มหาสติปัฏฐานสูตรกับสังคมโลกาภิวัตน์


“จงจำไว้ว่า เวลาที่สำคัญที่สุดเวลาเดียว คือ “ปัจจุบัน” ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นเวลาที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บุคคลที่สำคัญก็คือคนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่ และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต”

ชื่อพระสูตร 

มหาสติปัฏฐานสูตร   สูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่ [๑]

 

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ปรากฏในมัชฌิมนิกายนี้มีข้อความเหมือนกับมหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกาย มหาวรรค  แต่อรรถกถาได้ตั้งชื่อสูตรให้ต่างกันไป กล่าวคือเรียกชื่อสูตรนี้ในมัชฌิมนิกายว่า สติปัฏฐานสูตร และเรียกชื่อสูตรในทีฆนิกายว่า มหาสติปัฏฐานสูตร  นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ในที่ต่าง ๆ หลายแห่งดังปรากฏทั่วไปทั้งในพระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก  แต่ที่ตรัสไว้เต็มรูปนั้น ก็คือพระสูตรนี้ซึ่งปรากฏในที่นี้ด้วย ในทีฆนิกาย มหาวรรค คือ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ด้วย

 

ประวัติความเป็นมาของพระสูตร

เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัย คือฤดูเป็นที่สบาย เพราะแคว้นนั้น สมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น. ชาวกุรุนั้น มีกำลัง ปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับ เทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ จึงทรงยกกัมมัฏฐาน ๒๑ ฐานะ ใส่ลงในพระอรหัตตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถอันลึกซึ้งนี้ แก่ชาวกุรุเหล่านั้น. เปรียบเสมือน บุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม้นานาชนิดลงในผอบทองนั้นหรือว่า บุรุษได้หีบทองแล้ว พึงใส่รตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้ง. ด้วยเหตุนั้นแล ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรอื่น ๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้งในคัมภีร์ ทีฆนิกายนี้ ก็คือมหานิทานสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ก็คือ สติปัฏฐานสูตร สาโรปมสูตร รุกโขปมสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคัณฑิยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร. อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้น ต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติ ปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุด คนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย. ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใสใจสติปัฎฐานข้อไหน นางจะไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่าน่า ตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว ต่อนั้นก็จะสอนเขาว่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ แล้วให้เขาเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง. แต่สตรี ผู้ใดพูดว่า ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า สาธุ สาธุ แก่นาง สรรเสริญด้วยถ้อยคำต่าง ๆเป็นต้นว่า ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตดีสมกับที่เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้า แท้ๆ. ในข้อนี้ มิใช่ชาวกุรุที่เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยการใส่ใจสติปัฏฐานแต่พวกเดียวเท่านั้น แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ที่อาศัยชาวกุรุอยู่ก็ใส่ใจ เจริญสติปัฏฐานด้วยเหมือนกัน.

 

พระพุทธเจ้าทรงปรารภใครถึงตรัสพระสูตรนั้น ใครเป็นมูลเหตุ

  พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ  ชื่อกัมมาสธัมมะ  แคว้นกุรุ  โดยทรงปรารภพุทธบริษัทชาวกัมมาสธัมมนิคมว่า  มีความสนใจในการเจริญสติปัฏฐานกันอย่างมาก  แม้พวกทาส  กรรมกร  และบริวารชนก็พูดกันแต่เรื่องสติปัฏฐาน    สุมังคลวิลาสินีอธิบาย เพิ่มเติมถึงเหตุผลที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมหาสติปัฏฐานสูตรแก่พุทธบริษัทชาวกุรุว่าเป็นเพราะพุทธบริษัทเหล่านั้นสามารถฟังพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งได้  เนื่องจากแคว้นกุรุเป็นแคว้นที่อุดมสมบูรณ์มีภูมิอากาศที่ดีไม่หนาวเกินไปไม่ร้อนเกินไป ชาวแคว้นกุรุจึงสามารถตั้งสติพิจารณาเรื่องที่ลึกซึ้งได้ดี โดยเฉพาะการบำเพ็ญสติปัฏฐาน [๒]  

 

เนื้อหาของพระสูตรโดยสังเขป  

ภาคอุทเทส

พระผู้มีพระภาคทรงยกหัวข้อการบรรยายขึ้นเป็นอุทเทสว่า ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (อริยมรรค) เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ

สติปัฏฐาน คือการตั้งสติสัมปชัญญะ เพียรพิจารณากาย เวทนา จิตและธรรม เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกให้ได้  โดยแยกพิจารณาเป็น ๔ ประการ  คือ

(๑)  การพิจารณาเห็นกายในกาย (กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่)

(๒) การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย (ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อยในความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่)

(๓) การพิจารณาเห็นจิตในจิต (จิตส่วนย่อยในจิตส่วนใหญ่ คือจิตดวงใดดวงหนึ่งในจิตที่เกิดขึ้นดับไปมากดวง)

(๔)  การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย (ธรรมส่วนย่อยในธรรมส่วนใหญ่)

ภาคนิทเทส

- การพิจารณาเห็นกายในกาย แบ่งออกเป็น ๖ หมวดคือ

๑.   พิจารณาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้เห็นการไหลเข้า ไหลออกติดต่อกันเป็นลำ ยาว สั้นสลับกันไป  (อานาปานบรรพ)

๒.  พิจารณาอิริยาบถ คือพิจารณาการเดิน ยืน นั่ง นอน ให้รู้ความ    เป็นไปของอิริยาบถนั้น ๆ  (อิริยาปถบรรพ)

๓.   พิจารณาสัมปชัญญะ คือ พิจารณาความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น การก้าวไป การถอยกลับ การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก  โดยกำหนดให้รู้ทันทุกอากัปกิริยานั้น ๆ  (สัมมปชัญญบรรพ)

๔.   พิจารณาสิ่งปฏิกูล  คือ  พิจารณาอาการ ๓๒  ในกายของตนมีผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เป็นต้น  ให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด  (ปฏิกูลมนสิการบรรพ)

๕.   พิจารณาธาตุ คือ พิจารณา ดิน น้ำ ไฟ ลม ในกายของตน   ให้เห็นโดยความเป็นธาตุ เหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคนั่งแบ่งอวัยวะของโคที่ฆ่าแล้วออกเป็นส่วนๆอย่างชำนาญ  (ธาตุบรรพ)

๖.   พิจารณาซากศพ ซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ กัน ถึง ๙ ลักษณะ เช่น        ซากศพที่ตายมาแล้ว ๑ วันถึง ๓ วัน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับกายของตนว่า  มีสภาพอย่างเดียวกัน  (นวสีวถิกาบรรพ)

- การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย   คือ พิจารณาความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ (อุเบกขา) ในตัวเอง แบ่งเป็น ๙ ประการคือ

๑.   เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๒.  เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๓.   เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๔.   เมื่อเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๕.   เมื่อเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๖.   เมื่อเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๗.  เมื่อเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๘.   เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

๙.   เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดเวทนานั้น

- การพิจารณาเห็นจิตในจิต คือ พิจารณาจิตของตนให้เห็นสภาวะตามที่ปรากฏในขณะนั้น ๆ และรู้ชัดตามความเป็นจริง มี ๑๖ อย่าง คือ

๑.   จิตมีราคะ            ก็รู้ชัดว่า “จิตมีราคะ”

๒.  จิตปราศจากราคะ   ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากราคะ”

๓.   จิตมีโทสะ            ก็รู้ชัดว่า “จิตมีโทสะ”

๔.   จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากโทสะ”

๕.   จิตมีโมหะ            ก็รู้ชัดว่า “จิตมีโมหะ”

๖.   จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากโมหะ”

๗.  จิตหดหู่              ก็รู้ชัดว่า “จิตหดหู่”

๘.   จิตฟุ้งซ่าน            ก็รู้ชัดว่า “จิตฟุ้งซ่าน”

๙.   จิตเป็นมหัคคตะ     ก็รู้ชัดว่า“จิตเป็นมหัคคตะ”

๑๐. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่เป็นมหัคคตะ”

๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า   ก็รู้ชัดว่า “จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า”

๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า“จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า”

๑๓. จิตเป็นสมาธิ         ก็รู้ชัดว่า “จิตเป็นสมาธิ”

๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ      ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่เป็นสมาธิ”

๑๕. จิตหลุดพ้นแล้ว      ก็รู้ชัดว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”

๑๖. จิตไม่หลุดพ้น        ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่หลุดพ้น”

- การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ พิจารณาว่าในขณะนั้น ๆ มีธรรมอะไรเกิดอยู่ในจิตของตน ก็รู้ชัดธรรมนั้น ๆ แบ่งเป็น ๕ หมวด คือ

๑.  พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ  ที่เรียกว่านิวรณ์ ๕   (นีวรณบรรพ : หมวดนิวรณ์)       

๒.  พิจารณาขันธ์ ๕  คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  (ขันธบรรพ : หมวดขันธ์)

๓.  พิจารณาอายตนะภายใน ๖  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  (อายตนบรรพ : หมวดอายตนะ)

๔. พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗  ที่เรียกว่าโพชฌงค์ (โพชฌงคบรรพ : หมวดโพชฌงค์)

๕. พิจารณาอริยสัจจ์ ๔  (สัจจบรรพ : หมวดสัจจะ)

ตัวอย่างการพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เช่น เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า กามฉันทะภายในของเรามีอยู่  หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มีอยู่  ก็รู้ชัดว่า  กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่ นอกจากนี้ยังพิจารณาให้รู้ชัดความเกิดแห่งกามฉันทะ ความดับแห่งกามฉันทะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกามฉันทะนั้นด้วย

 

ภาคอานิสงส์ของสติปัฏฐาน

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐานไว้ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ว่า บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ แม้เพียง ๗ วันเป็นอย่างน้อย   ก็หวังได้ว่า จะมีผลในปัจจุบันอย่างใดอย่างหนึ่ง ในจำนวนผล ๒ อย่างคือ  (๑) จะได้ บรรลุอรหัตตผล (๒) ถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ จะบรรลุอนาคามิผล (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก)

จึงทรงสรุปว่า  สติปัฏฐาน ๔ ประการนี้  เป็นทางสายเดียว  เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์  เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ  เพื่อดับทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุญายธรรม  เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน

 

ผลของการแสดงพระสูตร

เป็นที่น่าสังเกตว่าในพระไตรปิฎกกล่าวถึงผลการแสดงธรรมเพียงว่า หลังจากพระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค  ไม่ปรากฏว่ามีภิกษุได้บรรลุพระอรหัตจำนวนเท่าใดซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า พระสูตรดังกล่าวมีนัยที่ลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจได้ แต่ในอรรถกถากลับปรากฏผลการแสดงพระสูตรว่า ในเวลาจบเทศนา ภิกษุสามหมื่นรูป ดำรงอยู่ในพระอรหัต. แต่ไม่ปรากฏว่ามีภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกาได้บรรลุพระอรหัตหรือคุณธรรมอื่นๆ  แต่ประการใด

 

การประยุกต์พระสูตรกับการแก้ปัญหาสังคมปัจจุบัน

          สิ่งที่น่าพิศวงที่สุดในโลกคือ จิต  เพราะหากปราศจากจิต โลกก็ไม่ใช่อะไรเลย  ไม่ใช่เพื่อสิ่งใดเลย  และทุกข์ก็เกิดขึ้นที่จิต  ดับลงที่จิต ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมทำทุกข์มาให้ เหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้” [๓] จึงกล่าวได้ว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันล้วนมาจากจิตทั้งสิ้น การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มที่จิตที่ต้องฝึกฝนอบรมโดยพระสูตรที่สำคัญที่เชื่อถือตรงกันทุกนิกายว่ามาจากพระโอษฐ์จริง ก็คือ มหาสติปัฏฐานสูตร หรือสติปัฏฐานสูตร หากใครนำความรู้จากมหาสติปัฏฐานสูตรมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง กระทำกาย และใจของตนเสมือนห้องทดลอง หรือห้องปฏิบัติการอันพร้อมใช้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ย่อมจะพบผลลัพธ์อันน่ามหัศจรรย์ประจักษ์จิตตนเอง  ในยุคปัจจุบันที่คนพยายามแสวงหาทางออกของปัญหาต่างๆ ในชีวิต แนวคิดเรื่องมหาสติปัฏฐานถูกนำไปขยายต่อและฝึกปฏิบัติเป็นรูปแบบต่างๆ  มากมาย  ทั้งในระดับประเทศ ทั้งในระดับโลก เช่น ท่าน ติช  นัช  ฮันท์  ท่านได้เขียนงานเรื่อง The Miracle of Being Awake ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ       ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“จงจำไว้ว่า เวลาที่สำคัญที่สุดเวลาเดียว คือ “ปัจจุบัน” ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นเวลาที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บุคคลที่สำคัญก็คือคนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่ และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต”

          “เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนรอบข้างเรา ช่วยลดความทุกข์และเพิ่มความสุขแห่งชีวิตเหล่านั้น...คำตอบก็คือเราจะต้องฝึกสติ”

            ปีเตอร์ รัสเซลล์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Waking Up in Time รู้ตื่นให้ทันการณ์ ตอนหนึ่งว่า ไมส์เตอร์ เอคการ์ต นักรหัสนัยคริสเตียนแห่งศตวรรษที่ ๑๓ พูดถึงภาวะขณะจิตสงบไว้ดังนี้

            มีแต่ปัจจุบันขณะ...ที่นี่และเดี๋ยวนี้ตลอดไปไม่สิ้นสุด เป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ..ไม่มีเมื่อวานหรือพรุ่งนี้  มีแต่เดี๋ยวนี้เหมือนกับเมื่อพันปีก่อน และที่จะเป็นในอีกพันปีข้างหน้า

๖๐๐ ปี หลังจากนั้น ริชาร์ด เจฟฟรีส์ บรรยายไว้ว่า :

            ข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางปัจจุบันนิรันดร ซึ่งรอบรายข้าพเจ้าในแสงแดด ข้าพเจ้าอยู่กับสิ่งนี้ ราวผีเสื้อไร้น้ำหนักโบยบินกลางอากาศ ไม่มีอะไรอื่น มีแต่ปัจจุบัน ปัจจุบันนิรันดร ปัจจุบันคือชีวิตอมตะ

            การจะพบสันติสุขภายใน พบความเบิกบานและความอิ่มใจ เราไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องได้อะไร นอกจากกำจัดความคิดที่ปิดทับสิ่งนี้ไว้ เลิกกังวลว่าเราจะพบมันหรือไม่ในอนาคต และตระหนักว่า มันอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้ว [๔]

นักคิดคนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ เซอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  ได้เขียนงานเรื่อง MEDITATION IN ACTION[๕]   โดยได้นำเสนอประเด็นสำคัญของมหาสติปัฎฐานสูตรว่าสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่วิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง  เพราะในการศึกษาปฏิบัติ ในหลายครั้งเรามักจะผัดผ่อนไปว่ารอให้มีเวลาที่จะไปนั่งสมาธิภาวนา  ปลีกวิเวกอยู่ที่วัด หรือตามป่าเขาก่อน  ขณะนี้เรายังต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทำงาน หาเลี้ยงชีพให้กับตนเองและครอบครัวมีเรื่องสำคัญและจำเป็นกว่าการฝึกสมาธิภาวนาในขณะนี้  ที่เราคิดเช่นนี้เพราะเราแยกชีวิตทางโลกกับทางธรรมออกจากกันอย่างสิ้นเชิง  เราคิดว่าการปลีกตัวไปนั่งสมาธิภาวนา นั่นคือการปฏิบัติธรรมเท่านั้น  หากเราคิดเช่นนั้น  จวบจนชั่วชีวิตเราอาจจะไม่มีเวลาได้ลงมือปฏิบัติธรรมก็ได้ ด้วยเราไม่มีโอกาสรู้ว่าชีวิตจะยืนยาวหรือสั้นเพียงใด ท่านตั้งคำถามว่า พุทธศาสนาในแง่ของสมาธิภาวนาเหมาะแก่คนที่จะละโลกเท่านั้นหรือ เซอเกียม ตรุงปะ ได้ให้หลักสำคัญและความเข้าใจในการฝึกสมาธิที่สามารถเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตในสังคม และไม่ต้องรอให้ตัวเราสมบูรณ์ก่อนจึงค่อยเริ่มลงมือปฏิบัติ เราอาจยังมีข้อบกพร่องมากมาย  เช่น ความเห็นแก่ตัว ความอยากได้ อารมณ์ร้าย  แต่สิ่งเหล่านี้เป็นดังปุ๋ยที่จะเพราะเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้งอกงามขึ้นมา 

          หากจะกล่าวว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นเคล็ดวิชาในพระพุทธศาสนาที่ทำให้ผู้เจริญสติเปลี่ยนจากภาวะ “คิด” เป็น “รู้” จึงสามารถควบคุมความคิดและหยุดความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศลได้ หากทำได้อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันจะทำให้เกิดศานติสุขอย่างแท้จริงก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด  แนวคิดในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่เข้าใจกันในภาษาปัจจุบัน เช่น สมาธิ   กัมมัฏฐาน  ภาวนา  ฝึกสติ  การกำหนดให้รู้เท่าทันปัจจุบันขณะ  วิปัสสนา   เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมาจากฐานคิดหลักคือมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้น   มหาสติปัฏฐานสูตร จึงถือเป็นความแตกต่างระหว่างศาสนาอื่นๆ กับพระพุทธศาสนาที่มุ่งให้มนุษย์แก้ปัญหาโดยเพ่งพินิจเข้ามาที่ฐาน ๔  คือ  กาย   เวทนา  จิต ธรรม ดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหา และเป็นที่ดับแห่งปัญหาด้วยเช่นกัน  ซึ่งเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะพบกับความมหัศจรรย์และเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างแท้จริง ผู้ปฏิบัติจะพบกับการตื่นรู้ภายใน เป็นปัญญาที่เรียกว่า  ภาวนามยปัญญา  คือปัญญาอันเกิดจากการปฏิบัติและเห็นได้ด้วยตนเอง จะเป็นการเห็นแจ้งที่ยากจะเปลี่ยนแปลงเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 

            การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติภาวนาเป็นวิธีการปลดปล่อยตัวเราจากภาระอันหนักหน่วง คือการปฏิบัติภาวนา  การฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้รู้จักความจริงที่เกี่ยวกับตัวเรา  การมีชีวิตอย่างพ้นจากความอยาก  จะช่วยได้มาก นั่นคือการอยู่อย่างสงบเย็น  ไม่เร่งร้อน  รู้จักไตร่ตรองและมีจินตนาการ  ลดความวอกแวกวุ่นวายให้เหลือน้อยที่สุด  มุ่งแสวงหาและเป็นนายเหนือเป้าหมายทางจิตและอารมณ์  มีชีวิตที่มีคุณภาพดีกว่าอยู่ด้วยปริมาณเมื่อเราดื่มด่ำอยู่กับทุกการกระทำ  เมื่อเราลืมตัวตนของตนเอง  และเป็นหนึ่งเดียวกับงานที่ทำ  ลืมเรื่องทั้งหลายที่กำลังคิดหมกหมุ่น  ลืมความยึดมั่นถือมั่นและมายา  ก็เท่ากับเราอยู่บนวิถีที่จะมีชีวิตอยู่กับการภาวนา  การภาวนาคือ การมีญาณเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของการดำรงอยู่การที่เราจะสามารถรื่นรมย์กับชีวิตที่แสนจะวุ่นวายนี้คงไม่ยากเกินความสามารถของเรา  เพราะวิธีการเหล่านี้ก็ช่างเป็นเรื่องที่จะแสนจะธรรมดาเหลือเกินไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนใดเลย  บางทีเรื่องง่ายๆ และธรรมดาๆ นี่เองที่จะทำให้ชีวิตของเรารื่นรมย์  ซึ่งการรื่นรมย์นี้มิได้หมายถึงว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างว่างเปล่าไร้คุณค่าใดๆ แต่เป็นการทำชีวิตให้รุ่มรวย  งดงามแม้ในยามที่เรารู้สึกเหนื่อยล้ากับชีวิต  อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะภาวนาด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามในโลกนี้ ทุกอย่างก็ล้วนจัดลงในฐาน ๔ ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้นนี่ความมหัศจรรย์แห่งคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งจะหาไม่ได้ในศาสนาอื่นๆ

การประยุกต์ใช้ในครอบครัว

ในการฝึกสติในครอบครัวสามารถทำได้ เช่น การมีสติตอนเตรียมชา หรือกาแฟ มีสติขณะล้างถ้วยชาม  มีสติในขณะซักเสื้อผ้า มีสติขณะทำความสะอาดบ้าน  มีสติขณะอาบน้ำเป็นต้น เมื่อฝึกสติจนเกิดความสมบูรณ์จะทำให้เกิดความเข้าใจในชีวิต  เกิดความรัก ความเมตตาต่อกันระหว่างคนในครอบครัว  เป็นการถักทอสายใยแห่งความรักให้เกิดขึ้นเป็นความรักที่ไม่เกิดการยึดครอง  เป็นความรักแบบเข้าใจ พ่อ แม่ ก็ไม่เข้าไปยึดในตัวลูก และครอบครอง ครอบงำลูกจนทำให้เขาขาดอิสรภาพ  เป็นความรักที่สามารถเข้าใจและยอมรับได้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีมีการให้อภัยหากเกิดความผิดพลาดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้หากบุคคลใดปฏิบัติตามแนวทางแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร

การประยุกต์ใช้ในการทำงาน

ชีวิตในการทำงานในสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกันสูง จึงเป็นสนามประลอง หรือสภาวธรรมที่จะทดสอบจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างดี  ผู้เห็นทุกข์ก็คือผู้เห็นธรรม  ผู้ปฏิบัติอาจจะใช้หลักเวทนาดูความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เรียกว่าทำปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานให้อุปกรณ์ในการฝึกสติ หรือใช้หลักจิตตานุปัสสนา  ดูความคิดในแต่ละขณะที่ทำงาน  รวมถึงใช้หลักธรรมานุปัสสนา  ดูสภาวธรรมในขณะนั้นๆ ว่าถูกนิวรณ์เข้าครอบงำหรือไม่ เป็นต้น  ฉะนั้น   การทำความเข้าใจหลักการและวิถีปฏิบัติ เพื่อจะทำให้เราได้เข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ชีวิตอันรายรอบไปด้วยความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง ความเห็นที่หลากหลาย เกิดเป็นความบีบคั้นอันแสนโกลาหล ความโกลาหลที่ว่านี้มักจะถูกมองเป็นเรื่องเลวร้ายเพียงเพราะแรงต่อต้านของอัตตา อันเป็นความพยายามที่จะรักษาแบบแผนที่เคยชินของความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตเดิมๆ ที่เราใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อะไรที่อยู่นอกกรอบการควบคุม ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของตัวตนอันคับแคบ มักถูกตัดสินว่าเป็นปัญหา กลายเป็นปมความทุกข์ที่เราไม่สามารถเข้าไปเผชิญกับมัน การศึกษาธรรมะโดยเฉพาะหลักมหาสติปัฏฐานสูตร จะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความไม่แน่นอนของชีวิตแต่อยู่ที่จิตใจอันคับแคบที่เต็มไปด้วยความกลัวต่อการเรียนรู้ต่างหาก
             ความเข้าใจทางหลักการเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หนทางที่จะพาเราให้สามารถเข้าไปเผชิญต่อประสบการณ์ใหม่ๆของชีวิตทั้งภายในและภายนอกได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ก็คือ การได้ฝึกฝนจิตใจ ปฏิบัติภาวนา ฝึกใจให้ผ่อนพักอยู่ในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ภายใน อย่างปราศจากอคติและความยึดมั่นถือมั่น จิตใจที่ว่างแสดงถึงความพร้อมต่อการเรียนรู้ชีวิตในทุกขณะ จะนำมาซึ่งการมองความคิดเห็นอันหลากหลายที่ดูแสนโกลาหล เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับฟัง สื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ บนพื้นฐานของปัญญา จนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในในตนเองโดยสมบูรณ์        ในสถานที่ทำงานซึ่งถือว่าเป็นเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของคนทั่วไป ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร  หากมีสติรู้เท่าทันปัจจุบันขณะก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาในการติดต่อประสานงานต่างๆ  การตัดสินใจจะมีความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และจะเป็นการทำงานด้วยจิตที่เป็นกุศลเป็นการปฏิบัติธรรมในขณะทำงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารยิ่งต้องทำงานโดยใช้สติเป็นอย่างมาก การรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่จะให้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน และเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้น่าอยู่

            การประยุกต์ใช้ในฐานะของประชาชนในประเทศชาติ 

             ในปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความแตกแยกทางความคิดขึ้นข้างสูงทั้งเรื่องของการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มอำนาจใหม่  หรือกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นต้น การฝึกสติตามแนวทางของสติปัฏฐาน ๔  จะทำให้ความหลากหลายทางความคิดไม่ถูกมองเป็นเนื้อร้ายที่ต้องถูกกำจัด ผู้คนรู้จักใช้ใจที่เปิดกว้างรับฟัง แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สังคมก็จะเป็นสังคมที่ตื่นอยู่เสมอ แต่ก่อนที่สังคมจะตื่นได้ ภาวะแห่งความตื่นจะต้องเริ่มขึ้นที่ปัจเจก ผู้คนต้องรู้จักฝึกฝนพัฒนาตนจนค้นพบศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในอย่างเต็มภาคภูมิ จากนั้นจึงเกิดการถักทอจากหน่วยเล็กๆอย่างเป็นธรรมชาติ เกิดเป็นเป็นเครือข่ายของการเรียนรู้ เติบโตงอกงามขึ้นเป็นประชาธิปไตยในธัมมิกสังคม บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันของผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

 

คำวิจารณ์ของผู้เขียน

          ในด้านเนื้อหาสาระ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓  ตอน ตอนที่ ๑ เรียกว่าอุเทสนำเสนอเป็นภาพรวม ถึงหลักการแห่งมหาสติปัฏฐาน ๔  คือ การพิจารณากายในกาย  เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ตอนที่ ๒ เรียกว่านิเทศ  จำแนกแจกแจงอธิบายรายละเอียด มียกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจน หากผู้ใดอ่านทำความเข้าใจแล้วสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ทันที 

ตอนที่ ๓ เรียกว่าภาคอานิสงส์  เป็นบทสรุปที่ยืนยันถึงหลักและวิธีเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา พระสูตรนี้จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญสูงสุดในฐานะเป็นกระบวนการ เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาคือพระนิพพาน

เนื้อหาสาระในมหาสติปัฏฐานสูตร ปรากฏในพระสูตรอื่นๆ อีกหลายแห่งเพื่ออธิบายเพิ่มเติม เช่น อานาปานสติสูตร ซึ่งมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ  ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานสี่ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์  โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติให้สมบูรณ์” นอกจากนี้ยังถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในการสอนพระภิกษุ ดังปรากฏในจักกวัตติสูตร เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหามาก และเป็นพระสูตรที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างสูง  ตั้งแต่หลักการพื้นฐานที่พระพุทธศาสนาสอนให้มีตนเป็นที่พึ่ง  หรือสอนให้พึ่งตนเอง  โดยพระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้พึ่งตนพึ่งธรรม ไม่พึ่งสิ่งอื่น วิธีพึ่งตนพึ่งธรรมให้กระทำโดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ (ทรงแสดงเฉพาะบทมาติกา) และให้ประพฤติธรรมอันเป็นโคจรที่สืบเนื่องมาจากบิดา (พระองค์เอง) เมื่อประพฤติข้อนี้ บุญกุศลจะเจริญยิ่งขึ้น มารจะขัดขวางมิได้หลักทศพิธราชธรรม    ไปจนถึงแนวคิดเรื่องยุคพระศรีอริยเมตไตรยอันเป็นเหตุนำมาส่งความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณีต่างๆ  มากมายของสังคมไทย[๖]  

          ในด้านลักษณะวิธีการแสดงธรรม

เหตุเกิดของพระสูตรนี้  จัดอยู่ในประเภทปรัชฌาสยะ คือเกิดขึ้นตามอัธยาศัยของบุคคลอื่น หากเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันเข้าใจว่า ในระหว่างที่พระพุทธองค์กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา เหล่าภิกษุก็นั่งกำหนดเจริญสติพิจารณาเนื้อหาตามแนวแห่งพระธรรมเทศนา โดยไม่มีการสื่อสารโต้ตอบกับพระพุทธองค์ เป็นการแสดงธรรมเพื่อให้จิตน้อมไปตามพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์  และได้บรรลุพระอรหัตถึงสามหมื่นรูป    จึงสรุปได้ว่าลักษณะวิธีการแสดงธรรมในพระสูตรนี้ มีลักษณะการสอนแบบบรรยาย เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว   

 

บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

                กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

CD-ROM พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา MCUTRAI Version1.0

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม : ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้ง

ที่ ๑๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙.

นัท ฮันห์, ติช .  ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ .  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. ๒๕๕๐.

ปีเตอร์ รัสเซลล์ เขียน  สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ แปล.  รู้ตื่นให้ทันการณ์ : ค้นพบสันติสุขภายใน ขณะก้าวไปอย่างเร่งเร็ว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา. ๒๕๔๘

เซอเกียม  ตรุงปะ .  MEDITATION IN ACTION ภาวนาคือชีวิต. กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง .  ๒๕๔๒.

 


[๑] ที.มู. (ไทย)  ๑๒/๑๐๕/๑๐๑   CD-ROM พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา MCUTRAI Version1.0   และปรากฎใน  ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๒/๓๐๑-๓๔๓   CD-ROM พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา MCUTRAI Version1.0   

[๒] ที.อ. ๒/๓๗๓/๓๕๗. ฉบับอรรถกถามหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐.

[๓] อัง. เอก.    (ไทย)  ๒๐/๒๙/๖   CD-ROM พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา MCUTRAI Version1.0   

[๔] ปีเตอร์ รัสเซลล์ เขียน  สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ แปล.  รู้ตื่นให้ทันการณ์ : ค้นพบสันติสุขภายใน ขณะก้าวไปอย่างเร่งเร็ว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา . ๒๕๔๘

[๕]  เซอเกียม  ตรุงปะ .  MEDITATION IN ACTION  ภาวนาคือชีวิต .  กรุงเทพ ฯ:  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง .  ๒๕๔๒.

[๖] ผู้สนใจเรื่องจักกวัตติสูตร สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้  ที. ปา (ไทย) ๑๑/๘๐/๕๙  CD-ROM พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา MCUTRAI Version1.0

หมายเลขบันทึก: 396233เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท