  จัดทำหัวส้วมและถังส้วมแจกชาวบ้านประมาณ  1,000  ชุด 

ราคาชุดละประมาณ  800  บาท

                      10.  ช่วยทางราชหารขุดค้นเสาหลักเมืองเก่าที่ถูกฝังอยู่ขึ้นมาสร้างให้ใหม่ถึงสองแห่ง  คือ  เสาหลักเมืองพิจิตรและเสาหลักเมืองน่าน  โดยเฉพาะเมืองพิจิตรนั้น  ได้ช่วยทางราชการในยุค  พ.ศ.  2509  ได้ขุดค้นเอาของเก่าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา 

แล้วสร้างศาลและเสาหลักเมืองให้ใหม่  และได้ขอบิณฑบาตที่ดินในบริเวณ

กำแพงเมืองเก่าหลายร้อยไร่  สร้างเป็นอุทยานเมืองเก่า  โดยมอบให้กรมศิลปากร

ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน  ส่วนหลักเมืองจังหวัดน่านนั้นหลวงปู่โง่นได้ทุ่มเททุกอย่าง  พร้อมทั้งบรรจุท้าวเวสสุวัณลงในหลุมเสาหลักเมืองหลายหมื่นองค์

 

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร

ที่มา  :  (อุทยานเมืองเก่าพิจิตร,  ม.ป.ป.)

                      11.  หลวงปู่โง่น  เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่นิยมสร้างรูปท้าวเวสสุวัณ  ไม่ใช่

เพิ่งมาฮิตสร้างเอาปีสองปีมานี้  ท่านสร้างมาตั่งแต่ปี  พ.ศ. 2514  ทำเสร็จก็เอาไปบรรจุไว้ตามหลุมลูกนิมิตบ้าง  เจดีย์บ้าง  ในวัดและสถานที่สำคัญ ๆ  ทั่วประเทศ
                           ครั้งสร้างเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน  หลวงปู่โง่นก็นำพระผงว่าน รูปท่านท้าวเวสสุวัณขึ้นทูลเกล้าถวาย  “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”         ให้ทรงบรรจุไว้ใต้เสาหลักเมือง  เหลือนอกจากนั้นก็แจกให้ทหาร  ตำรวจ  ข้าราชการ  

และประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะทหาร  รับแล้วไปรบกับผู้ก่อการร้ายจนชนะราบคาบมาได้  นอกจากฝีมือแล้วก็ยังเป็นเพราะมีกำลังใจส่วนหนึ่งจากท้าวเวสสุวัณของ

หลวงปู่โง่นนั่นเอง
                           “ยักษ์ผู้เมตตา”  ของหลวงปู่โง่น  จะเป็นพระผงพิมพ์สี่เหลี่ยม  มีอยู่      2  บล็อก   คือ  บล็อกหลังมีตัวหนังสือกับไม่มีตัวหนังสือ  แต่จะปรากฏยันต์แบบเดียวกันทั้งสองบล็อกเป็นภาษา  “ฮินดู”  อ่านว่า  “โอม”  อันหมายถึง  ตรีมูรติ  หรือมหาเทพทั้ง  3  ของศาสนาพราหมณ์  ได้แก่  พระพรหม  พระศิวะ  พระนารายณ์

 

พระผงว่านรูปท่านท้าวเวสสุวัณที่หลวงปู่โง่นสร้าง

ที่มา  :  (ท้าวเวสสุวัณ  หลวงปู่โง่น  โสรโย,  ม.ป.ป.)

                            พระผงทุกองค์ของท่าน  สร้างขึ้นมาจากมงคลวัตถุและว่านนานาชนิด

มีสรรพคุณป้องกันและแก้ไขได้ในทุก ๆ  ทาง  โดยเฉพาะแก้พิษงู

                               หลวงปู่โง่น  เคยพูดว่า  “นี่ถ้าถูกงูกัดนะ  แล้วอยู่ในป่าไม่มีหยูกยา       ให้ทำยังงี้”  ว่าพลางก็เอาพระใส่ปากท่านพลาง  ทำทีกัดให้ดู  แล้วย้ำว่า   “กัดเข้าไปส่วนหนึ่งกลืนไปเลย  ที่เหลือก็เอามาแปะไว้ที่แผล  ตัวยาในพระจะแก้พิษงู 

ส่วนที่แปะไว้ที่ปากแผลก็จะดูดพิษงู”
                           นอกจากงูแล้ว  หลวงปู่โง่นยังเมตตากล่าวรับรองว่า  ผู้ใดก็ตามที่พก    ท้าวเวสสุวัณของท่านย่อมรอดพ้นจากภัยพิบัติอันตรายทังปวง  ไม่ว่าจะคุณไสย           คุณคน  หรือคุณผี  ก็ป้องกันได้ทั้งหมด  เพราะท่านสร้างขึ้นด้วยสรรพวัสดุที่มีคุณค่าทางจิตใจจากทุกสารทิศทั่วโลก
                           อีกทั้งมวลสารเหล่านั้น  หลวงปู่โง่นท่านได้ดำเนินการเก็บรวบรวมมาด้วยองค์ท่านเองทั้งสิ้น  และนอกเหนือไปจากการปลุกเสกเดี่ยวโดยลำพังท่านแล้ว พระเครื่องของท่านยังผ่านพิธีการสวดภาณยักษ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  เรียกว่าอัดจนแน่นคุณภาพจริง ๆ

 

               

หมายเลขบันทึก: 411593เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2010 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระ สิทธิชัย วงศ่เซ็ง

ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท