เรื่องเล่า...เมื่อคราวเป็นครู


ผมภูมิใจที่สามารถสอนเด็กประถมฯ ให้อ่านได้ภายใน 1 เดือน

เรื่องเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน อยากจะเล่าประสบการณ์ เพื่อเป็นการแชร์ความคิดกับเพื่อนๆครูเรา บุคคลในเรื่องที่จะเล่านี้มีตัวตนจริง แต่ในการเขียน จำเป็นต้องใช้ชื่อสมมติ ด้วยเพราะเด็กคนนี้ยังเป็นเยาวชน(ลงชื่อจริงไม่ได้ เดี๋ยวละเมิดสิทธิเด็ก) เชื่อว่า เรื่องอย่างนี้อาจเกิดขึ้นกับครูเราบ้าง โดยเฉพาะท่านที่สอนระดับประถมศึกษา

ผมรับราชการ เป็นครูมา  ๒๗  ปี สอนระดับมัธยมฯมา ๒๕  ปี ย้ายมาสอนที่
ร.ร.............  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา.................. ซึ่งมีนักเรียน

ระดับ ป. ๑  -  ป. ๖  เรียกว่า เป็นเด็กประถมศึกษาฯมีเด็กหลายๆหมู่บ้านมาเรียนรวมกัน การจัดการเรียนการสอนลำบากครับ เพราะความแตกต่างระหว่างบุคคลมีมาก  วันหนึ่ง
ในขณะที่ผมกำลังสอน  ป.๔  อยู่นั้น  เด็กชายแจ็ก  ซึ่งเพื่อนๆชอบเขาเรียกว่า
“บักแจ็กปึก”  เดินเข้ามาถามผมว่า
“ พ่อครูคับ ทำไม รถมันวิ่งได้  ” ผมคิดในใจว่า  เด็กคนนี้ จะมาไม้ไหน  
ครู  “เพราะมันมีล้อ” ...... “ รถมีกี่ล้อคับพ่อครู”.....

“มี ๒ ล้อบ้าง  ๓ ล้อบ้าง  ๔  ล้อหรือ  ๑๐  ล้อ  แล้วแต่ชนิดของรถ ”....
แล้วอะไร มีล้อเดียวคับพ่อครู ” 
“ ไม่รู้  ”  
"แฮ่ๆๆๆ “ล้อเล่นคับพ่อครู”

....สองวันต่อมา ....มาอีกแล้วไอ้แจ็ก “พ่อครูคับ ทำไมรถมันวิ่งได้ ”
เอาอีกแล้วคำถามเดิมอีกแล้ว
ครู  “เพราะมันมีล้อ”...... “คนไม่มีล้อทำไมวิ่งได้ ”  .(มันถามคำถามใหม่)


“ คนมีขา” ...“โต๊ะมีขาทำไมวิ่งไม่ได้คับ”.....“ ไม่รู้

โว้ย  ”    
ว่าจะใช้ไม้เรียวตีเอาก็สงสาร (ไม่กล้า) เพราะ คุณหญิงฯ ท่านไม่ให้ตีเด็กนักเรียน
ความจริงไม่อิงนิยาย ผมพึ่งมีประสบการณ์การสอนระดับประถมศึกษาเพียง  2 เดือน พยายามอ่านตำรา จิตวิทยาเกี่ยวกับเด็กมากมากพอสมควร และมีข้อมูลเกี่ยวกับ ด.ช. แจ็ก มาพอสมควรจากเพื่อนครูเล่าให้ฟังบ้าง เพื่อนเขาเล่าให้ฟังบ้าง  เขาเป็นเด็กพิเศษครับ(คงราคาแพงมากกว่าเด็กธรรมดา เพราะเคยสั่งกินก๋วยเตี๋ยวพิเศษแล้ว แพงกว่าธรรมดา) แต่ผมไม่เชื่อ ที่ผมเชื่อคือ คนเราสามารถพัฒนาได้ถ้าเรามีเครื่องมือที่ดีพอ เพื่อนครูเคยเตือนผมว่า พัฒนาไม่ขึ้นดอกเด็กคนนี้ เพียงให้เขาเรียนๆไป ให้จบก็พอจะเอาอะไรมากมาย


        จากข้อมูลที่ผมรับทราบคือ เขาอ่านหนังสือได้บ้าง เขียนได้บ้างเล็กน้อย แต่สำหรับผม เขาอ่านไม่ได้เลย เขียนก็เขียนมั่วๆ (พอๆกับคุณหมอเขียนใบสั่งยา) แต่เขาคิดเลขเก่งครับ เพราะบอกเลขในใจเร็วกว่าเพื่อๆในห้อง(เคยจับเวลาดู ก็ OK) ในส่วนนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมกล่าวชื่นชมเขาต่อหน้าเพื่อนๆเขาอยู่เป็นประจำ จนเขาได้ใจ ทำให้เขากับผมเป็นเหมือนพ่อ ลูกกัน เพราะเขาเรียกผมว่า"พ่อครู" ทุกครั้ง(ช่วงสอนมัธยมฯ เด็กเรียกผมว่าอาจารย์ ไม่มีใครเรียกว่า พ่อครู)
          จากความสนิทสนม ..ทำให้ผมใช้นักเรียนคนนี้เป็นเครื่องมือในการวิจัยเล็กๆของผม เริ่มต้นผมใช้วิธียำคิดย้ำทำ(กฏของธอร์นไดค์:1899 : ทฤษฏการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง) เหตุเพราะ เขาเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก ผมจึงเขียนคำง่ายๆให้เขาฝึกอ่าน/เขียน เช่น คำว่า  ตาดี  มีนา  หาปู  ปูมีขา มานาดี มีมายา  งูดูรูปู  ไปนา หาตามี (แทนที่จะเขียนคำยากๆ เช่น เกียรติยศ เครื่องมือ ชื่อเสียง  ซึ่งเป็นคำที่อ่านยากสำหรับ ด.ช.แจ็ก ในขณะที่เพื่อนๆในห้องอ่านได้ทุกคน) ทุกๆวันที่ผมพบเขา จะเขียนคำง่ายๆเหล่านี้ให้เขาทันที ให้เขาอ่านแล้วไปคัดลอกมาให้ตรวจ ดูเขามีความสุขกับการที่ได้เขียนและอ่านคำง่ายๆเหล่านี้มาก จะยิ้มอย่างจริงใจทุกครั้งเมื่อเข้ามาพบผม ผมค่อยเปลี่ยนคำที่ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเปิดตำราวิชาภาษาไทย ระดับ ป. 2-3 มาใช้เป็นแนวทาง เขาก็อ่านได้เขียนได้ เมื่อเขาอ่านได้ เขียนได้ ผมรีบชมเขาทันที เช่น คำว่า เก่งมาก  ดีมาก  เยี่ยมมาก (แล้วแต่จะคิดได้) พร้อมกับให้เขาฝึกอ่าน/เขียนคำยากๆขึ้นต่อไป บางครั้งให้รางวัลด้วยการให้ลูกอม 2 เม็ด/ บาท (ลงทุนน้อย)

        จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมเขียนคำให้ ด.ช.แจ็ก อ่านว่า " ตาดี มีรู ดูปู ปูมี 4 ขา มานา หาดูปู ....ฯลฯ...เขาอ่านได้เป็นอย่างดี เมื่ออ่านจบ เขาพูดกับผมว่า" พ่อคูคับ  ผมอ่านได้คับ  คำง่ายๆแค่นี้ " แล้วเขาก็อ่านให้ฟังอย่างชัดเจน เมื่ออ่านจบ ผมรีบชมเขาทันที  เขายิ้มอย่างพึงใจ ก่อนที่เขาจะไปวิ่งเล่น เขาพูดกับผมว่า " พ่อคูคับ ที่พ่อคูเขียนให้ผมอ่าน มันไม่ใช่เรื่องจริงคับ " ผมสะดุ้งเล็กน้อย พร้อมรับกระดาษที่ผมเขียนให้เขาอ่านมาดู  พลัน ผมต้องตะลึงในคำที่ผมเขียนให้เขาอ่าน ใช่จริงๆเสียด้วยสิ...มันไม่ใช่ความจริงเหมือนที่ ด.ช. แจ็ก ว่า โอ....เราเขียนผิดจากความเป็นจริงเสียด้วย อ่านแล้วก็แอบขำตัวเอง เป็นไปได้ยังไง " ตาดี มีรู มานา หาดูปู " แถมยังมีปู 4 ขาให้ดูอีก แปลกจริงๆ โอ้..เราหนอเรา เขียนไปได้โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องความหมายเพราะเอาความง่ายไว้ก่อน

          .....1  เดือนผ่านไป ผมเก็บข้อมูลการพัฒนาการของเขา จึงได้รู้ว่า คนเราสามารถเรียนรู้ได้  แต่อาจช้ากว่าคนอื่นบ้าง ทำให้ผมเกิดความภูมิใจ( ที่สอนเด็กประถมให้สามารถอ่านได้ภายใน 1 เดือน

         ความจริงผมเคยอ่านหนังสือหลายเล่ม เกี่ยวกับหลักการจัดการเรียนการสอน ซึ่งผู้เขียนส่วนมากก็จบ ดอกเตอร์(อ่านว่า ด๊อกเต้อ) หรือ จบ ป.โท มีทฤษฏี หลักการมากมายในการจัดการศึกษา แต่ตำราบางเล่มก็ใช้กับเด็กบางคนไม่ได้ เป็นครูต้องมีกลยุทธหลายอย่างซึ่งบางทีไม่มีในตำรา ( หมายเหตุ....แต่ ถ้าเขียนส่ง ครู คศ.3 - 4 ต้องอ้างตำรานะ ไม่อ้าง ก็ไม่ผ่าน !  โอ  พระเจ้า ) กว่าที่ครูจะทำให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้/เกิดการเรียนรู้ เป็นไปตามที่คาดหวัง คือ เป็นคนดี เก่ง และมีความสุขในการเรียน มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เป็นเรื่องที่ครูต้องใช้กลวิธีหลายอย่าง

         อย่างไรก็ตาม ผมโชคดีที่ ด.ช.แจ็ก เป็นคนดีที่น่าชื่นชมมาก มีความรับผิดชอบ ทำความสะอาดห้องเรียน ส่งงานตามเวลา(แต่ทำผิดเป็นส่วนมาก เพราะไม่ยอมลอกงานใคร)  กล้าตอบคำถามเมื่อครูถาม(แต่ตอบผิดเป็นประจำ) รู้จักเงียบฟังครูอธิบาย(ไม่พูดแทรก) นี่คือจุดแข้ง จุดอ่อน (SWOT ครับ) ผมนำสิ่งที่ดีไปพูดกับเขาบ่อยๆทั้งต่อหน้าเพื่อนๆและคุณครู  จนเพื่อนครูบางท่านแอบมองแบบงงๆ ทีทำอย่างนี้ เพราะเป็นการเสริมแรงบวกครับ  นี่กระมัง ที่ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะพัฒนาเด็กคนนี้  จนปัจจุบัน เขาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาได้อย่างไม่อายใคร เพราะอ่าน/เขียนได้คล่องพอสมควร  ผมก็ได้บุญ 

                             
                                เด็กๆ ปี 2548 ที่ ร.ร.ประถมศึกษาแห่งหนึ่ง

            ท่านครับ เป็นครูนี่ ยากเหมือนกันนะครับ มีสาระพัดปัญหาที่ครูต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อความเจริญงอกงามของเด็ก เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ( ดี  เก่ง  มีสุข)  แต่หลายๆปัญหา ครูเราสามารถแก้ปัญหาได้  ครูเราเป็นคนเก่งครับ ปัญหาที่ คนอื่นแก้ไม่ได้   ครูเราแก้ได้ครับ ( ถ้าบ่เก่งคือสิ บ่ได้เป็นครูดอก)  อยู่โรงเรียนครูต้องสอนเด็ก ทั้งอบรมคุณธรรมจริยธรรม ทั้งสอนด้านวิชาการ ทั้งต้องพาเด็กไปแข่งขันทักษะวิชาการ  เข้าค่ายลูกเสือเนตรนารี  ชงกาแฟให้ ผอ. ทำงานธุรการ การเงินพัสดุ  สาระพัด  งานมากมายจริงๆครับ  เลิกเรียนครูผู้หญิงก็ต้องทำงานบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน ซักเสื้อผ้า ถุงเท้าให้ลูก  ทำกับข้าว  เลี้ยงลูก  แต่ครูสภาพสตรีบางคนก็สบายหน่อย เพราะมอบหน้าที่งานบ้านให้พ่อบ้านทำ   อันนี้ ถือว่า เป็นความสามารถเฉพาะตัว  ห้ามลอกเลียนแบบ (ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการศึกษาอีกมากมาย แล้วจะเอามาเล่าสู่กันฟังอีก คอยติดตามนะครับผม)

                                    " ศน. เฉลิมชัย "

หมายเลขบันทึก: 406215เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เด็กๆๆมีความหลากหลาย
  • ครูผู้สอนต้องปรับการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน
  • แบบทฤษฏีพหุปัญญาครับ
  • เอามาฝากจากมหาสารคาม
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/79163

ขอบคุณท่าน อ.ขจิต ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการจัดการศึกษา

เด็กลักษณะเช่นนี้ เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพลงของครูสลาก็มีครับ

บังเอิญเล่นเน็ต เข้ามาเจอ อ่านเรื่องราวแล้วเห็นว่าเป็นครูก็ลำบากนะคะ ทำให้ไม่อยากเป็นครูแล้วล่ะ แต่เห็นรูปเด็ก 3 คน น่าสงสารนะคะ

เรียน คุณเดือน เป็นครู เป็นอาชีพที่ดีที่สุดครับ(ความคิดส่วนตัว) เพราะได้ทำประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะกับเยาวชนของชาติ

ตัวอย่างที่ดีของคำว่าครูไม่ใช้อาจารย์ เยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท