ประวัติหลวงพ่อขวัญ


หลวงพ่อขวัญ

  

หลวงพ่อขวัญ  ปวโร 

  

หลวงพ่อขวัญ  ปวโร 
ที่มา  :  (องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร, 2551, หน้า 37)  
        

 1.  ประวัติ 
       หลวงพ่อขวัญ  ปวโร หรือ พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ เดิมชื่อขวัญ หมอกมืด  เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2451  ที่บ้านไร่ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม  จังหวัดพิจิตร มารดาชื่อเอี้ยง เป็นคนบ้านไร่ บิดาชื่อเหลือ หมอกมืด เป็นคนรายชะโด หลวงพ่อขวัญมีพี่น้องทั้งหมด 5  คน  คือ 

                      1.  ไม่ทราบชื่อ

                      2.  ไม่ทราบชื่อ

                      3.  นายขวัญ  หมอกมืด  (หลวงพ่อขวัญ  ปวโร)

                      4.  นางทา  องศ์ปัญญัติ

                      5.  กำนันผล  หมอกมืด

         หลวงพ่อขวัญอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.  2470 เดือน 4 แรม 8 ค่ำ ที่วัดบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอวชิรบารมี) จังหวัดพิจิตร โดยมีพระครูศีลธรารักษ์  (หลวงพ่อยิ้ม) วัดท่าหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ชิด เป็นกรรมวาจาจารย์  และอาจารย์ฟัก วัดสนามคลี เป็นอนุศาสนาจารย์

ขณะนั้นพอดีกับทางวัดบ้านนากำลังจัดงานฉลองศาลา  (ศาลาหลังนี้คือหลังที่รื้อไปแล้ว ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถหลังเก่า) มีการอุปสมบทร่วมกันวันนั้นถึง 19 รูป อุปสมบทอยู่จนค่ำจึงเสร็จ  เมื่อหลวงพ่อขวัญอุปสมบทแล้วก็มาอยู่ที่วัดบ้านไร่เลย มีลุงโต ยืนนาน  (สามีของป้าเอี่ยมพี่สาวของแม่หลวงพ่อขวัญ)  หลวงลุงโตอุปสมบทพร้อมกันกับหลวงพ่อขวัญ ตารอด วิมล และนายแหยม ไม่ทราบนามสกุล รวมมีพระใหม่ 4 รูปด้วยกัน

          เมื่ออุปสมบทพรรษาแรก หลวงพ่อขวัญเริ่มท่องหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนานและธรรมจักรกัปปวัตนสูตรจบ พอพรรษาที่สองเริ่มมีมารผจญ คือ สังขารมารและเบญจขันธ์มาร เริ่มป่วยตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 สาเหตุที่ป่วยก็เพราะไปอันดับนาคที่วัดรายชะโด กลับมาจนมืด ฝนตกหนัก ต้องบุกน้ำลุยโคลนมาตลอด เลยเป็นไข้หวัดอยู่ 3 – 4 วัน  เดินออกจากกุฏิไม่ไหว วันแรม  1 ค่ำ เดือน 8 เดินไปร่วมปฏิญาณพรรษาไม่ได้  กลายเป็นไข้พิษมากขึ้นทุกที  เดือดร้อนหมอแผนโบราณมารักษาพยาบาลกัน  มีพระอาจารย์ชิด  ตั้งใจ  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนา  พร้อมด้วยหมอวัง  คงเกษม  และหมอบาง  วิมล  รักษากันอยู่ถึงเดือน  10  โยมแม่เห็นท่าไม่ดีจึงหาหมอดูมาดู  หมอดูดูแล้วบอกให้ย้ายที่อยู่  โยมแม่จึงปลูกกระท่อมข้างกุฏิ  จึงย้ายลงไปนอนในกระท่อมอีกนาน  ญาติโยมช่วยกันเก็บเครื่องยามาต้มรักษา  เศษของเครื่องยาที่เหลือเอามากองไว้ปลายกระดานนอกฝากระท่อม  ในกองนั้นมีฝักคูณ  (ปัจจุบันเรียกว่าราชพฤกษ์)  รวมอยู่ด้วย  พรรษานี้น้ำมาก ถึงกับท่วมกระท่อม  เลยต้องย้ายไปอยู่บ้านกับมารดา  บรรดาญาติโยมก็บอกว่า ให้ลาสิกขาบทเสีย  บางทีโรคภัยอาจหายได้  เพราะเคยมีคนเขาทำกันมาแล้ว  เมื่อป่วยรักษาเท่าไรก็ไม่หายจึงลาสิกขาบทหายมาก็เยอะ  บุญไม่ถึงกระมัง แต่หลวงพ่อขวัญไม่ยอมฟัง  ไม่ยอมลาสิกขาบท  ท่านบอกว่าถึงเวลาก็ให้มันตายไป  เรียกว่ายอมตายคาผ้ากาสาวพัตร  หลวงพ่อขวัญหนีน้ำไปอยู่กับมารดาเพราะน้ำท่วมกระท่อม  ไปอยู่บ้านมารดาจนน้ำลด  น่าอัศจรรย์เจ้าฝักคูณที่กองอยู่บนกระดานนอกฝากระท่อมตกลงดินไปงอกขึ้นเป็นต้นใหญ่  (ตรงข้างทางเดินในบริเวณวัด) ส่วนต้นฉำฉาหรือต้นก้ามปูนั้น  หลวงพ่อขวัญท่านว่ารื้อกุฎิศาลา  หลุมเสาเอาฉำฉา ฝังลงไปในหลุม  (ที่เห็นเรียงแถวเดียวกับต้นคูณนั่นเอง) เป็นอันว่าไปอยู่บ้านกับมารดาและน้อง ๆ  ทั้งพรรษา  พอถึงเดือนอ้าย พวกน้อง ๆ  ไปอยู่นากันเพื่อเกี่ยวข้าว  พอหลวงพ่อขวัญค่อยยังชั่วก็หัดเดินบนบ้าน มารดา  เฝ้าบ้านให้มารดาไปด้วย  ตอนกลางคืนอยู่กับมารดา  กลางวันอยู่รูปเดียว พอเช้ามารดาหาอาหารเช้า  อาหารเพลถวายไว้ให้แล้วก็ไปเกี่ยวข้าวที่นา  เย็นก็กลับมาอยู่เป็นเพื่อน  อยู่ที่บ้านมารดาจนถึงเดือน  3  จึงแข็งแรงกลับวัดได้  แต่ก็ไม่สู้จะดีเท่าไรนัก  เพราะเกิดเป็นโรคเหน็บชาแต่ก็เดินได้  เป็นอยู่หลายปีจึงหายขาด  เดือน  7เดินทางไปบางไผ่  อำเภอบางมูลนาก  จะไปอยู่กับนายชื้น  พรมมาศ  ซึ่งเป็นพระ ลูกชายของลุงปลื้ม  พรมมาศ  ได้ข่าวว่าอุปสมบทอยู่ที่นั่น  พอไปถึงปรากฏว่าเขาลาสิกขาไปเสียแล้ว  เพราะเขามีครอบครัวอยู่ก่อน  หลวงพ่อขวัญเดินทางไปบางไผ่เพราะมีความตั้งใจจะไปเรียนปริยัติธรรม  แต่ผลสุดท้ายที่วัดนั้นเขาก็ไม่มีพระจะเรียน หลวงพ่อขวัญไปพักอาศัยอยู่  3 – 4  วัน  ก็กลับมาอยู่วัดบ้านไร่ตามเดิม  ทางวัดบ้านไร่ยังไม่มีเจ้าอาวาส  จึงยกให้หลวงลุงโตเป็นเจ้าอาวาส  ได้สวดมนต์  ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นไปตามสมณเพศจะพึงกระทำ  จนออกพรรษาที่  3  พอถึงฤดูแล้งราวเดือน  7  จึงชวนอาจารย์สังเวียน  ซึ่งอยู่วัดบ้านนา  ไปเรียนนักธรรมที่วัดท่าฬ่อ  ปีนี้บังเอิญเป็นปีที่มีเดือน  8  สองหน  เดือน  8  ต้น  ทางวัดท่าฬ่อเขาเปิดเรียน  ต้องท่องแบบ  “นวโกวาท”  กันอย่างเอาจริงเอาจัง  เพื่อให้ทันเรียนเข้าพรรษา  เดือน  8  หลัง  ช่วงระหว่างเข้าพรรษาวัดท่าฬ่อปิดเรียนอยู่พักหนึ่ง  และต่อมาก็เปิดเรียนอีก  มีนักเรียนทั้งหมด  20  รูป  หลวงพ่อขวัญเรียนไปได้หน่อยก็เกิดเป็นไข้จับสั่นจะเป็นเฉพาะเวลา  10.00  น.  ถึง  11.00  น.  ฉันยาควินินก็ไม่หาย  อดฉันเพลอยู่หลายวันพอสร่างไข้แล้วตอนประมาณ  13.00  น.  ไปเรียนนักธรรม  ได้เป็นไข้จับสั่นอยู่หลายวัน  ฉันยาเท่าไรก็ไม่หาย  จึงนึกถึงบารมีหลวงพ่อที่อยู่ในพระอุโบสถ  จึงตั้งจิตอธิษฐานบนหลวงพ่อว่า  “ถ้ามีบุญญาจะได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา  ถ้าหายจะปิดทอง  3  แผ่น”  ปรากฏว่าไข้จับสั่นหายไปเลย  หลวงพ่อขวัญเรียนอยู่จนถึงสอบ  พรรษาที่  4  สอบได้นักธรรมตรี  ระหว่างเรียนนักธรรม  กลางพรรษาได้ขอเรียนสมถกรรมฐานกับหลวงพ่อครุฑ  วัดท่าฬ่ออยู่จนถึงเดือน  3  จึงของลากลับมาวัดบ้านไร่

            พอกลับมาถึงวัดก็เริ่มย้ายกุฏิจากที่เดิม  คืออยู่ตรงระหว่างต้นพิกุลกับฉำฉา 2  ต้น  และต้นคูณ  ห่างจากที่เดิมประมาณ  20  เมตร  มาตั้งตรงต้นกระดังงาเมื่อย้ายมาจากที่เดิมจึงเอาต้นฉำฉาปักปลูกลงในหลุมเสาทั้งสองต้น  ช่วงระหว่าง  ต้นฉำฉาสองต้น  ตอนกลางเป็นนอกชานกุฏิเก่า  หลวงพ่อขวัญไม่ได้กลับไปเรียนนักธรรมที่วัดท่าฬ่ออีก  ต้องประจำอยู่ที่วัดบ้านนา  เพราะไม่มีพระอยู่เลย  พอดีถึงฤดูแล้ง นายผล หมอกมืด น้องชายจะอุปสมบทพร้อมกับนายแจว  ยุปานันท์ และนายพร้อม หมอกมืด  อุปสมบทพร้อมกันที่วัดบ้านนา  มีหลวงพ่อครุฑ  วัดท่าฬ่อ เป็นพระอุปัชฌาย์  พรรษา 5 วัดบ้านนาเริ่มเปิดเรียนพระปริยัติธรรม  โดยนิมนต์พระจาร  วัดท่าฬ่อมาช่วยสอนนักธรรม  วัดบ้านนาจึงเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมมาจนตราบทุกวันนี้  พรรษา  5  อยู่วัดดูหนังสือสอบนักธรรมชั้นโท  ปรากฏว่าสอบตก  พอพรรษา  6  ประมาณ  ปี  พ.ศ.  2475  ดูหนังสือไปสอบนักธรรมชั้นโทใหม่  ครั้งนี้ปรากฏว่าสอบได้  เป็นอันว่าทิ้งวัดไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดท่าฬ่อ  1  พรรษา  แล้วหลวงพ่อขวัญต้องกลับมาอยู่วัดบ้านนา  ย้ายกุฏิหลายครั้งหลายหน  ทำนุบำรุงรับผิดชอบงานวัดมาก  

            ปี  พ.ศ.  2480  ได้ขออนุญาตญาติโยมไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มาก วัดบางแก้ว  อำเภอบางระกำ  จังหวัดพิษณุโลก  ไปพร้อมกับอาจารย์เจริญ  อ่อนใจ และหลวงพ่อจิต  วัดวังแดง  ไปเดือน  8  เข้าพรรษาเรียนมูลกระจายจนถึงเดือน  4 ก็ต้องกลับวัดอีก  1  พรรษา  ท่านจึงไม่มีโอกาสได้เรียนสูงกว่านี้  เพราะหาพระที่จะอยู่ประจำวัดไม่ได้

2.  ผลงาน
                      พ.ศ.  2475  ได้สร้างธรรมาสน์  1  หลัง  ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก
                      พ.ศ.  2478   เริ่มทำการก่อสร้างอุโบสถ  โดยไปขออนุญาตป่าไม้ตัดไม้มาทำเสา  ตัดแถวบ้านคุยนาดำ  อยู่ห่างจากบ้านปลวกสูงไปหน่อย  ต้องค้างคืนเพื่อตัดไม้นำมาทำโครงสร้าง  พอได้ไม้จำนวนมากพอ  ก็ทำการทำพิธียกเสาเอก     และจัดงานสมโภช  7  วัน  7  คืน  เมื่อทำโครงสร้างหลังคาเสร็จก็นำแฝกมามุงหลังคา  ต่อมาก็ขออนุญาตตั้งวัดและสร้างวัดจนเป็นวัดที่สมบูรณ์  โดยหลวงพ่อขวัญท่าน     ขออนุญาตตั้งชื่อว่า  “วัดเทพสิทธิการาม”  เพราะต้องการสร้างตามชื่อของยายเทพ   ซึ่งยกที่ดินถวายให้สร้างวัดเป็นเนื้อที่ประมาณ  35  ไร่  แล้วก็ขอวิสุงคามสีมา  หรือฝังลูกนิมิตในปีถัดมา  ซึ่งหลวงพ่อขวัญเคยเล่าว่า  การจัดงานฝังลูกนิมิต  มีเงินเป็นทุนสำรอง  อยู่  600  บาทเศษ  โดยในการผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตได้นิมนต์หลวงพ่อครุฑ  วัดท่าฬ่อ  มาเป็นประธานและตัดลูกนิมิต  เวลาตัดลูกนิมิตผู้ใหญ่เขาไม่ให้อยู่  เขากลัวจะตาย  เลยต้องไปอยู่บ้าน และหลวงพ่อจิต  (ปัจจุบันคือพระครูพินิตธรรมภาณ)  ได้มาอุปสมบทหลังตัดลูกนิมิตด้วยในคืนนั้น   เสร็จงานก็ได้เงินแค่  600  บาทเศษ  เท่าทุนเป็นที่น่าอัศจรรย์  แต่เรื่องนี้หลวงพ่อขวัญท่านว่าไม่น่าเชื่อ  แต่ก็เป็นจริงอย่างนั้นทุกประการ  เพราะข้าวของสมัยนั้นราคาถูก เงินสตางค์มีค่าเท่ากับเงินบาทในสมัยนี้               

                 ปี  พ.ศ.  2481  ออกพรรษาแล้วลงไปปากน้ำโพกับตาสอน คงเกษม ไปซื้อปูนมาทำผนังโบสถ์ มีเงินไป 300 บาท เศษปูนที่ซื้อเป็นปูนที่ยังไม่มีตราเหมือนปัจจุบันเป็นปูนใหม่ บรรทุกเรือขึ้นมาส่งถึงวัด เพราะเป็นฤดูน้ำ น้ำยังไม่ลด ในสมัยก่อนเป็นคำพูดที่ว่าเดือน 11 น้ำนอง เพราะแรม  1  ค่ำ  เดือน  11  ออกพรรษาและเดือน  12  น้ำยังทรงอยู่ยังไม่ลด  กฐินผ้าป่าต้องใช้เรือแห่สนุกสนานกันจนเป็นประเพณี  มาสมัยปัจจุบันหาน้ำไม่ค่อยได้แล้ว  ซื้อปูนมา  150  ถุง  เหล็ก  3  หุน 4  หุน  มา  9  หาบ  (สมัยก่อนเขาขายโดยการชั่ง)  บรรทุกเรือมาพร้อมกับปูน  เงินที่มีไป  300  กว่าบาท  ยังต้องใช้เป็นค่าเรืออีกด้วย  ออกพรรษาปีนั้นก็คงจะเป็นพรรษาที่  11  ถึงเดือน  3  ไปเลื่อยไม้ที่บ้านทุ่งนาดำหรือคุยนาดำอีก  ครั้งนี้เลื่อยไม้งิ้วป่า  เพื่อนำมาเป็นแบบปูนเทฝาผนังอุโบสถ  (หลังเก่า)  ปูนไม่พอต้องไปซื้อปูนที่พิษณุโลกอีก 10  ถุง  เอามาเทเสาหน้ามุขทำช่อฟ้าใบระกาเอง  พร้อมด้วยหน้าบันก็แกะสลักเอง  ส่วนซุ้มหน้าต่างจ้างเจ๊กไฝ่  คนบางกระทุ่มมาทำ 
                เรียกได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของหลวงพ่อขวัญ จะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง นับว่าเป็นนักพัฒนา นักสร้าง ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา ด้วยศรัทธาตั้งแต่ยังไม่ได้อุปสมบท  ทั้งการรื้อถอน สร้างกุฏิมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือปูน ส่วนใหญ่จะลงมือทำเองเกือบจะทั้งหมด  ที่จ้างเขาเป็นส่วนน้อย  เรียกว่าคลุกคลีอยู่กับการก่อสร้าง  เช่น  สร้างวัด  สร้างโรงเรียน  เป็นต้น

                ปี พ.ศ. 2495 เริ่มสร้างศาลาใหม่แทนศาลาหลังเก่า ซึ่งบรรดาญาติโยม สร้างไว้ประมาณปี พ.ศ.  2473 ซึ่งเก่าและชำรุด สมัยนั้นเรียนหนังสือที่ศาลา เพราะว่าบ้านไร่ยังไม่มีโรงเรียนเป็นเอกเทศ  

                    ตอนที่หลวงพ่อขวัญยังไม่ได้ทำฝาผนังอุโบสถ  หลวงพ่อขวัญได้ทำพิธีหล่อพระหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านไร่มาจนทุกวันนี้ 

                    สำหรับหน้าที่ทางคณะสงฆ์นั้นหลวงพ่อขวัญเคยเป็นเจ้าคณะหมวดมาก่อนและได้เป็นอุปัชฌาย์มานาน  ท่านผ่านพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาถึง 2 สมัย คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2484 ซึ่งสมัยนั้นการปกครองสงฆ์ แบ่งเป็นองค์การมีดังนี้

                      1.  องค์การปกครอง
                      2.  องค์การศึกษา
                      3.  องค์การเผยแพร่
                      4.  องค์การสาธารณูปการ

      จนเปลี่ยนมาเป็น “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  2506”  และยกเลิกการปกครองแบบองค์การไปเป็นอันว่าการสร้าง การโยกย้าย การรื้อ ถอน ศาสนสมบัติวัด หลวงพ่อขวัญทำอยู่ตลอดมา  หรือจะเรียกว่าหลวงพ่อขวัญเป็น “นักก่อสร้าง” ก็ได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะการสร้างศาสนสมบัติวัดเท่านั้น “โรงเรียนวัดบ้านไร่”  ที่ลูกหลานของท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอบรมบ่มนิสัยอยู่ทุกวันนี้  ก็นับเป็นผลงานของหลวงพ่อขวัญ   ถึงแม้ว่าหลวงพ่อขวัญจะไม่ได้มาลงมือก่อสร้างเอง  แต่หลวงพ่อขวัญก็ได้ให้คำปรึกษาหารือเป็นอย่างดี  ซึ่งได้สร้างเสร็จลงในปี  2503  ก็มีโรงเรียนเป็นเอกเทศตั้งแต่นั้นมา  ไม่ต้องเรียนหนังสือที่ศาลาอีก  ระยะที่ท่านมีร่างกายแข็งแรง  ตอนเย็น ๆ โรงเรียนเลิกแล้ว  หลวงพ่อขวัญจะเดินตรวจตราวัด  บริเวณวัด  และเดินเลยไปถึงโรงเรียนอีกด้วย  เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งของท่าน

         ศาลาหลังนี้  สร้างตรงศาลาหลังแรกโดยกว้างประมาณ  9  วา ยาวประมาณ  12  วา  ครั้งแรกมุงแฝกต่อมาเปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้องปูนทำเองหลวงพ่อขวัญท่านเห็นว่าไม่เหมาะสม  เพราะกุฏิก็ย้ายล่องใต้ไปหมดแล้ว  ไม่ถูกต้อง จึงได้ย้ายศาลาหลังนี้มาเมื่อปี   พ.ศ.  2512  มาปลูกตรงที่ศาลาที่กำลังก่อสร้างใหม่นี้ บัดนี้ได้รื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี  2535

        ปี  พ.ศ.  2514  ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น  1  หลัง (ที่เห็นอยู่ปัจจุบัน)  หลวงพ่อขวัญได้ทำเอง  แต่กระจกจ้างเขาทำ  โดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมา  ฝังลูกนิมิต  เมื่อปี  พ.ศ.  2518  สิ้นค่าก่อสร้าง  500,000  บาทเศษ  (ห้าแสนบาท)  ต่อจากนั้นก็เริ่มไปสร้างวัดสระประทุม  (บึงบัวนอก)  และในปีเดียวกัน (ปี  พ.ศ. 2518) พร้อมด้วยชาวบ้านบึงบัว  หมู่ที่  12  ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก  2  หลัง

 

อุโบสถของวัดบ้านไร่  มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

            ปี  พ.ศ.  2519 ได้เริ่มสร้างศาลา 1 แห่ง และกุฏิอีก 1  หลัง และทำการย้ายกุฏิจากเดิม  โดยใช้วิธีหามทั้งหลังไปทางตะวันตกของศาลา  เสร็จในปี พ.ศ.  2524 แล้วเริ่มสร้างอุโบสถอีก 1 หลัง เสร็จแล้วฝังลูกนิมิตเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2527

 

 กุฏิสงฆ์ที่พบในปัจจุบันเป็นกุฏิที่สร้างขึ้นมาใหม่
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

             ปี  พ.ศ.  2527  สร้างอุโบสถวัดดงกระทิงต่อจากสร้างที่วัดบึงบัวนอก สร้างอยู่ที่วัดดงกระทิงถึง  4  ปีกว่า  จนได้รับอนุญาตผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต  เพราะที่ก่อสร้างอุโบสถเป็นป่าสงวนของทางราชการและอยู่ในเขตของจังหวัดกำแพงเพชร  กว่าจะได้รับการอนุญาตนานเหลือเกิน  ต้องแก้ไขกันอยู่นานจนปี  พ.ศ.  2530  จึงได้ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตเรียบร้อย
             จากนั้นก็ติดตามช่วยเหลือ ซ่อมสร้างวิหาร  “หลวงพ่อรวม” วัดบึงบัวเก่า  (บึงบัวใน)  สมัยโบราณให้เสร็จเรียบร้อยอีก
             ในปี  พ.ศ. 2522 ขณะที่ทำการสร้างศาลา กุฏิ และย้ายกุฏิ ณ ที่วัดบึงบัวนอก (วัดสระประทุมวนาราม)  อยู่นั้น  หลวงพ่อขวัญได้เดินทางไปประเทศอินเดียกับท่านเจ้าคุณวิสุทธิ์วราภรณ์  (ผ่อน  ตั้งใจ)  เจ้าอาวาสวัดจันทรวิหาร ณ  กรุงเทพมหานคร  ท่านเจ้าคุณวิสุทธิ์วราภรณ์  เป็นน้องชายของลุงชื้น  ตั้งใจ โดยการสนับสนุนจากญาติโยมชาวบ้านไร่  และชาวกรุงเทพ ฯ  เป็นบางส่วน ได้ช่วยกันบริจาคปัจจัยเป็นค่าเครื่องบินให้หลวงพ่อขวัญได้ไปเห็นสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา  หลวงพ่อขวัญได้นำดินที่สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และปรินิพาน มาหล่อเป็นพระพุทธรูป  มีเสมาธรรมจักรเป็นรัศมี  และหลวงพ่อขวัญยังใส่ใบโพธิ์ไว้ด้านหลังพระพุทธรูปที่ท่านหล่อขึ้นด้วย  ใบโพธิ์ที่กล่าวนี้หลวงพ่อขวัญท่านก็ได้นำมาจากประเทศอินเดียเช่นกัน  และหลวงพ่อขวัญยังหาตู้มาใส่พระที่ท่านหล่อขึ้น  พร้อมทั้งพิมพ์หนังสือบอกไว้ด้วยว่า  หล่อขึ้นเพื่อประสงค์อะไร  ได้มาอย่างไร  เมื่อไร  พระพุทธรูปที่ท่านทำขึ้นมีหน้าตักกว้าง  2  นิ้ว  มีสีตะกั่ว ทำขึ้นเพื่อแจกญาติ  โยมที่มีอุปการะคุณบริจาคค่าเครื่องบิน
              ปี  พ.ศ.  2530  เมื่อท่านสร้างอุโบสถวัดดงกระทิงและได้ทำการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตเสร็จเรียบร้อย  และได้ติดตามซ่อมแซมสร้างวิหารให้หลวงพ่อรามที่วัดบึงบัวในแล้ว  ท่านได้อาราธนาไปทำช่อฟ้าใบระกาที่วัดวังโขน  อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร
              ต่อจากนั้นหลวงพ่อขวัญได้ไปช่วยสร้างกุฏิที่วัดนิคม  ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม  กุฏิหลังหนึ่งสิ้นค่าก่อสร้าง  ประมาณ  7,000  บาท  สร้างประมาณ 7  หลัง 

               พอสร้างกุฏิให้วัดนิคมจนแล้วเสร็จ หลวงพ่อขวัญยังเป็นที่ปรึกษาสร้างอุโบสถวัดวังตะขบ ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม อีกด้วย จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงพ่อขวัญล้วนอยู่กับการก่อสร้างมาตลอด  ทั้งงานทางด้านศาสนานับแต่ท่านได้เลื่อนยศเป็นเจ้าคณะอำเภอสามง่าม  มาประมาณ  40  ปี  รับพระราชทานยศชั้นสัญญาบัตร  รับพัดยศพระครูชั้นตรี  โท และเอก  จนถึงขั้นพิเศษ  และเมื่อ  พ.ศ.  2533  ท่านได้ไม่รับตำแหน่งจากทางราชการแต่ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่  และในปี  พ.ศ.  2535  ท่านได้สร้าง  ซ่อมกุฏิและศาลาใหม่  พร้อมทั้งสร้างกำแพงรอบวัด  เพื่อจะได้ดูแลเป็นสัดเป็นส่วนและสวยงาม  ศาลาหลังใหม่นี้ปลูกตรงศาลาหลังเก่า  โดยเริ่มรื้อศาลาหลังเก่าเมื่อวันที่  22  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2535  รื้ออยู่  3  วัน เสร็จเรียบร้อย  นายสมาน  ศรีน้อย เอารถแม็คโครมาขุดเสาออก  ลากดินมาถมให้สูงขึ้น  แล้วใช้รถแทร็กเตอร์ปรับดินให้เรียบร้อย  ทำการวางศิลาฤกษ์  เมื่อวันที่  3  มีนาคม  พ.ศ.  2535  ตรงกับแรม  10  ค่ำ  เดือน  3  และเริ่มลงมือทำผัง  ตอกเข็ม ขุดหลุม  เมื่อวันที่  27   มิถุนายน  พ.ศ.  2535

               ศาลาหลังนี้ทำเป็นศาลา  2  ชั้น  คือ  ชั้นล่างเทปูนขัดมัน  สำหรับชั้นล่างนี้ทำอยู่เป็นเวลา  4  เดือน  5  วัน  มุงหลังคา  ส่วนชั้นบนขัดหินอ่อน  สำหรับการทำช่อฟ้าใบระกาของศาลาหลังใหม่นี้  หลวงพ่อขวัญรวมทั้งญาติโยมที่มีฝีมือและใจศรัทธาได้ช่วยกันทำ

 

 ศาลาก่อสร้างในปี  พ.ศ.  2535  และได้ปรับปรุงบูรณะตลอดมา
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

          เมื่อสร้างศาลาหลังใหม่เสร็จแล้ว  ก็ไปช่วยดำเนินการสร้างศาลาวัดหนองทอง  อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร  
          นอกจากการสร้างศาลาวัดหนองทองแล้ว หลวงพ่อขวัญยังมีเมตตาจิต ช่วยวัดวังแดง วัดของหลวงพ่อจิตทำช่อฟ้าอุโบสถ ซึ่งได้ไปทำการทอดผ้าป่า เมื่อวันที่  16 มีนาคม พ.ศ.2536 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทและในขณะเดียวกันได้เตรียมเงินไว้ในธนาคาร  จำนวน  600,000  บาท เพื่อจะจัดการสร้างสะพานข้ามคลองบ้านไร่ตรงหน้าวัดด้านใต้แทนสะพานไม้เดิมอีกด้วย  เพื่อให้ประชาชนผู้มีใจบุญใจกุศลได้ใช้สัญจรไปมาบำเพ็ญกุศลที่วัด ต่อจากการสร้างศาลาหลังใหม่หลวงพ่อขวัญยังสร้างห้องน้ำขึ้นใหม่ 2 แห่ง สร้างประปาและซุ้มประตูวัดใหม่                                                          

               

 ซุ้มประตูทางเข้าวัด  ที่หลวงพ่อขวัญมีดำริให้สร้างขึ้น
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

           ทั้งนี้ด้วยบารมีของท่าน ซึ่งได้มีหลายฝ่ายได้ช่วยสนับสนุน สนองนโยบาย ทำตามคำสั่งของหลวงพ่อขวัญ ได้จัดแจงเป็นกำลัง เป็นแรงกาย ช่วยให้ท่านได้สำเร็จตามความประสงค์เท่าที่จะทำได้ หลวงพ่อขวัญเป็นผู้มีอัจฉริยะในการสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้นำพร้อมทั้งเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาหารือได้ในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร หรือมาจากไหน ถ้ามีใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา มั่นในการทำความดี ท่านยินดีให้ความอนุเคราะห์เท่าที่ท่านจะมีความสามารถและศรัทธา ยากจะหาพระเถระองค์ใดในอำเภอสามง่ามเสมอท่านได้ ขออย่างเดียว เมื่อได้ไปแล้วอย่าไปทำให้ผิดจากความประสงค์ของท่านที่ขออนุญาตหลวงพ่อขวัญไว้  “การซื่อสัตย์สุจริต การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เว้นจากการทำชั่ว หมั่นทำความดี นับเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา” เพราะเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงนับได้ว่า “หลวงพ่อขวัญท่านเป็นปูชนียบุคคล” ที่ควรให้ความเคารพบูชาอย่างยิ่ง

 

วิหารที่เก็บร่างของหลวงพ่อขวัญ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

 

ร่างหลวงพ่อขวัญที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

          หลวงพ่อขวัญละสังขาร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548 รวมสิริ อายุได้  97  ปี

                                                                                                                      

เตียงที่หลวงพ่อขวัญละสังขาร
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

          

หมายเลขบันทึก: 411165เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณข้อมูลประวัติหลวงพ่อขวัญคะหนูเคารพและศรัทธาหลวงพ่อคะหนูเป็นลูกหลานบ้านอื่นมาอาศัยผืนดินแห่งบารมีหลวงพ่อขอให้หลวงพ่อคุ้มครองครอบครัวและชาวพิจิตรให้ร่มเย็นเป็นสุขคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท