๗๕. พรมแดนศาสตร์ศิลป์ของการศึกษาและการจัดการความรู้


น้องรักคนหนึ่งของผมกำลังไปทำปริญญาเอกในสาขาศึกษาศาสตร์กับการพัฒนา ของมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่ง เมื่อเริ่มคิดก็เริ่มขายไอเดีย ซึ่งก็ดูกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา ยิ่งสอบได้และผ่านการคัดเลือกแล้ว ก็ยิ่งดูฮึกเหิมคึกคัก พรั่งพรูเรื่องราวความคิดฝัน ทว่า พอเริ่มเสียค่าลงทะเบียน ก็เริ่มกุมขมับ แต่ก็ยังเห็นพลังชีวิตมากมาย แต่พอเริ่มเรียนไปได้สักพักก็เริ่มปรากฏอาการลมปราณกระเซ็นกระสาย

วันหนึ่ง ระหว่างคุยเรื่องงาน ก็เปรยกับผมว่า ต้องอ่านบทความ หนังสือ เอกสาร และทำงานศึกษาค้นคว้าเยอะ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนทำงานวิชาการเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย ทำท่าจะความคิดกระจาย ซึ่งจะทำให้ทำงานกับข้อมูลและงานความคิดได้ไม่ดี เลยปรารภกับผมไปเรื่อยๆอย่างไม่ต้องการคำตอบ เป็นการคุยกันอย่างคนทำงาน เพื่อให้มีเวลาได้ตั้งสติ จะได้มีวิธีคิดดีๆเกิดขึ้น

ผมเลยสะท้อนความคิด เพื่อเสริมกำลังใจและเสริมกำลังความคิดไปในตัวให้ว่า การศึกษาในขั้นสูงเขาไม่ได้สร้างความรู้และสร้างวิธีคิด วิธีเข้าใจขึ้นที่ระดับการอ่านและการพรรณาด้วยความรู้ที่เป็นเนื้อความ แต่จะเข้าสู่เรื่องราวต่างๆด้วยชุดแนวคิด ระบบวิธีคิด สื่อความเข้าใจและอธิบายสิ่งต่างๆด้วยชุดเหตุปัจจัยและตัวแปรที่ปฏิสัมพันธ์กันบนกรอบวิธีคิด ทฤษฎี และแนวความเชื่อที่มีหลักสนับสนุนมากมาย

การมองและอธิบายสิ่งต่างๆผ่านตัวแปรนั้น เป็นการเห็นความเป็นระบบและความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆหลายมิติและหลายระดับ ทั้งวิถีทรรศนะ ความคิด ความรู้ ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนั้น ตัวแปรแต่ละตัวจึงหมายถึงบทสรุปจากข้อมูลและประสบการณ์จำนวนมาก เปรียบเทียบหลากหลายบริบท จะใช้วิธีจำความรู้และแจกแจงเพื่อเข้าใจเป็นจุดๆที่ระดับเนื้อความและตัวบทความรู้ไม่ได้ ต้องสามารถกระโดดข้ามหรือละไว้ด้วยฐานที่ต้องเข้าใจเป็นกรอบๆ เพื่อสังเคราะห์และสร้างความรู้ที่เป็นแนวอธิบายที่ดีที่สุดไปตามเงื่อนไขปัจจัยนั้นๆ ไม่ได้มองเพื่อจดจำความรู้อย่างหยุดนิ่งตายตัวเพื่อนำไปใช้อธิบายกับทุกสถานการณ์ ดังนั้น จะต้องมีแผนที่เพื่อจัดการความรู้ในหัวที่ดี เพราะต้องอ่านและศึกษาค้นคว้ามาก

จากนั้น ผมก็บอกว่า ในเรื่องศาสตร์ทั้งหลายที่ว่าด้วยการศึกษาเรียนรู้นั้น หากคิดไปตามการรับรู้เป็นเรื่องๆทั่วโลกและทั่วพรมแดนของความรู้นั้น ก็จะมากมายมหาศาลจนไม่สามารถสำรวจตรวจตราได้อย่างเป็นระบบ ที่สุดก็จะดูเหมือนล้นเกินจนไม่สามารถเข้าถึงแก่นและเรียนรู้ให้ทะลุได้ ผมจึงบอกให้สร้างกล่องขึ้นในหัว ๓ กล่อง เพื่อจัดระบบคิดไว้เกาะติดข้อมูลความรู้ใน ๓ พรมแดน ซึ่งจะสามารถครอบคลุมได้หมด จากนั้น จึงค่อยวางกรอบพิจารณาลดหลั่น ซับซ้อนไปตามขอบเขตทฤษฎีและความรู้ทั่งมวลที่เข้าถึงได้

ผมขยายความให้ฟัง พร้อมกับยกตัวอย่างวิธีนำเอาสิ่งที่รู้มาจัดหมวดหมู่ รวมทั้งใช้วิธีคิดดังกล่าวเป็นกรอบอธิบายแจกแจงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้ รวมไปจนถึงมิติการบริหารและการจัดการความรู้ ซึ่งก็ดูเหมือนทำให้เขาดูตาสว่างขึ้นมาโดยพลัน กุลีกุจอหากระดาษมาจดกันลืมและเปิดประเด็นซักถามหารายละเอียดที่ต้องการไปจนพอใจ

พรมแดนแห่งศาสตร์และความรู้ ๓ พรมแดน เพื่อครอบคลุมวิทยาการด้านการศึกษาเรียนรู้และการบริหารจัดการความรู้ทั้งมวลไว้ได้นั้น จะผสมผสานศาสตร์และศิลป์ใน ๓ พรมแดน คือ.... 

  • ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยความรู้ Science of Knowledge
  • ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยการทำให้รู้ หรือการสอน การถ่ายทอด Science of Teaching
  • ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยการรู้และการเรียนรู้ Science of Knowing

 

  ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยความรู้    ประกอบไปด้วยแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ หรือ Science of Knowledge ธรรมชาติของความรู้ การสร้างความรู้ ผู้รู้ ซึ่งในพรมแดนดังกล่าวนี้ก็ควรจัดหมวดหมู่จำแนกเป็นเชิงชั้นให้ได้ ๕ ระดับ ที่เชื่อมโยงกันทั้งในแนวระนาบและในแนวดิ่ง คือ [๑] ระดับอภิปรัชญญาซึ่งจะเป็นความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดว่าด้วยความเป็นจริงสูงสุดของแต่ละสาขา แต่ละสังคม [๒] ระดับปรัชญาซึ่งจะเป็นความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการทางเหตุผลและตรรกศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ก็จัดว่าเป็นความรู้ที่สร้างขึ้นโดยวิธีการทางเหตุผล เป็นกระบวนการทางปัญญาและวิธีคิดเชิงนามธรรมซึ่งใช้เครื่องมือสัญลักษณ์ทำงานทางความคิด [๓] ระดับความรู้โดยวิธีการวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆซึ่งสร้างความรู้ด้วยการสังเกต ตรวจสอบด้วยการทดลองทำซ้ำยืนยัน บันทึกสถิติ และสรุปเป็นความจริงทั่วไปตามข้อเท็จจริง [๔] ระดับประสบการณ์และปรากฏการณ์เชิงสัมผัสซึ่งต้องอาศัยการตีความและให้ความหมายของมนุษย์ และ [๕] ระดับการตื่นรู้จากภายในหรือระดับที่จะต้องพัฒนาความละเอียดอ่อนภายในจิตใจของมนุษย์ เพื่อมีความสามารถหยั่งความเป็นใจเขาใจเราของความเป็นชีวิตในความรู้ ทดแทนและเติมเต็มเครื่องมือการชั่งตวงวัดและประเมินทางวัตุภายนอกที่เข้าไม่ถึง

ความรู้แบบต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความรู้ในระดับอภิปรัชญาและความรู้ในระดับปรัชญา เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถกลายเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์ คลายบทบาทความสำคัญ ตลอดจนหักล้างเหตุผลและระบบคิดที่มีมาก่อนได้ ขณะเดียวกัน ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำให้มนุษย์จินตนาการสร้างความรู้เชิงปรัชญาที่สูงขึ้นไปได้อีก เหล่านี้เป็นต้น

ความรู้ทุกแบบล้วนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ความรู้แบบอภิปรัชญาก็มีบทบาทต่อการให้ระบบและวิธีคิดในการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือความรู้ความสามารถของมนุษย์ ให้มีกรอบกติกาในการปฏิบัติต่อระบบสังคมวัฒนธรรมตามจินตภาพในแต่ละยุคสมัย ความรู้ในระดับดังกล่าวอาจสร้างระบบการอธิบายด้วยเทพปกรณัมและเทววิทยาต่างๆ ความรู้ในระดับปรัชญาก็ทำให้มีวิธีแก้ปัญหาและอยู่ร่วมกันด้วยวิธีการทางเหตุผลอันเป็นที่ยอมรับกันในสังคม ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ก็ทำให้มีวิธีคิดและตัดสินใจที่อิงอยู่กับความจริงที่สามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ ความรู้จากประสบการณ์ก็ทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ความรู้จากภายในก็ทำให้มนุษย์มีความสามารถร่วมทุกข์สุขและสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันได้ ใช้ตนเองเป็นเครื่องมือหยั่งความเป็นใจเขาใจเรา เพื่อความเข้าใจกันของมนุษย์ในระดับที่จะสื่อสารและสัมผัสจากองค์ประกอบภายนอกไม่ได้ ความเป็นส่วนรวมและพื้นที่เผื่อแผ่ออกไปสำหรับเป็นที่ยืนของผู้อื่นจึงจะสามารถก่อเกิดขึ้นมาจากหัวใจของปัจเจกและพัฒนาการให้พ้นจากความคับแคบต่างๆไปตามลำดับได้

นอกจากนี้ ศาสตร์และความรู้สาขาต่างๆ ต่างก็ส่งเสริมเติมเต็มให้กัน อีกทั้งหยิบยืมเครื่องมือและวิธีการของกันและกัน แยกขาดออกจากกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้ วิธีการเหตุผลนับแต่ระดับอภิปรัชญากระทั่งวิธีการของสาขาคณิตศาสตร์ซึ่งก็เป็นการสร้างความรู้โดยวิธีการทางเหตุผล ย่อมต้องอาศัยกระบวนการภายในทั้งการเจริญสติและกระบวนการคิดที่แยบคาย รวมไปจนถึงความมีจินตนาการ สุนทรียภาพและความรู้สึกทุกข์ร้อนร่วมกับผู้อื่นเป็น สาขาวิทยาศาสตร์ก็ย่อมต้องใช้เครื่องมือและวิธีบันทึกจากสาขาคณิตศาสตร์ และการตกลงกันเพื่อจำได้หมายรู้ต่อสิ่งต่างๆสำหรับเข้าสู่ความเป็นจริงโดยธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการเชิงสังคมและวัฒนธรรม ความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์และความรู้แขนงต่างๆ จึงต่างเป็นองค์ประกอบสะท้อนพัฒนาการของกันและกัน เมื่อรวมกันทั้งหมดให้ส่งเสริมเกื้อหนุนกันแล้วก็มีความจำเป็นทั้งสำหรับการอยู่ร่วมกันและการพัฒนาตนเอง

ความสุดขั้วไปสู่บางด้าน ก็ย่อมเป็นยุคมืดของอีกหลายด้าน สลับกันไป ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอทั้งในยุคโบราณของสังคมโลกและในยุคปัจจุบัน แต่ความเฟื่องฟูและส่องทางกันให้เจริญก้าวหน้าสูงสุดไปทุกด้านก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เช่น ในยุโรปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาหรือยุคเรอนาซองส์ ก็จัดว่าทุกศาสตร์ ทุกสาขา รวมไปจนถึงการพัฒนาทางสังคม ได้พัฒนาการถึงขั้นสูงสุดจนเป็นตัวแบบคลาสิค จะสร้างสรรค์สิ่งใดก็ยากที่จะเล็ดรอดออกไปได้อีกเพราะลงตัวไปทุกด้าน ในกรณีประเทศไทยนั้น บางท่าน เช่น คุณไมเคิล ไรท์ อดีตนักเขียนของมติชน เคยตั้งข้อสังเกตในงานเขียนก่อนถึงแก่มรณกรรมว่า ยุคสุโขทัยอาจเป็นเรอนาซองส์ของไทย มีความเฟื่องฟูทางวิทยาการและพัฒนาอย่างสมดุลทางปัญญาหลายแขนง

  ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยการการสอน การถ่ายทอด  ประกอบไปด้วยแนวคิด ทฤษฎี เทคนิค และระบบปฏิบัติการในการสอน การถ่ายทอด การจัดสถานการณ์ เพื่อให้ประสบการณ์ ความรู้ และระบบภูมิปัญญา เกิดการแลกเปลี่ยน ถ่ายเท ส่งต่อ สืบทอด ซึ่งต้องอาศัย Science of Teaching เป็นฐานในการสร้างความรู้และชี้นำการปฏิบัติจากหลายสาขา ที่สำคัญคือ จิตวิทยาการสอน จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาการบริหารจัดการปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสอนและการทำให้ประสบการณ์จากแหล่งต่างๆเกิดการถ่ายเทและแลกเปลี่ยนกันได้ รวมไปจนถึงผู้สอน ผู้ประกาศ ผู้แสดงความรู้ วิทยาการและเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องขยายขีดความสามารถทางการปฏิบัติการสอน ตลอดจนการวิจัย ประเมิน วางแผน และการบริหารจัดการเพื่อบรรลุจุดหมายทางการสอน

  ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยการรู้และการเรียนรู้   Science of Knowing ประกอบไปด้วยแนวคิด ทฤษฎี เทคนิค วิธีการ เกี่ยวกับการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ จิตวิทยาและศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมและการปฏิบัติทางการเรียนรู้  มิติการเรียนรู้ ระดับการเรียนรู้ ผลแสดงภาวะการเรียนรู้ หน่วยปฏิบัติการทางการเรียนรู้ ระบบการศึกษาเรียนรู้ระดับต่างๆ รวมไปจนถึงวิทยาการและเทคโนโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้

ทั้งสามพรมแดนดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นเป็นสาระสำคัญของศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษา การจัดการความรู้ และการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งไม่ว่าจะผสมผสานและเชื่อมโยงอยู่ในสาขาวิชาการใดๆในทุกแขนง รวมไปจนถึงในหน่วยทางสังคมขนาดเล็กและนอกภาคที่เป็นทางการดังเช่น ครอบครัว และการรวมตัวกันเป็นกลุ่มด้วยความสนใจ ดังคำกล่าวที่ว่า พ่อแม่ เพื่อนมนุษย์ และผู้คน เป็นครู ผู้เรียน และนักการศึกษา ที่มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ที่สำคัญสำหรับทุกคนด้วยนั้น เราก็จะสามารถประมวลความรู้และระบบคิดที่เกี่ยวข้องให้เป็นหมวดหมู่ เชื่อมโยงเข้าสู่พรมแดนแห่งศาสตร์ทั้งมวลด้านการศึกษานี้ได้

เมื่อจะทบทวน นำมาคิด ดึงออกมาใช้ และจัดการความรู้ด้วยจุดมุ่งหมายใดๆ ก็จะสามารถกางแผนที่ความคิดออก เดินท่องเข้าไปพินิจพิจารณา เพื่อดึงออกมาใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะนั้นๆให้ดีที่สุด มีระบบสำหรับเรียนรู้สิ่งใหม่และจัดวางให้ลงตัว ทำงานความคิดให้แยบคายและจะปฏิบัติทางความรู้ได้ดียิ่งๆขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 388371เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

หาก "นักเรียนรู้" ได้เข้าใจพรมแดนศาสตร์และศิลป์ในสาขาที่ตนศึกษาแล้ว ย่อมทำให้เราเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และยังสามารถปรับและประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยนะครับอาจารย์...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีครับคุณดิเรกครับ

  • นานๆแวะมาทีเลยนะครับ ตอนนี้คงทำงาน paper หนักน่าดู
  • มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางวิชาการหรือกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็แวะนำมาบอกกล่าวแก่ผู้สนใจได้ที่บล๊อกเครือข่ายศึกษาศาสตร์มหิดลบ้างตามแต่จะมีโอกาสนะครับ

แวะมารับความรู้เพียงเท่านั้นครับ ท่านพี่ ;)

การจัดการความรู้ คือการจัดการตนเองให้เกิดการเรียนรู้ในทุกมิติที่มีเป้าหมายเชิงคุณภาพ โดยวสันต์ กันยุบล

  • สวัสดีครับอาจารย์Wasawat Deemarnครับ
  • มาแอ่ว แล้วก็ทักทายกันฉันท์ชาวลูกช้าง ก็ม่วนนักแล้ว
  • มีความสุขครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์โต้งครับ
  • เป็นอีกนิยามหนึ่งที่กระชับ
  • ให้วิธีคิดที่กระตุ้นการมุ่งสู่การปฏิบัติ
  • จึงเหมาะกับหน่วยจัดการความรู้ระดับที่เป็นตัวเราเองดีมากเลยนะครับ

อาจารย์ครับ

อาการที่เรียกว่า ลมปราณเเตกซ่านกระเซ็น นั้น ผมคงเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเองบ่อยๆนะครับ

 

* ศาสตร์/ศิลป์แห่งความรู้

* ศาสตร์/ศิลป์การเรียนรู้

* ศาสตร์/ศิลป์การจัดการความรู้

* ศาสตร์/ศิลป์การถ่ายทอดไปสู่นักแสวงหาความรู้ทั้งหลายนั้นไซร้...

เพื่อให้มนุษย์ทำกิจกรรมขั้นสูงได้มากขึ้น รู้จักใช้ความคิดและแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง แม่นบ่ครับ อาจารย์...

สวัสดีครับอาจารย์โต้งครับ

  • เหมือนได้ยินสำเนียงลาวเลยครับ คิดถึงบ้านเลย
  • การคิด ก็เป็นมิติ Cognitive Learning Aspect
  • การแก้ปัญหาได้ ก็เป็นการนำไปใช้ในโลกความเป็นจริง ซึ่งก็ครอบคลุมทักษะและกระบวนการต่อเนื่องทั้งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ให้คุณค่า ให้ความหมายและความเป็นเหตุผลต่อตนเองและผู้อื่น การประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติ พ้นทุกข์ แก้ปัญหาได้จริง
  • การทำกิจกรรม ไม่ว่าจะขั้นสูงหรือขั้นใด ก็เป็นมิติ Psychomotor Skills
  • พูดอย่างคนในสาขาการศึกษาก็ต้องเรียกว่าครอบคลุมเหมิดจี้ลี่ซั่นแหล่ว แม่น แม่น กระมังครับ
  • ขอต่อเติมในบางแง่สักหน่อยครับ หากจะมองให้ครอบคลุมและถูกต้องมากขึ้น อาจจะต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติในแต่ละเงื่อนไขของเรื่อง ความรู้ | มิติที่กล่าวถึง และ | เงื่อนไขการปฏิบัติ ต่อปัจจัยด้านความรู้
  • ความรู้มิติเดียว บางทีก็นำไปสู่การทำร้ายกันของเพื่อนมนุษย์ การใช้ทำสงครามที่ได้เปรียบและทำลายล้างได้ร้ายแรงกว่า การแข่งขันเอาตัวรอด เพิ่มพูนส่วนเกินที่ตนเองต้องการโดยไม่รับรู้ว่าเบียดเบียนผู้อื่น หากนำแง่มุมอย่างนี้ไปพิจารณาด้วยหลักพุทธธรรมและแทบจะในทุกศาสนา ก็จะทำให้เห็นว่า สิ่งที่รู้แล้วไม่เป็นหนทางไปสู่การบรรเทาและพ้นทุกข์ แต่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ก็ไม่นับว่าเป็นความรู้ที่กอปรด้วยคุณธธรมและสติปัญญา
  • หรือในบางเงื่อนไข ความรู้และการปฏิบัติที่มุ่งเข้าถึงมากกว่า ก็ไม่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นกิจกรรมในขั้นสูงขึ้นไป เช่น ในงานสาธารณสุขมูลฐาน การสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาพชุมชนนั้น การให้การศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนพลเมือง ก็จะมุ่งให้ผู้คนได้คลายทัศนคติจากการบริโภคเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขในขั้นสูงเข้าโรงพยาบาล หาหมอ และกินยา อย่างไม่สมเหตุผล ไปสู่การพึ่งตนเอง เรียนรู้และปฏิบัติตนเอง เพื่อดูแลสุขภาพและพึ่งตนเองทางสุขภาพในขั้นจำเป็นพื้นฐานของแต่ละสภาพแวดล้อมได้ ก็ถือว่าเป็นจุดหมายสำคัญ และไม่ใช่ขั้นสูง
  • ท่านหม่อมหลวงปิ่น มุทุกันต์ ปราชญ์ทางการศึกษาไทย ท่านใช้คำว่า การศึกษาทำให้เกิดความงอกงาม ซึ่งองค์การ UNESCO ก็มีหลักจัดการศึกษาในหลักคิดดังกล่าวนี้หลายแนวิด เช่น 4H : Head | Hand | Health Heart : สมองและสติปัญญา การคิดคำนวณ ทักษะปฏิบัติ ร่างกาย | สุขภาพ พลานามัย | จิตใจ
  • ในระบบการศึกษาไทยก็เคยนำมาใช้เป็นการศึกษา 4 หมวด : พุทธิศึกษา | หัตถศึกษา | จริยศึกษา | และพลศึกษา พลานามัย
  • ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านว่า คือ การทำให้เกิดความดี ความจริง และความงาม

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาบ้านอาจารย์ทีไร ก็ได้ความรู้กลับไปทุกทีเลยค่ะ

มีหวายแคระมาฝาก (ไม่ได้ตั้งใจวาดให้ออกมาเป็นรูปหัวใจเลยค่ะ แต่วาดเสร็จกลายเป็นไปเสียได้)

 

งามจังเลยนะครับ ขอบคุณมากเลยครับ เป็นรูปหัวใจจริงๆด้วยละครับ เลยขอดึงเอามารวมกับเรื่องการศึกษา ในโคลงของท่านศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดูรูปเขียนที่สวยงามและเข้ากับเรื่องที่คุยกันพอดีครับ

                         

                                                                กล้วยไม้ออกดอกช้า       ฉันใด
                                                             การศึกษาเป็นไป               เช่นนั้น
                                                             แต่ออกดอกคราใด             งามเด่น
                                                             การศึกษาปลุกปั้น              เสร็จแล้ว แสนงาม

                                                                                                  ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล

สวัสดีค่ะ  โชคดีที่คลิกเข้ามาอ่านค่ะ  ครูภาทิพเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีทักษะในการจัดการความรู้ สมัยทำวิทยานิพนธ์เคยหนี จน อ.ที่ปรึกษาต้องตามมาแล้ว  ขอบคุณสำหรับความรู้ ความคิดที่ลึกและคมค่ะ

ขอบคุณครับอาจารย์...ที่ให้ความรู้มากมาย

สรุปความรู้ที่ผมได้รับจากอาจารย์..ตามความคิดของผมก็คือ การศึกษาและการจัดการความรู้จะอยู่คู่มนุษย์ทุกวัยจนวันตาย

ถ้ามีโอกาสผมจะนำความรู้ที่ได้รับเผยแพร่กับเพื่อนครูต่อไป..ขอบคุณอีกครั้งครับ

สวัสดีค่ะ หนูเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม พอดีได้เข้าไปอ่านบันทึกอาจารย์ค่ะ แล้วตอนนี้หนูก็กำลังเรียนอยู่หนูเลยอยากจะได้รับข้อมูลดีๆๆจากอาจารย์บ้างค่ะ และมีอีกเรื่องที่ขอถามนอกบันทึกคือว่า ที่เขาประกาศใช้เรื่องที่นักศึกษาที่จบ4 ปีแล้วไปต่อวุฒิครูไม่ได้ เป็นมายังไงคะ อาจารย์พอจะตอบคำถามได้บ้างไหมคะ????

  • สวัสดีครับคุณครูภาทิพ ครับ
  • งานของคุณครูภาทิพ เป็นท่านหนึ่งที่ผมชอบอ่านนะครับ ทั้งในทางวรรณกรรม การประพันธ์ และการสื่อสะท้อนคิดในงานเขียน
  • แต่เหมือนว่าหมู่นี้ไม่ค่อยได้เห็นในบล๊อกไปนานเลยนะครับ

                         ตามความคิดของผมก็คือ
                         การศึกษาและการจัดการความรู้
                         จะอยู่คู่มนุษย์ทุกวัยจนวันตาย

ทรรศนะและนิยามอย่างนี้ ในทางการศึกษาก็จะถือว่าเป็นแนวคิดการศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาตลอดชีวิตเลยละครับ ซึ่งก็จะสอดคล้องไปกับวิธีคิดที่มาในพุทธธรรม ที่มองว่าชีวิตเป็นพาหนะและเครื่องโดยสารเพื่อเดินทางข้ามพ้นไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ ดังนั้น ตลอดชีวิตของปัจเจกจึงเป็นวิถีแห่งการศึกษาและการจัดการความรู้อย่างที่กล่าวมาเลยนะครับ 

  • สวัสดีครับคุณ forrainn ครับ
  • เป็นนักศึกษาม.สารคาม เลยนำเรื่องเวที UKM18 ที่มหาสารคามมาฝากนะครับhttp://gotoknow.org/blog/civic-action 
  • ต่อข้อคำถามของคุณ forrainn นี่ผมไม่ทราบและไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลยครับ คงต้องขอให้เล่าแบ่งปันกันบ้างแล้วละครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เข้ากันจริงๆด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

เมื่อจะทบทวน นำมาคิด ดึงออกมาใช้ และจัดการความรู้ด้วยจุดมุ่งหมายใดๆ ก็จะสามารถกางแผนที่ความคิดออก เดินท่องเข้าไปพินิจพิจารณา เพื่อดึงออกมาใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะนั้นๆให้ดีที่สุด มีระบบสำหรับเรียนรู้สิ่งใหม่และจัดวางให้ลงตัว ทำงานความคิดให้แยบคายและจะปฏิบัติทางความรู้ได้ดียิ่งๆขึ้น

(๑) กางแผนที่ความคิด (๒) ระบบสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ (๓) ทำงานความคิดให้แยบคาย องค์ประกอบสามประการนี้สำคัญนักครับ  เป็นสิ่งที่ "ผู้ใคร่ศึกษา" ต้องฝึกปรือให้ช่ำชอง

ขอบพระคุณสำหรับ "ปัญญาสาธารณะ" ที่ลุ่มลึก จากอาจารย์ครับ

  • สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
  • รูปเขียนกับโคลง บทกวี หรือความคิดที่ตกผลึกดีๆ
  • เป็นรูปแบบหนังสือที่มีความเป็นศิลปะมากเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

                        

                       

  • ผมปลีกวิเวก พานักศึกษาไปดูงานที่มหาวิทยาลัยนันยาง และโรงเรียนทางเลือกนานาชาติ ประเทศสิงคโปร์มาครับ
  • มีเรื่องราวและวัตถุดิบติดมือมามากมาย ประเดี๋ยวจะหาวิธีเล่าและบันทึกเก็บไว้แบ่งปันกันครับ
  • กระบวนการถอดบทเรียนของอาจารย์ครั้งนี้ กลุ่มคนร่วมเวทีเริ่มสะท้อนแนวคิดที่เห็นความสำคัญของกระบวนการและเห็นความเป็นตัวของตัวเองได้ดีมากเลยนะครับ ไม่ได้เดินด้วยความเป็นโปรแกรมเบ็ดเสร็จ
  • เห็นแง่มุมที่เป็นการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ไปในตัวด้วยนะครับ กลุ่มคนที่มีกำลังเป็นทรัพยากรทางวิชาการของสังคม นอกจากได้ไปปรึกษาหารือ คิดใคร่ครวญการพัฒนาภารกิจตนเองแล้ว ก็ได้ถอดบทเรียน ทำประสบการณ์ชุมชนให้เป็นความรู้ที่ยกระดับให้สามารถจัดเก็บและบริหารจัดการเป็นทรัพยากรความรู้ได้ดีขึ้น
  • ขณะเดียวกัน ก็ได้ลงไปเป็นนักเรียนของชุมชน ชุมชนเคยแต่เป็นได้เพียงวัตถุของการศึกษาและการลูบคลำของคนภายนอก แต่วิถีปฏิบัติเสียใหม่อย่างนี้ ชุมชนสามารถเป็นครูถ่ายทอดบทเรียน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆและได้เพื่อนจากคนอื่นๆที่ไปเยี่ยมเยือน

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นภาพเรียกน้ำย่อยของอาจารย์แล้วค่ะ

ไว้รออ่านบันทึกต่อนะคะ

ขอบคุณค่ะ..หากเริ่มสร้างฐานของการเรียนรู้ด้วยโครงสร้างที่ดี..ย่อมนำไปสู่คุณค่าของการต่อยอดและการขยายผลเชิงประจักษ์นะคะ..

 

ผลงานศิลป์สร้างสรรค์เพื่อความดีของเยาวชน กล้าใหม่-ใฝ่รู้ปี ๕ จากภาคใต้

  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ
  • ผลงานของเด็กดีจังเลยนะครับ
  • ทั้งในแง่ศิลปะและการแสดงวิธีมองโลก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท