ประวัติพระเทพญาณเวที


ประวัติพระเทพญาณเวที

  

 

พระเทพญาณเวที  (บุญมา  ญาณวิมโล)

พระเทพญาณเวที  (บุญมา  ญาณวิมโล)
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

 1.  ประวัติ

      พระเทพญาณเวทีมีนามเดิมว่า บุญมา สังเขป เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.  2459 ตรงกับวันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง เวลาประมาณ 02.00 น. ที่บ้านป่าหวาย หมู่ที่ 1 ตำบลทะเลชุบศร (ปัจจุบันเรียกว่า ตำบลโคกลำนาน)อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บิดาชื่อเนตร มารดาชื่อ พวง นามสกุล สังเขป

      พระเทพญาณเวที เป็นบุตรคนที่สาม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ 

      1.  เด็กหญิงบุญมี  สังเขป  (ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ  5  ขวบ)

      2.  นางทองสุข  สีดา

      3.  บุญมา  สังเขป  (พระเทพญาณเวที) 

      4.  นางเอียง  เง้าเป็ด

      5.  นางเฮียง  นามวงศ์  (ถึงแก่กรรมแล้ว)

      6.  นายบัว  สังเขป

          พ.ศ.2468 บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงต้องทำไร่ ทำนา กับธิดาคนโต คือ เด็กหญิงทองสุข  สังเขป ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 12 ต่อมามารดาสมรสใหม่ กับนายกิ่งเมื่อ  พ.ศ.  2470 มีบุตรธิดาอีก 3 คนคือ

                      1.  นางก้าน

                      2.  ร.ต.ต.สังวาลย์  สังเขป

                      3.  นายสังเวียน  สังเขป

         เด็กชายบุญมา สังเขป จัดว่าเป็นเด็กที่ฉลาด เด็ดเดี่ยว และขยันขันแข็ง เมื่ออายุประมาณ 4 ขวบ น้าชายได้ไปบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบ้านป่าหวาย เด็กชายบุญมาจึงได้ไปอยู่ที่วัดกับหลวงน้าได้เรียนหนังสือต่อหนังสือภาคค่ำ โดยมีพระเป็นครูสอน การต่อหนังสือภาคค่ำคือการต่อหนังสือสวดมนต์ตามที่พระท่านสวดในขณะนั้น

         พ.ศ.2466 พระอาจารย์เฮ้าจากวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง)เทเวศร์กรุงเทพ ฯไปที่บ้านเด็กชายบุญมาได้ฟังท่านพูดถึงเรื่องกรุงเทพ ฯก็อยากไปอยู่กรุงเทพ ฯ กับท่าน  ขออนุญาตมารดาไปอยู่กรุงเทพ ฯ แต่มารดาไม่อนุญาตเด็กชายบุญจึงแอบหนีขึ้นรถไฟไปหลบอยู่ในห้องน้ำไปกับพระอาจารย์เฮ้าเมื่อมาถึงกรุงเทพ ฯเด็กชายบุญมาได้พักอาศัยอยู่กับพระอาจารย์เฮ้าที่วัดเทวราชกุญชร และได้เรียนหนังสือแบบโบราณ 3 – 4 ปีกับปลัดถมยา ต่อมาพระอาจารย์เฮ้าย้ายไปอยู่บ้านเดิมที่นครนายก จึงได้อยู่กับพระอาจารย์สาย 
         พ.ศ.2468 พระอาจารย์สายลาสิกขา จึงฝากไว้กับพระอาจารย์สมบูรณ์ ให้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนประสาทวิทยา ตั้งอยู่ที่ถนนอยุธยา ด้านสี่เสาเทเวศร์  เด็กชายบุญมาเรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนอยากจะเรียนต่อแต่บิดา ถึงแก่กรรมจึงไม่ได้เรียน  แต่พระอาจารย์สมบูรณ์ให้ไปเรียนบาลีที่วัดสามพระยา จนเรียนจบไวยากรณ์  6  ชั้นกับอาจารย์สว่างในปี พ.ศ. 2474 
         พ.ศ.  2474 พระอาจารย์สมบูรณ์เห็นว่าเด็กชายบุญมาเรียนจบไวยากรณ์แล้ว  ประกอบกับมีอายุได้ 15 ปี สมควรบรรพชาเป็นสามเณรได้แล้ว จึงให้เด็กชายบุญมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทรวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2474 โดยมีพระครูสังฆรักษ์ (เงิน) (ภายหลังได้เลื่อนสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่  “พระอินทรสมาจารย์”) วัดอินทรวิหารเป็นพระอุปัชฌาย์ และให้เรียนบาลีที่วัดสามพระยาต่อไปอีกโดยเรียนประโยค ป.ธ.3 กับพระมหาฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.4  (ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ในขณะนั้นวัดสามพระยามีพระธรรมดิลก (ขาว) เป็นเจ้าอาวาส   
          พ.ศ. 2475 พระอาจารย์สมบูรณ์ลาสิกขา และไม่ได้ฝากให้สามเณรบุญมาอยู่ในปกครองของพระอาจารย์รูปใด ได้อยู่เป็นอิสระขึ้นตรงกับเจ้าอาวาส ต่อมาในปี พ.ศ.  2476 ทวดบัว จันทรพฤกษ์ ซึ่งเป็นป้าของหลวงชลวิสัยเสนี นายทหารเรือเป็นผู้ให้อุปการะ  ให้ย้ายจากวัดอินทรวิหารไปอยู่กับพระมหามุ้ย ชาวสวรรคโลก ณ วัดราชบูรณะ  (วัดเลียบ) เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ และขอให้คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ ซึ่งเป็นหลานของท่านให้ความอุปการะแก่สามเณรบุญมาเรื่อยมา และในปี พ.ศ. 2476 สามเณรบุญมาก็สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ภายหลักจากที่แปลธรรมบทกอง 1 และกอง 2 เป็นลำดับมาแล้ว (ในสมัยนั้นไม่มีประโยค ป.ธ.1 และ ป.ธ.2) ต่อมาได้เรียนแปลต่อกอง 3 จนในที่สุดได้เข้าสอบไล่สนามหลวงและสอบไล่ได้ประโยค ป.ธ.3 ในปี พ.ศ. 2477

 

 

สามเณรบุญมา  สังเขป  ถ่ายเมื่อ  พ.ศ.  2478
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542,  หน้า  8) 

          พ.ศ. 2480 เมื่ออายุครบอุปสมบทได้ สามเณรบุญมาได้ไปหาอาจารย์ปลัดถมยาซึ่งลาสิกขาไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านหลังวัดนรนาถสุนทริการาม เมื่อไปถึงบ้านอาจารย์ปลัดถมยา พอดีมีหม่อมละออง เกษมศรี หม่อมของหม่อมเจ้าวัฒยากร เกษมศรี ไปที่บ้านของอาจารย์ปลัดถมยา พอท่านรู้ว่าสามเณรบุญมาเกิดปีเดียวกับ ยุครบพลูกสาวจึงจัดการบวชให้  โดยได้กำหนดให้ทำการอุปสมบทที่วัดราชบูรณะในวันพุธ ขึ้น  13  ค่ำ  เดือน  8  ปีฉลู  ตรงกับวันที่  21  กรกฎาคม  พ.ศ.  2480  โดยมีพระเทพเทวี(โสม  ฉนฺนมหาเถระ)  เป็นพระอุปัชฌาย์  มีพระครูสุนทรสีลาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระครูประสิทธิสุตคุณ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

           พ.ศ. 2480 พระมหาบุญมา ญาณวิมล ได้เรียนและสอนอยู่ที่วัดราชบูรณะและสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทในปี พ.ศ. 2481 และสมัครสอบ ม.3 ได้ในปีนั้นด้วย ครั้นในปีถัดไปก็สอบไล่ได้ประโยค ป.ธ.4        
                
           พ.ศ. 2483 – 2484 พระมหาแทน เขมวโร (นุสิทธิ์) ป.ธ.6 ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระมหาบุญมาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณรอยู่ที่วัดอนงคาราม ย้ายไปช่วยเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ได้ชวนพระมหาบุญมา ให้ไปช่วยสอนนักธรรมด้วยกันที่วัดบางมูลนาก  แต่พระมหาบุญมาปฏิเสธไม่ไป เนื่องจากเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่อยู่ด้วยหลายคน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2486 พระมหาแทนย้ายจากวัดบางมูลนากไปอยู่วัดทรงธรรม ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน (ปัจจุบันเป็นอำเภอทับคล้อ)  จังหวัดพิจิตร และได้ชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน   
                  
            พ.ศ. 2487 ขณะใกล้จะถึงวันเข้าพรรษา ท่านเจ้าอธิการสุวรรณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามงคลและเจ้าคณะตำบลทับคล้อ ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 8  ปี พ.ศ. 2487 ท่านพระครูพิบูลศีลสุนทร (บุญมา ปภสฺสโร) ได้ให้พระปลัดเจริญปุณฺณสุวณฺโณ วัดตะพานหิน มาติดต่อขอให้ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดท่ามงคลและเป็นเจ้าคณะตำบลทับคล้อ พระมหาบุญมาใช้เวลาตัดสินใจ อยู่ 3 ชั่วโมง จึงรับปากกับท่านปลัดเจริญที่จะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามงคล เหตุผลหนึ่งที่ยอมรับไปเป็นเจ้าอาวาสน่าจะเป็นเพราะท่านมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งสำนักเรียนภาษาบาลีตามที่เคยตั้งความปรารถนาไว้แล้วก็ได้ (วัดท่ามงคลได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมงคลทับคล้อ” ในภายหลัง)

           การเดินทางไปรับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่ามงคล พระมหาบุญมามีอายุได้ 28 ปี กำนันทรงธรรม บุรพรัตน์ ได้จัดช้าง 7 เชือก ไปส่งที่วัดท่ามงคลพร้อมกับอุบาสกอุบาสิกาด้วย  เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดไม่ทราบว่าจะลงจากหลังช้าง ที่ตรงไหนจึงต้องเอาช้างไปเทียบที่หน้าต่างแล้วเข้ากุฏิทางหน้าต่าง  หลังจากนั้นได้ไปคารวะพระพุทธรูปที่หอสวดมนต์และเข้านมัสการท่านเจ้าอธิการสุวรรณ อดีตเจ้าอาวาสด้วย ต่อมาได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับพระภิกษุสามเณร และเดินลงบันไดไปเยี่ยมญาติโยมทั้งที่มาส่งและมาต้อนรับ อุบาสกอุบาสิกาชาวทับคล้อ ไม่พอใจท่านเจ้าคณะอำเภอตะพานหินและเข้าใจว่าพระมหาบุญมาเป็นพรรคพวกของเจ้าคณะอำเภอที่ส่งมาปกครองวัดท่ามงคลได้ทำการประท้วง ด้วยการไม่จัดเวรอาหารเพลมาถวายแก่พระภิกษุสามเณร เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรไม่มีอาหารเพลฉัน พระมหาบุญมาจึงต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการจัดทำอาหารเพลกันเอง โดยเรียกเอาเงินวัดที่มีอยู่ที่สามเณรอุนะ (สามเณรประภาส  สังข์น้อย) มารวมกับเงินของพระมหาบุญมาที่มีอยู่ 27 บาท แล้วให้สามเณรจัดทำอาหารเพลฉันกัน  พระมหาบุญมาได้บอกกับพระภิกษุสามเณรว่าถ้าเงินหมดเมื่อไรก็จะย้ายไปทันทีแม้จะเป็นในพรรษา ในตอนค่ำได้ไปพบกับญาติโยมในบ้านบางคนจึงทราบว่าญาติโยม จะลองใจดู จึงได้พูดให้ญาติโยมเข้าใจ ญาติโยมจึงได้จัดอาหารเพลมาถวายตามปกติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา                      
           
           ในการรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามงคลครั้งนี้ พระมหาบุญมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลทับคล้อและเป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ องค์การศึกษา เรียกว่า “ศึกษาอำเภอตะพานหิน”  ด้วย                      
            พ.ศ. 2490 ทางการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะพระธรรมดิลก เจ้าคณะ ตรวจการภาค 2 (ในขณะนั้น) เห็นว่าพระมหาบุญมา ญาณวิมโล เจ้าสำนักเรียน วัดมงคลทับคล้อเป็นผู้ที่มีความสนใจในกิจการของพระศาสนา และมีความเหมาะสมที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์ องค์การปกครองคือเจ้าคณะอำเภอ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระมหาบุญมาดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์  องค์การปกครอง คือ เจ้าคณะอำเภอตะพานหิน  ทำหน้าที่ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรในเขตอำเภอตะพานหินต่อไป

         พ.ศ.  2491 ทางการคณะสงฆ์แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่ได้บริหารกิจการของสำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อมาได้ 3 – 4 ปี ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีโรงเรียนให้นักเรียนได้ใช้เป็นสถานที่ เล่าเรียน จำนวนภิกษุสามเณรก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทางการคณะสงฆ์จึงได้ขอพระราชทานสมศักดิ์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่  “พระครูนิพัทธธรรมโกศล” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2492

 

 

พระครูนิพัทธธรรมโกศล  พ.ศ.  2492 
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

            พ.ศ.  2499  พระครูนิพัทธธรรมโกศลได้รับแต่งตั้งจากทางการคณะสงฆ์ให้เป็นศึกษาจังหวัดพิจิตร พระครูนิพัทธธรรมโกศล ได้ทุ่มเททั้งกำลังใจให้แก่สำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อมาเป็นเวลา 12 ปี (พ.ศ. 2488 – 2500) นักเรียนของสำนักเรียน          วัดมงคลทับคล้อที่สอบได้เป็นมหาเปรียญก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ชื่อเสียงเกียรติคุณของสำนักได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ ทางการคณะสงฆ์จึงได้ขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระวิมลญาณเมธี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500งานฉลองสมณศักดิ์พระครูนิพัทธธรรมโกศล จัดขึ้นที่วัดมงคลทับคล้อวันที่  18 – 19  มีนาคม พ.ศ.  2501

 

พระวิมลญาณเมธี  พ.ศ.  2500 
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

        วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2510 เวลาประมาณ 16.55 น. มารดาของพระวิมลญาณเวทีถึงแก่กรรมต่อหน้าพระวิมลญาณเวที บุตรธิดาและหลาน ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือบางคน รวมอายุได้  74  ปี  3 เดือนเศษ

 

งานศพมารดาของพระวิมลญาณเวที ถ่ายภาพร่วมกับพี่น้องทั้งหมด พ.ศ. 2510ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

        พ.ศ. 2517 พระทีฆทัสสมุนีวงศ์ เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรมรณภาพ ทางการคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระวิมลญาณเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการพระธรรมทูตจังหวัดพิจิตรด้วย                     
        พ.ศ. 2518 พระวิมลญาณเมธี  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาที่ 1/2518 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2518 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพระธรรมทูตจังหวัดพิจิตรด้วย                      
        พระวิมลญาณเมทีได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่  “พระราชวิมลเมธี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2519 จัดให้มีการฉลองอย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2520

 

 

พระราชวิมลเมธี  พ.ศ.  2519
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

          พ.ศ. 2522 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาที่  6/2522 แต่งตั้งให้พระราชวิมลเมธี เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 4 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ให้มีหน้าที่เป็นผู้ช่วย พระธรรมปิฏก  เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะภาค 4 (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ปกครองดูแลกิจการของคณะสงฆ์ใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
          ตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่พระราชวิมลเมธี ได้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดมงคลทับคล้อ  (พ.ศ. 2487 – 2532) วัดมงคลทับคล้อได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในทุก ๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่ทำให้สำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อได้รับเกียรติชื่อเสียงและคำชมเชยมาตลอด  คือ ผลการเรียนการสอนของสำนักที่ได้สร้างบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ  พระเถระชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับชั้นต่างรู้จักสำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อว่าเป็นสำนักเรียนที่มีผู้สอบไล่ได้มากทุกปีสำนักหนึ่ง จึงได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2531 พระราชวิมลเมธีก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่  “พระเทพญาณเวที” ซึ่งยังความปลื้มปีติให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนท่านผู้ที่เคารพนับถือในพระราชวิมลเมธีเป็นอย่างยิ่ง

 

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดยศชั้นเทพ
แด่พระเทพญาณเวที (บุญมา ญาณวิมโล) เมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2531 
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

     

พระเทพญาณเวที  พ.ศ.  2531
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

            วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2534 สภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ แก่พระเทพญาณเวที

 

พระเทพญาณเวที รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
สาขาครุศาสตร์ 
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

        อาพาธ            

       พระเทพญาณเวทีเริ่มอาพาธด้วยโรคเนื้องอกในหลอดอาหารตั้งแต่ วันที่ 23  พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 คณะศิษย์ได้พาท่านไปยังโรงพยาบาลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2533 และพาท่านไปรักษายังโรงพยาบาลวิภาวดี  ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2533 ต่อจากนั้นจึงได้พาไปยังโรงพยาบาลศิริราชในวันที่  16  มกราคม  พ.ศ. 2533 และคณะแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชได้ประชุมตกลงกันให้งดการผ่าตัดโดยเด็ดขาด และให้ทำการรักษาเพียง 2 ทาง คือ ทางเคมีและทางรังสี โดยแบ่งการรักษาทางเคมีออกเป็น 3 ระยะ ในระหว่างที่ทำการรักษาพยาบาลนั้น ทางคณะแพทย์ตกลงให้พระเทพญาณเวทีเดินทางกลับไปพักผ่อนที่วัดมงคลทับคล้อได้ เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ให้เดินทางมารับการรักษาเป็นระยะ ๆ ไป รวมระยะเวลาที่เดินทางไปรับการรักษาและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 8 ครั้งประมาณ 124 วัน                
        การเดินทางมารับการรักษาพยาบาลครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2534  ไม่มีอาการรุนแรงอะไรที่แสดงให้เห็นว่าจะเป็นเหตุให้พระเทพญาณเวทีมรณภาพ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะ 2 – 3 วันหลัง พระเทพญาณเวทีมักจะปรารภกับผู้ใกล้ชิดว่าอยากกลับวัดมงคลทับคล้ออยู่บ่อยครั้ง ถึงกับกำหนดว่าจะเดินทางกลับในวันที่ 15 หรือ 16  มีนาคม พ.ศ. 2534 ทั้ง ๆ ที่ได้ทราบว่านายแพทย์ขอให้อยู่รักษาต่ออีกสัก 2 – 3 วัน  นอกจากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2534 พระเทพญาณเวทีมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะทางนายแพทย์ผู้ให้การรักษาจึงขอให้ท่านอยู่รับการรักษาในวันที่ 15 มีนาคม อีก  1 วัน พระเทพญาณเวทีก็ตกลงและกำหนดว่าเมื่อทางนายแพทย์ตรวจรักษาในช่วงเช้าหรือบ่ายแล้วก็จะเดินทางกลับทับคล้อทันที

        คืนวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2534 พระเทพญาณเวทีพูดคุยกับศิษย์และท่านที่ไปเยี่ยมอาการอาพาธได้ตามปกติ มิได้มีอาการอย่างอื่นแสดงออกมาให้เห็นเลยว่าจะถึงแก่มรณภาพ ก่อนจำวัดนายประจวบ รอดน้อย ซึ่งเป็นผู้ที่มาถวายการปรนนิบัติพระเทพญาณเวทีอยู่เป็นประจำได้เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่พระเทพญาณเวทีสนทนากับนายประจวบอยู่นั้น พระเทพญาณเวทีจ้องหน้านายประจวบบ่อยครั้งและเป็นเวลานาน แต่ก็มิได้พูดจาสั่งเสียอะไรทั้งสิ้นแล้วขึ้นเตียงจำวัด จนกระทั่งประมาณ 02.00 น. มีผู้เห็นพระเทพญาณเวทีเข้าห้องน้ำและออกจากห้องน้ำตามปกติ         
        เช้าวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2534 เมื่อถึงเวลาฉันอาหาร บรรดาผู้ที่อยู่ปรนนิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงปลุกท่านให้ตื่นขึ้นฉันอาหาร แต่ปรากฏว่าพระเทพญาณเวทีไม่ตื่นเสียแล้ว จึงได้ตามแพทย์และพยาบาลให้มาดูอาการ ก็ทราบว่าพระเทพญาณเวทีถึงแก่มรณภาพแล้ว จากนั้นจึงได้มีการแจ้งให้ทางวัดมงคลทับคล้อและศิษย์ต่าง ๆ ทราบ  ซึ่งทุกคนก็ตกอยู่ในอาการตกใจ คาดไม่ถึงและเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก         
       ตอนบ่ายได้มีการเคลื่อนย้ายศพของพระเทพญาณเวทีไปยังวัดมงคลทับคล้อ เก็บศพไว้ในกุฏิที่ท่านเคยพักอาศัยอยู่ 1 คืน

 

เคลื่อนศพจากโรงพยาบาลสู่วัดมงคลทับคล้อ
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

                       

ก่อนสรงน้ำศพ 
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

           วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีพิธีสรงน้ำศพบนศาลาการเปรียญมีบรรดาศิษย์และท่านที่เคารพนับถือพระเทพญาณเวทีต่างพากันมาร่วมในพิธีอย่างคับคั่ง  มีผู้เข้าร่วมสรงน้ำศพตั้งแต่เวลาบ่ายจนถึงเย็น ผู้เข้าสรงน้ำศพยังสรงน้ำศพกันไม่หมด เวลาประมาณ 17.00 น.ได้มีพิธีพระราชทานน้ำสรงศพ และจากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้นำศพลงหีบทองทึบที่ได้รับพระราชทานมา และนำหีบขึ้นตั้งบนศาลาการเปรียญเพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์และท่านที่เคารพนับถือได้เข้าแสดงคารวะศพและบำเพ็ญกุศลให้แก่ศพต่อไป

 

บรรดาศิษยานุศิษย์และท่านที่เคารพนับถือได้เข้าแสดงคารวะศพ
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

 

 

พิธีพระราชทานน้ำสรงศพพระเทพญาณเวที
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

 

ศพของพระเทพญาณเวทีที่กุฏิของท่าน
ที่มา  :  (เสถียร  ศรีดี,  2542)

2.  ผลงาน

      2.1  ที่ดินของวัดมงคลทับคล้อ
         ที่ดินของวัดมงคลทับคล้อ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 50 ตารางวา ผู้ที่ยกที่ดินถวายวัดร่วมกันมี 2 ท่าน คือ นายบุตร ไหมแพง และนายเพ็ง นางแหวน หนูพิน  ได้ร่วมกันบริจาคคนละครึ่ง นอกจากนี้พระเทพญาณเวทีได้ซื้อที่ดินจากนางคำพา  มีศิริ  เพิ่มเติมทางด้านหลังอีกประมาณ 2 งาน ในราคา 60,000 บาท และนางคำพาได้ยกที่ดินให้อีก  2 งานเศษ เมื่อซื้อแล้วได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังปัจจุบันนี้ (สร้างเมื่อ  พ.ศ.  2521 - 2525) สรุปแล้วที่ดินวัดมงคลทับคล้อขณะที่พระเทพญาณเวทีเป็นเจ้าอาวาสมีประมาณ 11 ไร่เศษ

      2.2  เปิดสำนักเรียน
          พระเทพญาณเวทีและพระมหาแทนได้เปิดสำนักเรียนสอน พระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี ให้แก่พระภิกษุและสามเณร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่ง พ.ศ.  2491 มีชื่อเสียงขึ้นจนกลายเป็นสำนักชั้นนำของประเทศ สำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อสามารถผลิตพระภิกษุ สามเณรเปรียญออกมาได้กว่า 45 รุ่น นับจำนวนได้ประมาณ  1,700  รูป  โดยเฉพาะมีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ในนามวัดมงคลทับคล้อจำนวน  5  รูป  และที่เป็นศิษย์สำนักเรียนนี้ไปสอบได้ในนามสำนักเรียนอื่นอีก  9  รูป  นอกจากนี้พระภิกษุ  สามเณรจากวัดมงคลทับคล้อยังสามารถเล่าเรียนจนจบปริญญาตรี   โดยเฉพาะจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มีจำนวนมากกว่า  60  รูป  จบการศึกษาปริญญาโทเป็นจำนวนมาก  และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกมีจำนวน  2  รูป

      2.3  การก่อสร้าง          
           พระเทพญาณเวที เป็นพระนักพัฒนาได้ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมายดังนี้

           1. พ.ศ. 2490 ก่อสร้างกุฏิ 3 หลังๆ ละ 3 ห้อง ติดรั้วทางด้านทิศตะวันออกของวัด

          2. สร้างศาลาการเปรียญ มีความยาว 16 วา กว้าง 8 วา เริ่มก่อสร้างประมาณปี  พ.ศ. 2549 3  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ  3  ปี  แล้วเสร็จเมื่อปี  พ.ศ.  2496

 

ศาลาการเปรียญ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

      3.  พ.ศ.  2496  สร้างมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ณ  วัดพระพุทธบาทเขารวก  ตำบลวังหลุม  อำเภอตะพานหิน  จังหวัดพิจิตร

 

 มณฑปพระพุทธบาทจำลอง  วัดพระพุทธบาทเขารวก
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

           4.  พ.ศ.  2497  เป็นประธานสร้างวัดพฤกษวันโชติการาม

           5.  พ.ศ.  2500  สร้างกุฏิใหม่  25  หลัง ๆ  ละ  2  ห้อง  แต่ละหลัง กว้าง  3  วา  ยาว  4  วา  2  ศอก  (กุฏิทั้ง  25  หลัง  ทำการรื้อถอนเมื่อ ปี  พ.ศ.  2539)

           6.  พ.ศ.  2501  เป็นประธานสร้างวัดสันติพลาราม

           7.  พ.ศ.  2502  สร้างพระอุโบสถ  มีความยาว  11  วา  กว้าง  4  วา

 

พระอุโบสถ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

            8.  พ.ศ.  2504  สร้างสระน้ำ  เนื้อที่ประมาณ  4  ไร่

            9.  พ.ศ.  2505  เป็นประธานจัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนระธานจัด  เป็โรงเรียนบ้านสายดงยาง  พ.ศ. 2539 แล้ว) ยาว 4 วา 2  ศอก  (กุฏิทั้ง  25  หลังบ้านสายดงยาง  ตำบลทับคล้อ  อำเภอตะพานหิน  (ในขณะนั้นปัจจุบันเป็นอำเภอทับคล้อ)  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ขนาดกว้าง  8  เมตร  ยาว  40  เมตร

          10.  พ.ศ.  2509  สร้างเมรุ

          11.  พ.ศ.  2509  เป็นประธานสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนวัดป่าเรไรย์  ตำบลทับคล้อ  อำเภอตะพานหิน  (ในขณะนั้นปัจจุบันเป็นอำเภอทับคล้อ)  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว  ขนาดความกว้าง  4.50  เมตร  ยาว  20  เมตร

                       

หมายเลขบันทึก: 411360เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

ขอบคุณ คุณครูดงตะขบ
ที่นำข้อมูลประวัติหลวงพ่อบุญมา มาเผยแพร่สาธารณะ
เจริญพร

พระมหาจันทรา สุขภาโส

อยากทราบยอดศิษย์มงคลทับคล้อทุกท่าน ไมว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส รบกวนอาจารย์ช่วยหน่อยนะครับ

ศิษย์เก่ามงคลทับคล้อ กุฏิบุญเสรฐ

ขอบคุณคุณครูอย่างสูง ที่ท่านได้นำประวัติของหลวงพ่อมาเผยแพร่ ทำให้ศิษย์เก่าทุกคนได้ทราบและได้รำลึกนึกถึงพระคุณของหลวงพ่อ ศิษย์วัดมงคลทับคล้อ พวกเราต้องรักกัน

  • ดีใจมากที่เผยแพร่ประวัติและผลงานของหลวงพ่อ
  • เห็น www ของวัดทับคล้อ (สวนโพธิสัตว์) แล้วชื่นใจ  ครูดงตะขบมีเวลา ช่วยทำให้วัดมงคลทับคล้อบ้างจะขอบคุณ หลาย ๆ
  • พวกเราต้องรักกัน ๑๔ - ๑๕ ม.ค.๕๕ วันคืนส่เหย้าที่สำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อ ครับ

ขอบคุณมากครับ ที่นำประวัติของหลวงพ่อมาเผยแพร่

ศิษย์วัดมงคลทับคล้อ 2529-2534

คิดถึงหลวงตาจังเลย  ดิฉันเป็นหลาน ของหลวงตา  ดิฉันจำได้เวลาลูกหลานแต่งงาน หลวงตาชอบสอน การใช้ชีวิตคู่ ตอนหลวงตามรณภาพ ตอนนั้นดิฉันอายุแค่ 14 ปี  หลวงตาเป็น น้องชาย ของยายดิฉัน ซึ่งชื่อ คุณยาย เอียง  เง้าเป็ด  เหลืออยู่ คนเดียวในบรรดาพี่น้อง บิดา มารดาเดียวกัน ทั้ง 6 คน และเหลือ ต่างบิดา อีก 1 คน คือ คุณยาย ก้าน คะ ตอนนี้ คุณยาย เอียง อายุ 96 ปีแล้วคะ ยังแข็งแรง ดี คะ ตอนนี้คุณยาย อาศัย อยู่ที่  ต.นายาว  อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

จันทร์โอพระเครื่อง

ขอขอบคุณครับผมที่นำประวัติหลวงพ่อ ออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ ให้มากขึ้นฯฯฯฯฯไป

ลูกแม่ปอง. ข้างวัดมงคลทับคล้อ

ดีใจจัง. ที่มีคน นำเอา ประวัติ หลวงพ่อเผยแพรผมตอนเป็นเด็ก. จำได้ว่า. ไปนอน ไปเล่น อยู่กุฏิ หลวงพ่อใหญ่ เสมอ. ท่านก็จะกอด จะเล่นด้วยตลอด. 

ขอบคุณนะครับ. ที่นำประวัติ หลวงพ่อใหญ่ 

"พวกเราต้องรักกัน"

กราบขอบพระคุณ ครูดงตะขบมากๆครับ ที่นำประวัติของหลวงพ่อใหญ่ มาประกาศเกียรติคุณ เป็นวัดที่ผมได้เคยอาศัยข้าวก้นบาตรในทุกๆวันพระเลยครับ จะมีหมาชื่อใอ้แดงตัวใหญ่ๆคอยวิ่งไล่กัดเด็กวัดอย่างผมเป็นประจำ บ้านผมอยู่หลังศาลเจ้าตรงข้ามกับวัด ติดฝั่งตลาด โตที่นั่นครับ

ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านทับคล้อ แม่น้อย บุญช่วย

กราบขอบพระคุณ ครูดงตะขบมากๆครับ ที่นำประวัติของหลวงพ่อใหญ่ มาประกาศเกียรติคุณ เป็นวัดที่ผมได้เคยอาศัยข้าวก้นบาตรในทุกๆวันพระเลยครับ จะมีหมาชื่อใอ้แดงตัวใหญ่ๆคอยวิ่งไล่กัดเด็กวัดอย่างผมเป็นประจำ บ้านผมอยู่หลังศาลเจ้าตรงข้ามกับวัด ติดฝั่งตลาด โตที่นั่นครับ

ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านทับคล้อ แม่น้อย บุญช่วย

รศ.นิลรัตน์ กบิ่นจันทร์

ผมเพิ่เห็นประวัติกลวงพ่อพระเทพญาณเวที และนั่งอ่านจนใจต่อเมื่อวันที่5 พฤษภาคม 2565 นี้ขอขอบคุณท่านที่ส่งมาให้อ่านให้น้อมรำลึกถึงคุณหลวงพ่อพระเทพญาณเวที ซึ่งผมได้อาศัยการศึกษาที่วัดมงคลทับคล้อ จนสอบ นัดธรรมชั่นเอก และ ปธ.4 จึงย้สยามศึกษาต่อที่กรุงเทพได้จนปัจจุบันเพราะอาศัยใบบุญหลวงพ่อพระเทพญาณเวที จึงได้สร้างฐานะมีอันจะกินจะใช้ปัจจุบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท