โรงเรียนขนาดเล็ก


ครู & โรงเรียนขนาดเล็ก

        ในช่วงที่ผมบรรจุเป็นศึกษานิเทศก์ใหม่ๆ มีความอยากรู้อยากเห็นสภาพของโรงเรียนที่ตนเองรับผิดชอบ ที่สำคัญคือต้องการศึกษาสภาพปัจจุบัน/ปัญหาของโรงเรียน ตามขอบข่ายหน้าที่ ที่รับผิดชอบ วันที่ออกนิเทศ ได้เดินทางด้วยรถยนต์ของ สพท.ไปที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งโดยไม่ได้บอกล่วงหน้าเพราะอยากเห็นสภาพจริงของโรงเรียนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็ก 
       โรงเรียนแห่งนี้ ตามแผนที่ที่ผมศึกษามาอยู่ห่างไกลจากเขตฯมาก   การเดินทางช่วงแรกๆ เป็นถนนลาดยางอย่างดี บรรยากาศข้างทางเขียวชอุ่ม ทิวทัศน์สวยงามมาก จนอดไม่ได้ที่จะต้องบันทึกภาพข้างทางด้วย แต่เมื่อใกล้ถึงโรงเรียนประมาณ 4 กิโลเมตร ถนนขรุขระ  จนคนขับรถ สพท. บ่นว่าอยู่เขตก็ดีแล้วออกมาทำไมก็ไม่รู้  (เขาคงเหนื่อยจากการทำงาน)  ใช้เวลาในการเดินทางมากพอสมควร ถึงโรงเรียนก็ประมาณ 10 นาฬิกา เห็นเด็กวิ่งเล่นกัน สนุกสนาน แต่ไม่เห็นมีครูอยู่แถวนั้น จึงได้ถามเด็กนักเรียนว่า คุณครูอยู่ไหมครับ ? นักเรียนตอบว่าครูอยู่แปลงเกษตรหลังโรงเรียน

                   

                                                         อาคารเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก

          ผมเดินดูรอบๆบริเวณโรงเรียนก็สะอาดดี  อาคารเรียนชั้นเดียวดูโล่ง เพราะมีนักเรียนน้อย เสียงอ่านหนังสือกันเสียงดัง เมื่อผ่านไปดู เห็นนักเรียนรุ่นพี่พานักเรียนรุ่นน้องอ่านภาษาไทยในกระดานที่ครูเขียนไว้ ผมนึกในใจว่า ครูไม่สอนหรือยังไง ปล่อยให้นักเรียนสอนกันเอง
         ไม่นานนัก ชายวัยกลางคนเดินเข้ามาถามผมว่า “มาหาใครครับ” ผมบอกว่ามาหา ผอ. ท่านจึงไปตามมาให้  ท่านผอ. มองดูแล้วไม่เหมือนผู้บริหารโรงเรียนเลย เพราะท่านแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบธรรมดาๆ ดูแล้วเหมือนชาวบ้านมากกว่า ท่านเดินเข้ามาและยกมือไหว้ “ สวัสดีครับ ท่าน ศน.”( ท่านกับผมไม่เคยพบกันมาก่อน แต่ที่ท่านทักถูกเพราะผมติดแผ่นป้ายชื่อ และตำแหน่งไว้ที่หน้าอก) ท่านขอโทษที่ไม่ได้มาต้อนรับ ผมบอกท่านว่า ไม่เป็นไร ผมมาเยี่ยมให้กำลังใจ  บังเอิญปวด....จึงถาม “ ห้องน้ำอยู่ไหน? ” ท่านให้ นักการฯพาไปซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากอาคารมากนัก เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องน้ำ กำลังจะทำธุระส่วนตัว ก็บังเอิญเหลือบไปเห็นสิ่งไม่น่าดูขดอยู่ในโถส้วมสีเหลืองอร่าม ส่งกลิ่นพอสมควร(ขออภัย ถ้าท่านกำลังรับประทานอาหาร)เห็นแล้วทำให้หายจากอาการปวด...ทันที และเดินออกมาจากห้องน้ำด้วยท่าทางเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  เมื่อพบท่าน ผอ. ผมบอกกับท่าน
“ ท่าน ผอ......ครับ ผมเจองูเห่า ในห้องน้ำ  ” ท่าน ผอ.. ตกใจมาก  รีบเรียกภารโรงทันที ให้ไปจัดการงูเห่าในห้องน้ำเร็วๆ เดี๋ยวมันจะกัดเด็กนักเรียน ภารโรงฯรีบหาค้อนยาวประมาณเมตรเศษเห็นจะได้ รีบวิ่งไปห้องน้ำ (คงกลัวงูเห่าเลื้อยหนีก่อน) ผมแอบยิ้มในใจ  แต่ไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมาให้เห็น(เก็บอาการ) แต่คนที่แสดงอาการกลับเป็นคนขับรถ ของ สพท.....ของผมเอง วิ่งไปดูกับเขาด้วย(คงอยากเห็นงูเห่า) ไม่นานนัก ภารโรงก็มารายงานด้วยเสียงอันดัง  “  ผอ.ครับ มันเป็นงูสิงครับ ไม่ใช่งูเห่า  ผมจัดการเรียบร้อยแล้ว ”(คงล้างสะอาดแล้ว)  ผมแอบยิ้มในใจ(อีกครั้ง)ใน อารมณ์ขัน ของนักการฯ เป็นอันว่า เรื่องนี้จบลงด้วยดีโดยไม่มีใครเสียหน้า (ทุกอย่าง OK  WIN  WIN  อีกครั้ง)

                           
                                        " ผอ.ใจดี ร.ร.ขนาดเล็ก "
           โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึงร้อยคน แต่จัดการเรียนการสอนระดับ อนุบาล(ปฐมวัย) ถึง ป. 6เป็นโรงเรียนที่มีปัญหามากครับ มีครู 3 ท่าน (รวม ผอ.) ครูมีความสามารถครับ  เพราะต้องสอนแบบคละชั้น แต่ด้วยวัยที่แตกต่างของนักเรียน ทำให้ครูต้องใช้วิทยายุทธ์ ในการบริหารจัดการ  รวมทั้งมีจิตใจที่อ่อนโยน  มีความเมตตา  มีการใช้หลักจิตวิทยา  มี...ฯลฯ จึงจะทำให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุผล 
            ปัญหาเรื่องบุคลากร มีทุกองค์กรครับ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ผู้บริหารระดับสูงก็กำลังหาทางช่วยเหลือ แต่ ณ วันนี้  อาจยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนขนาดใหญ่ให้ครูธุรการจำนวน 1 คน ทั้งๆที่ โรงเรียนขนาดใหญ่เขามีครูธุรการอยู่แล้ว น่าจะให้โรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนละ 1 คน เพื่อคืนครูให้นักเรียนที่แท้จริง( SP2 ) ภาพจริงในวันนี้ คือ ครูธุรการ  1  คน วิ่งรอกทำงานในโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ  2 – 3  โรงเรียน  ยอมรับว่า รัฐ “ คิดดี  วจีชัด ปฏิบัติ...... ” 

                     
                                    " เด็กๆ กำลังรับประทานอาหารกลางวัน "
           การจัดการศึกษาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนครับ การแก้ไขต้องใช้หลักเกณฑ์บวกหลักการ การจัดการเรียนการสอนวันนี้ ครูมีความตั้งใจในการทำงาน  ผู้บริหารก็ช่วยเหลือครูเมื่อเกิดปัญหา   ศึกษานิเทศก์ก็คอยช่วยเหลือในการแนะนำหลักการจัดการศึกษาตามแนวทางการนิเทศแนวใหม่  ฝ่ายงบประมาณก็ต้องช่วยเหลือด้วยวิธีการที่เป็นธรรมและเป็นจริง ทุกฝ่ายต้องทำ  MOU กันครับ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ  ถ้าทุกฝ่ายไม่มัวแต่ประลองยุทธกันมากเกินไป  การศึกษาไทยต้องมีความเจริญก้าวหน้าแน่นอนครับ                                                           
                                                      " ศน.เฉลิมชัย  "

หมายเลขบันทึก: 406599เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2010 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

- ขอบคุณท่าน อ.ขจิต มากครับที่ให้ความกรุณาแนะนำ ความจริงผมมีหลายเรื่องที่จะเขียน แต่เวลาและอารมณ์ตัวเองมันไม่เอื้อครับ

เห็นบล็อกของ อาจารย์แล้วเยี่ยมมากครับ ผมจะคอยติดตามครับ ศน.รุ่งทิพย์ ก็เกี่ยวข้องกับเวลาและอารมณ์พอๆกับผมครับ

ขอบคุณค่ะ ที่เข้าใจ รร.ขนาดเล็ก

อ.นงลักษณ์ คงอยู่ ร.ร.ขนาดเล็ก ลำบากหน่อยนะครับ ผมเคยสอน ร.ร.ขนาดเล็กเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีนักเรียน 97 คน มี ม.1- ม.3

(โรงเรียนสาขา) ลำบากมากครับ แต่ก็สนุกดี เพราะเราได้เรียนรู้อะไรๆต่างๆมากมาย ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูนะครับ

ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์นะคะ ที่แวะมาทักทายกัน...... โอ้โห โรงเรียนของเด็กๆน่าสงสารนะค่ะ แต่ก็เข้าใจดีนะคะว่าต่าง

จังหวัด แต่เราจะทำยังไงให้คำว่าต่าง มันเท่าเทียมกับคนในกรุงฯ ดี นั้นก็คือปัญหาที่จะต้องรอคำตอบจากผู้มี อำนาจ และหน้าที่ที่เกี่ยว

ข้องนะคะอาจารย์

ขอบคุณ คุณต้นแก้ว ที่เข้ามาอ่าน ภาพจริงของ ชนบท กับ กทม. ต่างกันมากๆครับ

มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนค่ะ  ช่วยตีงูให้ก่อนนะคะ 

สวัสดีครับ ป้าพธู หน้าแล้ง น้ำบาดาลไม่มี งูสิงเยอะครับ... เรื่องจริงยังมีอีกมากมาย เดี๋ยวจะค่อยๆนำเสนอครับ รูปนักเรียนที่เห็น ก็เหมือนๆกับทางภาคอีสานครับ

  • ท่าน ศน ครับ
  • อยากให้เขียนบันทึกแบบนี้
  • จะได้ทราบสภาพของชุมชนโรงเรียนที่แท้จริงครับ
  • ว่างๆมาเขียนอีกนะครับ

ขอบคุณ อ.ขจิต มากครับ ต่อไปจะพยายามเขียนสั้นๆ เพื่อให้ได้สาระมากกว่าเดิมครับ.

เป็นเรื่องที่อ่านแล้วเห็นภาพจริงๆ น่ารักน่าชัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท