จับเขียด หาลูกปลา ลงเบ็ด : วิถีทำกินและอาหารจากน้ำตามฤดูกาล


 อาหารและการดำเนินชีวิตตามฤดูกาล

พื้นถิ่นแต่เดิมของชุมชนหนองบัวนั้น มีแหล่งอาหารจากธรรมชาติหมุนเวียนไปทุกฤดูกาลอย่างอุดมสมบูรณ์ ในฤดูแล้งจะมีอาหารป่า จากแนวป่ากว้างขวางซึ่งแผ่คลุมเชื่อมมาจนถึงพื้นที่ซึ่งเป็นตัวเมืองหนองบัวในปัจจุบัน โดยเฉพาะ หน่อไม้ กลอย ผักหวาน ผักอีซึก ใบย่านาง เห็ดเผาะ บอน อีบุก ยอดหวาย และพืชผักของป่านานาชนิด

หลังหน้าทำนา ชุมชนก็จะมีงานประเพณี งานประจำปีตามวัดของชุมชนต่างๆที่ชาวบ้านจะต้องร่วมกันทำเป็นงานของส่วนรวม รวมทั้งจะเป็นเทศกาลสำหรับงานบวช แต่งงาน ทอดผ้าป่า กฐิน จึงจำเป็นต้องเตรียมหาปัจจัยที่จำเป็นไว้ รวมทั้งอาหารและวัตถุดิบพื้นฐานเพื่อทำเป็นอาหารต่างๆ ทั้งสำหรับกินอยู่ในครอบครัวและเก็บไว้ทำบุญตลอดปี

ดังนั้น เมื่อนวดข้าวและเสร็จหน้าทำนาแล้ว ชาวบ้านก็จะพากันไปหาหน่อไม้และทำหน่อไม้แปรรูปต่างๆอย่างเพียงพอ  รูปแบบและวิธีหลักๆก็คือหน่อไม้รวกเผาแล้วต้มในใบย่านางซึ่งจะเป็นวีธีถนอมอาหารให้สามารถเก็บหน่อไม้สำรองไว้ทำอาหารกินได้เป็นเดือน และหน่อไม้ไผ่ตงซึ่งจะฝานให้เป็นริ้วบางๆแล้วขนกลับมาทำหน่อไม้ดองหรือหน่อไม้อัดเจ้าละ ๑-๒ ไห เก็บไว้ทำเป็นอาหารต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ จะเป็นวัตถุดิบสำหรับทำสูตรอาหารและเมนูอาหารในฤดูกาลต่างๆต่อไปอีกหลายอย่าง เช่น รอปรุงเข้ากับ ไก่ กบ ปลา ในหน้าแล้ง หน้าฝน และหน้าน้ำหลาก ซึ่งในธรรมชาติของท้องถิ่นมีอยู่อย่างไรก็ปรับปรุงการทำอยู่ทำกินให้สอดคล้องไปตามนั้น จนถึงหน้าแล้งของปีถัดไป

 วิถีทำกินทำอยู่ที่สะท้อนการเรียนรู้ความสมดุลพอเพียงไปกับธรรมชาติ

หลังดำนาและเป็นจังหวะที่ต้นข้าวหยั่งรากแน่นหนาลงดินซึ่งจะเป็นช่วงประมาณเดือนแปด-เดือนเก้า น้ำธรรมชาติซึ่งสะสมจากฝนที่ตกในหน้าทำนาอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นน้ำหลากไหลบ่ามาจากทางเหนือ ท่วมไปทั่วท้องนาของชุมชนหนองบัว ชาวบ้านตามเส้นทางที่น้ำหลากมานั้นจะมีวิธีบอกกันปากต่อปากถึงปริมาณน้ำ ความเร็วและความแรง และแหล่งที่น้ำหลากมาถึง นับแต่น้ำท่วมมาถึงพิษณุโลกและพิจิตร เมื่อหลากมาถึงหนองบัว ชาวบ้านท้องถิ่นหนองบัวก็จะบอกกันปากต่อปากไปยังชุมชนที่อยู่ทางใต้ถัดไปจนถึงบึงบอระเพ็ด สิงห์บุรี ชัยนาท กระทั่งถึงอยุธยา

การเป็นเครือข่ายสื่อสารอย่างเอื้ออาทรกันในลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำให้ชาวบ้านมีเวลาเตรียมการต่างๆได้ทัน หากมีฝนตกต่อเนื่องและน้ำหลากจากทางเหนือมาก ชาวบ้านก็จะรู้ทันทีว่าแถวหนองบัว ชุมแสง และชุมชนที่อยู่ล่างลงไปจะมีน้ำท่วมมาก ต้องรีบเอาวัวควายไปอยู่ตามจอมปลวกที่สูงที่สุด ยกร้านเพื่อเก็บปีกไม้และเครื่องมือทำมาหากินต่างๆมิให้ไหลไปตามน้ำ

เมื่อน้ำหลากมาถึงในระยะแรกก็จะไหลบ่าและระดับยังไม่แน่นอน ข้าวและไม้ไร่ทุกอย่างอาจจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านจะรอสัก ๓-๔ วัน หากน้ำน้อยก็จะเริ่มเดินไปตามแปลงนาและพังคันนาเพื่อไขน้ำเข้านาทุกแปลงให้ทั่ว หากท่วมมากก็จะต้องรีบเปิดทางน้ำให้กว้างขึ้น ผ่านไปไม่กี่วัน ต้นข้าวซึ่งแต่เดิมอาจจมอยู่ใต้ผิวน้ำ ก็จะเริ่มแทงยอดขึ้นเหนือน้ำและแตกกองอกงงาม กุ้งหอยปูปลาที่มาตามน้ำหลากก็จะเริ่มผุดมากมาย ชาวบ้านก็จะเริ่มนำเอาเรือมายาชันและเริ่มทำอุปกรณ์สำหรับหาปลา

  บรรยากาศเมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าน้ำ   ก็จะเต็มไปด้วยความสุขความรื่นรมย์ ต้นข้าวกำลังได้น้ำงอกงาม ทั่วท้องทุ่งเต็มไปด้วยกุ้งหอย ปู ปลา การทำงานฝีมือ การสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมสะท้อนไปเป็นเครื่องมือหาปลา เครื่องจักสาน ประณีตบรรจง งดงาม ดีงาม และมีความจริงของชีวิต ผสมผสานและจรดจารเป็นงานศิลปะแห่งชีวิตที่มีพลังอิ่มเอิบออกจากจิตใจ

                       Large_fishing

                               การลงเบ็ดหาปลาในนาข้าว  ใน http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/407499 
                              โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  ภูมิปัญญาและความรู้จักธรรมชาติของชาวบ้านหนองบัวที่อยู่ในการลงเบ็ดหาปลา 

เบ็ดสำหรับปักหาปลาในหน้าน้ำหลาก เป็นเครื่องมือที่จะทำขึ้นมาให้เหมาะสมกับการหาปลาในหน้าน้ำหลาก ลักษณะของเบ็ดกับชนิดของไม้ไผ่จะขึ้นอยู่กับความถนัดในการหาปลาและความรู้จักนิสัยใจคอของปลา ที่สำคัญก็คือ
(๑) เบ็ดสำหรับปักปลาดุก ปลาหมอ และปลาที่หากินหน้าดิน ตัวไม่ใหญ่ คันเบ็ดจะทำที่อๆ ไม่ต้องพิถีพิถัน แต่เน้นการทำสายเบ็ดให้ยาว เมื่อปักก็จะปักเรี่ยน้ำเพื่อให้สายเบ็ดหยั่งไปถึงพื้น เบ็ดแบบนี้และการปักดินในลักษณะนี้ หากมีปลาตัวใหญ่มากินก็มักจะหลุดหรือถอนคันเบ็ดติดไปด้วยทั้งคัน เพราะแนวการปักเบ็ดทำมุมเกือบขนานไปกับผิวน้ำ  ทำให้ทานแรงดึงของปลาตัวใหญ่ไม่ได้ เบ็ดแบบนี้มักทำเหยื่อด้วยไส้เดือน
(๒) เบ็ดสำหรับปักปลาช่อน ปลากด และปลาที่กินปลาเล็กขนาดปานกลาง คันเบ็ดจะทำให้ยาวและปลายอ่อนยืดหยุ่นสูง เมื่อปักดินก็จะปักให้เอียงปลายชี้ขึ้นทำมุมกับผิวน้ำประมาณ ๖๐ องศาเหมือนในภาพ การปักแบบนี้จะทำให้ปลาตัวใหญ่ดึงคันเบ็ดในทางตรงไม่หลุดจากพื้นดิน อีกทั้งปลายคันเบ็ดจะเรียวและอ่อนไปตามการดึงของปลา ไม่หักและไม่หลุดโดยง่าย เบ็ดแบบนี้จะทำเหยื่อด้วยเขียด
(๓) เบ็ดสำหรับปักปลาขนาดใหญ่ ปลาชะโด ปลาค้าว คันเบ็ดจะทำให้ยาวและมีความอ่อนตัวสูง ตัวเบ็ดขนาดใหญ่มากกว่าเบ็ดแบบอื่น ใช้เขียดตัวโตหรือปลาตัวเล็กๆจำพวกลูกปลาหมอ ปลากระดี่ และลูกปลาดุก ปลาที่จะกินเบ็ดแบบนี้จะเป็นปลาขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับปักตามไดและในแหล่งน้ำลึกปลายฤดูน้ำหลาก ซึ่งปลาจะตัวโต หากปักด้วยเบ็ดแบบอื่นปลาจะดังเบ็ดขาดหรือหลุดหมด

ดูจากคันเบ็ดและลักษณะการลงเบ็ด หากเห็นคันเบ็ดแข็งแรงและสายตัวเบ็ดยาวนั้น หากไม่เคยได้ดำเนินชีวิตตามท้องนาเราก็คงเข้าใจว่าเป็นเบ็ดสำหรับหาปลาตัวใหญ่ และเบ็ดไม้ไผ่ปลายเรียวเล็ก อ่อน เป็นเบ็ดสำหรับลงเบ็ดปลาตัวเล็กๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจะเป็นตรงข้าม คันเบ็ดแข็งๆทื่อๆและสายยาวนั้นเป็นเบ็ดที่เหมาะกับปลาตัวเล็กและปลาว่ายหากินหน้าดินในน้ำลึกๆ ซึ่งจะต้องปักดินให้แน่น ส่วนเบ็ดที่สายสั้นกว่าและปลายเรียวอ่อนนั้นเป็นเบ็ดสำหรับเลือกแต่ปลาตัวใหญ่ เพราะจะลู่ไปตามแรงดึงอันแข็งแรงมากของปลาตัวใหญ่กระทั่งหมดแรง ทำให้เบ็ดไม่หัก ปากปลาไม่ฉีกและหลุด

                              Fishingfarmer 

                               เบ็ดคันยาว  สำหรับหยกปลาในนาข้าวของชาวหนองบัว เป็นเบ็ดอีกแบบหนึ่งที่ทำด้วยลำไม้รวก ยาว อ่อนพลิ้ว 
                              และจะติดแต่ปลาตัวใหญ่ โดยเฉพาะปลาช่อนและปลาชะโด
                              ภาพโดย
: วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/378168

  การจับเขียด 

โดยปรกติแล้ว ชาวบ้านในท้องถิ่นหนองบัวก็จะหาเขียดเพื่อลงเบ็ดตามหมู่บ้าน แต่ถ้าหากต้องการหาให้เพียงพอสำหรับไปลงเบ็ดและหาปลาได้มากๆแล้วก็จะต้องมุ่งไปที่บ้านหนองบัวและชายป่าโดยรอบหนองบัว พื้นดินแถวบ้านหนองบัวและตามชายป่าหนองบัวเป็นดินทรายรวมทั้งมีพื้นโล่งเป็นหย่อมๆมากมาย พื้นที่โล่งในราวป่าเหล่านี้จะเป็นแหล่งที่แมลงกลางคืนซึ่งเป็นเหยื่อของเขียดดึงดูดให้เขียดมาอยู่รวมกันเต็มไปหมด  ชาวบ้านจะสามารถเลือกสรรตามขนาดที่ต้องการได้มากกว่าเดินหาเอาตามหมู่บ้าน

เมื่อพลบค่ำชาวบ้านรอบนอกก็จะเดินทางไปยังบ้านหนองบัวและชายป่า หากต้องการเขียดมากก็จะรอจับเขียดให้ได้จำนวนมากตามที่ต้องการแล้วจึงจะกลับบ้าน หากต้องการไม่มากนักก็ไปให้ถึงบ้านหนองบัวแต่พอพลบค่ำแล้วก็เดินจับเขียดพลางก็เดินกลับบ้าน ภาชนะที่ใส่เขียดเรียกว่าอีแอ็บ สานด้วยไม้ไผ่และจักสานอย่างละเอียด พื้นมีช่องระบายอากาศและปากอีแอ็บทำด้วยเศษผ้า ดัดแปลงจากขากางเกงหรือเศษผ้าถุงที่นำมาเย็บเป็นท่อ เขียดสำหรับลงเบ็ดจะเลือกเขียดขนาดประมาณเท่าปลายนิ้วเท่านั้น

  การหาลูกปลา 

ตอนปลายหน้าน้ำและฤดูเกี่ยวข้าว ปลาตัวใหญ่จะอยู่ในนาน้ำลึก ได หนองน้ำ และลำคลอง และออกหากินปลาตัวเล็กในตอนกลางคืน ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่ไขน้ำออกจากนาและทำทางน้ำให้ปลาว่ายอกจากแหล่งที่น้ำเริ่มงวดไปอาศัยอยู่ตามได หนองน้ำ และที่ลุ่มกว่าทั่วไป ชาวบ้านก็จะลงไซด้วยซึ่งก็จะทำให้ได้ ปู กุ้ง หอย และปลาตัวเล็กๆ

ปลาตัวเล็กๆนี้ ชาวบ้านก็จะนำมาทำเป็นเหยื่อลงเบ็ดสำหรับจับปลาตัวใหญ่ตอนกลางคืนตามแหล่งน้ำลึก การลงเบ็ดด้วยลูกปลาเพื่อจับปลาตัวใหญ่แบบนี้ต้องใช้ทักษะมากกว่าทั่วไป ทั้งการเลือกทำเลซึ่งต้องเรียนรู้และรู้จักนิสัยปลา ลักษณะการปักเบ็ด การเกี่ยวเบ็ด ดังนั้น ชาวบ้านบางคนที่มีทักษะดีเท่านั้นที่จะสามารถลงเบ็ดในลักษณะนี้ให้ได้ผลดี

ชาวบ้านมีคำเรียกผู้หาปลาได้เก่งว่า 'มือหมาน' และคน 'หากินหมาน' ซึ่งสะท้อนผลรวมของหลายองค์ประกอบ ทั้งการเป็นผู้มีความเป็นนักสังเกตวิเคราะห์วิจัย รู้จักทำเลและธรรมชาติของปลา รู้จักน้ำและถิ่นที่อยู่อาศัยของปลา รู้จักศิลปะของการทำเครื่องมือหาปลา รวมทั้งมีทักษะฝีมือและรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างซึ่งเป็นความจำเพาะตนที่เรียนรู้จากการใช้ชีวิตทำกิน

  การลงเบ็ดหาปลา 

เบ็ดทั้งสามแบบจะเหมาะสำหรับการหาปลาหน้าน้ำหลากในช่วงที่แตกต่างกัน เมื่อน้ำเพิ่งหลากและไหลแรงปลาส่วนใหญ่จะเป็นปลาดุก ปลาหมอ และปลาหากินหน้าดิน ชาวบ้านก็จะใช้เบ็ดแบบแรกและปักเบ็ดด้วยเหยื่อไส้เดือน  ผ่านไปสักระยะหนึ่งน้ำนิ่งขึ้นและก็ได้ระยะเวลาที่ปลาเริ่มเจริญเติบโตมากแล้วด้วยเช่นกัน ก็จะเริ่มลงเบ็ดแบบที่สอง

เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวและน้ำทรง ปลาตัวเล็กตัวน้อยเริ่มเข้าไปอยู่ตามหนอง ได บึงบรเพ็ด รวมทั้งเข้าสระและหนองตามนา เป็นช่วงที่ปลาตัวโตมีจำนวนมากขึ้น ปลาตัวโตนี้ต้องปักเบ็ดในแบบที่สามโดยใช้ลูกปลาและเขียดขนาดใหญ่ ปักให้ลอยน้ำมากกว่าแบบอื่น ลักษณะเหยื่อและการปักแบบนี้ก็จะมีปลาที่ใหญ่กว่าปรกติมากิน ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นปลานักล่าซึ่งจะตัวใหญ่และแรงมาก ทั้งปลาช่อนและปลาชะโดขนาดใหญ่ ปลาค้าว และปลากดขนาดใหญ่โตกว่าทั่วไป

นอกเหนือจากนี้ก็จะใช้วิธีล่อเบ็ดสำหรับหาปลาเนื้ออ่อนในตอนกลางคืน ตกเบ็ดสำหรับหาปลาตัวเล็กๆโดยผู้หญิงและเด็กๆ และหยกเบ็ดสำหรับหาปลาช่อนซึ่งเป็นวิธีถนัดของชาวบ้านหนองบัว

  การพิจารณาการเรียนรู้ วิธีคิด และภูมิปัญญาชาวบ้าน 

การหาปลาในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเลือกกินที่พอเพียงและเหมาะสมกับการดูแลรักษาความสมดุลของธรรมชาติด้วย ลักษณะของเบ็ดและวิธีปักเบ็ดจะทำให้ได้แต่ปลาขนาดใหญ่เพียงจำนวนที่พอกินในระยะเวลาที่ต้องการ ไม่มีการหาสะสมเกินพอ และไม่ติดปลาขนาดเล็กกับปลาที่วางไข่ ปลาที่หาได้เมื่อนำมาทำเป็นสูตรอาหารกับหน่อไม้ดองแบบต่างๆทั้งแกงป่า แกงกะทิ ก็จะเป็นอาหารเมนูพิเศษ สำหรับทำบุญใส่บาตรและกินกันในครอบครัวตลอดฤดูน้ำหลาก.

หมายเลขบันทึก: 349392เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

สวัสดีครับอาจารย์

อาจจะเป็นความโชคดีของผมก็ได้ ที่ได้วิธีการทำมาหากินใน ๒ แบบ คือ แบบคนภูเขา และ แบบคนทำนา

แม่ผมเป็นลีซอ ชีวิตวัยเด็กส่วนหนึ่งอยู่บนภูเขา

ส่วนปู่ผมเป็นชาวนา ชีวิตวัยเด็กส่วนหนึ่งติดตามปู่ออกทุ่งออกนา

เรื่องการจับปูปลาเป็นช่วงชีวิตที่ผมได้สัมผัสเมื่อคราวมาอยู่กับปู่

ในหน้าน้ำหลาก ปู่จะพาผมออกจากบ้านแต่เช้ามือเพื่อไปกู้ลอบไซและรี่ แบกปลากกลับมาบ้านแทบไม่ไหว

ปลาเยอะมาก ๆ ปลาตัวใหญ่ย่าจะย่างและตากแห้งไว้ ส่วนตัวเล็กตัวน้อยก็จะสับทำปลาเห็ดและทำปลาร้า

หน้าน้ำกับข้าวทุกมื้อจะเป็นปลาซะเป็นส่วนใหญ่

ในหน้าแล้วก็ไม่ใช่จะไม่มีปลา

วันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม

ผมและน้อง ๆ จะเดินออกทุ่งหาแอ่งน้ำแล้วก็วิดน้ำออกจากแอ่ง บรรดาปลาที่ค้างอยู่ในแอ่งจะถูกจับใส่ข้องเอามาให้ย่า

ทั้งปลาดุก ปลาช่อน ปลาไหล ปลาหมอ ฯลฯ เป็นกับข้าวกินไปได้เกือบอาทิตย์

ช่วงหนึ่งที่ผมไปเรียนพิษณุโลก มีโอกาสไปอยู่ชุมชนชาวนาที่บ้านกร่าง

ก็เคยมีประสบการณ์ไปแทงปลาตอนกลางคืนด้วย

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ได้ความรู้ใหม่ว่า...ยังไม่รู้จักผักอีซึกและอีแอ็บค่ะ  นอกนั้นดิฉันพยายามอ่านและเข้าใจดีค่ะ
  • ระยะหลังนี้  ทำให้เห็นความแตกต่างเรื่องลมฟ้า อากาศค่ะ สมัยก่อนที่เป็นครูอยู่บ้านนอก  อยู่ใกล้ทุ่งนา  เมื่อฝนหยุดตกอากาศสดชื่นและมีน้ำเจิ่งนองเต็มทุ่งนา
  • ตอนเย็น ๆ จะไปว่ายน้ำเล่นกันริมบ่อข้าง ๆ นาสนุกมากค่ะ  ตอนแรกเห็นปลาติดตาข่ายดักปลาของชาวบ้าน ไม่เข้าใจคิดว่ามีใครนำเศษผ้ามาทิ้งแล้วปลาติดได้  จึงช่วยกันดึกขึ้นมาและเอากลับบ้านพักครูกัน
  • รุ่งขึ้นครูใหญ่พูดให้ฟังว่า...มีชาวบ้านสงสัยครูลักปลาเขามากิน..เดือดร้อนต้องขอโทษขอโพยกันใหญ่ค่ะ
  • ครูผู้ชายนิยมไปจับกบ จับเขียดหลังฝนตกค่ะ  เขียดเล็กเขาจับไปปักเบ็ด  ส่วนเขียดใหญ่นำมาตากแห้งและทอดกินเป็นอาหาร
  • บันทึกของอาจารย์  เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนของท้องถิ่นหนองบัวมากนะคะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • หนานเกียรติมีประสบการณ์ชีวิตที่เข้มข้นดีจริงๆ
  • การแทงปลากลางคืนนี่ก็ต้องอดทนและให้ทักษะชีวิตหลายอย่างเลยนะครับ
  • รี่นี่ชักเลือนๆแล้วครับ รู้แต่ว่ามีแต่นึกรูปร่างไม่ออกเสียแล้ว
  • อีแอ็บเป็นเครื่องจักสานสำหรับใส่เขียดครับ อย่างที่เห็นเด็กหิ้วอยู่ในมือขวาในรูปนี้แหละครับ แต่ผักอีซึกนี่เห็นรูปแล้วคุณครูคิมคงต้องร้องอ๋อแน่เลย เมื่อก่อนนี้แถวหนองบัวและพิษณุโลกมีเยอะครับ จึงอาจจะเคยผ่านตา หากมีโอกาสจะหาถ่ายรูปมาฝากครับ
  • อ่านที่คุณครูคิมและเพื่อนเก็บข่ายชาวบ้านที่คิดว่าเศษผ้าที่ปลาเข้าไปติดแล้วก็ขำครับ เด็กๆจากในเมืองเวลาไปอยู่กับชาวบ้านที่บ้านนอกแล้วก็มักจะมีเรื่องขำๆอย่างนี้
  • ชีวิตคุณครูบ้านนอกเวลาไปอยู่โรงเรียนในชนบทก็ต้องเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ชีวิตกลมกลืนไปกับชาวบ้านอย่างนั้นเลย นึกถึงแล้วก็ประทับใจครับ

สวัสดีค่ะ

  • กลับมาอ่านบันทึกของอาจารย์อีกค่ะ  อ่านแล้วรู้สึกดีค่ะ
  • ทำให้นึกอยากเขียนเล่าเรื่องที่บ้านนอกจังค่ะ  ได้อยู่โรงเรียนนั้นถึง ๒ ปีกว่า ๆ ก็ถูกให้มาช่วยราชการในอำเภอค่ะ
  • แต่ก็ยังเป็นสภาพบ้านนอก  ที่อำเภอบางกระทุ่มค่ะ มีทุ่งนาและรถไฟผ่านค่ะ
  • เวลาน้ำท่วมปลาชุกชุม  นักเรียนและครูไล่จับปลาหมอตัวขนาดใหญ่ที่ไหลมาตามน้ำ  สนุกมากค่ะ
  • แต่ที่น่าหวาดเสียวคือปลิงยั้วเยี้ยไปหมด  ภารโรงบอกว่าใต้ถุนอาคารเรียนเป็นหลุมปลิง
  • กลางคืน  ครูที่อยู่บ้านพักครูจะติดไฟจับแมงดา  ครูบางคนไม่เคยจับแมงดา  จับไม่เป็นถูกแมงดาต่อย ทำให้กินแมงดาเป็นชีวิตจิตใจเพื่อแก้แค้นค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ
  • แถวบ้านผมก็มีคนนำวิธีติดไฟจับแมงดา-แมงตับเต่ามาหลายปีดีดักแล้วครับ
  • ต่อมา เมื่อหลายปีมาแล้วเหมือนกัน ญาติพี่น้องผมก็ได้เขยจากอีสานมาคนหนึ่ง
  • เขยอีสานคนนี้มาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านหนองบัวแล้วเขาก็ตื่นตาตื่นใจทำกินอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ติดไฟดักแมงดา จับหนู จับจิ้งหรีด แมงกระชอน ตั๊กแตน ได้เป็นกระสอๆบมากมาย แล้วก็เอารถขนไปขายได้เงินทองมากมายเป็นว่าเล่น
  • ญาติพี่น้องคนอื่นๆก็นั่งมองตาปริบๆเพราะไม่เคยรู้วิธีทำกินอย่างนี้ อีกทั้งก็กินไม่เป็น ก็ได้แต่นั่งมอง กล้าๆกลัวๆ  ต่อมาก็เริ่มมีคนมาช่วยเป็นลูกมือ แล้วก็เริ่มมีคนลองชิมทีละคน-สอง ผมเองก็เช่นกันครับ แรกๆก็เหมือนมันมีกากติดคอ แต่ไปๆมาๆก็อร่อยครับ
  • เดี๋ยวนี้เวลากลับไปนั่งตามลานบ้านผม ก็แทบจะขาดไม่ได้ครับว่าจะต้องมีจานจิ้งหรีดหรือตั๊กแตนทอด ตกกลางคืนก็เต็มไปด้วยไฟจับจิ้งหรีด แมงดา แมงตับเต่า แมงกระชอน 

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์, หนานเกียรติ และคุณครูคิม

  • พูดถึงอาหารการกิน ชื่ออาหาร หรือผักหลายๆ อย่าง ไม่เคยเห็น หรือแม้จะเป็นเพียงชื่อก็ไม่เคยแม้จะได้ยินด้วยซ้ำไปค่ะ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะที่จะไม่เคยทานมาก่อน ...
  • จนเมื่อปีก่อนได้ลงพื้นที่วิจัยไปพร้อมๆ กับอาจารย์ ทำให้ได้ลองอาหารแปลกๆ (สำหรับเรา) แต่พอได้ลิ้มลองแล้ว ติดใจค่ะ (ในบางรายการนะค่ะ)
  • ที่ต้องบอกว่าบางรายการนั้น เมื่อล่าสุดที่ได้ไปพักบ้านอาจารย์ที่สันป่าตองนั้น ในอาหารมื้อเย็นนั้นได้มีการปรุงอาหารสุดวิเศษต้อนรับแขก ซึ่งภรรยาของอาจารย์บอกว่าเป็นอาหารที่หาทานยาก นั้นก็คือ ผัดลูกฮวก และก็เกือบจะได้ชิมแล้ว ถ้าไม่จับสังเกตเห็นอาการเงียบๆ ของอาจารย์และคุณเริงวิชญ์ และมองแบบแปลกๆ จึงคะยั้น คะยอให้อาจารย์บอกว่าคืออะไร และในที่สุดก็ไม่ได้ชิมเพราะ ลูกฮวก คือ ลูกเขียด ใช่ไหมค่ะอาจารย์ (ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งอาจารย์และคุณเริงวิชญ์จะทราบอยู่ว่า เอ่อ สัตว์จำพวกนี้ไม่ค่อยจะถูกกันค่ะ ^^"

                       

                      

  • ภาพอาหารชุดนี้เป็นอาหารที่แม่ของอาจารย์ทำให้ทานกันเมื่อช่วงลงพื้นที่วิจัยแถบภาคเหนือ (กำแพงเพชร์-ลำพูน) และได้แวะบ้านตาลิน หนองบัว บ้านอาจารย์ค่ะ .. และอาจารย์บอกว่ามี ผักอีซึก ไว้จิ้มน้ำพริกปลาย่าง ฝีมือแม่ด้วยค่ะ ... อร่อยขั้นเทพ ค่ะอาหารพื้นบ้านแบบนี้ (จำได้ว่าน้ำพริกปลาย่างแห้งขอดถ้วยเลยทีเดียว) ... ต้องกราบขอบพระคุณ แม่ และ พี่น้อง (แต่เป็นน้องสาวของอาจารย์) ด้วยค่ะ ....
  • พ่อจะชอบหาปลาครับ ตอนเป็นเด็กๆผมจึงเคยปักเบ็ดบ้าง แต่เพิ่งรู้นี่แหละครับว่าเบ็ดมีหลายแบบ ใช้ตกปลาต่างชนิดกัน เมื่อก่อนที่บ้านมีเบ็ดที่พ่อใช้เป็นประจำ ลักษณะจะคล้ายในภาพวาดของอาจารย์นี่แหละครับ
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

แวะเข้ามายามดึกนี่ รูปและ dialogue ชุดนี้ของอาจารย์เล่นเอาน้ำลายไหลเอื๊อกเลยทีเดียวเชียว
ดูเหมือนว่าจะมีผักอีซึกครับ แต่จากรูปนี้ไม่มีเสียแล้วครับ รูปด้านล่างนั้นคล้ายๆจะมีโผล่ๆออกมาครับ

แต่รูปด้านบนนั้นเป็นใบแคครับ ผักอีซึกนี่คล้ายยอดดอกแคเหมือนกันครับ
แต่สีของใบอีซึกเขาจะอ่อนกว่าสียอดแคมาก ยอดแคจะสีเขียวเข้มอย่างที่เห็นแหละครับ ต้นอีซึกเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

ชาวบ้านเรียกกันว่าผักอีซึกนี่ คนอาจจะคิดว่าเป็นเถาหรือต้นผักเล็กๆ
ชาวบ้านมักมีต้นไม้สำหรับกินยอดและใบเยอะครับ เช่น มะกอก มะม่วง สะเดา และอีซึก

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

ผมนี่ตอนอยู่บ้านนอกนั้นก็พอจะคุยได้ว่า 'หากินหมาน' ใช้ได้เหมือนกันครับ เรื่องเบ็ด หว่านแห และเป่าลูกดอกแบบในเรื่องเงาะป่านั้น พอคุยโม้กับเขาได้ครับ แต่ตอนนี้ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวครับ หากออกไปอยู่บ้านกับญาติพี่น้องและหากินเอง ก็สงสัยจะอดตายก่อนเพื่อน ตอนนี้คงจะเหลือทักษะดำรงชีวิตอยู่บ้านนอกเพียงเก็บผักบุ้งกินเป็นอย่างเดียวกระมังครับ

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน แม่ผมส่งน้ำพริกเผาไปให้ วันหนึ่งก็เลยหุงข้าวและแต่งตัวออกไปวิ่งออกกำลังกายเพื่อตอนเลิกก็จะได้เดินเก็บยอดกระถินข้างทางติดมือมากินกับน้ำพริกด้วย ปรากฏว่าขากลับผมก็เก็บยอดกระถินได้เยอะแยะจริงๆครับ สังเกตดูว่ามันเยอะจริงๆเพราะในหมู่บ้านผมเขาเพิ่งตัดต้นไม้และทำให้มันเพิ่งผลิยอดออกมาเต็มไปหมด

กระทั่งเกือบถึงที่พักแล้วถึงได้เจอต้นไม้ที่ปนกันทั้งต้นกระถินและลักษณะคล้ายกระถิน เลยแบมือแผ่ยอดผักในมืออกมาดู ปรากฏว่า เฉพาะหน้า ณ เวลานั้น ผมก็ไม่สามารถแยกออกว่าอันไหนยอดกระถินและอันไหนไม่ใช่ เลยก็ต้องทำใจทิ้งไปทั้งหมด อดเลยครับ

สวัสดีรับอาจารย์ ตอนกวินไปบวช มา 15 วันมีเรื่องประทับใจนำมาเล่าให้อ่านแล้วชื่นใจ ครับ อิๆ

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao&month=04-04-2010&group=6&gblog=279

สวัสดีครับคุณกวิน

  • ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆมาฝากกันครับ จะแวะเข้าไปอ่านนะครับ
  • ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ ได้ทั้งอานิสงค์ผลบุญเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นและได้แก่ตนเองโดยตรงอย่างเต็มที่เลย

สวัสดี ครับ อาจารย์

ยกอาหารสำหรับที่น่าทานของคุณณัฐพัชร์ มาเสริฟมื้อเที่ยงให้อาจารย์ นะครับ

 

ปักษ์ใต้ ณ เวลานี้ ฝนเริ่มตกมากขึ้น ชาวสวนผลไม้ และชาวสวนยาง ต่างยิ้มแย้มกันถ้วนหน้า  เห็นพ่อยิ้มฟันหลอ...แล้วรู้ครับว่าพ่อมีความสุข

การได้อ่านบันทึก ที่ทำให้เราสัมผัสถึงความพอดี พอกิน พออยู่

และทำให้คิดถึงยายสมัยที่มีชีวิตอยู่...ยายเป็นเซียนตกเบ็ดตัวยง ปลาที่ยายตกได้ ไม่มากมาย เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในคลองท้ายสวน ยายเอามาทำแกงบ้าง ทอดบ้าง ให้ตากินและเผื่อแผ่ไปยังบ้านของแม่ด้วย สมัยที่พวกเรายังเล็กอยู่

...

อ่านบันทึกนี้ แล้วคงต้องเข้าไปในสวนดูปลาที่เลี้ยงไว้ ...ปลาเมื่อฝนตกน้ำมาก็ดีใจกันยกใหญ่..พวกมันคงคิดว่า...หน้าแล้งนี้ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่

 

ด้วยความเคารพและระลึกถึงอาจารย์ ครับ

 

  สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ   

  • ขอบคุณครับ งั้นเชิญกินข้าวกินปลาด้วยกันเลย
  • แถวบ้านนั้น ก่อนข้าวแก่และน้ำเริ่มงวดลง พวกปลาดุก ปลาตัวใหญ่ๆและปลาชนิดอื่นมักจะเข้าไปอยู่ตามสระ หนอง คลองลึกๆ และไดที่มีน้ำขังมาก
  • ส่วนตามแอ่งที่น้ำขังตามที่นาทั่วไป พวกปลาที่จะหลบเข้าไปอยู่และตกค้างไปจนถึงหน้าแล้งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเล็กๆพวกปลาซิว ปลากด ปลากระดี่ ปลาหมอ หอยขม พอน้ำแห้งและแดดแรงส่วนใหญ่ก็ตายซึ่งตอนกลางวันก็จะทำให้เต็มไปด้วยฝูงนกลงมากินปลา พอตอนกลางคืนก็มีพวกหนู กบ ออกมากินซากปลาและแมลงที่มาตอม แถว 'ห้วยปลาเน่า' ที่บ้านหนองบัว ได้ชื่อว่า'ห้วยปลาเน่า'ก็คงจะเพราะเป็นแอ่งและมีสภาพอย่างนี้อยู่ตามท้องนาเยอะ
  • แต่พวกปลาดุกกับปลาหมอนั้น มักฝังตัวและอยู่ในโคลนต่อไปได้อีก หากดินในแอ่งน้ำขังไม่แห้งจนแตกระแหงลึกลงไปในเนื้อดิน ไม่นานก็จะมีฝนตก ปลาเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกๆที่ออกมาเริ่มวงจรชีวิตใหม่ในนา ที่ไหนมีฝนตกและมีน้ำจึงมักจะต้องมีปลา ทั้งที่ยังไม่ต้องถึงหน้าน้ำหลาก ที่เมื่อก่อนมีคำกล่าวว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นั้น จึงจริงอย่างยิ่งนะครับ

การหาปลานี้ครูอ้อยเล็กไม่ได้ทำแบบนี้..ส่วนใหญ่ใช้ใส้เดือนค่ะ..และไม่ได้ไปตกเบ็ดใหญ่ๆหรอกค่ะ..ถ้าจะไปก็ไปดูพ่อกับน้องชายทำค่ะ..คล้ายๆเป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย..แต่วีรกรรมด้วยต้องหากินนั้นก็มีค่ะ..

เรื่องที่1 ล้วงปลาช่อนในร่องหิน ด้วยชอบโดดน้ำเล่นที่ประตูน้ำ ประตูน้ำนี้ก็จะก่อด้วยหินก้อนใหญ่ๆผสมกับปูนกันตะลิ่งพัง จะเปิดประตูน้ำก็ต่อเมื่อน้ำมาจากท่าผา(เขื่อนวชิราลงกรณ์)ในปริมาณมาก..ไม้ที่ใช้กั้นน้ำพวกเราเรียกว่าไม้เหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นมาเป็นชั้นๆเมื่อนานเข้าหินกับปูนที่โบกไว้จะถูกน้ำกัดเซาะจนมีช่อง ปลาชอบใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวการเล่นน้ำก็ต้องทำมาหากินไปด้วย ก็เล่นเอาเถิดกับปลาช่อนตัวเท่าแขนอยู่ครึ่งวัน หลังลอกเลยค่ะ..เออเน๊าะจะเอาชีวิตเขานี่ต้องแลกด้วยหลังลอกเลย...แต่ก็เป็นอาหารของบ้าน แม่ต้มยำปลาช่อนไปตามระเบียบ...

เรื่องที่ 2 สุ่มปลา สุ่มปลานี่สุ่มเป็นประจำ..หน้าฝนก็สุ่ม แต่ต้องระวังงู..หน้าแล้งน้ำแห้งก็สุ่ม เรียกว่าครูอ้อยเล็กกะสุ่มและตะข้องใส่ปลาเป็นเครื่องมือประจำกายที่ไปกับเด็กผู้หญิงในหมู่บ้าน..บางทีพวกเราก็คุยกันเองว่า..เฮ้ยๆที่คนโตๆเขาว่ากันว่า..ลูกผู้ชายมันก็ไปยิงนก ตกปลา ของมันไปตามเรื่องนี่คงจะจริงเน๊าะ..เพราะเท่าที่เราทำเด็กผู้ชายไม่ชอบมาสุ่มปลากับเด็กผู้หญิงเท่าไหร่เลย..ก็คุยกันไปสุ่มกันไป...ทุกครั้งที่เราเกิดเรื่องก็คือเจองูกินปลา หรืองูลายสาบ ที่พวกเราแม้เป็นเด็กท้องนาไม่ว่าจะเป็นงูอะไรเราก็ไม่ชอบ...พอมันอยู่ในสุ่มพวกเรางมมันดิ้น ด้วยตกใจก็จะคว้ามันแน่น พอได้สติจะเหวี่ยงงูไปไกลๆตัว ไม่ดูอะไรทั้งนั้นว่างูจะไปทางไหน..พวกที่อยู่ข้างๆก็จะโวยวาย..ว่า..อย่าเหวี่ยงมาทางนี้นะโว้ย..แต่ก็ไม่ทันหรอก..วงก็จะแตก..เรียกว่าเจองูเมื่อไหร่กลับบ้านกันเหอะ...

เรื่องที่ 3 เบ็ดเข็ม คนต้นคิดชื่อย่าจีน..เป็นน้องย่าอีกทีท่านเสียชีวิตไปก่อนหน้าย่าครูอ้อยเล็กนานพอควร ย่าจีนสอนครูอ้อยเล็กทำเบ็ดเข็มด้วยการนำเข็มเย็บผ้ามาลนกับไฟตะเกียง แล้วงอเป็นรูปเบ็ด..เบ็ดนี่จะไม่มีเงี่ยง ขมวดหัวให้เป็นห่วงสำหรับผูกเชือก ไม่ใช้เชือกเอ็นใช้เชือกว่าวค่ะ..เบ็ดเข็มใช้ตกปลาเล็กๆเช่นปลากระดี่ ปลาซิว ปลาแกล้มช้ำแหล่งที่ตกจะเป็นท่าน้ำ ปลาเล็กเหล่านี้ชอบมาลอยหัวที่ท่าน้ำ..เราเอากะละมังวางไว้บนท่าน้ำ โรยเรียกปลาด้วยรำข้าว เกี่ยวข้าวสุกกับเบ็ด พอปลาตอดก็เหวี่ยงปลาลงในกะละมัง ต้องอาศัยจังหวะในการเหวี่ยงและกะระยะให้ปลาลงกะละมังด้วย ปลาจะหลุดลงกะละมังได้โดยง่ายเพราะเบ็ดไม่มีเงี่ยง..เราจะทำแบบนี้จนได้ปลาพอกับคนในครอบครัว ครูอ้อยเล็กก็จะไปทำปลาแล้วทอดกรอบๆใส่กระเทียมลงเจียวและราดน้ำปลาคลุกเคล้าเอาขึ้น..รอพร้อมหน้าค่อยลงมือกินข้าวกันค่ะพี่อาจารย์...

ชีวิตช่วงหาปลาก็มีเท่านี้..ส่วนใหญ่ทำบาปไม่ค่อยขึ้น..แฮ่ๆแต่คนในหมู่บ้านว่าอ้อยเล้กหากินไม่เป็นค่ะฮาๆๆๆ เพราะหามาแต่พอกินไม่เคยเอาไปขายได้เลย...ผิดกับบ้านอื่นๆที่เขาเหลือมากพอที่จะเอาไปขายในตลาดได้ด้วยค่ะ...

 

 

  สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก 

  • อ่านแล้วสนุกดีจังเลยนะครับ คิดถึงน้องสาวและน้องๆเมื่อตอนเป็นเด็กๆกันเลย
  • ได้ความรู้วิธีทำเบ็ดเข็มอีกด้วย เป็นการคิดค้นและพัฒนาวิธีแก้ปัญหาในวิถีชาวบ้านเพื่อการทำอยู่ทำกินที่น่าทึ่งมากเลยครับ
  • แต่อ่านวิธีทอดปลาแล้วนี่น้ำหลายไหลครับ เมื่อวานนี้ผมลดข้าวกลางวันกับข้าวเย็น ตอนหัวค่ำก็ทนหิวจนอยู่มาได้ มาอ่านการพรรณาวิธีทอดปลาของน้องคุณครูอ้อยเล็กนี่น้ำลายไหล ๓ หยดเป็นตราปลากระป๋องท่านชายถนัดศรีเลย !!!!

หาภาพวาดในเน็ตมาฝากค่ะพี่อาจารย์..เป็นการนำเสนอให้เห็นภาพ..แบบว่า..ชัดเจนน้องนาง...กันเลยค่ะ..เขาวาดสวยดี เสียดายไม่ปรากฎชื่อคนวาด...

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • การตกเบ็ดไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ ต้องอาศัยไหวพริบด้วยค่ะ
  • แรก ๆ ตอนที่อยู่โรงเรียนบ้านนอกใหม่ ๆ นั้น  ฝึกตกเบ้ดทั้งวันไม่ไคยได้ปลา แต่เหยื่อหลุดไปหมดทุกครั้ง
  • เพื่อน ๆ เดี๋ยววิด ๆ ๆ  ได้ปลาทุกครั้ง  หากตัวเล้กก็ปล่อยลงไป  ตัวพอดีก็จบมาใส่กระถังค่ะ
  • ภายหลัง...ต้องหาทางฉลาดกว่าปลาแล้วค่ะ  ตอนแรกนั้นโง่กว่า  ไม่เป็นไร  ต้องรู้จังหวะที่จะวิดขึ้นนะคะ  สนุกและเลพินดีค่ะ
  • หากมานึกถึงบาปบุญที่คุณตา คุณยายเคยพาไปวัดตอนเด็ก ๆ เห็นคนตกนรก ปากแหว่งเพราะวิดปลาแล้วน่าสยดสยองค่ะ

สวัสดีค่ะคุณณัฐพัชร์

  • ลูกอ็อดค่ะ  ที่ชาวบ้านเรียกว่าอีฮวก  ตัวใหญ่มาจากลูกกบ ตัวเล็กมาจากลูกเขียด  ครุคิมเคยทานครั้งแรกที่อิสานค่ะ 
  • และเคยไปกับชาวบ้าน  ไปลุยตาข่ายเพื่อหาอิฮวกในท้องนากับเขาด้วย  สนุกนะคะ  แต่เหนื่อยมอมแมมไปทั้งตัว
  • เมื่อถามเขาว่าทำไมไม่รอให้มันตัวโต  เขาก็ตอบว่า......หากเราไม่กินคนอื่นก็เอามากิน  จะไม่เหลือ
  • เมื่อมาอยู่ที่โรงเรียนนี้...ปรากฏว่าฃาวบ้าน ลูกเล็กเด็กแดง  สนุกกับการไปหาอิฮวกอีกแล้ว (ที่นี่เรียกฮวกค่ะ)  จึงนำโจทย์มาที่โรงเรียน
  • เด็ก ๆ ได้โครงงาน "เมื่อฉันเป็นลูก" เป็นการรณรงค์และอนุรักษ์การไม่กินฮวก  และครูมีหนังสืออ่านประกอบสร้างโดยเด็กว่า "ลูกอ็อดของฉัน"
  • ตอนนี้ครูคิมไม่ทานแล้วค่ะ  แต่กว่าเด็กรุ่นนี้จะโตได้ความสำนึก  ลูกอ็อดลูกกบคงหมดบ้านหมดเมืองไปแล้วมั้งคะ
  • อีกอย่างครุคิมมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตที่อิสาน ๑๐ ปีและตามโรงเรียนบ้านนอกระดับมากที่สุดและระดับมาก จนถึงระดับปานกลาง  ทำใหได้ประสบการณ์การเรียนรู้ชีวิตแบบพื้นบ้านมากค่ะ
  • ขอขอบพระคุณที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนค่ะ
  • อ๊ากกกสสสสสส กั่ก กั่ก กั่ก กั่ก!!!!!
  • เป็นการผงะและอุทานหลังจากเห็นรูปวาดปลายิ้มน้ำลายหยด
  • ขอบคุณครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก ขำคลายร้อนดี
  • ชอบไปลงเบ็ดตอนหัวค่ำสมัยก่อนครับ
  • เอาไส้เดือนเป็นเหยื่อปลาดุก
  • ถ้าปลาช้อนใช้ลูกเขียด
  • ถ้าปลาไหลใช้ลันดักโดนใช้หอยโข่งทุบใส่กระบอกไม้ไผ่
  • ช่วงหลังนี้ไม่ได้ทำบาป
  • แต่ยังไปดักข่ายปลาอย่างสม่ำเสมอถ้าว่างครับ

   

  คลองธรรมชาติ 

    ปลาที่หาได้ 

 

 

อาวุธหาปลา ที่บ้านเรียกว่าตาข่ายครับ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ 

  • ปลานี่มีการเรียนรู้มากนะครับ หากกินเบ็ดและทำให้หลุด ไม่เพียงปลาตัวนั้นจะเกิดการรู้จักเบ็ดและไม่กินเบ็ดอีกเลยอย่างเดียว แต่จะทำให้ปลาในฝูงนั้น หรือในนาแปลงนั้น ไม่ยอมกินเบ็ดตามไปด้วย อาจจะเรียกว่าฉลาดอย่างที่คุณครูคิมว่านะครับ
  • ภาษาลาวท้องถิ่นบ้านผมจะเรียกว่าปลาที่ฉลาดและตื่นกลัวคนว่าปลาแคะ ซึ่งก็ไม่ทราบที่มาเหมือนกัน
  • ลูกฮวกนี่ผมก็เพิ่งได้รู้จักกินเป็นก็ที่เชียงใหม่และทางเหนือแหละครับ แถวเชียงใหม่จะมีเมนูแอ่บลูกฮวก หรือ ห่อหมกลูกอ๊อด คนที่ชอบนั้นเขาก็ว่ามันออกรสขมเหมือนใส่น้ำดี แอ่บ ก็คืออาหารจำพวกห่อหมกน่ะครับ
  • ทางเหนือนี่ผมสังเกตว่าไม่ค่อยมีอาหารจำพวกปลาและสัตว์น้ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นที่สูง แต่จะมีวัฒนธรรมอาหารจำนวกผัก เนื้อ ผลไม้ แมลง สัตว์ป่าและของป่า ที่คิดค้นและทำได้หลากหลายมาก

 

  สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ 

  • เจอสูตรดักลันด้วย ไม่ค่อยได้เห็นว่ามีคนรู้จักนะครับ
  • มีปลาหางแดงและปลาฉลาดอย่างนี้นี่แสดงว่ายังเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่ใช่ไหมครับเนี่ย

เรียกแม่มาดูปลาของน้องดร.ขจิต..เพื่อฟื้นฟูความหลังคริๆ...แม่บอกว่าปลาของน้องดร.มีปลาฉลาดที่เรารู้จักกันดี..แต่คนมักจำผิดคิดว่าเป็นปลากรายอยู่เรื่อย ก็ยังมีปลายสร้อยลูกนุ่น ปลาสร้อยนกเขา ปลากระดี่ และปลาตะเพียนทองจ้า...

หมู่บ้านพี่อ้อยเรียกตาคัด...เหตุที่เรียตาคัด ก็คือตาข่ายนี้มีหลายตา คือตามีหลายขนาด สำหรับดักปลาใหญ่ หรือปลาขนาดเล็ก ก้แล้วแต่ความต้องการของประมงน้ำจืดสมัครเล่น หรือเป็นอาชีพ...เหตุนี้กระมังจึงเรียกว่า ตาคัด  คือสามารถใช้อุปกรณ์นี้คัดเลือกปลาจับปลาตามต้องการด้วยขนาดของตาข่ายก็เป็นได้เน๊าะ..อาจจะเป็นศัพท์เฉพาะก็ได้นะที่พอพูดว่าซื้อตาคัดหน่อย คนข่ายจะรู้ทันทีว่าเอาไปดักปลา..ถ้าเป็นว่าซื้อตาข่ายก็ไม่รู้ว่าตาข่ายอะไร ดักปลา ดักยุง ดักหนู ดักนก ฯลฯ อะไรไปโน่นก็เป็นได้อีกแหล่ะเน๊าะน้องดร.เน๊าะ..เพราะฉะนั้น นิยามศัพท์เฉพาะก็มีมานานแล้วนิ...คริๆๆๆว่าไปนั่น...

Pเอาดักลันมาชมกันมั่งนะน้องดร.นะ..พี่ครูอ้อยก็ไม่รู้จักเหมือนกัน...ขอบคุณล่วงหน้าจ้า...

P..พี่อาจารย์..ร้อนๆอย่างนี้หัวเราะกันบ้างเย็นดีนะคะ...ว่าแล้วมลภาวะกำลังจะเป็นพิษสงสารปลาของพวกเรา...มีวิธีแก้ดังภาพค่ะพี่อาจารย์อิๆๆๆ

 

สวัสดีค่ะ

  • นึกได้อีกแล้วค่ะ  แวะมาแลกเปลี่ยนอีกครั้
  • ที่นครไทย  นำฮวก  มาทำขะแหนบ (เขียนตามเสียงค่ะ)  ใส่ใบตองแล้วนำไปปิ้งไฟ  มีเครื่องปรุงคือพริก ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม ใบแมงลัก
  • และอีกอย่างคือทำ เอาะ มีเครื่องปรุงคล้าย ๆ กัน เพิ่มผักอื่นเช่นผักคาด ผักชะอมและชะพลูด้วยค่  แต่ใส่น้ำไปคล้าย ๆ กับแกง  เมื่อสุกแล้วจะมีน้ำนิด ๆ ไม่ถึงกับซดได้หรอกนะคะ
  • เอาะ เป็นอาหารยอดนิยมของพื้นถิ่น เอาะหอยขม เอาะไก่ เอาะปลา ฯลฯ
  • มีเรื่องขำมาเล่าให้อาจารย์และเพื่อน ๆ ฟังอีกแล้วค่ะ  เห็นปลาของอาจารย์ขจิต  ทำให้นึกถึงวัยเด็กประมาณ ๑๐ ขวบ  คุณแม่ให้ไปตลาดสดหน้าค่าย ฯ ไปซื้อปลาดุกมาทำแกง  แต่ได้ปลาหมอมาให้คุณแม่ค่ะ
  • เพราะคุณแม่ให้ลายแทงไปว่าร้านขายปลาอยู่ตรงนั้น และวันนั้นคนขายปลาดุกไม่มาขาย  มีเจ้าอื่นมาขายแทน  เมื่อเห็นปลาก็ชี้บอกซื้อกับแม่ค้าโดยไม่ถามไถ่ว่าปลาอะไร วันนั้นจึงได้โจทย์ข้อใหญ่เรื่องปลาดุกกับปลาหมอค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ วิรัตน์ กาลงเบ็ด หาปลา วิธีการคล้ายๆกับปักษ์ใต้

การลง (ทง)เบ็ดปลาช่อน บ้านผมใช้ปูเป็นๆเกี่ยวเบ็ด นิ้วของปู จะกระเพื่อมน้ำให้ปลาช่อนสนใจ

มีหนุ่มเขยต่างถิ่นมาไปหาปลาด้วยกัน

แด่มักไม่ได้ปลา เพราะขาดทักษะ และความชำนาญ จึงมาขอคำแนะนำ จากเจ้าถิ่น

เพื่อนผมเขา อำ แนะนำไปว่า ให้หักนิ้วปูให้หมด เพราะปลาช่อนไม่กล้าเข้ามากินเหยื่อ กลัวปูข่วนตา

ผมมารู้ภายหลังตอนที่หนุ่มต่างถิ่นเลิกหาปลา..

ขอบคุณอาจารย์ที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในอดีตครับ

  • ลันนี่เป็นเครื่องมือจำเพาะสำหรับดักปลาไหลเลยละครับ ผมรู้จัก แต่ว่าดักไม่เป็น
  • แล้วก็ไม่ค่อยได้เห็นทั่วไป เพราะปลาไหลต้องอยู่ในแหล่งน้ำที่มีดินโคลนให้ทำรูและมีบริเวณที่น้ำนิ่ง อีกทั้งลันอันหนึ่งก็เป็นเหมือนท่อนไม้ไผ่กระบอกขนาดใหญ่ที่เจาะให้ข้อปล้องทะลุถึงกัน ๒-๓ ปล้อง อันหนึ่งก็จะดักปลาไหลได้สัก ๑-๒ ตัวเท่านั้น คนดักลันปลาไหลจึงต้องมีความพากเพียรและพอเพียงในการทำมาหากินมาก จึงมักจะไม่ค่อยได้เห็นทั่วไป  
  • ขอบคุณน้องคุณครูอ้อยเล็กที่เอารูปมาฝากนะครับ เมื่อก่อนที่แผงหนังสือสนามหลวงยังอยู่ข้างวัดพระแก้วนั้น ผมมักจะไปนั่งเลือกหนังสือการ์ตูนฝรั่ง Mad มานั่งดูมุขการ์ตูนและสไตล์การวาด อารมณ์คล้ายๆอย่างนี้เหมือนกันครับ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ 

  • ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกว่าแถวนครไทยเรียกห่อหมกว่า เอาะ และขะแหนบ เลยได้ชื่อท้องถิ่น ห่อหมก แอ่บ เอาะ ขะแหนบ
  • เด็กๆในเมือง ๑๐ ขวบ ช่วยพ่อแม่ซื้อของได้นี่เก่งมากเลยนะครับ ถึงแม้จะซื้อยังไม่ถูกก็ตาม

 

  สวัสดีครับลุงวอญ่าผู้เฒ่า   นี่ก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาอีก เพิ่งเคยทราบนี่แหละครับว่ามีวิธีใช้ปูเป็นๆทำเหยื่อลงเบ็ดได้ด้วย สะท้อนการพัฒนาเทคนิคไปวิธีตามลักษณะทรัพยากรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีมากอย่างยิ่งเลยนะครับ แถวทางใต้คงหาปูได้ง่าย  ลักษณะนิสัยและความชอบของปลาก็ราวกับแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นด้วย แปลกดีเหมือนกันนะครับ

ให้พี่รัตน์เขียนวิธีจับปลาด้วย "หลุมโจน"ด้วยสิ (ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า "โจน" หรือ "โจร")

ตอนเป็นเด็กน้องก็เป็นคนหาปลาเพื่อเป็นอาหารด้วยนะ ด้วยการใช้เบ็ดตก (เบ็ดปักใช้ไม่เป็นเพราะตอนนั้นเข้าใจว่าเบ็ดปักเป็นหน้าที่ของผู้ชาย สำหรับผู้หญิงต้องเป็นเบ็ดตกที่เป็นลักษณะคันยาว ๆ ถ้าตกในบ่อลึกจะใช้ใบข้าวผูกกับเชือกทำเป็นทุ่นเพื่อสังเกตเวลาปลากินเหยื่อแล้ว ถ้าผูกสั้นจะได้ปลาตัวใหญ่ที่ลอยตัวอยู่ระดับกลาง-ผิวน้ำ แต่ถ้าผูกยาวสายเบ็ดจะถึงพื้นดินปลาที่ได้จะเป็นปลากดหรือปลาแขยง สนุกดี นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ตกปลาทั้งวัน ได้ปลาเป็นกระแป๋งเก็บไว้เป็นอาหาร ไม่ต้องซื้อเลยแหละ ผักก็เก็บผักพื้นบ้านที่มีอยู่หรือไม่แม่ก็ปลูกกินเอง ทุกวันนี้แม่ก็ปลูกผักกินเองไม่ต้องซื้อ ปลอดสารพิษด้วยแต่ปลาเด๊ยวนี้ไม่กล้าทำเองแล้ว(ซื้อปลาตายกินทีละตัว)

  สวัสดีคุณครูน้อง 

  • พี่เพิ่งลงไปหาข้าวเย็นกิน ดูเหมือนคนทำกับข้าวเขาจะใส่ขมิ้นไปในกับข้าวด้วย กลิ่นมันบ้านนอกดี เลยทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึงแม่กับน้องๆ อยู่พอดีเลย
  • หลุมโจน กับหลุมโจร มีความหมายที่บอกลักษณะของวิธีดักปลาแบบนี้ทั้งสองคำเลย แต่น่าจะเป็นหลุมโจนนะพี่ว่า อย่างกระไดปลาโจน ซึ่งบอกลักษณะของการทำทางให้ปลากระโจนลงไปในหลุม
  • ประเดี๋ยวจะวาดเก็บไว้ เพราะการทำหลุมโจน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เป็นการใช้ความรู้ในธรรมชาติของปลาของชาวบ้าน มาเป็นวิธีทำอยู่ทำกิน
  • หากมีเรื่องอื่นๆที่น่าเก็บรวบรวมไว้ ครูน้องนำมาเขียนรวบรวมไว้สิ แล้วพี่จะวาดรูปประกอบใส่เข้าไป ครูน้องอยู่ใกล้ชิดกับบ้าน จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่า หรือบอกให้ลูกศิษย์ที่เป็นลูกหลานบ้านเราช่วยกันเขียน นำร่องไปสักพักหนึ่งแล้วพี่จะใช้เป็นวัตถุดิบทำกิจกรรมที่บ้านเราสัก ๒-๓ เรื่อง

                        

                        รูปผักปลอดสารพิษของแม่แน่ะ ดอกแคนากับผักอีซึก

ทิ้งไปนาน เกือบ 20 ปี ไปอยู่กรุงเทพ กลับมาใช้ชีวิตชาวนา ทำเกษตร ใส่เบ็ดจับปลาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท