การบริโภคด้วยปัญญาโดยยึดหลักความสันโดษ (๑)


            หลักการสันโดษในทางพระพุทธศาสนานั้น คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีความเข้าใจในความหมายที่คลาดเคลื่อนจากสภาวะความเป็นจริงเป็นไปในลักษณะที่ว่า เป็นการไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้คนเกียจคร้าน ไม่มีความกระตือรือร้น เป็นต้น ในประเด็นของเรื่องการบริโภคนั้น คนส่วนใหญ่ ก็มักเข้าใจผิดคิดว่า “หลักการสันโดษ” สุดโต่งไปในทางที่ไม่ให้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้ว

 

                  - หลักการสันโดษ มุ่งเน้นบริโภคบนพื้นฐานของการพิจารณาความจำเป็นตามจริง อิงกับตรรกะของความสมเหตุสมผล ให้มีอิทธิพลอยู่เหนือบนความอยาก

                  - หลักการบริโภคนิยม มุ่งเน้นบริโภคบนพื้นฐานของการพิจารณาเอาความอยาก (ที่ไม่มีสิ้นสุด) ของตนเอง โดยไม่เล็งเห็นตรรกะของความสมเหตุสมผล ปล่อยให้ความอยากครอบงำนำทางอยู่เหนือความจำเป็นตามจริง

 

“หลักการสันโดษ ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับวัตถุ (สินค้าและบริการ) แต่เป็นการเลือกบริโภควัตถุ เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางแห่งความจำเป็นในการดำรงชีวิตตามจริง”

 

          “หลักการสันโดษ” นั้นท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า :

      

                    พระพุทธองค์ทรงแนะนำชาวโลกให้หาความสุขโดยการถือสันโดษ คำว่าสันโดษ แปลว่าความยินดี คือความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโดยชอบธรรม สันโดษเป็นคำมาจากภาษาสันกฤต  ส่วนคำบาลีจะว่าสันตุฎฐี ดังเช่น พระพุทธภาษิตว่า สนฺตุฎฐี ปรมํ ธนํ หรือ ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง (จากหนังสือ “พุทธธรรม” โดยพระพรหมคุณาภรณ์) 

                      มีความเข้าใจผิดคิดกันว่า สันโดษ คือความไม่กระตือรือร้น งอมืองอเท้า ไม่ดิ้นรนขวนขวายหาทรัพย์ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ความหมายของสันโดษมิได้มีลักษณะเช่นนั้นสันโดษเป็นหลักธรรมที่ให้มนุษย์เกิดความยั้งคิดรู้จักพอ หยุดความอยากความต้องการไม่ให้มีมากเกินไปจนเกิดความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว และเอาเปรียบผู้อื่น สันโดษใช้ได้กับทุกกรณีตั้งแต่  การกิน การนุ่งห่ม การซื้อหา เครื่องอุปโภคบริโภค แม้แต่คู่ครอง หากทุกคนพอใจและถือสันโดษ ความต้องการในสิ่งต่าง ๆ ก็จะต้องการเพียงพอเหมาะสมกับฐานะ  สถานภาพของตน ปัญหามักมีอยู่ว่าขอบเขตของความเพียงพออยู่ที่ใด  พระพุทธองค์จึงทรงสอนถึงเรื่องปัญญาให้พุทธศาสนิกชน รู้จักสร้างปัญญาให้รู้ เพื่อจะได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ฉะนั้นความรู้จักพอหรือรู้จักถือสันโดษอันเป็นความสุขอย่างยิ่งตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จึงขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละบุคคลว่าจะรู้จัก  ถือสันโดษ คือมีจุดของความพอดี ความพอเพียงอยู่ในระดับใด   

        

             สันโดษมี ๓ อย่าง คือ 

            ๑.ยถาลาภสันโดษ คือยินดีตามที่ได้ ยินดีตามที่พึงได้ คือตนได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของสิ่งที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยา  

            ๒.ยถาพลสันโดษ คือยินดีตามกำลัง ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลังตนมี หรือหากได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกาย หรือสุขภาพ ก็ไม่ควรหวงแหนเก็บรักษาไว้ให้เสียประโยชน์ ควรสละให้ผู้อื่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ก็นับเป็นการดีทำให้ความตระหนี่ที่มีในตนลดลง มีความสันโดษเพิ่มขึ้น การรู้จักเป็นผู้ให้ย่อมนำความสุขและอิ่มเอิบใจมาสู่ตน

            ๓.ยถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควร ยินดีตามที่เหมาะสมกับตนอันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน 

 

            จะเห็นว่าความสันโดษเป็นการสร้างสุขให้แก่ชีวิตการรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของโลภะอย่างไม่มีขอบเขต “ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน" จึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ แม้จะยกภูเขาที่เป็นทองทั้งลูกให้ เขายังปรารถนาภูเขาทองลูกอื่นต่อไปอีก เพราะไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ คนโลภย่อมไม่อิ่มด้วยอามิสฉันใดคนไม่ถือสันโดษย่อมเป็นเช่นนั้น และคนจนย่อมจนเพราะไม่พอมากกว่าจนเพราะไม่มี ดังนั้นการมีชีวิตอยู่จึงควรอยู่อย่างมีความสุขโดยการใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาคือการขยันหมั่นเพียรหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่สุจริตไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือสังคม เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดหนี้สินจนล้นพ้นตัวและถือสันโดษพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน

 

      ประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมจาก “ปัญหามักมีอยู่ว่าขอบเขตของความเพียงพออยู่ที่ใด”

          

        “ความพอเพียงในการบริโภค” หรือ การบริโภคด้วยปัญญา เป็นชุดความคิดที่ผลิตขึ้นมาภายใต้ปัญญาที่ใช้การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นไปในลักษณะของการผสมคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกันของความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล รวมทั้งยังสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคได้ด้วย  

 

           ในปัจจุบันจะพึงสังเกตได้ว่า หากมีการพูดถึง “การบริโภคด้วยปัญญา” คนส่วนใหญ่ในสังคมจะรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นเรื่องของนามธรรมจับต้องไม่ได้ สักแต่พูดกันไปตามกระแสแค่นั้นเอง เกี่ยวเนื่องจาก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมหลงยึดติดถือมั่นในกระบวนการความคิดที่สำเร็จรูป มองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน (สูตรสำเร็จให้เดินตาม) ดังนั้น ในการบริโภคด้วยปัญญา สิ่งที่พึงทำความเข้าใจในปฐมฐานก่อนก็คือ

 

            ๑. เบื้องแรก “การบริโภคด้วยปัญญา” เป็นตัวสภาวะ (ธรรม) ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับหลักความคิดและหลักการปฏิบัติที่ดำเนินตามทางสายกลาง หรืออริยมรรคที่มีองค์ ๘ คือ

 

                  ๑. สัมมาทิฏฐิ : เห็นชอบ (right view หรือ right understanding) คือ การมีความรู้ตามจริงในเรื่องอริยสัจ ๔ เกี่ยวเนื่องกับ ความรู้ในทุกข์ (ทุกข์)  ความรู้ในสาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย)  ความรู้ในความดับทุกข์ (นิโรธ) และความรู้ในวิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ (มรรค) ดังพุทธพจน์ที่ว่า :

 

          “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิคืออะไร ? ความรู้ทุกข์  ความรู้ในทุกขสมุทัย  ความรู้ในทุกขนิโรธ  ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  นี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ”

        *** ทิฏฐิ กับ ทิฐิ  เป็นคำเดียวกัน

 

              ความเห็นชอบดังกล่าว เป็นไปในลักษณะของการมีวิชชา (ความรู้) ที่ถูกต้องตามจริง เมื่อมองในลักษณะของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมเศรษฐกิจแล้ว สัมมาทิฏฐินี้เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่พึงมีต่อการเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัตถุ (สินค้าและบริการ) โดยมองที่ประโยชน์ใช้สอย แลคุณค่าจำเป็นของวัตถุตามจริงว่า เราจะใช้วัตถุนั้นเพื่ออะไร ใช้อย่างไร ที่ให้เกิดประโยชน์ตามจริงสูงสุดรวมทั้งพินิจถึงผลกระทบด้วยเป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการใช้สอยสินค้าและบริการที่เล็งเห็นความจำเป็นตามจริง ไม่ใช่ ปล่อยให้ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ทางด้านความอยากอื่น ๆ ที่พอกเสริม (คุณค่าเทียม) มาเบียดบังแย่งชิงพื้นที่ความเห็นที่ถูกต้องนั้น กล่าวคือ ไม่เพ่งพินิจไปที่ความสวยงาม ความโก้หรู ความมีรสนิยม ของวัตถุนั้น (สินค้าและบริการ) เป็นประการสำคัญในเบื้องแรก เพราะถ้ามีความเห็นที่เป็นไปในลักษณะอย่างนั้นก็เท่ากับว่า ถูกอวิชชาครอบงำ หลงผิดเข้าไปยิดติดถือมั่นใน “ลัทธิบริโภคนิยม” ที่สมประโยชน์กับคุณค่าเทียมที่งอกเสริมเพิ่มเติมเข้ามาในสินค้าผ่านช่องทางของการโฆษณาชวนเชื่อนั่นเอง

           

               ๒. สัมมาสังกัปปะ : ดำริชอบ  (right thought) คือ การมีความนึกคิดในทางที่ถูกต้องตามจริง เป็นไปในลักษณะของการคิดละเว้นจากความโลภ (โลภะ)  ความโกรธ (โทสะ)  ความหลง (โมหะ)  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

           “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ? เนกขัมมสังกัปป์ (ดำริละกามราคะหรือความโลภ)  อพยาบาทสังกัปป์ (ดำริไม่พยาบาทหรือละความโกรธ)  อวิหังสาสังกัปป์ (ดำริไม่ให้เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น) นี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ”

              การมีความนึกคิดในทางที่ถูกต้องตามจริงนี้ เมื่อมองในลักษณะของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมเศรษฐกิจแล้ว กิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) ถือได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทำให้ความต้องการของมวลมนุษยชาติไม่มีที่สิ้นสุด ทะยานอยากไปตามตัณหานำพามาสู่การเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่นในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งก้าวล่วงเข้าไปตักตวง (เบียดเบียน) เอาผลประโยชน์จากธรรมชาติ น้อมนำไปสู่วิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อเกิดจาก การมีความนึกคิดในทางที่ผิด (มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้น หากมวลมนุษยชาติอยู่กันด้วยความนึกคิดในทางที่ถูกต้องตามจริงในเบื้องแรก ก็จะน้อมนำไปสู่การประพฤติ ปฏิบัติที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองและต่อธรรมชาติที่ถูกต้องตามจริงเป็นเบื้องถัดไป เป็นไปในลักษณะของการมีความคิดที่เป็นมิตร เกื้อกูล เอื้อเฟื่อช่วยเหลือกัน ไม่มุ่งเอาชนะทำร้ายทำลายกัน เมื่อมีความคิดที่ถูกต้องดังกล่าวก็จะนำไปสู่จุดสมดุลของความต้องการและการสนองตอบในทางปฏิบัติที่ถูกต้องโดยมีสินค้าและบริการที่มีคุณค่าแท้ตามจริงเข้ามาแทนที่สินค้าและบริการที่มอมเมาผู้บริโภคและไม่มีประโยชน์ในสังคมเศรษฐกิจ

 

            ๓. สัมมาวาจา : วาจาชอบ (right speech) คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย และพูดเพ้อเจ้อ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

             “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจา เป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาวาจา คือ มุสาวาทา เวรมณี (เจตนางดเว้นการพูดเท็จ)  ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เจตนางดเว้นจากวาจาส่อเสียด)  ผรุสายา วาจาย เวรมณี (เจตนางดเว้นจากวาจาหยาบคาย)  สมฺผปฺปลาปา เวรมณี (เตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ)”

 

           การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดหยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อ ถือได้ว่า เป็นเสมือนปฐมฐานของการก้าวล้ำนำไปสู่การกระทำผิดอื่น ๆ เป็นเบื้องถัดไป ในทางเศรษฐกิจนั้นจะพึงสังเกตว่า สินค้าและบริการหลาย ๆ อย่างมีลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อ อธิบายถึงสรรพคุณและประสิทธิภาพการใช้งานที่เกินจริง เช่น กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ได้ซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดยี่ห้อหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งถูกบริษัทผู้ผลิตโฆษณาสรรพคุณ เพื่อตีตราประทับรับรองสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวสินค้า แต่ปรากฏว่าเมื่อซื้อมาใช้งานแล้วประสิทธิภาพต่ำกว่าที่โฆษณาเอาไว้มาก กลับกลายเป็นว่าต้องจ่ายมูลค่าสินค้าสูงกว่าประสิทธิภาพใช้งานตามจริง และที่สำคัญสินค้านั้นเป็นเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่มีผลต่อความปลอดภัยทางด้านชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อคุณภาพของสินค้าดังกล่าวต่ำเพียงใดก็ยิ่งทำให้ความเสียงภัยของชีวิตและทรัพย์สินสูงมากขึ้นเท่านั้น เป็นต้น

           การโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง (พูดเท็จ) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยอดขายให้กับสินค้าถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะสร้างผลกำไรมากมาย แต่ท้ายที่สุดเมื่อความจริงปรากฏก็จะส่งผลเสียต่อธุรกิจนั้นโดยตรง ซึ่งถ้าหากว่าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีเครือข่ายเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ ก็จะกระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโดยรวม

  

            ๔. สัมมากัมมันตะ : กระทำชอบ (right action) คือ การงดเว้นจากการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะของการเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น และสัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

             “ภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ คือ

                   ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี            เจตนางดเว้นจากการตัดรอนชีวิต 

                  ๒. อทินฺนาทานา เวรมณี          เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ 

                  ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี    เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

 

               การกระทำที่ชอบและถูกต้องตามจริงนั้น เมื่อกระทำสิ่งใด ๆ ไปแล้วก็เกิดความสุขทั้งผู้ทำและบุคคลรอบข้าง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากว่ามนุษย์ในสังคมเศรษฐกิจมีการกระทำต่อกันไม่ถูกต้อง เป็นไปในลักษณะของการกระทำที่ก้าวล้ำเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่นรวมถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายก้าวไปสู่หายนะในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขโมยทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกรณีที่เป็นข่าวเรื่องการโจรกรรมข้อมูลทางการเงินของธนาคาร นำไปสู่การยักยอกเงินในรูปแบบต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมทั้งการกระทำที่ล่วงละเมิดทางเพศ ที่นำพาไปสู่ปัญหาทางสังคมที่ต้องรักษาเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ สร้างความเสียหายทางด้านทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ

 

            ๕. สัมมาอาชีวะ : เลี้ยงชีพชอบ (right livelihood) คือ การหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นไปในลักษณะของการประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามศีลธรรม ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผุ้อื่น รวมทั้งไม่เบียดเบียนธรรมชาติ   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

           “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ คือ อริยสาวกละมิจฉาอาชีวะเสีย  หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ”

 

              การทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นสิ่งที่พึงมีในสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า หลักพระพุทธศาสนาไม่ได้มีข้อห้ามในการสร้างความร่ำรวยและมั่งคั่งดังที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่การได้มาซึ่งทรัพย์สิน เงินทองและความร่ำรวยมั่งคั่งนั้น ต้องเป็นไปในลักษณะของการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ได้ไปคดโกง ไม่ได้ไปหลอกลวง ไม่ได้ไปใช้เล่ห์กลหรือบังคับขู่เข็ญ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่าประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตก็จะส่งผลกระทบและทำให้เกิดความเสียหายในสังคมเศรษฐกิจโดยรวม ดังเช่นกรณีที่เราคงจะเคยได้ยินหรือเห็นตามข่าวสารทั่วไปที่มีแก๊งค์ต้มตุ๋นไปหลอกลวงชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆทั้ง แชร์ลูกโซ่ การตกทอง หลอกขายล็อตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต (มิจฉาอาชีวะ) ใช้ช่องทางและวิธีการที่ผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และท้ายที่สุดก็นำพาให้ชีวิตของตัวเองเดือดร้อน (ติดคุก) จากการกระทำดังกล่าว

 

            ๖. สัมมาวายามะ : พยายามชอบ (right effort) คือ ความเพียรพยายามในการดับกิเลศด้วยการศึกษาหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องครบถ้วนตามจริง        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

          “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ เป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

               ๑. สร้งฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ (ป้องกัน) อกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด 

               ๒. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว 

               ๓. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ (สร้าง ) กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น 

              ๔. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เจริญ เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

 

             ความเพียรพยายามในการดับกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) หากมองในแง่ของการเกี่ยวเนื่องทางสังคมเศรษฐกิจก็คือ การต้องฝึกมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นในการบริหารจัดการความต้องการของเราให้อยู่ในระดับที่พอประมาณ สมเหตุสมผล สร้างความสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นทาสต่ออารมณ์ความต้องการนั้น ซึ่งปัจจุบันความหลากหลายในสินค้าและบริการพร้อมดึงดูดและจับเราเหวี่ยงเข้าไปให้ตกอยู่ในวงล้อมของมัน เพื่อกระตุ้นความอยากของเราให้ตื่นตัวและทำงานอยู่ตลอดเวลา เราต้องพยายามฝืนความต้องการไม่ตกเป็นทาส (กิเลส) ของมัน แรก ๆ อาจจะอึดอัด กระวนกระวาย แต่พอนาน ๆ ไปก็จะรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย เหมือนคนที่ไม่ต้องแบกสัมภาระเอาไว้บนบ่าอยุ่ตลอดเวลาและหาความสุขได้แท้จริง

 

             ๗. สัมมาสติ : ระลึกชอบ (right mindfulness) คือ การพิจารณาเพื่อให้รู้ธรรมชาติของกาย เวทนา จิตและธรรมตามจริง เพื่อคลายความยึดติดถือมั่นรวมทั้งรู้เห็นความเป็นสามัญลักษณะ (ไตรลักษณ์) ตามจริง   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

           “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

            ๑. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้  

           ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มัความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 

          ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ 

          ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

 

             การมีสติหรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในความหมายง่าย ๆ ที่ว่า ความระลึกได้ รวมความกินลึกไปถึงความไม่เผลอ ไม่เลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอย สติสัมปชัญญะเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้าที่ตีตราประทับรับรองของความเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งหากมองในแง่ที่เกี่ยวเนื่องทางสังคมเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฐานะที่เราอยู่ในแวดล้อมของกระแส “บริโภคนิยม” ซึ่งเราต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัตถุ (สินค้าและบริการ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นในการดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจเราต้องพก “สติสัมปชัญญะ” ติดตัวไปด้วยทุกแห่งหน เพราะพลังดึงดูดแห่งวัตถุ (สินค้าและบริการ) มีพลังดึงดูดมหาศาลที่พร้อมจะทำลายสติสัมปชัญะของเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สุญญากาศทางสติสัมปชัญญะ” โดยเฉพาะพลังดึงดูดทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ การลดแลกแจกแถม โปรโมชั่นของสินค้าต่าง ๆ ที่พร้อมจะกระชากสติของเราให้หลุดลอยออกไปจากตัวในชั่วขณะเหมือนดังต้องมนต์ ดังนั้นการเข้าไปเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) ต่าง ๆ ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีสติ รู้เท่าทันตามจริงที่อิงแอบการเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) บนพื้นฐานของความจำเป็นและประโยชน์ตามจริง

 

            ๘. สัมมาสมาธิ : จิตมั่นชอบ (right concentration) คือ การมีสติที่แน่วแน่ มั่นคงอยู่กับกิจนั้น ๆ ไม่เผลอสติไปในทางที่คิดฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เป็นต้น เป็นไปในลักษณะของภาวะแห่งจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “จิตตัสเสกัคคตา หรือ เอกัคคตา”    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

             “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน ? (คือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้

                  ๑.สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาณ ซึ่งมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวก อยู่ 

                 ๒. บรรลุทุติยฌาณ ซึ่งมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีภาวะใจที่เป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีแต่ปีติและสุข เกิดแต่สมาธิ อยู่

                 ๓. เพราะปีติจางไป เธอจึงมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า “เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข”

                 ๔. เพราะละสุขละทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน จึงบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่”

 

               การมีสมาธิหรือจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่งในกิจใด ๆ นั้น เป็นรากฐานของการพร้อมในการประกอบกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือที่เรียกว่า ภาวะจิตที่พร้อมทำงาน ซึ่งประโยชน์ของสมาธิเป็นไปในลักษณะของการตระเตรียมจิตให้พร้อมในการใช้ปัญญาอย่างได้ผลและถูกต้องตามจริง โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานหรือหน้าที่ที่พึงมี หากว่าเรามีสมาธิ (จิตพร้อมทำงาน) งานที่ทำก็ออกมาดี มีพลังและคุณค่าในตัวของเนื้องาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

            

             ซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค นั้น หากว่าเราจัดลำดับย่อยใหม่ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น องค์ประกอบของมรรค ๘ ประการดังกล่าว ก็คือ “ไตรสิกขา” ที่เป็นกระบวนการการรับรู้หรือ เรียนรู้โดยผ่านการประพฤติปฏิบัติจนเป็นที่ประจักษ์เห็นแจ้ง

            

                              ศีล                                             สมาธิ                                        ปัญญา 

                        -  วาจาชอบ (๓)                             -  พยายามชอบ (๖)                    -  เห็นชอบ (๑)

                        -  การกระทำชอบ (๔)                       -  ระลึกชอบ (๗)                       -  ดำริชอบ (๒)

                        -  การเลี้ยงชีพชอบ (๕)                     -  จิตมั่นชอบ (๘)

                         (การไม่เบียดเบียน                            (มีสติมั่นคงและ                              (เห็นและเข้าใจในทุก

                         ตัวเองและผู้อื่น)                                ทำในสิ่งที่ดีงาม)                               สิ่งตามจริง)

 

              องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรคนั้น หากพึงสังเกตให้ดีจะเห็นว่าท่านได้ยกเอา “สัมมาทิฏฐิ” ขึ้นไว้เป็นองค์ประกอบในเบื้องแรก มีนัยว่า สัมมาทิฏฐิบ่งชี้ถึงปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามจริงอย่างที่สุด ซึ่งเมื่อรู้ว่าอะไรมีคุณ อะไรมีโทษ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรดี อะไรไม่ดี ตามจริงอย่างไรแล้ว ก็อยากที่จะประพฤติปฏิบัติอะไร ๆ ในด้านที่ดี ๆ เป็นเบื้องถัดไป ในหลักของการบริโภคที่เราพึงต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับ “วัตถุ (สินค้าและบริการ)” ทั้งในทางตรงและทางอ้อมนั้น ปฐมฐานของกระบวนการบริโภคดังกล่าวหากเราน้อมเอาหลัก “สัมมาทิฏฐิ” (right view or right understanding) มาเป็นแนวทาง ก็จะสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่มีให้เลือกสรรมากมายหลากหลายนั้นได้อย่างถูกต้องตามจริง คือ เป็นการเพ่งพินิจ วิเคราะห์ ที่ประโยชน์ใช้สอยตามจริงแห่งวัตถุ ไม่หลงกระโจนทะยานไปตามความต้องการ (ที่มีไม่สิ้นสุด) ที่ถูกเย้ายวนจากรูปลักษณ์ (คุณค่าเทียม) ของสินค้าและบริการนั้น เป็นไปในลักษณะที่เห็นและเข้าใจในคุณประโยชน์และคุณค่าของสินค้าและบริการนั้นตามจริง (สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ  =  ปัญญา) ในเบื้องแรก น้อมนำไปสู่การกระทำที่ถูกต้องต่อวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เราเสพและเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง รวมทั้งไม่ก้าวล้ำนำไปสู่การเบียดเบียนผู้อื่นและไม่ก้าวล่วงไปตักตวงเบียดเบียนธรรมชาติ (สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ  =  ศีล) ในเบื้องถัดไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็จะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปสู่ประตูของความตั้งมั่นแห่งสติ เป็นไปในลักษณะของการมีความรู้สึกตัวและตื่นตัวในการเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เพ่งพินิจที่ประโยชน์และคุณค่าตามจริงอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้เวลาที่เข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัตถุที่เสพ ก็จะเข้าไปอย่างมีสติสัมปชัญญะที่มั่นคง (สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ  =  สมาธิ) เป็นไปอย่างอัตโนมัติในเบื้องปลายท้ายสุด

 

“มีความเห็นและเข้าใจในประโยชน์รวมทั้งคุณค่าของวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เสพตามจริง เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทันและมีสติที่ตั้งมั่นในด้านกระบวนการการเสพวัตถุที่บรรลุสู่ประโยชน์และคุณค่าแท้ ไม่แปรเปลี่ยน หลงใหลไปตามกระแสและค่านิยมปนเปื้อนของสังคมที่ถูกครอบงำนำทางจากกิเลส (ความอยาก)”

 

หมายเลขบันทึก: 400665เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท