นาฏศิลป์อินเดีย


นาฏศิลป์

กำเนิดนาฏศิลป์อินเดียและตำนานการฟ้อนรำ

          ชาวอินเดียเชื่อว่า กำเนิดของการฟ้อนรำมีความสัมพันธ์กับเทพ ๒ องค์ คือ พระศิวะ และ  พระพรหม ตำนานหนึ่งกล่าวว่าพระศิวะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการฟ้อนรำขึ้นในขณะที่อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาดังกล่าวนี้คือพระพรหม ตำนานการฟ้อนรำที่เชื่อว่าพระศิวะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทขึ้นนั้นปรากฏอยู่ใน “โกยิลปุราณะ”  ซี่งเป็นคัมภีร์ปุราณะของทมิฬ เรื่องราวมีอยู่ว่ามีฤษีพวกหนึ่งพร้อมด้วยภรรยาตั้งอาศรมอยู่ในป่าตารกะ ต่อมาฤษีกลุ่มนี้ประพฤติผิด อนาจาร ฝ่าฝืนเทวบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พระศิวะเห็นว่าฤษีเหล่านี้เป็น ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ควรที่จะได้รับการสั่งสอนให้รู้จักความรับผิดชอบ พระองค์จึงได้ชวนพระนารายณ์เสด็จมายังมนุษยโลกเพื่อที่จะทรมานฤษีเหล่านี้ พระอิศวรทรงแปลงพระองค์เป็นฤษีหนุ่มรูปงาม และให้    พระนารายณ์แปลงเป็นภรรยาสาวรูปร่างสวยงาม น่าเสน่หา พากันตรงไปยังป่าตารกะ เมื่อฤษีกลุ่มดังกล่าวเห็นก็พากันกำหนัดลุ่มหลงรักใคร่นางนารายณ์ ฝ่ายภรรยาฤษีก็พากันหลงใหลฤษีแปลง    จึงวิวาทกันด้วยอำนาจราคจริต เนื่องจากต่างพยายามที่จะเกี้ยวคนทั้ง ๒ แต่ไม่สำเร็จ ฤษีตนหนึ่งได้เตือนว่าฤษีหนุ่มและภรรยานั้นคงจะมิใช่มนุษย์ธรรมดาจากนั้นก็ได้เล่าเรื่องให้ฤษีทุกตนทราบเรื่อง    เหล่าฤษีต่างพากันสาปแช่ง ขณะกำลังประกอบพิธีบูชายัญได้ปรากฏเสือใหญ่ตัวหนึ่งในกองเพลิงตรงเข้าหาฤษีแปลง แต่ฤษีแปลงก็มิได้หวั่นกลัว จับเสือขึ้นมาและถลกหนังเสือมาครองแทนผ้า แต่เหล่าฤษีก็ยังไม่ยอมแพ้กลับนิรมิตงูใหญ่ขึ้นอีกตัวหนึ่ง ฤษีแปลงก็จับงูมาคล้องคอเป็นสังวาล ฤษีทั้งหลายจึงสิ้นฤทธิ์ในที่สุด พระอิศวรและพระนารายณ์ก็กลายร่างกลับคืนดังเดิม และได้กล่าวคำสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี จากนั้นพระองค์ทรงเริ่มต้นฟ้อนรำ

          ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ มุยะคะละ หรืออสูรมูลาคนี เข้ามาขัดขวางเพื่อจะช่วยฤษีพวกนั้น       พระอิศวรจึงใช้พระบาทเหยียบอสูรตนนั้น แล้วร่ายรำด้วยท่าทางอันงดงาม โดยมีเทวดา ฤษี มาเฝ้าดูด้วยความพิศวงในท่าอันงดงาม เมื่อจบการฟ้อนรำ เหล่าฤษีก็ละทิฐิ ต่างพากันขอขมาโทษต่อพระอิศวรและพระนารายณ์

          การฟ้อนรำของพระอิศวรที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนเป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อพระยา   อนันตนาคราชหรือ เศษนาคราช ซึ่งเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ใคร่ที่จะได้ชมการฟ้อนรำของ       พระอิศวรอีก จึงทูลขอต่อพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงแนะนำว่า การที่จะไปทูลพระอิศวรให้ทรงแสดงการฟ้อนรำอีกครั้งหนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ และยังเป็นการไม่สมควร แต่ก็ยังมีวิธี กล่าวคือพระอนันตนาคราชต้องไปบำเพ็ญตบะ ทำพิธีบูชาพระศิวะที่เชิงเขาไกรลาส พระศิวะจะเสด็จมาประทานพรเอง  พระยาอนันตนาคราชก็ได้ทำตามที่พระนารายณ์แนะนำ พระศิวะก็ได้ประทานพรให้ตามที่ขอ ทรงกำหนดสถานที่ให้ในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดัมทรัม (Chidambaram) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นสถานที่ที่พระองค์จะเสด็จมาฟ้อนรำให้มนุษยโลกชมเป็นครั้งแรก เมื่อถึงกำหนดพระศิวะเสด็จมาถึง ณ ที่นั้น พร้อมด้วยบริวาร ทรงนิมิตสุวรรณศาลาขึ้น และเริ่มต้นการฟ้อนรำ ให้แก่พระยาอนันตนาคราชและมนุษย์ได้ชม

          จากตำนานดังกล่าว ชาวฮินดูเชื่อว่า เมืองจิดัมทรัม  เป็นสถานที่ที่พระอิศวรเสด็จลงมาแสดงการฟ้อนรำบนโลกมนุษย์เป็นครั้งแรก จึงคิดสร้างเทวรูปของพระองค์ ปางฟ้อนรำ เรียกว่า “นาฏราช” หรือ  “ศิวนาฏราช” และช่วยกันจำหลักท่ารำ ๑๐๘ ท่าของพระอิศวรไว้ที่เสาไม้ทางตะวันออกที่ทางเข้ามหาวิหาร ท่ารำเหล่านี้ตรงกับที่กล่าวไว้ในตำรา “นาฏยศาสตร์” ซึ่งรจนาโดยพระภรตมุนี ท่าฟ้อนรำเหล่านี้ถือเป็นแบบฉบับของนาฏศิลป์อินเดีย ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และแพร่กระจายมาสู่ดินแดนไทย

          ส่วนตำนานการฟ้อนรำที่เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ประสาทวิชานั้น มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า      ครั้งหนึ่งเหล่าเทพต้องการให้มีงานรื่นเริงสนุกสนานจึงทูลขอต่อพระพรหม พระพรหมจึงได้สร้าง     “นาฏยเวท” (NATAYA  VEDA) โดยทรงหยิบสาระสำคัญจากคัมภีร์พระเวททั้งสี่มารวมกัน ดังนี้
                   ภาษาและถ้อยคำจากฤคเวท  (RIGVEDA)
                   กิริยาท่าทางและลีลาจากยชุรเวท  (YAGUR  VEDA)
                   การขับลำนำแบบการสวดจากสามเวท  (SAMA  VADA)
                   รสมาจากอาถรรพเวท  (ATHARVA  VEDA)

                จากตำนานข้างต้น กล่าวได้ว่าไทยรับอิทธิพลรูปแบบการฟ้อนรำมาจากตำนานพระอิศวร    พิสูจน์ได้จากท่ารำแม่บทของนาฏศิลป์ไทยนั้นมี ๑๐๘ ท่า ซึ่งมีเค้ามาจากท่า “นาฏราช” ตามตำนาน     ศิวนาฏราช อีกทั้งเทวรูปที่คนในวงการนาฏศิลป์เคารพนับถือคือเทวรูปศิวนาฏราช

 

ประเภทของนาฏศิลป์อินเดีย
          โดยทั่วไปแล้วนาฏศิลป์อินเดียนั้นสามารถแบ่งโดยใช้เกณฑ์ด้านลีลาและลักษณะการแสดงออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ภารตนาฏยา หรือ ภารตนาฏยัม, กถกฬิ, กถัก และมณีปุรี


ภารตนาฏยา(Bharata  natya)

        “ภารตนาฏยา”(Bharata natya)  หรือ “ภารตนาฏยัม”  คือ การแสดงการร่ายรำที่ถือว่าเก่าแก่มากที่สุดของอินเดีย และถือว่าเป็นแม่แบบทางด้านการสะครด้วย เพราะการแสดงนาฏศิลป์ประเภทนี้ได้รับแบบแผนการแสดงมาจากตำรานาฏยศาสตร์ของพระภรตมุนีผู้ได้รับการถ่ายทอดการฟ้อนรำจากพระอิศวร และนำมารจนาเป็นตำราชื่อ “นาฏยศาสตร์” และการแสดงในตอนนั้นเรียกว่า “การฟ้อนรำแบบนาฏราช” การแสดงภารตนาฏยานั้นเดิมใช้ผู้หญิงแสดงล้วน เพราะผู้หญิงเหล่านี้มีหน้าที่ร่ายรำถวายพระพรพระผู้เป็นเจ้าที่เทวาลัย ผู้หญิงเหล่านี้เรียกว่า “เทวทาสี” การแสดงภารตนาฏยามีลีลาการแสดงที่รวดเร็ว มีการใช้ภาษานาฏศิลป์ที่สลับซับซ้อน  บทเพลงก็นำมาจากเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาฮินดู ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมีกลอง ฉิ่ง และไวโอลิน วิธีการแสดงภารตนาฏยานั้นก่อนเริ่มการแสดงต้องมีการแสดงการไหว้ครูที่เรียกว่า “อลาริปุ” (ALARIPPU) แปลว่า การโปรยดอกไม้ เช่นเดียวกับการรำอวยพรของไทยที่มีการโปรยดอกไม้ จากนั้นจึงเริ่มแสดงเรื่องราวอันเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นการรำเบิกโรง  หมายถึง  ดอกไม้ที่บูชาเทพเจ้า  การรำเบิกโรงนี้เป็นการไหว้ครูบูชาองค์พระอิศวร



การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดภารตนาฏยา

 

กถักกะลิ (KATHAKALI)

        “กถักกะลิ” (KATHAKALI) คือ การแสดงที่เล่นเป็นเรื่องราวเหมือนกับการแสดงละคร เรื่องที่นำมาแสดงก็มักเป็นเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระผู้เป็นเจ้าหรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษ เช่น รามายณะ มหาภารตะ เป็นต้น การแสดงกถักกะลินี้เดิมใช้ผู้ชายแสดง แม้ผู้ที่แสดงเป็นตัวนางก็ใช้ผู้ชายแสดง การแสดงมีพิธีรีตองมาก ผู้แสดงจะแต่งหน้าซึ่งดูเหมือนกับการสวมหน้ากาก วิธีการแสดงมีผู้ขับร้องและเจรจาให้ เครื่องดนตรีในการแสดงประเภทนี้ ได้แก่ กลองมะดะลัม กลองเจินละ ฉาบเหล็ก และโหม่ง
                                                   


การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดกถักกะลิ 

 

กถัก(KATHA)

        “กถัก” (KATHA)มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย การแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาเช่นเดียวกับกถกฬิ แต่มีข้อแตกต่างคือกถักจะแสดงเฉพาะเรื่องหรือตอนที่มีบทบาทคึกคัก แสดงความกล้าหาญของตัวละคร อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องราวทางศาสนาแล้ว กถักยังนิยมแสดงอีก ๒ เรื่อง ได้แก่ เรื่องพระกฤษณะกับนางโคปี และเรื่องโลกธัมม์ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงถึงชีวิตประจำวันของชาวอินเดีย ในด้านผู้แสดงนั้นมีทั้งผู้แสดงชายและหญิง แสดงร่วมกันบนเวที อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ นิยมการแสดงเดี่ยวมากกว่าการแสดงหมู่ เวทีที่แสดงจะได้รับการประดับตกแต่งสวยงาม ผู้แสดงจะแสดงลีลาด้วยการหมุนตัวไปรอบๆ เวที เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงกถัก ได้แก่ พิณ ฉิ่ง ฉาบ และกลอง    กถักเป็นการแสดงของทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม บทร้องที่ใช้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้าในศาสนาของตน เมื่อจะแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ใดก็จะนำบทร้องเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์นั้นมาขับร้อง


     
การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดกถัก


มณีปุรี(MANIPURI)

         “มณีปุรี” (MANIPURI) คือ การแสดงนาฏศิลป์ของชาวมณีปุระ การแสดงประเภทนี้มีลีลาการแสดงที่ค่อนข้างช้ากว่าการแสดงนาฏศิลป์ประเภทอื่นที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากมณีปุระเป็นการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง ลักษณะการแสดงมณีปุระมักแสดงเป็นหมู่มากกว่าแสดงเดี่ยว ผู้แสดงใช้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่งกายคล้ายชาวยุโรป คือ นุ่งกระโปรงสุ่มที่มีลวดลายมากและมีการนำกระจกสีต่างๆ มาประดับกระโปรงเพื่อความสวยงาม



การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดมณีปุรี      

 

 

 

 1. การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดภารตนาฏยา

 2. การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดกถักกะลิ 

 3. การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดกถัก

 4. การแสดงนาฏศิลป์อินเดียชุดมณีปุรี      

 

 

เอกสารอ้างอิง
คมคาย  กลิ่นภักดี. “อิทธิพลของนาฏศิลป์อินเดียที่มีต่อนาฏศิลป์ไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญา
          ศึกษาศาสตรบัณฑิต ภาควิชานาฏศิลป์และดุริยางค์ วิทยาลัยนาฏศิลป์, ๒๕๒๕.
ธนิต  อยู่โพธิ์, “การละเล่นสมัยอยุธยา” ในรวมปาฐกถางานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี,
         (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๐) หน้า ๓๗
แสง  มนวิทูร (ผู้แปล), นาฏยศาสตร์. พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๑.
อาภรณ์ – จาตุรงค์ มนตรีศาสตร์, วิชาชุดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาของคุรุสภา,
วิชานาฏศิลป์. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.
Ahuga, Roshan L.      The theory of jrama in ancient India ambala can’t : India publications, 1964
Bharata Muni.           The natyasastra: a treaties on hindo dramaturgy and histrionies, acribed to bhara muni vol.11 translated by ghosh unomohan Calcutta: asiatie socity, 1961
Department of Tourism. The Dance in India. Publication Division, Ministry of Information
and Broadcasting calcutta -9 :March 1964 p30 

Kothari, Sunil. ED      Bhakata Natyam: India classical dance art Bombay: Mare publications, 1979
                        ,    Kathak, Indian classical dance art. New Delhi abhijnav publications, 1989

 

 เว็ป http://fda.bpi.ac.th/View/parata1.html

หมายเลขบันทึก: 387211เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

*** ขอบคุณ บันทึกนี้ที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้เรีบนรู้ค่ะ

สร้อยสังาลย์ เที้ยมทอง

ได้รู้ถึงวัฒนธรรมของประอินเดียมากขึ้นคะ ขอบคุณคะ

กรภัทร์ ชวลิตธิติกร

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท