จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

อุดมคติ


อุดมคติของครู

“อุดมคติของครู”

รวบรวมโดย พระครูปลัด จิตติชัย จิตฺติชโย

 

พระดำรัสของพระบรมครู-พระพุทธเจ้า  ที่ทรงวางไว้เป็นแนวปฏิบัติและเป็นแนวทาง  สำหรับสอดส่องตรวจตราและใคร่ครวญความเป็นครูของเราว่าถูกต้องถูกต้องและเหมาะสมเพียงไร กับอุดมคตินั้นๆ มี 7 ประการ คือ

  1. ปิโย       ครูดีควรทำตนให้ศิษย์รัก
  2. ครุ         ทำตนให้ศิษย์เคารพ
  3. ภาวนีโย  หมั่นศึกษาหาวิชาความรู้อยู่เสมอ
  4. วัตตา     อุตส่าห์พร่ำสอน
  5. วจนักขโม   อดทนต่อการสอนและถ้อยคำ
  6. คัมภีรัญจะกถัง กัตตา  อธิบายขยายความในวิชาที่สอนให้ละเอียดลุ่มลึกได้
  7. โน จัฎฐาเน นิโยชเย   ไม่ชักจูงแนะนำศิษย์ไปในทางที่ไม่ดีงาม

              อุดมคติของครูทั้ง 7 ประการข้างบนนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การสนใจและศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นทั้งขวัญและกำลังใจของบุคคลที่คิดและมีความตั้งใจของบุคคลที่คิดและมีความตั้งใจที่จะเป็นครู  จึงอยากจะฝากข้อคิดไว้สักเล็กน้อย ในเรื่องอุดมคติของครูดีนั้น จุดสำเร็จจะต้องประกอบด้วยองค์คุณ ดังนี้

-มีความรักและความพอใจในความเป็นครู

-มีวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแม้จริง

-มีความขยันในกิจการงานทุกอย่าง

-มีความตั้งใจดีทั้งมั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่

-ชอบคิด ขยันและลงมือทำจริงๆ

-เป็นนักสังเกต จดจำ และมีวิจารณญาณ

-เป็นนักอ่าน นักการศึกษา นักวิชาการ

-ชอบที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดและบกพร่องของตนเสมอ

-มีความประพฤติ เหมาะสมกับผู้นำของปวงชน

-มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามสอดคล้องกับอุดมคติ

-เป็นทั้งนักคิด นักปฏิบัติจริงๆ

- มีความรับผิดชอบสูง

ขอความเป้นครูที่มีวิญญาณของครู  และเพียบพร้อมไปด้วยอุดมคติที่ดีงามต่างๆ จงมีแก่นักศึกษาทุกคน ด้วยความรัก ความตั้งใจจริงและความพากเพียรพยายามของนักศึกษาเอง

 ลักษณะที่ดีเด่นพิเศษของพระพุทธศาสนา

ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น มีการสอนหลักการที่พิเศษดีเด่นและทันสมัยอยู่เสมอมากมาย ในที่นี่จะสรุปมาพอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

1.เป็นหลักคำสอนที่มีเหตุผล

ในข้อนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมีเหตุผลลึกซึ้งกล้าพิสูจน์ความจริงได้ทุกเมื่อ เช่น หลักอริยสัจ 4, หลักปฏิจจสมุปบาท, หลักไตรลักษณ์ เป็นต้น

2.เป็นหลักคำสอนที่มีแนวทางเป็นประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ข้อนี้เห็นได้จากหลักการให้พระสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ในสังฆกรรมทั้งปวงไมให้พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นใหญ่ มีหลักเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีพร้อมมูล เช่นการทำอุโบสถ การรับกฐิน การบวชนาค การทำปวารณา เป็นต้น

3.เป็นคำสอนที่ยกย่องมนุษย์ว่าเป็นมนุษย์

ห้ามทำคนให้เป็นทาส ห้ามค้าขายทาส ไม่ส่งเสริมให้มีทาส ทุกคนที่มาบวชในพระพุทธศาสนาจะเท่าเทียมกันหมดไม่ว่ามาจากตระกูลสูง ต่ำ เพียงใด เลิกถือชั้นวรรณกันต่อไป

4.เป็นคำสอนที่ตรงไปตรงมาสอนความจริง

หมายความว่า เป็นหลักคำสอนที่อ้อมค้อม เช่นเรื่อง

-  กฎแห่งกรรม

-  ไตรลักษณ์

-  อริยสัจ

-  โชคลาง ฯ

5. เป็นคำสอนที่สอนได้รอบคอบ คำนึงถึงชีวิตคนทุกด้าน ทรงสอนทั้งทางโลกและทางธรรม สำหรับผู้ที่ต้องการครองชีวิตอยู่ในโลกนี้เช่น

-  เรื่องเศรษฐกิจ

-  เรื่องอบายมุข

-  เรื่องความสุขของผู้ครองเรือน

-  เรื่องเหตุให้ตระกูลเสื่อมและเหตุให้ตระกูลเจริญ เป็นต้น

6. เป็นคำสอนที่ถือธรรมะเป็นใหญ่

การกระทำของคนเราโดยทั่วไปแล้ว แสดงออกมาโดย

  1. ถือตนเองเป็นใหญ่ (อัตตาธิปไตย)
  2. ถือสังคมหรือคนอื่นเป็นใหญ่ เขาทำอย่างไรก็ทำตามกลัวเขานินทา(โลกาธิปไตย)

3.  ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างถ้าเห็นว่าสิ่งใดถูกก็ว่าไปตามถูก เห็นว่า เห็นว่าผิดก็ว่าไปตามผิด เช่นนี้เรียก ธรรมาธิปไตย

7. พระพุทธศาสนาสนับสนุนให้ทำการทุกอย่างโดยถือหลักข้อ 3 เป็นแนวทาง คือ ถือเหตุผลความถูกต้องเป็นสำคัญ

คือการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันนั้น ต้องแก้ด้วยเหตุผลที่เรียกว่าปัญญาธรรมพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา คำสอนส่วนใหญ่จะมีปัญญากำกับอยู่เสมอ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ คำสอนเรื่องมรรค 8 มีสัมมาทิฏฐิกำกับอยู่ด้วย เป็นต้น

8.ทรงสอนเรื่องกฎแห่งกรรม

กฎแห่งกรรมเป็นหลักคำสอนใหม่ในพระพุทธศาสนาและในสมัยเดียวกันไม่มีหลักคำสอนของลัทธิใดสอนเรื่องนี้ในสมัยนั้นและแม้ในปัจจุบันหลักคำสอนนี้ก็ไม่ล้าสมัย กฎแห่งกรรมมี “เมื่อมีกรรม (การกระทำ) ย่อมมีผลเกิดตามมาเสมอ” โดยกฎแห่งกรรมนี้แหละที่ทำให้โลกเจริญก้าวหน้าอยู่อย่างปัจจุบัน   และในทางตรงกันข้ามก็กรรมนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้โลกประสบกับความวุ่นวาย หายนะล่มจมอยู่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน คนเราเกิดมาจากกรรมเกิดมาเพื่อทำกรรม และจะตายไปก็เพราะกรรมอีกเหมือนกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับกรรมนั้นแยกกันไม่ออก ถ้าจะพูดว่าคนคือกรรมหรือกรรมก็คือคนนั้นเอง คือตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาเข้านอนเราจะกระทำตลอกเวลาไม่ทางกายก็พูดหรือคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือกรรมทั้งนั้น ตั่งแต่เกิดจนกระทั่งตายเราก็จะทำตลอดเช่นกัน กรรมจึงเป็นส่วนประกอบของชีวิต และจะมีการให้ผลอยู่ตลอดเวลา

9.เป็นหลักคำสอนซึ่งหลักวิทยาศาสตร์อันเกิดภายหลังมีความเห็นสอดคล้องกันมาก

ความจริงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าเป็นระบบอันถูกต้องนั้นเพิ่งมีมาเมื่อประมาณ 500 ปีเศษมานี้เอง ความต่างมีเพียงว่า

-  วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องวัตถุ

-  พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องจิตใจ เท่านั้น

ความเหมือนกันระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีดังนี้

  1. สอนไม่ให้เชื่องมงายอย่างไม่มีเหตุผล
  2. สอนไม่ให้เชื่อโชคลางต่างๆ
  3. สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหตุผลของกันและกัน
  4. เรื่องอริยสัจ กับ วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเหตุเรื่องผลเช่นเดียวกัน

การตีความคำสอนในพระพุทธศาสนา

   คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ศึกษาควรมีหลักเกณฑ์พอสมควร เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นท่านจารึกไว้หลายวิธีด้วยกัน และแยกเป็นหมวดๆ ซึ่งมีโดยย่อ คือ

-  พระสูตร คือ ธรรมคำสอนที่เขียนรวบรวมไว้โดยมีเรื่องประกอบ

-  พระอภิธรรม คือ ธรรมคำสอนที่แสดงเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีเนื้อเรื่องหรือนิทาน ประกอบ

-  พระวินัย คือ ธรรมคำสอนที่เป็นพวกคำสั่ง เป็นข้อบัญญัติห้ามหรือให้กระทำการต่างๆ

เนื้อเรื่องฝ่ายพระสูตรนั้นมีการบรรยายมีเองมีนิทานประกอบมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคล  แต่ละกลุ่มที่ได้เข้าฟังพระธรรมคำสอน การบันทึกพระคัมภีร์ทำไว้อย่างที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้จริง ๆ ดังนั้นเมื่อเวลาที่เราศึกษาธรรมเราจึงต้องเข้าใจหาแก่นแท้ ของธรรมจากคำสอนนั้นๆ

ตัวอย่างเรื่องการตีความคำสอน เรื่องการ ลอยถาดทอง

เรื่องตอนนี้มีอยู่ว่า ในวันที่พระพุทธองค์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะนั้นในเวลาเช้าขณะประทับ ณ โพธิบัลลังก์ ในวันนั้นนางสุชาดาซึ่งเป็นบุตรีนายบ้านเสนานิคมได้นำข้าว มธุปายาสมาถวาย เมื่อทรงรับและเสวยเสร็จ ได้ทรงตรัสพระทัยเสี่ยงทายว่า “ถ้าหากว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ แล้วขอให้ถาดทองในแม่น้ำจงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือด้วยเถิด” เมื่อทรงอธิฐานเสร็จก็ทรงลอยถาดทองในแม่น้ำ ถาดทองใบนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำไปทันที

การที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านเขียนไว้เช่นนี้ เราผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาต้องทำดังนี้

ก. ความเป็นจริงน่าจะเป็นเช่นที่ท่านเขียนไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุไร

ข. ถ้าเป็นเช่นนั้นไม่ได้จะเป็นอย่างไร

นี้คือปัญหาที่นักศึกษาพุทธศาสน์ต้องพิจารณาเสมอให้เป็นไปตามหลักกาลามสูตรเพราะการศึกษาในยุควิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาจะต้องใช้ปัญญาประกอบอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรายังไม่เห็น ว่าความตามที่มีในหนังสือจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราก็มีสิทธิ์ที่จะตีความหมายใหม่ที่มีเหตุผลมากกว่าก็ย่อมทำได้ ความตอนนี้ถ้าจะลองตีความหมายใหม่ก็อาจจะได้ดังนี้ข้อที่ว่า “พอพระองค์ทรงลอยถาดทองในแม่น้ำ ถาดทองใบนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำไปทันที” นั้นหมายความว่า “เริ่มแต่นี้เป็นต้นไปพระหฤทัยของ พระพุทธองค์อันเปรียบเสมือนถาดทองจะไหลทวนกระแสกิเลส อันเปรียบเสมือนกระแสน้ำ จะมาไหลตามกระแสกิเลสอีกต่อไป”หมายความว่าต่อไปนี้ความเห็นของพระพุทธเจ้าจะต่างจากความเห็นของคนสามัญทั่วไป เช่น คนทั่วไปเห็นว่า โลกเป็นสิ่งสวยงามพระพุทธเจ้าจะทรงเห็นว่าโลก ไม่ใช่สิ่งสวยงาม คนทั้งปวงเห็นว่าสิ่งในโลกเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าทุกสิ่งในโลกเป็นของไม่แน่นอน คนทั่วไปเห็นว่าสิ่งภานอกเช่น เงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ เป็นสิ่งที่ให้ความสุขอย่างเพียงพอแก่คน พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์แก่คน

การตีความหมายพระธรรมเช่นนี้ เรียกว่า ตีความหมายแบบธรรมาธิษฐาน หรือเรียกว่า การตี ความหมายเป็นภาษาคนภาษาธรรมเช่น

บุคคลาธิษฐาน หรือภาษาคน

- เมื่อประสูติ ณ สวนลุมพินีนั้น พอประสูติพ้นจากพระครรภ์พระมารดา ก็เสด็จดำเนินไปได้ 7 ก้าว

ตีความเป็นธรรมาธิษฐานหรือภาษาธรรม

- การประสูติหรือการเกิดนั้น หมายถึง การเกิดเป็นพระพุทธเจ้า และเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็เสด็จไปแผ่พระพุทธศาสนายังแคว้นต่างๆในสมัยนั้นได้ 7 แคว้น

บุคคลาธิษฐาน หรือภาษาคน

-  ในขณะตรัสรู้ใหม่ๆ ยังไม่ได้เสด็จไปทรงเทศนาประชาชน วันหนึ่งขณะประทับใต้ไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีนายพานิชสองคนพี่น้องชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงนำข้าสัตตุก้อนสัตตุผงเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าไม่มีภาชนะสำหรับรับอาหาร ขณะนั้นก็ปรากฏว่ามีเทพผู้รักษาโลกที่เรียกว่าท้าวจาตุโลกบาลคือ เทวะผู้คุ้มครองโลกทั้ง 4 องค์ได้นำบาตรมาถวายแด่พระพุทธองค์ พระองค์ทรงรับไว้ทั้ง 4 ใบ แล้วทรงอธิษฐานให้เป็นใบเดียวกัน ต่อจากนั้นก็ทรงรับอาหารจากนายพานิชทั้งสอง

ตีความเป็นธรรมาธิษฐานหรือภาษาธรรม

- ที่ว่าท้าวจาตุโลกบาลทั้งสี่นำบาตรมาถวายนั้น อาจตีความได้ว่าต่อไปจะทรงเป็นพระศาสดาสั่งสอนคนทุกชั้นวรรณะในอินเดียจะไม่มีวรรณะอีกต่อไป ข้อที่ว่าทรงรับบาตรจากเทพทั้งสี่แล้วทรงอธิฐานให้เป็นใบเดียวกันนั้น หมายถึงว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป วรรณะทั้ง 4 ในอินเดียถ้าเขามาอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว จะไม่มีการแบ่งแยกวรรณะคือทุกคนอยู่ในวรรณะเดียวกัน

บุคคลาธิษฐาน หรือภาษาคน

- การประทับบนบัลลังก์ดอกบัว

ตีความเป็นธรรมาธิษฐานหรือภาษาธรรม

- หมายถึงการทรงอยู่เหนือความเศร้าหมอง อยู่เหนือกิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นเครื่องแสดงว่า นับแต่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ทรงอยู่เหนือความชั่วทั้งปวง ความชั่วทั้งหลายเข้าถึงพระทัยไม่ได้อีกต่อไป

บุคคลาธิษฐาน หรือภาษาคน

- การประทับบนบัลลังก์หญ้าคาในวันตรัสรู้

ตีความเป็นธรรมาธิษฐานหรือภาษาธรรม

- ในวันนั้นพระองค์จะทรงใช้ปัญญาอันแหลมคมประดุจ ปลายหญ้าคม มองทะลุซึ่งความมืดมนทั้งปวงเป็นคืนที่ทรงชนะความโง่ด้วยความฉลาด ทรงชนะอวิชชาด้วยวิชาการตีความหลักธรรมาธิษฐานนั้นเป็นสิ่งที่นักศึกษาพุทธศาสนาทั้งหลายควรต้องฝึกให้มีจึงจะเห็นแก่นแท้ของศาสนาและธรรมปฏิบัติ

 

อุดมการณ์และแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา

อุดมการณ์และแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนานั้นสรุปโดยย่อมี 2 ประการ คือ

1. เพื่อให้ผู้ปฏิบัติอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

2. เพื่อให้ผู้ปฏิบัติอยู่รอดด้วยตนเองได้อย่างปลอดภัย

ในข้อแกพูดถึงข้อปฏิบัติสำหรับคนในสังคมทั่วไป เช่นหน้าที่ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างบิดามารดากับบุตร ระหว่างสามีกับภรรยา  ระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์  ระหว่างประชาชนกับศาสนา  ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา การปฏิบัติต่อคนอื่นทั่วไปการปฏิบัติตนในชุมนุมชน การแสวงหาทรัพย์ การใช้จ่ายทรัพย์ เป็นต้น

 หลักสำคัญเบื้องต้นสำหรับการอยู่ในสังคมหรือเบญจศีล เบญจธรรมนั่นเอง ซึ่งมีดังนี้

เบญจศีล   

     1.  เว้นจากการฆ่าสัตว์ (ปาณาติปาตา  เวรมณี)

     2.  เว้นจากการลักทรัพย์ (อทินนาทานา  เวรมณี)

    3.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม (กาเมสุ  มิจฉาวาจารา เวรมณี)

    4.  เว้นจากการพูดเท็จ (มุสาวาทา เวรมณี)

เบญจธรรม       

1.  มีเมตตากรุณา (เมตตากรุณา)

2.  มีสัมมาอาชีพ (สัมมาอาชีวะ)

3.  มีความสำรวมในกาม (กามสังวร)

4.  มีสัจจะ (สัจจวาจา)

5.  มีสติไม่ประมาท (สติสัมปชัญญะ)

          ในข้อสองที่ว่าด้วยการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ยากของตนนั้นเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา การจะพ้นทุกข์ยากทั้งหลายได้ต้องทำตนให้เป็นคนเสียสละ ละเว้นสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวงทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ยึดถืออะไร การไม่ยึดถือทำให้ความทุกข์ยากหมดไป

         ธรรมในพระพุทธศาสนามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าจะสรุปรวมลงให้เหลือ 3 ก็ได้แก่ วาทปาฏิโมกข์ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำใจให้ผ่องใส ถ้าจะรวมลงเหลือหนึ่งก็ได้แก่ความไม่ประมาท ธรรมะทั้งหลายย่อมรวมลงในความไม่ประมาท ประดุจทำให้เกิดการไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นอุดมคติสูงสุดในพุทธศาสนา

         ดังนั้นแก่นแท้ในพระพุทธศาสนาคือ ปัญญา อุดมคติสูงสุดคือความไม่ยึดถือมั่นในสิ่งใดๆ

              

ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนา

           เพื่อให้เข้าในเรื่องพระพุทธศาสนามากขึ้นควรได้ทราบถึงเรื่องความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาไว้ด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้มองเห็นเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

           พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ถ้ามีคนปฏิบัติพระธรรมวินัยอยู่ตราบใดพระพุทธศาสนาก็ยังไม่เสื่อมอยู่ ตราบนั้น พุทธบริษัทนั้นได้แก่

1. ภิกษุ              หมายรวมถึง สามเณรด้วย

2. ภิกษุณี          หมายรวมถึง สามเณรี และ นางสิกขมานาด้วย (ปัจจุบันไม่มี)

3. อุบาสก         หมายรวมถึง ชีปะขาว(ชีผ้าขาว)ด้วย

4. อุบาสิกา       หมายรวมถึง แม่ชีด้วย

สรุปแล้วก็ได้แก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาทุกคน คือ พุทธบริษัท ถ้าผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาก็เสื่อม  เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททุกประเภทจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสนา จะมัวแต่ตำหนิกันว่าฝ่ายนี้ทำไม่ดีไม่ได้ ตัวเรานั้นแหละต้องทำดีก่อนใคร คือ เริ่มปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนได้เลยทีเดียว

เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายจะได้รวบรวมความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนามาไว้พอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

     ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรวบรวมนิพนธ์ไว้มี 5 ประการดังนี้

1. ปริยัติอันตรธาน การเสื่อมแห่งปริยัติ หมายถึงไม่มีการศึกษาความรู้ในเรื่องพระธรรมวินัยต่อไป ศาสนาก็เสื่อมปัจจุบันเราก็มีการศึกษากันอยู่มากพอสมควร

2. ปฏิบัติอันตรธาน การเสื่อมแห่งการปฏิบัติตนตาศัลธรรม ถ้าคนไม่มีศีล ไม่มีธรรมศาสนาก็เสื่อมปัจจุบันค่อนข้างค่อนข้างจะย่อหย่อนไปมาก

3. ปฏิเวธอันตรธาน การเสื่อแห่งปฏิเวธ หมายถึง การปฏิบัติการเพื่อได้รับผลจากการปฏิบัติถ้าไม่มีใครปฏิบัติจนเห็นผลหรือได้มรรคผลนิพพาน ศาสนาก็เสื่อม

4. ลิงคอันตรธาน การเสื่อมแห่งเพศ หมายถึงการถือเพศสมณะแล้วทำชั่วผิดศีลผิดวินัย ประชาชนขาดความเลื่อมใสไม่ให้การบำรุงเคารพนับถือก็อยู่ในเพศสมณะไม่ได้ เมื่อไม่มีสมณะ ที่เป็นสมณะจริงๆศาสนาก็เสื่อม

5. ธาตุอันตรธาน การเสื่อมแห่งธาตุ หมายถึงการที่พระบรมธาตุทั้งหลายไมมีผู้คน เคารพนับถือนานๆเข้าก็เสื่อมสลายไปเป็นความเสื่อมของพระศาสนาอย่างหนึ่ง ข้อนี้หมายรวมถึง โบราณสถาน โบราณวัตถุทางศาสนาต่างๆ ขาดคนเอาใจใส่ดูแลด้วย

ปัญหาจึงมีว่าเป็นหน้าที่ของใคร ที่จะรักษาศาสนาไม่ให้เสื่อมคำตอบคงไม่มีอะไรยาก หน้าที่ของผู้ที่จะรักษาศาสนาไม่ให้เสื่อมคือพุทธบริษัท ซึ่งมี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นั่นเอง อย่าได้ตำหนิกันอยู่เลยให้เริ่มทำดีได้แล้ว การทำความดีของพุทธศาสนิกชน คือ การรักษาพระศาสนาให้คงอยู่ ไม่ให้เสื่อมไปนั้นเองทั้งนี้เพราะถ้าศาสนามีอยู่จะทำให้คนสังคมประเทศ๙ติตลอดทั้งโลกอยู่ ได้อย่างผาสุก

 

คุณประโยชน์ของพระพุทธศาสนา

คุณประโยชน์ของพระพุทธศาสนามีมาก แต่จะสรุปมากล่าว ณ ที่นี้พอให้เห็นตัวอย่างดังนี้

1. ทำให้ผู้ปฏิบัติดีมีฐานะ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องประโยชน์ปัจจุบันคือทิฏฐธัมมิกประโยชน์ ถ้าปฏิบัติตามหลักฐานะมั่นคง คือ ขยัน เก็บออมหรือประหยัดคบคนดี เลี้ยงชีวิตในทางที่เหมาะสม

2. ทำให้ครอบครัวที่ปฏิบัติตาม เจริญมั่นคง พระพุทธศาสนาสอนธรรมสำหรับครอบครัวมากมายเช่น ฆราวาสธรรม, เหตุให้ตระกูลเสื่อม, ความสุขของคฤหัสถ์, อบายมุข เป็นต้น

3. ทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข  พระพุทธศาสนาสอนเรื่องหน้าที่ต่อคนที่มีฐานะ ฐานะต่างๆ รอบตัวเราและสังคมภายนอก เช่นหน้าที่ต่อบิดามารดา หน้าที่ต่อสามีภริยา หน้าที่ต่อเพื่อน หน้าที่ของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อศาสนา ต่อสังคมทั่วไป

4. ทำให้ประเทศที่มีประมุข และประชาชนที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาสงบสุข ผู้ปกครองประเทศถ้าตั้งอยู่ในธรรมของนักปกครอง ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรมนั้นแล้ว ประเทศนั้นประชาชน ย่อมมีความสงบสุข

5. พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของชีวิต คือพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมคือการกระทำเป็นวิ๔ชีวิตของคนอย่างหนึ่งตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนคนจะทำอะไรต่ออะไรตลอดเวลาพระพุทธศาสนาสอนเรื่องการกระทำแนะนำให้ทำในทางที่ถูก คำว่าทำ (กรรม) นี้มีทั้งทางกายเรียกว่ากายกรรม ทางวาจาเรียกวจีกรรม ทางใจเรียกมโนกรรม ในหนึ่งวันคนจะทำจะพูดจะคิดอยู่ตลอดเวลา พระพุทธศาสนาจึงมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง

6. ผู้เข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาคือคนมีอิสรเสรี จะไม่ติดในขนบประเพณีบางประการอันไร้ประโยชน์ เป็นคนมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย ก้าวหน้าไม่เห็นแก่ตัวเสียสละรู้จักตัวเอง รู้จักสังคม เคารพธรรมะเป็นใหญ่

หมายเลขบันทึก: 377074เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท