บันทึกการเมืองไทย : ตีความโดยไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร แย้งโดย โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์


อ่านบทความวิชาการของ รศ. ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้ที่นี่   และความเห็นแย้งของ รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ดังนี้

          เรียนทุกท่าน
          อ. ไชยรัตน์กล่าวว่า
          "the Red Shirt movement is an aesthetic movement because it is an attempt to reconfigure the existing partition of the sensible in Thai politics by replacing the hierarchical (police) logic with equality."

          แต่ผมกลับเห็นว่าการมองขบวนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเป็น "aesthetic movement" จะทำให้ภาพของขบวนการนี้ เป็นเพียงเท่านั้นไป กล่าวคือเป็นเพียงแค่ "ภาพ" หรือ "ผลงานทางศิลปะ" ซึ่งเรา (หมายถึงผู้อ่านงานของ อ. ไชยรัตน์และมองภาพเป็นแบบนี้) เป็นผู้เสพหรือรับรู้ผลงานนั้นๆ การมองว่าขบวนการนี้มี "ความงาม" เป็นการลดน้ำหนักของการต่อสู้ ทำให้ชาวเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในสังคม กลายเป็นเพียงกลุ่มศิลปินที่มาเพียงสร้างสรรค์ความบันเทิง หรือมาแสดงละครให้คนอย่าง อ. ไชยรัตน์ดูเท่านั้น

          ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ศิลปะไม่มีที่ยืนในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง แต่หมายความว่า การมองขบวนการต่อสู้เป็น "การเคลื่อนไหวทางสุนทรียะ" (aesthetic movement) เป็นการลดความ serious ของการต่อสู้ ทำให้ขบวนการนี้เป็นเหมือนกับเล่นปาหี่เท่านั้นเอง

          โสรัจจ์


          ภาควิชาปรัชญา

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ มี.ค. ๕๓
        
         
      

หมายเลขบันทึก: 348207เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แต่ผมกลับเห็นว่าการมองขบวนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเป็น "aesthetic movement" จะทำให้ภาพของขบวนการนี้ เป็นเพียงเท่านั้นไป กล่าวคือเป็นเพียงแค่ "ภาพ" หรือ "ผลงานทางศิลปะ"-โสรัจจ์

     ผมเกรงว่าผู้อ่านที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวจะเผลอเข้าใจอะไรผิดไป ก็เลยอยากจะอธิบายเนื่องจากติดตามงานของไชยรัตน์มาพอควร ก่อนอื่น aesthetic ที่ไชยรัตน์ใช้นั้นเป็น technical term สุนทรียศาสตร์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการชื่นชมดื่มด่ำในความสวยงามของศิลปะอย่างที่นิยมเข้าใจผิดกัน แต่ไชยรัตน์ใช้ในความหมายแบบเดียวกับที่นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อฌาคส์ ร็องซีแยร์ใช้ กล่าวคือ เป็นเรื่องของการรับรู้ในสิ่งที่มองไม่เห็น พูดไม่ได้ คิดไม่ถึง หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน

     ร็องซีแยร์ใช้สุนทรียศาสตร์ในความหมายของการแบ่งแยกการรับรู้ของคนในสังคม (the partition of the perception) ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจโลกรอบตัว การแบ่งแยกการรับรู้นี้ เป็นตัวกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้ ทำได้ พูดได้ มองเห็นได้ เป็นต้น ไม่ต่างไปจากสุนทรียศาสตร์ของศิลปะก็คือระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดว่าอะไรคืองานศิลปะ การกระทำใดที่จะถือว่าเป็นศิลปะ เป็นต้น

    ยกตัวอย่าง ในการพิจารณาคดีนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ที่ชื่อออกุสต์ บล็องกี ผู้พิพากษาถามบล็องกีว่ามีอาชีพอะไร? เขาตอบว่า "แรงงาน" (proletarian) เมื่อได้ยินคำตอบ ผู้พิพากษาก็บอกแก่บล็องกีว่าแรงงานไม่ใช่อาชีพ แต่บล็องกีก็แย้งว่า "แรงงานเป็นอาชีพของคนฝรั่งเศส 30 ล้านคนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการขายแรงงานและเป็นกลุ่มคนที่ถูกตัดสิทธิต่างๆ ทางการเมือง" ในที่สุดศาลก็ยอมให้บันทึกสิ่งที่เรียกว่า "แรงงาน" ให้เป็นอาชีพหนึ่งในระบบการแบ่งแยกการรับรู้ของสังคมฝรั่งเศสและนี่คือสิ่งที่ร็องซีแยร์เรียกว่า สุนทรียศาสตร์ของการเมือง ก่อนหน้าบล็องกี "แรงงาน" ไม่ได้ถูกนับรวมให้เป็นอาชีพในสังคมฝรั่งเศส เพราะในระบบการแบ่งแยกการรับรู้เรื่องอาชีพของคนฝรั่งเศส แรงงานไม่ใช่อาชีพ ก่อนหน้าบล็องกี ชนชั้นแรงงาน (เทียบได้กับพวกประชดตนเองว่าเป็น "ไพร่" ในกรณีของไทย) เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย (ในสายตาของชนชั้นนำ) เป็นความว่างเปล่าสำหรับพลเมืองฝรั่งเศสที่มีสิทธิและมีส่วนในกระบวนการปกครองของสังคมฝรั่งเศส ชนชั้นแรงงานเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น รับรู้ไม่ได้ และไม่มีเสียงในสังคมฝรั่งเศส มีฐานะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ในความหมายที่ไม่สามารถพูด ทำได้แต่เพียงส่งเสียงร้องที่ไม่มีความหมายใดๆ ไม่มีใครฟังในสังคมฝรั่งเศส บล็องกีทำให้สิ่งที่ไม่ปรากฏปรากฏ ทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นเห็น ทำให้สิ่งที่ไม่ได้ยินได้ยิน 

     สุนทรียศาสตร์ของการเมืองในแบบของร็องซีแยร์จึงเป็นการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้

     ขอให้โสรัจจ์เข้าใจอะไรเสียใหม่ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท