ภาษาใต้หลายวันละคำ วันนี้ขอเสนอคำว่า "เชาะ"


ลุงที่นั่งติดกัน ก็หันมาพูดด้วยสำเนียงกลางว่า "ช่วยเชาะให้แน่นๆที" หลุดออกมาแล้ว

เรื่องราว เมื่อวานตอนเลิกงานกลับบ้านนั่งรถเมล์ ก่อนขึ้นรถแวะซื้อส้มที่ตลาดไปฝากแม่ 3 กก. แม่ค้าใส่ถุงกรอบแกรบ (ถุงพลาสติกที่มีหูหิ้ว) ให้ 2 ชั้น สงสัยกลัวถุงแตกกลางทางมั้ง โดยที่ถุงชั้นในแม่ค้าได้ "เชาะ" เอาไว้ แต่ชั้นนอกไม่ได้ "เชาะ" ปล่อยไว้เพื่อที่จะหิ้วได้สะดวก และวางไว้ใต้เก้าอี้นั่ง รถวิ่งไปได้สักพัก ลุงที่นั่งติดกันก็หันมาพูดด้วยสำเนียงกลางว่า "ช่วยเชาะให้แน่นๆที" หลุดออกมาแล้ว  ทำเอาเป็นงง งงจริงๆไม่ได้กระแดะ (กระแดะเป็นคำกลางคนใต้ชอบนำมาใช้เหน็บแนมกันเองเวลาฟังภาษาใต้ไม่รู้เรื่อง) งงเพราะ 1. "เชาะ" เมื่อพูดด้วยสำเนียงกลางต้องนึกก่อนคืออะไร     2. หน้าตา การแต่งตัวก็คนใต้จ๋า แต่ลุงเขาก็พูดกลาง เอ้ากลางก็กลาง แว็ปเดียวก็นึกได้ว่า อ๋อส้มหลุดออกมาจากถุงนั่นเอง จึงก้มลงไป "เชาะ" ถุงใหม่อีกทีให้แน่น แต่หลังจากที่เราแหลงใต้ไป ลุงเขาก็แหลงใต้เป็นน้ำไหลไฟดับเลย

ความหมาย | ผูก มัด (เป็นเงื่อนปม)

ไวยากรณ์    | "เชาะ" เป็นคำกริยา

สำเนียงใต้   | เฉาะ

 

หมายเลขบันทึก: 36823เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
อ่านตอนแรกไม่รู้นะครับ พออ่านคำออกเสียงเป็นสำเนียงใต้เลยร้องอ๋อ
  • ดีจัง  ที่พี่อุไรวรรณ  นำมาเล่าให้ฟัง    ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยค่ะ
  • ขอคำอธิบายและวิธีใช้  คำนี้ด้วยค่ะ "เหมย"   ที่แปลว่า  ติดสินบน  บนบานศาลกล่าว      อ้อ..คำว่า "โจ"   ด้วยค่ะ
  • จริงๆแล้วออกเสียง "เหมรย" คือมี ร เรือควบกล้ำด้วยค่ะ แปลว่า  ติดสินบน  บนบานศาลกล่าว  ที่ nidnoi  เข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว ตัวอย่างการใช้งาน เช่น "ลุงดำไม่สบายอีกแล้ว เขาถูก "เหมรย" แต่ไม่ยอมแก้ซักที " คือไม่ยอมแก้บนนั่นเอง สงสัยว่า nidnoi งงกับคำว่าแก้บนอีกหรือเปล่า
  • คำว่าโจ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้กันในวงแคบๆ เช่นที่จะนะมีใช้ แต่ที่รัตภูมิไม่มีใช้ค่ะ แปลว่า "แว็บ" นั่นเอง ตัวอย่างการใช้งาน เช่น "วันนี้ว่าอิโจไปบ้านน้องอบซักเดียว" หมายถึงการไปบ้านน้องอบแบบรีบไปรีบกลับค่ะ

 

 

 

  • อีกความหมายหนึ่ง เป็นคนละเรื่องกับคำว่าโจข้างบน หมายถึง ยันต์ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "ใส่โจ" คือการลงยันต์เอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับความเสียหาย เป็นไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง แม่เล่าว่า ลุงของพี่เป็นคนมีความรู้เรื่องนี้ สวนผลไม้ของลุงไม่มีใครกล้าไปโขมย เพราะถ้าใครเข้าไปในสวนเขา โขมยแล้วจะหาทางออกไม่เจอ จะเดินวนเวียนอยู่อย่างนั้นจนกว่าลุงจะไปเอาออกมาเอง เพราะสวนของลุงได้ "ใส่โจ" เอาไว้ ผลกระทบของคนที่ถูกคุณไสยพวกนี้แล้วแต่เจ้าของ "โจ" จะให้เป็นไป เช่น บางคน กินแล้วทำให้ปวดท้อง เป็นต้น เท่าที่ทราบจะใช้กับสวนผลไม้
  • ขอบคุณ คุณ nidnoi แทนชาวใต้ด้วยนะคะที่สนใจภาษาของเรา ว่าแต่ว่า คุณ nidnoi เป็นคนที่ไหนหรือคะ

 

ตอนพี่เม่ยคลอดลูกคนแรกใหม่ๆ  ย่ามาช่วยดูแล อยู่มาวันหนึ่งเสื้อเด็กอ่อนที่ตากไว้ (ที่มีสายผูกด้านหลัง) ปลิวลงไปตกอยู่ข้างล่าง.....
  • ย่าบอกว่า "ตอนที่แม่ตาก ก็ "ช่อ" ไว้แล้วนี่นา...."
  • พี่เม่ยเป็นงง....กว่าจะมาเข้าใจกิริยานี้เมื่อย่าทำให้ดูเป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณพี่อุไรวรรณค่ะ ที่ช่วยกระตุ้นเตือนความทรงจำดีๆให้พี่เม่ย...ด้วยคำว่า "เชาะ (ช่อ?)"

ขออีกเรื่อยๆนะคะ พี่อุไรวรรณ ชอบมากเหมือนกัน

ขอบคุณค่ะ   ขออีกเรื่อยๆ  นะคะ   ขอแบบที่  คำใต้กับคำกลาง  ออกเสียงเหมือนกัน   แต่ความหมายต่างกัน
เช่น..   ฝรั่ง  / ชมพู่   

อยากให้เสนอคำว่า " ดู "จัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท