เจ้าทุย : เพื่อนแท้เพื่อนร่วมวิชาชีพของฉันที่มีบทบาทต่อสังคมไทยอันยาวนาน*


ฉันได้อ่านข่าวทางโลกไซเบอร์ว่า เพื่อน ๆ ไถนาไม่เป็นกันแล้วนะ อ่านข่าวแล้วมีความรู้สึกสองประการ (๑) เพื่อนสบายแล้วที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลากไถ ลากเกวียน นวดข้าว ลากคราด ลากครุบ ลากเลื่อน ย่ำลานอีกต่อไป ส่วนฉันเองนั้นก็หยุดทำนามานานมากแล้ว จะเรียกว่าปลดเกษียณหรือเออรี่ประมาณนั้นก็ได้ (๒) เมื่อไถนาไม่เป็นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีชีวิตอยู่ดีมีสุขประการใดบ้าง อีกความรู้สึกหนึ่งที่ฉันเห็นแล้วทำใจลำบากจริง ๆ คือฉันเห็นเขานำเจ้าทุยใส่รถวิ่งไปตามท้องถนนทีละหลาย ๆ ตัว

                                 ภาพ : ควายเผือกและควายดำ กลางทุ่งนาข้างวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง 
                                 ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เมื่อสงกรานต์ ๒๕๕๓

ใจฉันนั้น**นึกว่าเจ้าทุยลำบากมากว่าตอนไถนาเป็นไหน ๆ ถ้าเขานำไปเทียมเกวียน ไถนา งานเบากว่านี้เยอะ แต่นี่เขานำเจ้ามาขึ้นรถเดินทางไกล เมื่อฉันเห็นฉันก็นึกภาวนาว่าขอให้เขานำเจ้าทุยกลับไปไถนาเถอะนะ ฉันขอร้องในใจ ฉันไม่อยากนึกถึงภาพต่อจากนั้นเลย

ถึงอย่างไรเสีย  การไถนาเป็น การลากเกวียนเป็นนั้น เป็นการทำงาน สร้างงาน ทำประโยชน์สร้างคุณค่าให้แก่ส่วนรวมทั้งชาวนาและสังคมอย่างใหญ่หลวงนัก เจ้าทุยไทยนั้นเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกก็ว่าได้ เพราะประเทศนี้เคยเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรส่งออกไปขายยังทั่วโลก โดยในยุคนั้นได้อาศัยแรงงานจากเจ้าทุยนี่แหละเป็นหลัก คิดแล้วทุกคนก็ภูมิใจในผลงานอันสำคัญนี้ คนไทยจะลืมบทบาทอันสำคัญนี้ไม่ได้ บทบาทอันยิ่งใหญ่นี้ใครจะกล้าปฏิเสธ

เท่าที่ฉันจำได้ฉันเติบโตมาในท้องทุ่งนา นอกจากเพื่อนบ้านญาติพี่น้องผู้ร่วมอาชีพเดียวกันแล้ว ก็ยังมีเพื่อนดีเพื่อนที่มีบุญคุณคือเจ้าทุยนี่เลย  โดยเฉพาะวิถีชีวิตฉันในช่วงที่ทำนาอยู่นั้น มีแต่เจ้าทุยอย่างเดียวที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมกันสร้างชีวิตฉันและครอบครัว

สวรรค์ชาวนาคือบรรยากาศที่เขาสร้างขึ้นเป็นหนัง ละคร นิยาย บทเพลงต่างๆมากมาย จะเห็นได้ว่าเรื่องราวในท้องทุ่งนาที่มีเจ้าทุยปรากฏตัว มักจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานผู้ฟังผู้เสพเมื่อได้เห็นหรือฟังก็เคลิบเคลิ้มตามไปด้วย

การอยู่ร่วมกัน ฉันเองนั้นควรจะเป็นผู้ใช้เหตุผลให้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่ขาดเหตุผล ใช้อารมณ์กับเพื่อนซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้แต่ก็ยืนยันได้ว่าไม่บ่อย

ชาวนานั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าทุยตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรชดค่ำ  หน้าทำนาต้องตื่นแต่เช้า ก่อนแจ้ง พวกเราชาวนา ก็พากันแบกไถ จูงเจ้าทุย ออกสู่ท้องนา การได้ขี่หลังเจ้าทุยเป็นความอบอุ่นและผูกพันระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้น คนที่รักเจ้าทุยมากๆถึงขนาดกล่าวกับคนรักว่าทิ้งฉันได้แต่อย่าทิ้งเจ้าทุย อย่างที่เพลงคนดังลืมหลังควายของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ว่า...นึกไว้ทุกนาทีถ้าเข้าไปได้ดีแล้วคงไม่มาขี่ควาย เขานั้นคงแหนงหน่าย เบื่อนั่งหลังควายเบื่อเคียวเกี่ยวหญ้า...[๑]

บางคนก็บอกว่าเหม็นกลิ่นโคลนสาบควาย  แต่สำหรับฉันแล้วละก็ ต้องบอกว่าฉันรักกลิ่นโคลนสาบควาย ดังรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องเพลงไอดินกลิ่นสาว ....กลิ่นโคลนสาบควายมันติดหัวใจพี่นัก ทั้งกลิ่นฟางข้าวสาวรัก เมื่อคิดแล้วอยากหวนคืนยังถิ่น...[๒]

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสัตว์ต่างสายพันธ์คือคนกับเจ้าทุย สิ่งนี้ฉันลืมไม่ได้และไม่มีวันลืมโดยเด็ดขาด.

...............................................................................................................................................................................

   หมายเหตุและเชิงอรรถบทความ   

* บทความนี้เขียนและบันทึกถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว โดย ท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ในชื่อหัวข้อเดียวกันนี้ที่ dialogue box 755 ของเวทีคนหนองบัว เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและค้นหาอ่านได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเขียนสะสมความรู้ สร้างวัฒนธรรมการอ่านและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าถึงความรู้ของท้องถิ่นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจากชุมชน ผ่านระบบค้นหาความรู้และข้อมูลทางเทคโนโลยี IT บูรณาการมิติชุมชนเข้ากับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมความรู้ผสมผสาน ต่อยอดขึ้นจากพื้นฐานชนบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและเป็นองค์ประกอบการก่อเกิดสุขภาวะและสังคมเข้มแข็งในชุมชน ผมจึงขอนำมารวบรวมไว้เป็นหัวข้อเฉพาะนี้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้ความเคารพในความสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมเขียนข้อมูลความรู้จากเรื่องราวในวิถีชีวิตสะสมเป็นภูมิปัญญาสาธารณะ ผมจึงขอรักษาความเป็นต้นฉบับไว้โดยจัดย่อหน้าให้ง่ายต่อการอ่านและปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

** หมายถึงผู้เขียน พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

[๑] พุ่มพวง ดวงจันทร์ (๒๕๐๔-๒๕๓๕) ชื่อเดิม รำพึง จิตรหาญ จากครอบครัวชาวไร่อ้อย อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เริ่มเป็นนักร้องตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเกือบ ๒๐ ปีกระทั่งได้รับฉายาว่าราชินีเพลงลูกทุ่ง เพลงคนดังลืมหลังควาย เป็นเพลงที่ดังในปี ๒๕๒๘ [คลิ๊กเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในวิกิพีเดีย]

[๒] รุ่งเพชร แหลมสิงห์ หรือ พันตรีวสันต์ จันทร์เปล่ง เกิดเมื่อ 20 พฤษภาคม 2485 ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นนักร้องดังร่วมสมัยและร่วมถิ่นเกิดกับไพรวัลย์ ลูกเพชร  เดิมเป็นทหารยศนายสิบ หน่วยเสนารักษ์ เริ่มร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีครูพยงค์ มุกดา จากนั้นก็หมุนเวียนไปเป็นนักร้องอยู่กับอีกหลายวงกระทั่งมีวงเป็นของตนเอง ปัจจุบันใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการเมื่อ ๒๕๔๕ อยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เพลง ไอดินกลิ่นสาว เป็นเพลงที่โด่งดังในยุคแรกๆของการเป็นนักร้องของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ แต่ง โดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน เพลงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างสูงสุดของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ คือ เพลงฝนเดือนหก [คลิ๊กอ่านรายละเอียดที่สนใจเพิ่มเติม]

หมายเลขบันทึก: 399102เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาชมเจ้าทุยค่ะ อาจารย์

ที่หนองบัวเห็นมีแต่วัว ส่วนควายไม่ค่อยเห็น

  • ตามมาจากบันทึกแรกครับ
  • ที่ไร่พนมทวนยังใช้ควายไถได้ครับ
  • ท่านมหาแลท่านคงเป็นห่วง
  • อยากเลี้ยงควายเหมือนกัน แต่ราคาแพงนะครับช่วงนี้...

สวัสดีครับคุณ nana ครับ

  • คงจะจริงครับ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านหนองบัวมักจะใช้เจ้าทุยสำหรับทำนา  ส่วนใหญ่จึงมักมีที่ทางอยู่ตามท้องทุ่งรอบนอก มืดค่ำก็กลับไปนอนปลักในบ้าน
  • ส่วนวัวนั้น ก็จะใช้เทียมเกวียน ลากเลื่อน ไปทำไร่ ซึ่งจะมีโอกาสมาเดินอยู่บนถนนของหนองบัวได้มากกว่าเจ้าทุยครับ
  • ยิ่งไปกว่านั้น แถวหนองบัวก็มีการเลี้ยงวัวฝูงด้วยครับ พื้นที่ของหนองบัวและโดยรอบเป็นที่ราบและมีทุ่งหญ้า เหมาะสำหรับเลี้ยงวัว เมื่อก่อนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าหนองบัวมีฝูงวัวอยู่ ๒-๓ ฝูง ฝูงหนึ่งเป็นของแขกปาทาน อยู่หลังที่ว่าการอำเภอ และอีกฝูงหนึ่งเป็นของตำรวจ อยู่ด้านหน้าศาลาประชาคม ของอำเภอหนองบัวนั่นเอง
  • ยิ่งไปกว่านั้น ก็จะมีฝูงวัวของหลวงพ่ออ๋อยที่ชาวบ้านนำวัวมาปล่อยให้เป็นของวัดอีกครับ เดินไปมาได้ทั่วตลาดหนองบัวเลย
  • แต่ไหนแต่ไรมาแล้วก็จึงจะเห็นฝูงวัวอยู่ในเขตชุมชนชั้นในมากกว่าเจ้าทุยครับ ทว่า หากออกไปรอบนอกตามละแวกบ้านของชาวบ้านแล้ว ก็จะเห็นเจ้าทุยมากกว่าครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • หาได้ยากแล้วนะครับที่จะยังมีคนใช้ควายไถนาทำไร่ได้อีกอย่างพนมทวน
  • ตอนนี้ผมคงเดินไถนาไม่ได้ทั้งใช้ควายและเครื่องรถอีแต๋น
  • เคยขอทดลองไถนาด้วยเครื่องรถอีแต๋นที่บ้านเพื่อนครั้งหนึ่งครับ เห็นแล้วคิดว่าง่ายและสะดวกสบายกว่าไถด้วยควาย เลยขอทดลองดูครับ
  • ที่ไหนได้ หนักมือแทบแย่ อีกทั้งสั่นสะเทือนไปทั้งตัว พอตกกลางคืนก็ให้มีอาการปวดตามกระดูกข้อต่อครับ เจ็บร้าวไปหมด
  • หลังจากนั้นแล้ว เมื่อเห็นชาวบ้านที่ไถเครื่องคล่องๆ ก็ต้องนึกชื่นชมอยู่ในใจไปด้วยเสมอครับ ไถยากครับ ต้องใช้ทักษะฝีมือมากเลยเชียว

เจริญพรคุณnana

  • เคยได้ยินชาวบ้านพูดกันว่าคนที่เลี้ยงควายในยุคนี้ส่วนใหญ่ เลี้ยงเป็นฝูง แล้วก็ไม่ได้เลี้ยงไว้ใช้งาน ไถนา เทียมเกวียนเหมือนเดิมอีกแล้ว

เจริญพรอาจารย์ขจิต

  • เครื่องมือทำการเกษตร เช่น ไถ เกวียน เครื่องฝัดข้าว ตอนนี้เก็บไปรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับกันหมดแล้ว
    เมื่อไม่มีไถ ชาวนาจึงใช้ควายกินน้ำมันไถนาแทน ควายกินหญ้าก็เลยตกงานไปตามๆกัน
  • ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่นำภาพท้องทุ่ง เจ้าทุยมาช่วยเสริมทำให้ได้บรรยากาศและสอดคล้องเข้ากับบทเพลงข้างต้นได้อย่างดี

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

ตามมาจาก บันทึก เก็บข้าวตกค่ะ

พูดถึงเรื่องเจ้าทุย เริ่มต้นตอนพ่อกับแม่แต่งงานงานเริ่มทำนา มีควายเพียง ๑ ตัว โดยลุงให้ยืมมาทำ ๑ ปี แล้วลุงก็มาขอควายคืนไป

พ่อแม่เลยไม่ได้ทำนา ย้ายไปอยู่ หนองสะเอ้ง ไปทางหนองกระเปา ค่ะ ไปซื้อวัว ๒ ตัวและทำไรข้าวโพด ไร่ข้าวฟ่าง หรือ ถั่วค่ะ แม่บอกว่าดิฉันเกิดที่หนองสะเอ้งค่ะ

ยังจำได้ เวลาจะมาซื้อของที่ตลาดหนองบัว พ่อต้องออกจากบ้านตอนเที่ยงคืน เดินทางด้วยวัวเทียมเกวียน มาถึงหนองกลับตอนเช้ามืด มาพักที่บ้านป้าที่หมู่ ๔ หนองกลับ แล้วแม่ก็ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ไปใช้ในไร่ค่ะ

และเวลากลับก็ต้องกลับตอนกลางคืน ไปถึงบ้านหนองสะเอ้ง ตอนเช้ามืด พ่อบอกว่าที่ต้องเดินทางในตอนกลางคืน เพราะวัวจะได้ไม่ร้อนค่ะ ดิฉันกับน้องๆ ก็กลับมาในเกวียน ซึ่งมีหลังคาด้วย

วกกลับมาเรื่องเจ้าทุย พอหลังจากจากดิฉันต้องเข้าเรียน ป.๑ (ปีการศึกษา ๒๕๒๑)ที่โรงเรียนวัดเทพสุดธาวาส พ่อแม่เลยเลิกทำไร่ค่ะ ย้ายเข้ามาอยู่ หมู่ ๔ และ ทำนา

กำลังจะบอกว่า ตลอดเวลาที่พ่อแม่ทำนาอยู่หนองบัว เราทำนาด้วยควายตลอดค่ะ และราวๆ ปี ๒๕๒๗ ได้รับความช่วยเหลือจาก ทางราชการค่ะ เค้ามีโครงการให้ยืมควายเพื่อทำนา หากตกลูก ลูกก็จะต้องตืนให้ทางราชการ หรือ ต้องคืนแม่ให้ทางราชการดิฉันจำไม่ได้ค่ะ

มาร่วมแบ่งปัน รื้อฟื้น ความทรงจำให้วัยเด็ก เกี่ยวกับเจ้าทุย

ทุกๆ วัน สอนลูกๆ อ่าน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก

ลูกชาย พุดอยู่เสมอว่า อยากขี่ ค.ควายเข้านา คือดิฉันจะเล่าให้ลูกๆ ฟัง เกี่ยวกับบ้านเกิด ความเป็นอยู่ และดิฉันโตมาอย่างไรใหนหนองบัวให้ลูกๆ ฟังเสมอค่ะ เล่าเรื่องควายให้เค้าฟังด้วย เค้าเลย อยากไป ขี่ ค.ควาย เมื่อเค้าได้รู้จัก ควายจาก การอ่าน แบบเรียน ก.ไก่ค่ะ

อัญชัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท