ความสุขที่ไม่ต้องมีการพึ่งพา


            ความสุขที่ไม่ต้องมีการพึ่งพา เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอกมาเป็นส่วนประกอบของกระบวนการการผลิตความสุข เป็นไปในลักษณะของความสุขที่มีอยู่เต็มเปี่ยมภายใน ไม่ยึดติดถือมั่นในภายนอก (วัตถุ) ที่มีมาปรนเปรอผ่านทางทวารทั้ง ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น และกาย)

 

          โดยปกติของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน จะมีปฐมฐานด้านความคิดที่ติดยึดว่า การที่จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อ มีวัตถุมาบำรุงบำเรออย่างพรั่งพร้อม ฐานความคิดดังกล่าวก็จะมาเป็นตัวกำหนดบทบาท แนวทางในการประพฤติปฏิบัติกำกับพฤติกรรมโดยการ พยายามเสาะแสวงหาความมั่งคั่งและวัตถุมาสนองตอบต่อความต้องการ (ไม่มีที่สิ้นสุด) ให้ได้มากที่สุด ก็จะกลายเป็นว่า ต่างคนต่างพยายามหาวัตถุ มุ่งเข้าสู่ลู่ทางแห่งการแก่งแย่ง แข่งขัน นำไปสู่การเบียดเบียนกัน รวมทั้งก้าวล่วงไปตักตวงและเบียดเบียนธรรมชาติในที่สุด

        

          การพัฒนาจิตใจให้มีความรู้เท่าทัน “กิเลส” เป็นสิ่งที่สำคัญในการนำพาวิถีของชีวิตให้โคจรออกจากวังวนแห่งกับดักของวัตถุ มุ่งตรงเข้าสู่ประตูของเส้นทางแห่งความสุขภายในที่ไม่ใช่การการพึ่งพา (วัตถุ) ภายนอก ซึ่งหลักธรรมในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพจิตใจให้สูงขึ้นนั้นมีหลากหลายหลักธรรมที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตคุณธรรมนำทางชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองต่อยอดไปถึงการพัฒนาสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างศานติสุข ซึ่งหลักธรรมที่สำคัญนั้นคือ “พรหมวิหาร ๔”

 

        "พรหมวิหาร ๔”  เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่


              - เมตตา    ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข

              - กรุณา    ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
              - มุทิตา    ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
              - อุเบกขา   การรู้จักวางเฉย วางใจเป็นกลาง

 

           ๑ เมตตา เป็นไปในลักษณะของการมีไมตรีจิตกับคนทั่วไป เจอใครก็ทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส รักใคร่ปรารถนาดีต่อทุกคน เมื่อมีเมตาคอยกำกับแล้วมุมมองในเรื่องของการแก่งแย่ง แข่งขัน และเบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์รวมทั้งการก้าวล่วงไปตักตวงและเบียดเบียดในธรรมชาติก็จะลดน้อยลง เกี่ยวเนื่องจาก การพร้อมที่จะให้ไมตรีจิตกับทุก ๆ คน

      

          ๒. กรุณา เป็นไปในลักษณะที่เห็นใครตกทุกข์ได้ยากก็พร้อมช่วยเหลือเขา หากว่ามีความกรุณาในจิตใจแล้ว “วัตถุ” ภายนอกก็จะลดค่าลงมา เป็นความพรั่งพร้อมที่ใช้ปัญญารวมถึงการจะสละทรัพย์สินบางส่วนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เช่น

                   - พระมหาสุภาพ พุทฺธวีริโย แห่งวัดป่านาคำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่ใช้แนวคิดของพระพุทธศาสนามาพัฒนาปรับใช้ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยพระอาจารย์ได้เล่าว่า เดิมทีท่านเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อท่านเป็นสามเณรและได้เดินธุดงค์มาตั้งแต่อายุ ๑๔ มาอยู่ในป่าช้า และต่อมาได้พัฒนามาเป็นวัดจนถึงปัจจุบัน จากพื้นที่ป่าช้าที่มีอยู่ ๔๓ ไร่ ต่อมาขยายไปอีก ๘๓ ไร่ ท่านแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นวัด ส่วนที่สองเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงซึ่งอยู่หลังวัด และส่วนที่สามเป็นส่วนของการบำบัดผู้ที่ติดยาเสพติดจากศาลแขวงพระนครเหนือโดยการใช้หลักศาสนาบำบัด โดยใช้วิถีชีวิตของความพอเพียงเป็นเครื่องมือ

 

                   - บิล เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สองคู่หูเพื่อนซี้ต่างวัย อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งและสองของโลกกลับหลังหัน ๑๘๐ องศาจากการแสวงหาความมั่งคั่งทางด้านธุรกิจ กลับไม่ยึดติดกับวัตถุ รู้จักความพอเพียงทางจิตวิสัย (จิต) อุทิศชีวิตให้กับการกุศลโดยการบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลไปแล้วรวมกันกว่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สรอ. เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคมในด้านต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา

 

                    - ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา นักฟุตบอลกองหน้าทีมชาติไอเวอรี่ โคสต์ สังกัดสโมสรเชลซีแห่งพรีเมียร์ลีก (อังกฤษ) ได้รับการจัดอันดับจากไทม์ นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ให้เป็นหนึ่งในร้อยของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากที่สุดในโลก โดยริชาร์ด สเตนเกิ้ล บรรณาธิการของไทม์ ได้อธิบายว่า

                          “เดอะ ไทม์ ๑๐๐ ไม่ใช่เฉพาะแค่บุคคลที่ทรงอำนาจ แต่เรายังรวมถึงคนที่มีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งบางคนที่ติดอันดับเป็นบุคคลที่คนทั่วไปรู้จักดีว่าเขามีอิทธิพลมากแค่ไหน แต่เรายังมองหาบุคคลที่นำเสนอไอเดียหรือการกระทำที่เป็นตัวอย่างให้แก่คนอื่น ๆ ในการพัฒนาชีวิตและเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบคนเหล่านี้”

                           ดร็อกบาถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา โดยดร็อกบาที่จะพาทีมชาติไอเวอรี่ โคสต์ ลงสู่ศึกในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แอฟริการใต้ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ถือได้ว่าเป็นนักฟุตบอลที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในทวีป นอกจากนั้นในระหว่างการคัดเลือกฟุตบอลโลกปีค.ศ. ๒๐๐๖ ที่มีแฟนบอลไอเวอรี่ โคสต์เสียชีวิต ๒๒ ราย เนื่องจากแฟนบอลเหยียบกันตายในสนาม ดร็อกบาได้บริจาคเงินของเขาเพื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ประชาชนในประเทศ และยังเป็นนักเตะที่บริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในการกุศลต่าง ๆ มากมายอีกด้วย

 

           ๓. มุทิตา เป็นไปในลักษณะของการเห็นใครได้ดี ประสบความสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า ก็โมทนาส่งเสริมไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เป็นคนใจกว้าง มองโลกในด้านดี เกี่ยวเนื่องจาก ความดีและความสำเร็จไม่ได้มีไว้เพื่อให้ใครผูกขาดหรือครอบครองเพียงคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีใครคนอื่นที่ได้ดี ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ก็ยินดี ส่งเสริมในความดีและความสำเร็จนั้น เมื่อคิดได้อย่างนี้จิตใจก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตสารตั้งต้นแห่งความใจกว้าง มองโลกในด้านดี นำพามาสู่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งภายในและภายนอก

         

           ๔. อุเบกขา เป็นไปในลักษณะของการวางใจเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรม เกิดจากผลของการใช้ปัญญาฝึกให้รู้จักรับผิดชอบต่อตัวเอง (จิตสำนึกส่วนตน) และรับผิดชอบต่อส่วนรวม (จิตสำนึกต่อส่วนรวม) ในส่วนของอุเบกขานั้นสิ่งสำคัญท่านว่าเป็นการมี ปัญญา มากำกับในกระบวนการวางใจให้เป็นกลาง เช่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมหรือแก้ไขปัญหาที่ปัจจัยเหตุได้โดยตรง เกี่ยวเนื่องจาก ปัจจัยเหตุที่มีมีหลากหลายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เราสามารถที่จะใช้อุเบกขาในการวางใจให้เป็นกลางต่อปัจจัยเหตุของวิกฤติทางเศรษฐกิจ แล้วพัฒนาต่อยอดทางปัญญาโดยการรู้เท่าทันของการก่อเกิด ตั้งอยู่และดับไปของกระบวนการวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยการมีอุเบกขาที่เป็นพื้นพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การมี “สติสัมปชัญญะ” กำกับและดูแลอย่างเข้มข้น

 

                คุณธรรม คือ พรหมวิหาร ๔ ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้นท่านว่า เป็นทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ติดตัว ใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักหมด มีแต่จะเจริญงอกงามทั้งภายในและภายนอกมากยิ่งขึ้น สร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในแล้วยังมีเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปให้กับคนรอบข้างต่อยอดไปถึงสังคมโดยรวม

 

        “คุณธรรมไม่ต้องเสียต้นทุน (มูลค่าทางตัวเงิน) ในการผลิต ใช้แค่ปัจจัยการผลิตคือ  กระบวนการคิดที่ดีงามของจิตใจผ่านเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยใช้ปัญญา และก็จะได้ผลผลิตออกมาทางการกระทำในสิ่งที่ดีและมีค่าทั้งต่อตัวเองและสังคม”

       

 

 

หมายเลขบันทึก: 398759เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท