การพ้นทุกข์ทางเศรษฐกิจ : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากเศรษฐกิจ


             ในสังคมเศรษฐกิจส่วนประกอบของ “ความต้องการ” และ “การสนองตอบ” โดยที่มีกลไกในการทำให้บรรลุเป้าหมายได้แก่ “ราคาและการแลกเปลี่ยน” ซึ่งมีเงื่อนไขในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ “เงิน” อาศัยในเหตุปัจจัยที่ไล่เรียงดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินเนื่องไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ปรากฏการณ์เศรษฐกิจที่พันผูกวิถีชีวิตของมนุษย์เอาไว้ในสังคมล้วนเป็นการสั่งสมปัญหานำพามาสู่กระบวนการ “เกิดทุกข์”

 

                ปฐมฐานของความต้องการได้ก่อกำเนิดความทุกข์ และการสนองตอบโดยการแสวงหาสิ่งที่จะมาบำบัด (เป็นความพยายามที่จะคลายทุกข์) ก็กลับกลายไปเป็นการสร้างทุกข์ขึ้นไปอีก เป็นไปในลักษณะของความพยายามที่จะปลดเปลื้องแก้ไขไถ่ถอนทุกข์ก็กลับกลายไปเป็นการสั่งสมทุกข์ขึ้นไปอีกโสดหนึ่ง ขยายกลายเป็นวงจรที่เข้มข้นซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งสภาพเช่นนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า สภาพความเป็นไปในกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์ (กิเลส – กรรม – วิบาก) หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนแก่กัน เช่น เมื่อมีความต้องการ (กิเลส) อยากได้ จึงทำให้แสวงหาสิ่งที่นำมาบำบัด (ทำกรรม) เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเสพเสวยบำรุงบำเรอเมื่อสมปรารถนาได้รับความพึงพอใจสูงสุด (วิบาก) จึงเกิดแรงทะยานของความต้องการอยากได้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็เหนี่ยวนำให้ทำกรรมและได้รับวิบากต่อไปอีก...

 

           หรือในทางตรงกันข้าม เมื่อมีความต้องการ (กิเลส) และได้แสวงหาสิ่งที่นำมาบำบัด (ทำกรรม) แต่ไม่สมปรารถนานำพามาไปสู่ความขัดเคืองใจสูงสุด (วิบาก) หรือทุกข์ ก็จะก่อเกิดกิเลสขึ้นใหม่ในรูปของโทสะ จึงเหนี่ยวนำให้ทำกรรมแล้วได้รับวิบากอีกแบบหนึ่งต่อไปอีก... เป็นต้น

 

     การดับไปในความต้องการ ก็คือ การประหารอวิชชา

            

          อวิชชา (ignorance, lack of knowledge) คือ ความไม่รู้ถูกต้องตามจริง ๔ ประการ ประกอบไปด้วย (๑) ความไม่รู้ในทุกข์ (๒) ความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ (๓) ความไม่รู้ในความดับทุกข์ และ (๔) ความไม่รู้ในแนวทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ความไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ หลงไปตามสมมติบัญญัติ ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่าง ๆ เป็นไปในลักษณะของภาวการณ์ขาดปัญญา ความไม่เข้าใจในเหตุและผลตามจริง การไม่ใช้ปัญญา เกิดสุญญากาศทางปัญญา หรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น

         

            การหลงเข้าไปยึดติดถือมั่นใน “อวิชชา” ล้วนนำพามาซึ่งกองทุกข์ เช่น

            หากว่าเรามีอายุ (แก่) มากขึ้น แล้วรู้สึกกังวลกับริ้วรอยบนใบหน้า เกิดความทุกข์ใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นไปตามหลักอนิจจัง แต่เราก็ยังหลงไปยึดติดกับอวิชชาไม่ยอมรับความเป็นไปในความสวยงาม (ที่มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา) จนนำมาสู่ความทุกข์ใจในริ้วรอยบนใบหน้า เมื่อเกิดความทุกข์ใจมากขึ้น จนความทุกข์ตกผลึก ก็ถลำลึกไปทำศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อที่จะทำให้ใบหน้าเด็กลง ภายนอกอาจจะมองว่าความทุกข์ใจลดลง แต่แท้ที่จริงแล้วกับแบกรับความทุกข์ที่ปนเปื้อนหนักเข้าไปอีก

                 ทุกข์หนึ่ง คือ หากแม้ว่าทำศัลยกรรมออกมาแล้วจะไม่มีผลข้างเคียง ได้ใบหน้าสวยงามตามที่ต้องการ แต่ก็ปนมาพร้อมกับความทุกข์ในการเก็บดูแลรักษาใบหน้า (ปลอม) นั้น ด้วยความที่ต้องระมัดระวังกลัวว่าจะเป็นโน่น เป็นนี่ตามมา ซึ่งก็จะนำพามาซึ่งความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

                ทุกข์สอง คือ หากว่าทำออกมาแล้วมีผลข้างเคียงตามมา ทำให้ใบหน้าเกิดเสียโฉมตามที่เป็นข่าวบ่อย ๆ ก็จะยิ่งแบกรับความทุกข์ใจและทุกข์กาย (ใบหน้า) หนักขึ้นไปอีก และยังจะมีทุกข์ปนเปื้อนอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

        

            หากว่าเราไปยึดติด ถือมั่นความเป็นตัวเป็นตน ว่าน่าเอา น่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้แล้ว ก็เหมือนกับเรากำลังวิ่งไล่กวดแข่งกับกิเลสตัณหา ซึ่งเราไม่มีทางที่จะเอาชนะมันได้ด้วยการสนองตอบทางด้านวัตถุ ที่มีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดเป็นหลักชัย สิ่งที่จะเอาชนะกิเลสได้คือ ความรู้จักรำงับแห่งจิตไม่หลงเข้าไปติดกับดักของความน่าเอา น่าเป็น เหล่านั้น

        

            คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบในความงดงามโดยการไปทำศัลยกรรมตกแต่งทางด้านร่างกาย แต่ลืม ศัลยกรรมตกแต่งทางด้านจิตใจให้สะอาด โดยการ

 

              ๑. ศัลยกรรมความโลภ (โลภะ)   ด้วยการหมั่นให้ “ทาน”

              ๒. ศัลยกรรมความโกรธ (โทสะ)  ด้วยการมี “เมตตา”

              ๓. ศัลยกรรมความหลง (โมหะ)   ด้วยการประหารอวิชชา ที่มี “ปัญญาศาสตรา” เป็นอาวุธ

               

          อวิชชาที่ครอบงำนำทางความต้องการที่มีไม่สิ้นสุดของมนุษย์ปุถุชนในความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสังคมทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ก็คือ ความไม่รู้ซึ้งถึงการบริโภคเพื่ออะไร นัยคือ การที่ไม่รู้จักแยกแยะคุณค่าแท้กับคุณค่าเทียมของสินค้าและบริการ เช่น

 

                   -  ในการรับประทานอาหารบางคนรับประทานเพื่อบำบัดความต้องการทางด้านร่างกาย (คุณค่าแท้) แต่ในขณะที่บางคนรับประทานเพื่อการติดใจในรสชาติ ความมีรสนิยม ความโก้หรู (คุณค่าเทียม)   

                  -  ในการมีที่อยู่อาศัยบางคนมีเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย (คุณค่าแท้) ในขณะที่บางคนมีเพื่อใช้อวดอำนาจบารมี ใช้อวดความร่ำรวยและมั่งคั่ง (คุณค่าเทียม)

                  -  ในการมีเสื้อผ้าบางคนมีเพื่อใช้เป็นเครื่องปกปิดร่างกายไม่ให้อุจาด (คุณค่าแท้) แต่ในขณะที่บางคนมีไว้เพื่อแสดงถึงรสนิยมที่ทันสมัย เพื่อความโก้หรู ใช้ในการอวดทรวดทรงร่างกาย (คุณค่าเทียม)

เป็นต้น

            

              การบริโภคที่ถูกลากจูงด้วยหัวจักรแห่ง “อวิชชา” เป็นไปในลักษณะของการบริโภคที่มุ่งเน้นที่การบำบัดความต้องการ (ไม่มีที่สิ้นสุด) เป็นเบื้องแรก ใช้เป็นฐานในการปีนป่ายขึ้นไปสู่เป้าหมายของการบริโภคเชิงสัญลักษณ์ในเบื้องถัดไป หรือรวมความมาบรรจบลงตรงที่ เป็นการบริโภคที่ยึดติดถือมั่นในคุณค่าเทียม (สนองความต้องการ + สร้างคุณค่าให้กับสัญลักษณ์) ของสินค้าและบริการ ซึ่งหากพิจารณาลงลึกให้ถึงที่สุดแล้วก็จะพบว่า การสร้างคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการในการบริโภคแท้ที่จริงแล้วก็คือ กลไกในการปั่นความต้องการ (กิเลส) ให้ทำงานบรรลุสู่จุดหมายได้เร็วขึ้นนั่นเอง เช่น การใส่คุณค่าเทียมในเชิงสัญลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการเพื่อให้แสดงถึงนัยต่าง ๆ อาทิ

             

                 - บัตรเครดิต      แสดงนัย       อำนาจ /  ฐานะทางสังคม  

                 - รถยนต์ยุโรป   แสดงนัย       ความสำเร็จและความมั่งคั่ง

                 - แม้กระทั่งสุราของมึนเมา ก็ยังถูกสื่อไปนัยทางความสุข ความรื่นเริงบันเทิงใจและ มิตรภาพ

                                                                ฯลฯ

             

            การสร้างคุณค่าเทียมในเชิงสัญลักษณ์อย่างนี้ ทำให้กระบวนการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการเหล่านี้รวดเร็วและง่ายขึ้น ในปัจจุบันนั้นกระบวนการกระตุ้นต่อมความต้องการ (กิเลส) ของผู้บริโภคให้ทำงานตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาถือได้ว่ามีอิทธิพลต่ออำนาจการตัดสินใจในการบริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการโฆษณาชวนเชื่อ การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ของสินค้าและบริการ เป็นเสมือนเครื่องมือในการกระตุ้นต่อมความอยากของผู้บริโภคให้ตื่นตัวพร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา หากว่าผู้บริโภคที่หลงติดกับดักในอวิชชาที่บูชาคุณค่าเทียมของสินค้าและบริการ ก็จะยิ่งเสริมเพิ่มพลังเปรียบเสมือนเป็นการสั่งสมเพาะพันธุ์รวมทั้งเสริมสร้างพัฒนาการให้กับอวิชชา หรือที่เรียกกันว่า “ลัทธิบริโภคนิยม” นั่นเอง

 

            การบริโภคสินค้าและบริการด้วยความหลงเข้าไปในการยึดติดถือมั่นในอวิชชา (คุณค่าเทียม) เป็นเสมือนการเสริมสร้างรากฐานความแข็งแกร่งให้กับ “กิเลส” ในการวิ่งไล่กวดความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

  

             ความต้องการถือได้ว่าเป็นฐานใหญ่ที่ฝังรากลึกสั่งสมในวิถีชีวิตประจำวันที่สำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องจาก ช่องทางของการเสริมสร้างที่กระตุ้นความต้องการให้ทำงานเบ่งบานอยู่ตลอดเวลาในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย หากปล่อยใจไม่มีการควบคุมบริหารจัดการ “ความต้องการ” ของตัวเองให้ดีก็จะหลงเข้าไปติดกับดักในหลัก การบริโภคนิยม ดังนั้น การดับไปในกระบวนการของความต้องการถือเป็นการสกัดเอาความต้องการ (สินค้าและบริการ) ที่ไม่จำเป็นตามจริงออกไปจากวิถีของการดำเนินชีวิต เมื่อความต้องการถูกบริหารจัดการอย่างพอประมาณ สมเหตุสมผลตามสภาวะ (ธรรม) ตามจริงแล้ว กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงต่อไปในกระแสสายธารของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะถูกจัดดุลยภาพใหม่ สินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตตามจริงก็จะถูกลดการผลิตและเลิกการผลิตไปในที่สุด ดังนั้น ทรัพยากรการผลิตดังกล่าวก็จะถูกโยกย้ายไปสู่ฐานการผลิตในภาคส่วนเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็นและมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตตามจริง เป็นไปในลักษณะของการจัดสรรทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพ (ตามความจำเป็นตามจริง) สูงสุด

        

           การดับไปในความต้องการของมนุษย์ในสังคมเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่การที่ไม่มีความต้องการใด ๆ เลยแม้กระทั่งปัจจัย ๔ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค) เหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่เป็นไปในลักษณะของการดับความต้องการที่เกิดจากแรงขับแห่งกิเลสตัณหา (อวิชชา) เพื่อพัฒนากระบวนการทางความคิดให้ไปเสพติดในวิชชาหรือ ความต้องการที่เกิดจากแรงขับแห่งฉันทะ

 

           การทำความเข้าใจในเศรษฐกิจตามจริงที่เกี่ยวเนื่องกับ “ความต้องการด้านฉันทะ” นั้น นอกจากจะสามารถบริหารจัดการความต้องการของตนเองให้มีความพอประมาณ สมเหตุสมผล มีความสมดุลกับธรรมชาติ รวมทั้งสามารถเสริมสร้างเป็นภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตแล้ว ความต้องการด้านฉันทะดังกล่าวยังเป็นแรงเร้ากระตุ้นกระบวนการสนองตอบให้ผลิตคิดค้นสินค้าและบริการในด้านที่ดีมีประโยชน์ออกมา เช่น สมมติว่า ทุกคนไม่มีความต้องการที่จะบริโภคเหล้า บุหรี่ และสิ่งมึนเมาอื่น ๆ เนื่องจากรู้และเข้าในโทษของสินค้าเหล่านั้น จึงเกิดแรงขับทางความต้องการด้านฉันทะให้มีอำนาจอยู่เหนือความต้องการด้านกิเลสตัณหา เหล้า บุหรี่ และสิ่งมึนเมาอื่น ๆ ก็จะขายไม่ได้ หรือแม้กระทั่งลดราคาก็ยังไม่มีใครซื้อ ทำให้ผู้ผลิตเกิดการขาดทุนจนกระทั่งเลิกผลิตไปในที่สุด ทรัพยากรการผลิตในสินค้าดังกล่าวเหล่านั้นก็จะถูกโยกย้ายถ่ายเทไปสู่สินค้าและบริการอย่างอื่น (ที่ดีมีประโยชน์) ตามความต้องการด้านฉันทะ เป็นไปในลักษณะที่เรียกได้ว่า “ความต้องการด้านฉันทะขับไล่ไสส่งความต้องการด้านกิเลสตัณหาออกจากระบบความคิด” ทำให้ได้ผลผลิตไปสู่  “สินค้าและบริการที่ดีขับไล่สินค้าและบริการที่เลว (ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ตามจริง) ออกไปจากระบบเศรษฐกิจ” โดยการบริหารจัดการความต้องการด้วยหลักปัญญาดังกล่าวนั่นเอง

     

            ความเป็นไปในลักษณะดังกล่าว แรงขับแห่งความต้องการ (ด้านฉันทะหรือกิเลสตัณหา) ของคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นเสมือนหัวลูกศรที่บ่งชี้ถึงรูปแบบของการสนองตอบที่สะท้อนกลับมาเพื่อบำบัดความต้องการเหล่านั้น ดังที่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่า “เงินเลวขับไล่เงินดีออกจากการหมุนเวียน” (bad money drives good money out of circulation) ซึ่งเป็นกฎของเกรแซม (Gresham’s Law) โดยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามูลค่าของโลหะชนิดใดต่ำลง (เงินเลว) ประชาชนจะเอาโลหะชนิดนั้นมาให้รัฐบาลทำเป็นเหรียญ และเก็บโลหะชนิดที่มีราคาสูงไว้ (เงินดี) บทสรุปท้ายที่สุดก็จะเหลือแต่เหรียญชนิดเดียวเท่านั้นที่หมุนเวียนในท้องตลาด ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๗๙๐ อัตราส่วนตลาดระหว่างทองคำกับโลหะเงินในตลาดโลกเท่ากับ ๑:๑๕.๕๐ ออนซ์ ในขณะที่อัตราส่วนของโรงกษาปณ์เท่ากับ ๑:๑๕ ออนซ์  แสดงว่ารัฐบาลตีราคาโลหะเงินสูงกว่าราคาตลาดโลก (overvalued silver) และตีราคาโลหะทองคำต่ำกว่าราคาคลาดโลก (undervalued gold) ดังนั้น เหรียญเงินจึงกลายเป็นเงินเลวและเหรียญทองคำเป็นเงินดี ประชาชนก็จะนำเอาเหรียญทองคำไปหลอมเป็นเนื้อโลหะ แล้วนำไปแลกเป็นเนื้อโลหะเงินซึ่งจะได้ถึง ๑๕.๕๐ ออนซ์ แล้วเอาไปขายให้รัฐบาลแลกเป็นเหรียญทองคำกลับมาซึ่งก็จะได้กำไรในส่วนต่าง ๐.๕๐ ออนซ์ ซึ่งก็จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด โรงกษาปณ์ก็จะไม่มีทองคำจ่ายให้ ทองคำก็จะหายไปจากการหมุนเวียนในตลาด คงเหลือไว้แต่เหรียญเงิน”

 

            ใจความสรุปโดยสาระสำคัญก็คือ “ในอดีตระบบการเงินเคยใช้เงินตราหลายสกุล เช่น เหรียญทองคำ เหรียญเงิน เป็นต้น โดยที่รัฐบาลกำหนดค่าเสมอภาคเอาไว้ โดยที่ค่าของโลหะทองและโลหะเงินนั้นมีการแปรผันได้ เช่น การค้นพบแหล่งโลหะเงินใหม่ โดยเมื่อปริมาณของโลหะเงินเพิ่ม ค่าของโลหะเงินก็จะลดค่าลง เป็นไปตามกฎอุปสงค์ – อุปทาน ประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็จะไม่อยากเก็บเหรียญเงินเอาไว้ แต่จะเก็บเหรียญทองคำเอาไว้ เมื่อประชาชนได้รับเหรียญเงินมาก็จะรีบจ่ายเหรียญเงินนั้นออกไปทันที เพราะตระหนักดีว่าค่าของโลหะเงินเสื่อม ในท้ายที่สุดเงินตราที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนในท้องตลาด ก็จะมีแต่เหรียญเงิน (เงินเลว)  ไม่มีเหรียญทองคำ (เงินดี)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 398237เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2010 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท