ความรู้พื้นฐานทางนาฏศิลป์ไทย


วัฒนธรรมทางการแสดง นาฏศิลป์ไทย

ความรู้พื้นฐานทางนาฏศิลป์ไทย

 

ความนำ 

นาฏศิลป์ไทย  เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่รวมเอาองค์ความรู้ทั้งทางศาสตร์และศิลป์โดยพื้นฐานของความคิดอย่างชาญฉลาดของศิลปินรุ่นเก่า  เป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่งดงาม  ทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย  ภาษาและสัญลักษณ์ของการสื่อสารของมนุษย์  ศิลปะวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางช่างไทยแต่โบราณ  มาไว้อยู่ที่เดียวกัน  ทำให้ผู้ชมเกิดสุนทรียภาพในการชมและประทับใจตราตรึงทำให้มีการสืบทอดมาแต่อดีตจนปัจจุบัน

การศึกษาองค์ความรู้พื้นฐานทางการแสดงนาฏศิลป์ไทยจะทำให้ผู้เรียนมีความกระจ่างมีความลึกซึ้ง  เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนนาฏศิลป์ไทย  พร้อมที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่เพื่อให้ศาสตร์ดังกล่าวนี้ดำรงอยู่เป็นเอกลักษณ์ไทยสืบไป  ดังนั้น  การศึกษารูปแบบของนาฏศิลป์ไทย  จะต้องเข้าใจแหล่งที่มาและรูปแบบลักษณะ กล่าวคือ  ต้องเข้าในความหมายของนาฏศิลป์   ที่มาของนาฏศิลป์ไทย  องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย  และประเภทของการแสดงนาฏศิลป์ไทย

 

ความหมายของนาฏศิลป์ 

ความหมายของรูปศัพท์ของคำว่านาฏศิลป์  มาจากคำ ๒  คำที่รวมอยู่ด้วยกัน คือนาฏ,   ศิลปะ   ดังรายละเอียดกล่าวคือ

นาฏ  ความหมายโดยภาพรวมของคำว่า นาฏ ที่น่าสนใจคือ

                นาฏย  ความหมาย  ตามพจนานุกรมไทยฉบับทันสมัย(๒๕๔๓ : ๒๘๕) หมายถึง เกี่ยวกับการฟ้อนรำ, เกี่ยวกับการแสดงละคร

                นาฏ ความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับทันสมัย (๒๕๔๓ : ๒๘๕) หมายถึง  การเคลื่อนไหวอวัยวะ, นางละคร การฟ้อนรำ หรือ ความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ

ศิลปะ  เป็นคำภาษาสันสกฤต (ส.ศิลปะ; ป.สิปุป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม)ซึ่งหมายถึง การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นอย่างงดงามน่าพึงชม  ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Arts”( อมรา  กล่ำเจริญ,  ๒๕๔๒ : ๑) 

ดังนั้นเมื่อประมวลทั้งสองคำมารวมเป็นคำว่า“นาฏศิลป์” ที่นักวิชาการให้ความหมายไว้น่าสนใจ  คือ

นาฏศิลป์  หมายถึง  ศิลปะการร้องรำทำเพลงที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์โดยประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตและมีแบบแผน  ให้ความรู้  ความบันเทิง  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความรุ่งเรืองของชาติได้เป็นอย่างดี (สุมิตร  เทพวงศ์, ๒๕๔๘ : ๒)

นาฏศิลป์  หมายถึง  การร่ายรำในสิ่งที่มนุษย์เราได้ปรุงแต่งจากธรรมชาติให้สวยสดงดงามขึ้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายถึงแต่การร่ายรำเพียงอย่างเดียว  จะต้องมีดนตรีเป็นองค์ประกอบไปด้วย  จึงจะช่วยให้สมบูรณ์แบบตามหลักวิชานาฏศิลป์ (อาคม  สายาคม, ๒๕๔๕ : ๑๕)

นาฏศิลป์  เป็นคำสมาส ระหว่างคำว่า นาฏ กับคำว่า ศิลป์   คำว่านาฏ  หมายถึงการฟ้อนรำ  การแสดงละคร   ดังนั้นคำว่า  นาฏศิลป์  จึงหมายถึง  การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นให้สวยงาม  โดยอาศัยธรรมชาติเป็นแบบอย่าง (ลัดดา  พนัสนอก, ๒๕๔๒ : ๒)

นาฏศิลป์ หรือนาฏยศิลป์  หมายถึง  ศิลปะการฟ้อนรำ ทั้งที่เป็นระบำ รำ  เต้น และอื่น ๆ รวมทั้งละครรำ  โขน  หนังใหญ่ ฯลฯ  ปัจจุบันมักมีคนคิดชื่อใหม่ให้ดูทันสมัยคือ  นาฏกรรม  สังคีตศิลป์  วิพิธทัศนา  และศิลปะการแสดง  ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันเพราะเป็นคำที่ครอบคลุมศิลปะแห่งการร้อง  การรำ  และการบรรเลงดนตรี (สุรพล  วิรุฬห์รักษ์, ๒๕๔๓ : ๑๒)

ดังนั้นความหมายของนาฏศิลป์กล่าวโดยสรุป จึงหมายถึง  ศิลปะการร้องรำทำเพลงที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งที่เป็นระบำ  รำ  เต้น  และอื่น ๆ รวมทั้งละครรำ  โขน  หนังใหญ่ ฯลฯ  โดยประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตและมีแบบแผนที่สวยงาม  ให้ความรู้  ความบันเทิงที่ต้องมีดนตรีเป็นองค์ประกอบไปด้วย 

 

ที่มาของนาฏศิลป์ไทย     

ที่มาของนาฏศิลป์ไทยเข้าใจว่าเกิดจากสภาพความเป็นอยู่โดยธรรมชาติของมนุษย์โลกที่มีความสงบสุข  มีความอุดมสมบูรณ์ในทางโภชนาหาร  มีความพร้อมในการแสดงความยินดี  จึงปรากฏออกมาในรูปแบบของการแสดงอาการที่บ่งบอกถึงความกำหนัดรู้  ดังนั้นเมื่อประมวลที่นักวิชาการเทียบอ้างตามแนวคิดและทฤษฎี  จึงพบว่าที่มาของนาฏศิลป์ไทยเกิดจากแหล่ง ๓  แหล่ง  คือ  เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ   เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา  และเกิดจากการรับอารยะธรรมของประเทศอินเดีย  ดังนี้

๑.  เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ    หมายถึง   เกิดตามพัฒนาการของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชน  ซึ่งพอประมวลความแบ่งเป็นขั้น  ได้ ๓  ขั้น  ดังนี้

ขั้นต้น  เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน

ขั้นต่อมา  เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก  เป็นต้น

ต่อมาอีกขั้นหนึ่งนั้น  เมื่อเกิดปรากฏการณ์ตามที่กล่าวในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒  แล้วมีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน จนเกิดเป็นวิวัฒนาการของนาฏศิลป์ที่สวยงามตามที่เห็นในปัจจุบัน

                ๒.  เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา  หมายถึง  กระบวนการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชน  ซึ่งพบว่าการเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชา  มีวิธีการตามแต่จะยึดถือมักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร  ขนมหวาน ผลไม้  ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป

๓.  การรับอารยะธรรมของอินเดีย  หมายถึง  อิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ยาวนานว่า เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยะธรรมของอินเดียไว้มากมายเป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยะธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปะการแสดง ได้แก่ ระบำ ละครและโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์มาตรฐานที่สวยงามดังปรากฏให้เห็นนี้เอง

นอกจากนี้แล้วการสร้างนาฏศิลป์ไทยของเรานี้อาจด้วยสาเหตุหลายประการ  เช่น

๑. จัดทำขึ้นเพื่อการสื่อสาร หมายความถึง  การแสดงนั้นอาจบ่งบอกชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ที่ดี  ทั้งทางด้านการแต่งกาย  ภาษา  ท่วงทีที่แช่มช้อย  นอกจากนี้แล้วในการสื่อสารอีกทางนั้นคือนาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า "ภาษาท่ารำ" โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร  เป็นต้น

๒. เพื่อประกอบพิธีกรรม   ดังที่ได้กล่าวอ้างเรื่องการเซ่นสรวงไปแล้วในเบื้องต้น  ว่ากระบวนทัศน์ในเรื่องการฟ้อนรำนั้นกระแสสำคัญอีกกระแสหนึ่ง  คือเรื่องความเชื่อ  ความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็น  นอกจากนี้แล้วอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของคนไทยอีกประการนั้นคือ  การสำนึกกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ  เช่น  พ่อแม่  ครูอาจารย์  หรือบรรพชนที่ควรเคารพ  อาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นแล้วมีการร่วมแสดงความยินดีให้ปรากฏนักนาฏศิลป์หรือศิลปินที่มีความชำนาญการจะประดิษฐ์รูปแบบการแสดงเข้าร่วมเพื่อความบันเทิงและเพื่อแสดงออกซึ่งความรักและเคารพในโอกาสพิธีกรรมต่างๆ ก็ได้

๓. เพื่องานพิธีการที่สำคัญ   กล่าวคือเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยือน  ทั้งนี้เราจะเห็นว่าในประวัติของชุดการแสดง ๆ  ชุด  เช่น ระบำกฤดาภินิหาร  การเต้นรองเง็ง  หรืออื่นๆ  การจัดชุดการแสดงส่วนใหญ่นั้นจัดเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญ  เพื่อบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของความเป็นอารยะชนคนไทย  ที่มีความสงบสุขมาเป็นเวลาหลายปี  แล้วเรามีความเป็นเอกลักษณ์ภายใต้การปกครองที่ดีงามมาแต่อดีต  ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการแสดงในครั้งนี้อาจมีอย่างหลากหลาย เพื่อเป็นสิริมงคลด้วยก็ได้

๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์ ตามนัยที่กล่าวนี้พบว่าในเทศกาลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประเพณีของคนไทยมีมากมาย  เช่น  งานปีใหม่  ตรุษสงกรานต์  ลอยกระทง วันสาร์ท เป็นต้น เมื่อรวมความแล้วเราพบว่ากิจกรรมที่หลากหลายนี้มีบางส่วนปรากฏเป็นความบันเทิงมีความสนุกสนานรื่นเริง  เช่น  อาจมีการรำวงของหนุ่มสาว  หรือความบันเทิงอื่น ๆ บนเวทีการแสดง  นอกจากนี้อาจรวมถึงการออกกำลังกายในสถานการณ์ต่าง ๆ  เราพบว่าปัจจุบันนี้จากประสบการณ์จัดกิจกรรมมักเกิดเป็นรูปแบบการแสดงที่สวยงามตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

๕.  เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดง และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน

องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย

องค์ประกอบที่ทำให้นาฏศิลป์ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสวยงามโดดเด่น และบ่งบอกถึงความมีอารยะธรรมทางด้านศิลปะ มาแต่อดีตกาล   คือ  ลีลาท่ารำ  การขับร้องเพลงไทย  ดนตรีไทย  และการแต่งกาย  ดังนี้

๑.  ลีลาท่ารำ  หมายถึง  กระบวนการเคลื่อนไหวของอวัยวะร่างกายของนักแสดงสื่อออกมาในลักษณะต่าง ๆ เช่น  สื่อแทนคำพูด  แทนอากัปกิริยาที่กำลังปฏิบัติอยู่  หรือสื่อถึงกิจกรรมที่เป็นเป้าประสงค์สำหรับการทำงาน  เป็นต้น  ท่ารำที่เข้ามามีบทบาทต่อการแสดงนั้น  มาจากหลายแหล่ง  เช่น   นาฏยศัพท์   ภาษาท่าทางนาฏศิลป์   และการตีบท  กล่าวคือ

                  ๑.๑  นาฏยศัพท์  หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกท่ารำทางนาฏศิลป์ หรือการละคร การฟ้อนรำ การสร้างสรรค์ท่ารำที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ไทย ผู้แสดงจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการร่ายรำอันจะส่งผลถึงความประณีตของท่วงท่าที่สร้างสรรค์ของศิลปินที่งดงามลงตัวนาฏยศัพท์ที่บรมครูผู้เชี่ยวชาญได้สร้างสรรค์ไว้พอจะรวบรวมได้คือ นามศัพท์ กิริยาศัพท์ และนาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด

      ๑.๒  ภาษาท่าทางนาฏศิลป์  หมายถึง  ภาษาที่ใช้สำหรับการสื่อสารของนักแสดงเพื่อให้เข้าใจโดยใช้ท่าทางนาฏศิลป์เป็นตัวสื่อไม่ใช้คำพูด  เป็นอวจนะภาษาอย่างหนึ่ง  หรืออีกนัยหนึ่งนั้นคือภาษาใบ้  ส่วนใหญ่จะใช้อากัปกิริยาของอวัยวะร่างกายเป็นตัวสื่อสารเพื่อบอกอาการความต้องการให้ผู้รับสารเข้าใจในการสื่อสาร   ภาษาท่าทางนาฏศิลป์มีปรากฏอยู่ในการแสดงละคร  หรือบทระบำของละครไทยบางเพลงก็มี 

                กิริยาท่าทางที่ปรากฏออกมาทางอวัยวะของร่างกาย  สีหน้าและอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นมา  สามารถจำแนกได้เป็น  ๓  ประเภท  คือ  ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด  ท่าซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ  และท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน 

                      ๑.๓  การตีบท  หมายถึง  การใส่ท่าทางตามบทร้องหรือบทเพลงเพื่อสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจตามความหมายและอารมณ์ของเพลง โดยทั่วไปเพลงที่จะนำมาประดิษฐ์ท่ารำจะต้องมี ๒ ลักษณะ  คือเพลงบรรเลง  หมายถึง  เพลงที่มีแต่ทำนองและจังหวะ  ไม่มีเนื้อร้องประกอบ  และเพลงมีบทร้อง  หมายถึง  เพลงที่มีทั้งทำนอง จังหวะ  และเนื้อเพลงบรรยายอิริยาบทของตัวละครประกอบด้วย  กรณีที่เพลงเป็นเพลงบรรเลงนั้นนักนาฏยประดิษฐ์ก็จะลดภาระของการใส่ท่ารำลง  แต่ถ้าหากว่าเป็นเพลงที่ต้องใช้บทร้องประกอบ  เช่น  เพลงแม่บท  เพลงกฤดาภินิหาร  หรือจะเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ในโอกาสอันสมควร  กล่าวคืออวยพรในโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล  หรืองานในโอกาสพิเศษอื่น ๆ  ถ้าหากบทเพลงมีเนื้อร้องก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้การตีบทมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน  จากประสบการณ์ของผู้เขียนเห็นว่าการใส่ท่ารำตามบทมีหลักสำคัญต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐาน  คือ  ท่ารำที่เป็นแบบแต่โบราณ  เช่น  ท่ารำที่ปรากฏในการรำแม่บทใหญ่  แม่บทเล็ก  และท่ารำที่เป็นท่าระบำ  คือท่ารำที่ปรากฏในชุดการแสดงระบำต่าง ๆ  นั่นเอง

๒. การขับร้องเพลงไทย เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพลงไทยมีเอกลักษณ์ คือ การเอื้อน ที่สร้างความไพเราะ และบทร้องใช้ภาษาทางวรรณกรรม ก่อให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม หวั่นไหวไปตามเรื่องราวของบท   สามารถแบ่งประเภทของการขับร้องเพลงไทยเดิม แบ่งได้  ๔ วิธี

      ๒.๑ การร้องลำลอง  หมายความถึง  คนร้องร้องไปตามทำนองของตน และดนตรีก็บรรเลงประกอบไปโดยใช้ทำนองส่วนของตนต่างหาก แต่ทั้งคนร้องและคนบรรเลง จะต้องใช้ลูกฆ้องหรือเนื้อเพลงแท้ๆอย่างเดียวกัน เพียงแต่คนร้องบรรจุคำร้องลงไปตามลูกฆ้อง ส่วนนักดนตรีแปรลูกฆ้องเป็นทำนองเต็ม (Full Melody) ให้เข้ากับเครื่องดนตรีที่บรรเลง เพลงที่ใช้ร้องลำลอง มักจะเป็นเพลงที่ฟังได้ไพเราะ เช่น เพลงเต่าเห่ เพลงช้าสร้อยสน เพลงตุ้งติ้ง เพลงกลองโยน เป็นต้น

      ๒.๒  การร้องคลอ  หมายความถึง  คนร้องร้องพร้อมไปกับดนตรี โดยผู้บรรเลงจะต้องบรรเลงดนตรีให้เข้ากับทางร้อง เพื่อฟังได้กลมกลืน เพลงที่จะร้องคลอได้ไพเราะ จะเป็นเพลงจำพวกเพลงสองชั้นธรรมดาทั่วไป

      ๒.๓  การร้องส่ง หรือการร้องรับ  หมายความถึง  คนร้องร้องขึ้นก่อน เมื่อจบแล้ว ดนตรีจึงรับด้วยลูกฆ้องเดียวกัน เพียงแต่ว่าการร้องนั้น ผู้ร้องถอดลูกฆ้องออกมาเป็นเอื้อน แต่ดนตรีถอดลูกฆ้องออกมาเป็นทำนองเต็ม (Full Melody)   การร้องส่งหรือการร้องรับนี้ ดนตรีจะต้องมีการสวมร้องด้วย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการร้องที่ช้า และการบรรเลงที่ค่อนข้างรวดเร็ว และเพื่อความกลมกลืนในการบรรเลงด้วย

      ๒.๔  การร้องเคล้า  หมายความถึง  คนร้องร้องไปตามทำนองเพลงของตน ส่วนดนตรีก็บรรเลงประกอบไปโดยใช้ทำนองส่วนของตน คล้ายๆกับการร้องลำลอง แต่การร้องเคล้านี้ ดนตรีกับร้องเป็นคนละอย่างกัน แต่เมื่อร้องกับดนตรีเคล้าประสานกันแล้ว ทำให้มีความไพเราะเป็นอย่างยิ่ง

๓. ดนตรีไทย  หมายถึง  เป็นเสียงที่เกิดจากความสั่นสะเทือนของวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น หรือจากเสียงของมนุษย์เอง ทำให้เกิดทำนอง สูง ต่ำ มีช่วงจังหวะสม่ำเสมอ  ดนตรีไทยเกิดขึ้นจากการผสมวงที่เป็นเอกลักษณ์โดยการนำเอาเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชิ้นมาผสมผสานเสียงจนสามารถรวมเป็นวงใหญ่   สามารถแบ่งตามประเภทของการบรรเลงที่เป็นระเบียบมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันเป็น ๓ ประเภท คือ  วงปี่พาทย์  วงเครื่องสาย  และวงมโหรี  ดังนี้

     ๓.๑  วงปี่พาทย์  หมายถึง วงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นสำคัญ  เช่น  ฆ้อง  กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่  ปี่  นอกจากนั้น วงปี่พาทย์ยังแบ่งไปได้อีกคือ วงปี่พาทย์ชาตรี,             วงปี่พาทย์ไม้แข็งวงปี่พาทย์เครื่องห้าวงปี่พาทย์เครื่องคู่วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่วงปี่พาทย์ไม้นวมวงปี่พาทย์มอญวงปี่พาทย์นางหงส์

    ๓.๒  วงเครื่องสาย  หมายถึง  วงดนตรีที่เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี  ๔  แบบ คือ วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว,วงเครื่องสายเครื่องคู่,วงเครื่องสายผสม,วงเครื่องสายปี่ชวา

    ๓.๓ วงมโหรี  ในสมัยโบราณเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น "มโหรีเครื่องสาย" "มโหรีปี่พาทย์" ในปัจจุบัน มโหรี ใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะวงบรรเลงอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเครื่อง ดีด สี ตี เป่า มาบรรเลงรวมกันหมด ฉะนั้นวงมโหรีก็คือวงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ ผสมกัน วงมโหรีแบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่,วงมโหรีเครื่องหก,วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก,วงมโหรีเครื่องคู่

๔.  การแต่งกาย   หมายถึง   เครื่องห่อหุ้มร่างกายของนักแสดง  เพื่อความสวยงาม  ตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่ต้องการของการแสดงนั้น ๆ  นอกจากนี้การแต่งกายยังเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของความเป็นไทย การแต่งกาย ของนาฏศิลป์ เน้นความประณีตบรรจง การสร้างเครื่องแต่งกาย การแสดง เพื่อบ่งบอก ฐานะ อุปนิสัย รสนิยมความคิดอ่าน อาชีพ และบทบาทของตัวละคร  การแต่งกายของการแสดงไทย  มีระเบียบปฏิบัติที่งดงาม  สามารถแต่งได้หลายแบบ  เช่น แต่งแบบศิลปะละครรำ   แต่งแบบสี่ภาค และแต่งแบบประยุกต์อื่น ๆ ทั้งนี้รูปแบบการแต่งกายนั้นจะต้องสื่อถึงชุดการแสดงนั้น ๆ ด้วย

              

ประเภทของการแสดงนาฏศิลป์

ประเภทของการแสดงนาฏศิลป์ไทย แบ่งออกตามลักษณะของรูปแบบการแสดง เป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้   ๔  ประเภท คือ  โขน  ละคร  รำ  ระบำ  และนาฏศิลป์พื้นเมือง  ดังนี้

๑. โขน  หมายถึง  เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีเอกลักษณ์คือ ผู้แสดงจะต้องสวมหัวที่เรียกว่าโขน และใช้ลีลาท่าทางการแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ การเจรจาของผู้พากย์และตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ด้วยวงปี่พาทย์ เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องต้น เรียกว่า การแต่งกายแบบ “ยืนเครื่อง” มีจารีตขั้นตอนการแสดงที่เป็นแบบแผน นิยมจัดแสดงเฉพาะงานพิธีสำคัญ ได้แก่ งานพระราชพิธีต่าง ๆ

๒. ละคร  หมายถึง  เป็นศิลปะการร่ายรำที่เล่นเป็นเรื่องราว มีพัฒนาการมาจากการเล่านิทาน ละครมีเอกลักษณ์ในการแสดงและการดำเนินเรื่องด้วยกระบวนลีลาท่าทาง เข้าบทร้อง ทำนองเพลงและเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มีแบบแผนการเล่นที่เป็นทั้งของชาวบ้านและของหลวงที่เรียกว่า ละครโนราชาตรี ละครนอกและละครใน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงคือ พระสุธน สังข์ทอง คาวี อิเหนา   อุณรุท นอกจากนี้ยังมีละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่อีกหลายชนิด การแต่งกายของละครจะเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า การแต่งกายแบบยืนเครื่อง นิยมเล่นในพิธีสำคัญและงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์

๓. รำและระบำ  หมายถึง   เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลงดนตรีและบทขับร้อง โดย ไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำและระบำที่มีลักษณะเป็นการแสดงแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายที่จะอธิบายได้พอสังเขปดังนี้

      ๓.๑  รำ  หมายถึง    ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ ๑-๒ คน  เช่นการรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบท    ขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้น ๆ  เช่น  รำเพลงช้า – เพลงเร็ว  รำแม่บท  รำเมขลา – รามสูร  เป็นต้น

      ๓.๒  ระบำ  หมายถึง  ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกัน กระบวนท่าร่ายรำคล้ายคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี ซึ่งระบำแบบมาตรฐานมักบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ การแต่งกายนิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ – นางหรือแต่งแบบนางในราชสำนัก เช่น ระบำสี่บท ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่ง

๔. การแสดงพื้นเมือง  หมายถึง  เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีทั้งรำ  ระบำ หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนตามวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ในเริ่มแรกนั้นเข้าใจว่าคงปรากฏในรูปแบบ  การละเล่น หมายถึง  การเล่นดนตรี การเล่นเพลง  การเล่นรำ ส่วนการเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เรียกว่า มหรสพหรือศิลปะการแสดงพื้นเมือง ซึ่งหมายถึง สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ 

            ต่อมามีวิวัฒนาการเป็นการละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงใด ๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันใน ระหว่างประชาชน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล การแสดงต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ใช้ถ้อยคำสุภาพ แต่งกายสุภาพถูกต้องตามความนิยมและวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง ซึ่งการละเล่นพื้นเมือง จะไม่เป็นอาชีพหรือเพื่อหารายได้ จะมีดนตรีหรือการขับร้อง หรือการฟ้อนรำประกอบก็ได้  การละเล่นพื้นเมือง   แบ่งเป็น ๒ ประเภท  คือ  เพลงพื้นเมือง  และการแสดงพื้นเมือง  ดังนี้

      ๔.๑  เพลงพื้นเมือง  หมายถึง  เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลง ไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่นของตน นิยมร้องเล่นกันในเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมรื่นเริง   เช่น   ตรุษสงกรานต์   ขึ้นปีใหม่   ทอดกฐิน   ทอดผ้าป่า   และในการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมาเนื้อความของเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องกัน มักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ปะทะคารมกัน ในด้านสำนวนโวหาร สิ่งสำคัญของการร้องคือ การด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่าย

       ๔.๒  การแสดงพื้นเมือง  หมายถึง การละเล่นที่มีการแสดงการร่ายรำ  มีเพลงดนตรีประกอบ   ที่ได้วางเป็นแบบแผน และนิยมเล่นหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนแพร่หลายการแสดงพื้นเมือง อาจเกิดจากการบูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์   เช่น   ขอให้สิ่งที่ตนนับถือประทานสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ปรารถนา  นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริง  การแสดงพื้นเมืองสามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคได้  ๔ ภาค  ดังนี้

   ๔.๒.๑  การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เป็นศิลปะการรำ และการละเล่นหรือที่

นิยมเรียกกันทั่วไปว่า“ ฟ้อน ” การฟ้อนเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ เช่น  ชาวไต  ชาวลื้อ  ชาวยอง  ชาวเขิน  เป็นต้น   ลักษณะของการฟ้อน แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ แต่ยังคงมีการรักษาเอกลักษณ์ทางการแสดงไว้คือมีลีลาท่ารำที่แช่มช้า อ่อนช้อยมีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงามประกอบกับการบรรเลงและขับร้องด้วยวงดนตรีพื้นบ้าน เช่น  วงสะล้อ ซอ ซึง  วงปู่เจ่วงกลองแอว เป็นต้น โอกาสที่แสดงมักเล่นกันในงานประเพณี หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนสาวไหม และฟ้อนเจิง

 ๔.๒.๒  การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชนชาว

พื้นเมืองภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม   ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีและเพื่อความบันเทิงสนุกสนานเป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศกาลฤดูเก็บเกี่ยว  เช่น  การเล่นเพลงเกี่ยวข้าว  เต้นกำรำเคียว รำโทนหรือรำวง  รำเถิดเทิง  รำกลองยาว  เป็นต้น  มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน  เช่น  กลองยาว  กลองโทน  ฉิ่ง  ฉาบ  กรับ  และโหม่ง

                         ๔.๒.๓  การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้านภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  แบ่งได้เป็น ๒  กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ คือ กลุ่มอีสานเหนือ   มีวัฒนธรรมไทยลาวซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า “ เซิ้ง และหมอลำ”  เช่น เซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งสวิง  ฟ้อนภูไท  ลำกลอนเกี้ยว  ลำเต้ย  ซึ่งใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบ ได้แก่ แคน พิณ ซอ กลองยาวอีสาน ฉิ่ง ฉาบ ฆ้องและกรับ ภายหลังเพิ่มเติมโปงลางและโหวดเข้ามาด้วย ส่วนกลุ่มอีสานใต้ได้รับอิทธิพลไทยเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า เรือม หรือ เร็อม เช่น เรือมลูดอันเร หรือรำกระทบสาก รำกระโน็บติงต๊อง หรือระบำตั๊กแตนตำข้าว รำอาไย หรือรำตัด หรือเพลงอีแซวแบบภาคกลาง วงดนตรีที่ใช้บรรเลงคือ วงมโหรีอีสานใต้ มีเครื่องดนตรีคือ ซอด้วง   ซอตรัวเอก   กลองกันตรึม พิณ ระนาดเอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนาและเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายปร

หมายเลขบันทึก: 348774เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท