(13 มิ.ย. 49) ไปบรรยาย หัวข้อ “กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทยในปัจจุบันและการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “นักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 50” จัดโดย “สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” (สำนักงาน กพร.) ร่วมกับ “สถาบันดำรงราชานุภาพ” (กระทรวงมหาดไทย) ที่ “วิทยาลัยมหาดไทย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ผู้เข้าร่วมหลักสูตรคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายอำเภอ ได้นำบทกลอนหนึ่งมาอ่านในระหว่างการอภิปราย แล้วมอบบทกลอนนี้ให้ผมไว้ ผมเห็นว่าดีมาก จึงขอนำมาลงบันทึกใน blog นี้ เพื่อผู้สนใจอื่นๆจะมีโอกาสได้อ่านด้วย
วันนี้....ไม่มีเสียง “กะลอ”
· นั่นต่างคน ต่างมา ศาลาวัด เข้ามาร่วม กันจัด ชุมชนใหม่
ออกระเบียบ เงินล้าน บ้านห่างไกล จากกองทุน ที่รัฐให้ กู้ทำกิน
· นั่นเขาทำ อะไร ในหมู่บ้าน อบต. ทำโครงการ ของท้องถิ่น
ซ่อมถนน ลงลูกลัง ทั้งถมดิน กลบโคนต้น กระถิน บ้านกำนัน
· เขาประชุม อะไร ในหมู่บ้าน เหล่าลูกหลาน เยาวชน ช่างคิดฝัน
รวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย สายสัมพันธ์ กองทุน “ซิฟ” จัดสรร มาทันที
· เขาเข้าแถว กลุ่มใหญ่ ทำไมหนอ กกต. จัดเลือกตั้ง ครั้งที่สี่
ป้ายศาลา กลางบ้าน ในวันนี้ เป็นป้ายศูนย์ฯ เทคโนโลยี เกษตรกร
· เกิดพหุ ภาคี ที่หลายหลาก เปลี่ยนยุคจาก ผู้ใหญ่ลี หลายปีก่อน
ทางการสั่ง ให้เลี้ยงเป็ด และสุกร จะประชุม ราษฎร ตีกะลอ
· พ่อกำนัน พ่อผู้ใหญ่ พาหายหน้า กลายเป็นสิงห์ ที่เหนื่อยล้า หรือเปล่าหนอ
คนเก่า ในยุคใหม่ ไม่ดีพอ เสียงกะลอ แหบพร่า มาเนิ่นนาน
· พอเสร็จสิ้น หน้านา ฆ่าโคถึก พอเสร็จศึก ก็จะฆ่า ขุนทหาร
ธุรกิจ จะรุกฆาต ราชการ ในหมู่บ้าน ไม่มีแล้ว ...... เสียง “กะลอ”
โดย นายณรงค์ศักดิ์ พลศักดิ์
นายอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
27 มิ.ย. 49
เฉียบขาดแหลมคม สมเป็นนายอำเภอจริงๆครับ ขอเสริมนิดนึงนะครับ... คำว่า "กะลอ" เค้าทำจากไม้ไผ่ ตัดมาปล้องนึง เจาะรูตรงกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในสมัยก่อนใช้ตีเรียกประชุมลูกบ้าน หรือเวลามีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น วัวควายหาย เป็นต้นแต่สมัยนี้เค้าใช้โทรโข่งแทนครับ
อย่าลืมแวะเยี่ยมชม www.yebkapao.com ของชาวบ้านด้วยเด้อครับ
สวัสดีครับท่าน
ขอบคุณครับ