รู้สิ่งไรไม่สู้..รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด...เป็นยอดดี


ภูมิปัญญาของผู้คนสมัยก่อนที่สร้างการเรียนรู้ผ่านนิทานและบทกลอนช่างชาญฉลาดเสียยิ่งนัก...

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว

สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา       ประคองพาขึ้นไปบนบรรพต

 

แล้วสอนว่า...อย่าไว้ใจมนุษย์    มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด     ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

 

มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน    บิดามารดารักมักเป็นผล

ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน    เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา

 

แม้ใครรัก-รักมั่ง..ชัง-ชังตอบ  ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา

รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

 

จำได้ว่า ตอนเรายังเป็นเด็กเล็กอยู่ จะชอบอ้อนให้พ่อเล่านิทานและท่องกลอนให้ฟัง...หนึ่งในบทกลอนที่พ่อท่องให้ฟังบ่อย ๆ คือ บทกลอนนี้ที่เราชอบมาก

ฟังพ่อไป...ก็คิดเป็นภาพในใจ...จินตนาการไปถึงตัวละคร ที่ชื่อว่า “สุดสาคร” ขี่ม้านิลมังกร มีไม้เท้าวิเศษ ออกเดินทางจากเกาะแก้วพิสดารเพื่อตามหาพระบิดาคือ “พระอภัยมณี” ...ระหว่างทาง สุดสาครได้พบกับ “ชีเปลือย” และถูกชีเปลือยหลอกเอาม้านิลมังกรและไม้เท้าวิเศษไป... สุดสาครถูกผลักตกลงไปในเหว... “พระโยคี” ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสุดสาครตามมาช่วยไว้ได้ทัน

จำได้อีกว่า…เราถามพ่อด้วยความสงสัยแบบเด็ก ๆ ว่า “...แล้ว “ชีเปลือย” นี่หน้าตาเป็นยังไงหรือจ๊ะ... พ่อจ๋า...”

พ่อตอบว่า “ก็เป็นคนที่ไม่นุ่งผ้า แต่ไว้ผม ไว้หนวดและเครายาว ๆ... ยาวจนถึงตาตุ่มเลยลูก” พ่อคงกลัวว่านิทานเรื่องนี้จะ ”โป๊” เกินไปสำหรับเด็กอย่างเรากระมัง

มาจนกระทั่งบัดนี้... ณ วันที่เวลาล่วงผ่านไปกว่า ๔๐ ปี เราก็ยังจำกลอนบทนี้ได้ขึ้นใจ

แม้เราจะไม่ได้เชื่อและปฏิบัติตามเนื้อหาในบทกลอนนี้เท่าใดนัก เนื่องจากความ “ศรัทธา” ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์และความเชื่อมั่นในความเป็น “กัลยาณมิตร” ที่มนุษย์พึงมีต่อกันและกัน... ดังนั้น มนุษย์เราจึงมิได้มี “ที่รัก” หรือ “ที่พึ่ง” เพียง “สองสถาน” คือบิดามารดาและตนเองเท่านั้น... แต่ “เพื่อนแท้” สามารถเป็นที่พึ่งได้เสมอ

ทว่าหลายครั้ง...ที่หลายเรื่องราวผ่านเข้ามาในชีวิต กลอนบทนี้จะแว่วผ่านเข้ามาในมโนสำนึก...โดยเฉพาะความตอนที่ว่า

แล้วสอนว่า...อย่าไว้ใจมนุษย์

มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด

ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

การมองโลกในแง่ดีนับเป็นสิ่งที่ดี...แต่ก็ควรยังชีวิตไว้ด้วย “ความไม่ประมาท” ....ตามสุภาษิตที่ว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง"

ภูมิปัญญาของผู้คนสมัยก่อนที่สร้างการเรียนรู้ผ่านนิทาน ผ่านบทกลอน และผ่านสุภาษิตต่าง ๆ ช่างชาญฉลาดเสียยิ่งนัก...

ในวาระ “วันสุนทรภู่” ...26 มิถุนายน ที่เวียนมาถึงในปีนี้ ขอน้อมจิตรำลึกถึงและคารวะต่อท่าน “สุนทรภู่” หรือ “พระสุนทรโวหาร” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ซึ่งผลงานวรรณกรรมที่ท่านสรรสร้างทั้งกลอนนิทานและกลอนนิราศ นอกจากจะทำให้เราได้ “lesson learn” อย่างมากมายแล้ว ยังทำให้เมืองไทยของเราเป็นที่รู้จักของนักวรรณกรรมทั่วโลก

ทั้งนี้ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม เมื่อปี ๒๕๒๙ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐๐ ปีชาตกาลของท่าน

ท่านสุนทรภู่เขียนบทกลอนต่าง ๆ ตาม "ขนบ" วรรณกรรมและตาม "บริบท" เรื่องราวของสังคมในยุคนั้น ๆ ...เนื้อหาบางส่วนบางตอนจึงอาจถูกตีความหมายได้หลายนัยยะ

สำหรับเราแล้ว...การอ่านวรรณกรรมน่าจะเป็นการอ่านและเรียนรู้ "ชีวิต" ที่หลากหลายผ่านเนื้อหาของวรรณกรรม แล้วนำมา "โยนิโส" เพื่อ "สอน" ตนเอง

บรรทัดสุดท้ายของบทกลอนนี้ จึงน่าจะมีบางข้อความซึ่งท่านสุนทรภู่คง "ละไว้" ในฐานที่เข้าใจ... ประมาณว่า

........

รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา

รู้รักษาตัวรอด “โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน” เป็นยอดดี

........

หมายเลขบันทึก: 369977เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท