การสื่อความหมายทางวิทยาศาสตร์ (science communication)


 

ในขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนก็เปลี่ยนไป ตัวผู้เรียนเองก็เปลี่ยน ทุกคนทราบดีว่าการจดจำเนื้อหาไม่ใช่การเรียนรู้ที่จะสร้างให้ผู้เรียนมีจิตวิทยาศาสตร์  แต่อะไรคือวิธีที่ดีกว่านี้ 

 

นอกจากการทดลองวิทยาศาสตร์ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ยังมีการเรียนรู้ในรูปแบบใดอื่นใดอีกบ้างที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถสื่อความหมายทางวิทยาศาสตร์ได้ดี

 

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๕๓  ดิฉันมีโอกาสได้ไปรับฟัง รศ.ศิลปชัย  บูรณพานิช

 

บรรยายในหัวข้อ การสื่อความหมายเพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

โจทย์ที่น่าสนใจ คือ การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในยุคนี้จะดำเนินไปอย่างไร ในขณะที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงของโลก (ซึ่งเป็นที่มาของเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์) กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

อาจารย์ศิลปชัยแนะนำว่ากิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับการฝึกการสื่อความหมายให้กับผู้เรียนก็คือการนำเรื่องที่พบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน มาชวนกันอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ เช่น นำประเด็น “เหมืองชิลีถล่ม” เข้ามาในชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้ว่า

 

  • ประเทศชิลีอยู่ที่ไหนในโลก
  • เหมืองอยู่ลึกจากผิวดินลงไปเท่าใด เป็นเหมืองอะไร
  • อุณหภูมิที่อยู่ใต้ผิวโลกควรจะเป็นเช่นไร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
  • ในการกู้ภัยวิศวกรชาวไทยไปช่วยงานอะไร
  • การเชื่อมคืออะไร สำคัญอย่างไร
  • การช่วยชีวิตคนออกมาจากเหมืองใต้ดินทำไมจึงต้องใช้การเชื่อม

 

หรือนำประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องของ “น้ำท่วม” มาอภิปราย รายงาน หาเหตุผลทางวิทยาศาตร์มาอธิบายว่า

 

  • เหตุใดน้ำจึงท่วม
  • จะป้องกัน แก้ไขได้อย่างไร
  • หากในอีก ๕ วัน น้ำจะท่วม ๕ เมตร เราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร

 

เมื่อคุย คิด ค้นคว้ามาแล้วก็นำไปสื่อความในชั้นเรียน ซึ่งข้อมูลต่างๆนี้ยังสามารถนำมาทำเป็นจุลสารประจำห้องเพื่อรายงานข่าววิทยาศาสตร์ที่พบจากสื่อต่างๆ ได้ตลอดปีการศึกษา หรือทำในรูปของโปสเตอร์ ติดไว้ที่ชั้นเรียนก็ได้

 

โดยมีพื้นที่ให้นักเรียนได้เขียนสะท้อนคิด (reflection) ด้วยว่านักเรียนที่ทำการค้นคว้าเรื่องนั้นๆ มามีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องที่ทำ และบันทึกเอาไว้ด้วยว่าเข้าถึงข้อมูลนี้เมื่อไหร่

 

อีกกิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์แนะนำไว้ คือ การทำหนังสือเล่มเล็ก (science notebook) ของนักเรียนแต่ละคน ในเรื่องเกี่ยวกับความคิด และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในทุกวัน โดยให้นักเรียนออกแบบรูปเล่ม และวิธีการจดบันทึกของตนเอง ทั้งที่เป็นข้อความ เป็นภาพ เป็นตาราง หรืออื่นๆ

เรื่องที่พบได้ในสมุดบันทึก มีได้ตั้งแต่

 

  • วันนี้ได้เรียนรู้อะไรในเรื่องวิทยาศาสตร์บ้าง
  • นิยาม ความหมายและคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้คืออะไร
  • เรียนรู้อย่างไร
  • อยากจะรู้อะไรอีก
  • คำถามที่น่าสนใจคืออะไร
  • ฯ ลฯ
  • เมื่อบันทึกจบเล่ม ครูให้ผู้เรียนประเมินความก้าวหน้าของตนเอง และจัดทำบทสรุปท้ายเล่ม

 

กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างการเรียนวิทยาศาสตร์ให้มีความหมายต่อชีวิตของผู้เรียน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งกับเพื่อน กับครู และกับพ่อแม่ คู่ขนานกันไประหว่างที่มีการจดบันทึก

 

ประโยชน์สำหรับครูคือ

  • ครูได้รับรู้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงกับเด็ก
  • สามารถติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนจากประเด็น / คำอธิบายที่เด็กเขียนขึ้น
  • สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิจัยเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ของเด็กว่าสอดคล้องกันไหมกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเองของผู้เรียน
  • สามารถทำให้การสรุปงานของนักเรียน และการทำงานวิจัยของครู กลายเป็นวาระเดียวกัน

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 408774เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆที่นำเสนอ

เป็นแนวทางที่ดีมากๆเลยครับ

แต่หลักสูตรการเรียนการสอนยังยึดติดกับเนื้อหาความรู้พื้นฐาน

มากกว่าการสร้างความรู้จากประสบการณ์จริงในปัจจุบันหรือคิดต่อไปในอนาคต

อย่างที่ท่าน รศ.ศิลปชัย บูรณพานิช นำเสนอ

คงต้องร่วมกันกลั่นกรองความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมเรียนรู้จากสถานการณ์

เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีจิตวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงและยั่งยืน

อันจะส่งผลให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาของโลกใบนี้สืบต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท