บทความลดปวด


นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในอีกมากมายที่ได้สัมผัสจากหน่วยงาน ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ความเครียด ความเจ็บปวดทรมานทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว

พี่ตุ๊ พยาบาลวิสัญญีโทรมาหาฉันว่ามีเรื่องเล่าดีๆเกี่ยวกับการจัดการความปวด ซึ่งเขียนขึ้นโดยคุณ อรวรรณ  การพะวงศ์ พยาบาลประจำหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ...และได้ยกกรณีตัวอย่างของการให้การพยาบาลกับผู้ป่วยมะเร็งเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากความรู้สึกปวดของผู้ป่วย ตลอดกระบวนการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยความตั้งใจ...

 

บทความลดปวด

                ผู้ป่วยที่มารับบริการที่มีปัญหาจากอาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและบริเวณต่างๆ เช่น ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดเข่า เป็นต้น มาใช้บริการของหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อเป็นจำนวนมาก จึงมีความสำคัญเนื่องจากผู้ป่วยมารับบริการก็มีความคาดหวังที่จะหายจากการบาดเจ็บ อาการปวดทุเลาลง หรือหายจากอาการปวด ซึ่งอาการปวดที่กล่าวมา นับเป็นปัญหา ทำอย่างไรการระงับปวดจะมีประสิทธิภาพและจะช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากร่างกายตอบสนองต่อความปวดที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากพยาธิสภาพของโรคนั้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดได้ด้วย จากปัญหาเหล่านี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด

 

กรณีตัวอย่าง

                ดิฉันนางอรวรรณ  การพะวงศ์  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ ได้รับผู้ป่วยหญิงไทยวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มาโดยเปลนอน ร้องไห้สะอึกสะอื้นพร้อมทั้งพร่ำพรรณนาว่า คุณหมอช่วยด้วยนะ ปวดมาก ปวดไปทั่วร่างกายพร้อมทั้งสามีผู้ป่วยบอกว่า ภรรยาของเขามีอาการปวดตั้งแต่เมื่อคืน แต่ไม่มีรถมาจึงได้มาช่วงเช้า หลังได้รับการรักษาและแพทย์ได้อนุญาตให้กลับไปนอนอยู่บ้านได้แค่ 2 สัปดาห์ ทั้งผู้ป่วยและสามีผู้ป่วยได้พร่ำพรรณนา  ดิฉันพยักหน้าพร้อมทั้งจับมือที่เย็นเฉียบคู่นั้น บีบเบาๆ กับผู้ป่วย เพราะเธอคงเสียขวัญมาก

ผู้ป่วยท่านนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย และแพทย์ได้อนุญาตให้เธอกลับบ้านได้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้เธอได้ไปพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งอาการปวดของเธอก็ทุเลาลงบ้างแล้ว ดิฉันได้จัดเตียงนอนที่สามารถปรับเตียงได้ ปูที่นอนลม เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย เธอผอมผิวหนังบางเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ และถ้าเธอมีอาการปวดมากเธอจะขยับตัวน้อย และอยู่ใกล้กับเคาน์เตอร์พยาบาล 

เธอมียาประจำตัวที่รักษาอาการปวดของเธอเป็น Morphine ในรูปยาเม็ดกับยาน้ำ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียงอย่างเป็นพิเศษ และดิฉันได้นำแผ่นสไลด์เพื่อนำตัวผู้ป่วยลงเตียง และเพื่อให้เธอเจ็บปวดน้อยที่สุด เพราะถ้าเธอขยับตัวเองจะทำให้ปวดมากขึ้น และดิฉันได้วัดสัญญาณชีพก่อนให้ยา Morphine 4 mg  ทุก 4  ชั่วโมง ตามแพทย์สั่งและได้วัด pain ก่อนที่จะดูแลเปลี่ยนเสื้อผ้าผู้ป่วย หลังจากนั้นดิฉันได้ซักประวัติ ให้คำแนะนำกฎระเบียบแผนการรักษา วัดสัญญาณชีพซ้ำ และวัด pain หลังจากการให้ยา ซึ่งผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้ยา ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีผื่น ไม่มีภาวะกดศูนย์หายใจ pain จาก 9 ลดลงเหลือ 4 คะแนน และได้จุดลงในปรอด และเขียนลงในแผนการพยาบาล

ผู้ป่วยมีสีหน้ายิ้มแย้มขึ้น ไม่ครวญคราง เธอจับมือดิฉันบอกว่าขอบคุณมาก บอกว่าเมื่อสักครู่เกือบขาดใจตายไปแล้ว ถ้าไม่ได้คุณหมอดิฉันคงตายแน่ๆ ทรมานเหลือเกิน ดิฉันพยักหน้า กุมมือผู้ป่วยและยิ้มตอบ และพูดว่ามันเป็นหน้าที่ของแพทย์และพยาบาล

วันถัดมาผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณสะโพกมาก ดิฉันได้ประเมิน pain และร่างกายผู้ป่วยพบว่ามีรอยบวมแดงเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ดิฉันจึงได้นำแผ่นเจลเย็นไปประคบให้ผู้ป่วยในเวรและแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ได้สั่งให้ Cold pack เช้า เที่ยง เย็น อาการปวดทุเลาลงภายใน 3 วัน

ดิฉันได้แนะนำผู้ป่วยทำถุงน้ำแข็งด้วยตนเอง เมื่อกลับไปอยู่บ้านโดยการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารขนาดพอเหมาะกับส่วนที่ต้องรักษา เทน้ำลงไปครึ่งหนึ่งในถุง ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไป และนำมาประคบกับส่วนที่ต้องการ อาจทำการประคบ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที แต่ถ้าอาการปวดเคลื่อนที่ไม่ลดลง ให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที หรืออาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็น โดยการเตรียมภาชนะขนาดพอเหมาะ แล้วแช่ การรักษานี้อาจจะเหมาะกับมือหรือแขน หรือขาและเท้า มากกว่าส่วนอื่นของร่างกาย

ในที่สุดผู้ป่วยก็กลับบ้านได้  ซึ่งส่งผู้ป่วยกลับบ้านโดยเปลนั่ง พร้อมผู้ป่วยที่มีสีหน้าสดชื่น ยิ้มแย้ม ผู้ป่วยยกมือไหว้ดิฉัน และกราบขอบคุณ

                จากกรณีดังกล่าวที่ผู้ป่วยมีภาวะปวดมาก และคาดหวังว่าต้องหายทันทีที่มารักษา อันเนื่องจากมาจากผู้ป่วยมีประสบการณ์ เมื่อเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย ซึ่งผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย และถ้าปวดมากอาจทำให้เธอตายเร็ว เธอได้มารักษาตัวที่ รพ.อยู่เป็นประจำ เธอจึงกลัวการเจ็บปวด เป้าหมายของการรักษาปวดทุกชนิดที่รักษาได้ยาก รวมทั้งการรักษาปวดจากมะเร็งด้วยนั้นพยาบาลและเจ้าหน้าที่ต้องพยายามเต็มที่ที่จะดูแลผู้ป่วยให้ผ่านวิกฤติชีวิตที่ทรมานไปสู่ความสุขสบาย

                นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในอีกมากมายที่ได้สัมผัสจากหน่วยงาน ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ความเครียด ความเจ็บปวดทรมานทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว แพทย์สามารถช่วยเหลือบรรเทาได้ด้วยการใส่ใจดูแลผู้ป่วยด้วยเมตตาธรรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยทอนระยะทางของผู้ป่วยที่ต่อสู้กับความทุกข์ทรมานให้หาย

                “ฝากไว้ก่อนจากไป”  โดยคุณอรุณี  เหมาะอุปถัมภ์  เป็นคนประพันธ์ ซึ่งดิฉันชอบบทประพันธ์นี้มาก

ทุกคืนวันหวาดหวั่นพรั่นความปวด     ช่างรวดร้าวทรมานอย่าถามถึง

รสโอชาอาหารไม่คำนึง                  ยามค่ำคืนฝืนทนจนฤดี

มีใครไหมใส่ใจคนโชคร้าย              หรือต้องตายจากไปไร้ศักดิ์ศรี

ทุรนทุกรายอย่างนี้คงสิ้นดี              ขอจงมีผู้เอื้อเกื้อหนุนนำ

เธอผู้นำไมตรีอารีให้                      เป็นเพื่อนใกล้ห่วงใยใฝ่ช่วยเหลือ

คอยจุนเจืออบอุ่นไม่คลุมเครือ         ใจเชื่อถือไม่เบื่อเมื่อขอยา

มีเมตตากรุณาที่เพียรให้                 ช่วยผู้ใกล้มรณาไร้ทุกขา

ฝากรอยยิ้มพิมพ์ใจไว้ต่างตา            ว่าฉันไปสงบหนามาขอบคุณ

               

อรวรรณ  การพะวงศ์

หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ

หมายเลขบันทึก: 383948เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2010 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท