kong
นาย ก้องเกียรติ เติมเกษมศานต์

รักษารากฟันแล้วปวด ทำอย่างไรดี


อาการข้างเคียงของการรักษาที่ทันตแพทย์ไม่อยากให้เกิดคืออาการปวดหลังการรักษา เพราะส่วนใหญ่ผู้รับบริการหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อรักษารากฟันแล้วจะต้องหายจากการปวดเป็นอันดับแรก

            ระยะนี้มีงานรักษารากฟันค่อนข้างมาก เนื่องจากที่ทำงานต้องการระบายคิวรักษารากฟันที่ค่อนข้างมากให้มากที่สุด ดังนั้นทุกวันจะมีงานรักษารากฟันวันละ 1 -5 ราย จนจะกลายเป็นหมอรักษารากฟันไปแล้ว

          จากการรักษาที่มากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงของการรักษาได้มากขึ้นเช่นกัน อาการข้างเคียงของการรักษาที่ทันตแพทย์ไม่อยากให้เกิดคืออาการปวดหลังการรักษา เพราะส่วนใหญ่ผู้รับบริการหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อรักษารากฟันแล้วจะต้องหายจากการปวดเป็นอันดับแรก 

        การปวดหลังการรักษารากฟันจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือปวดระหว่างการรักษา และปวดหลังจากการรักษาเสร็จสิ้นไปแล้ว

       การปวดระหว่างการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรักษาครั้งแรก เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ อาจร่วมกับการบวมของเหงือกด้วย  ส่วนมากแล้วการปวดหลังการรักษาครั้งแรกมักเกิดกับการรักษารากฟันในฟันที่มีอาการปวด หรือเริ่มมีอาการปวด (Acute pulpitis) หรือกำลังเริ่มจะมีการอักเสบ   แต่จะไม่ค่อยเกิดในฟันที่ตายแล้ว (pulp necrosis)  หรือฟันที่มีตุ่มหนอง (periapical abscess) หรือฟันที่เพิ่งทะลุโพรงประสาท  ส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักจะระมัดระวังในเรื่องการกำจัดเส้นประสาทฟันให้หมด และการขยายคลองรากฟันและการล้างคลองรากฟันโดยไม่ให้เกิดแรงดันที่จะทำให้เศษสิ่งสกปรกที่ล้างทำความสะอาดดันเข้าไปในบริเวณปลายราก แต่บางครั้งก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าคิดว่ามีความเสี่ยงทันตแพทย์ก็อาจจะต้องเปิดรูที่กรอไว้ก่อนเพื่อให้เกิดการระบาย แล้วค่อยมาใส่ยา และปิดรูในครั้งต่อไป แต่ก็จะทำให้การรักษาใช้เวลานานขึ้นเนื่องจากการเปิดรูไว้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำลายได้   ในกรณีที่มีอาการปวดกลับมาถ้าไม่มากทันตแพทย์จะทำการล้าง ขยายรากฟัน หรือกำจัดเส้นประสาทฟันให้หมด ก็จะทำให้หายปวดได้ แต่ถ้ามีอาการบวมกลับมาด้วยอาจต้องเปิดระบาย และให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย

          ส่วนการปวดหลังการรักษาอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นคลองรากฟันยังไม่สะอาดแล้วอุด  ขยายคลองรากฟันไม่หมด หรือฟันแตก  การรักษาอาจต้องมีการรื้อและรักษาใหม่ หรือผ่าตัดปลายรากฟัน หรือถ้าไม่ได้จริง ๆ อาจต้องถอนในที่สุด

          อย่างไรก็ตามการรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษารากฟันกราม ซึ่งมีจำนวนคลองรากฟัน 3- 4 รู ทำให้ยากต่อการรักษา ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยในการมาตามนัด และทันตแพทย์เองต้องละเอียด รอบคอบ มีทักษะในการรักษา

                             ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 397583เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท