รสวรรณคดีในขุนช้างขุนแผน


รสวรรณคดีในขุนช้างขุนแผน 

๑.      เสาวรจนี (รสแห่งความเพลิดเพลิน) ได้แก่บทชมโฉม ชมความงามของวัตถุสิ่งของ หรือชมธรรมชาติ

ตัวอย่าง เสาวรจนีในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนขุนแผนชมดง

   พระจันทรจรแจ่มกระจ่างแจ้ง      ส่องแสงช่อชูดูไสว

นางแย้มแย้มยิ้มอยู่ริมไพร             เหมือนที่ไร่ฝ้ายพิมเจ้ายิ้มแย้ม

ซ่อนชู้ชูช่ออรชร                            เหมือนเราซ่อนเป็นชู้คู่แฉล้ม

ซ่อนกลิ่นส่งกลิ่นประทิ่นแกม          เหมือนกลิ่นแก้มโฉมยงเมื่อส่งตัว

เล็บมือนางกางกลีบกะทัดรัด          เหมือนมือเจ้าปรนนิบัติพัดวีผัว

บานเย็นบานสะพรั่งฝั่งสระบัว         เหมือนเย็นเช้าเย้ายั่วอยู่กับน้อง

มะลิวัลย์พันระกำขึ้นแกมจาก         ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง

จำปีเคียงโศกระย้าผกากรอง         พี่โศกเศร้าเฝ้าตรองกว่าสองปี

อบเชยเผยกลิ่นกลั้วสุกรม             วันนี้ได้เชยชมสมสุขพี่

สายหยุดกุหลาบอาบอวลดี            ขอหยุดชมจูบทีเถิดสาวน้อย

๒.    นารีปราโมทย์ (รสแห่งความพิศวาส) ได้แก่ บทเกี้ยวพาราสี โอ้โลม เป็นรสในทางรักใคร่ 

ตัวอย่าง นารีปราโมทย์ในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง  ได้นางแก้วกิริยา

   น้องเอ๋ยเพราะน้อยหรือถ้อยคำ    หวานฉ่ำจริงแล้วเจ้าแก้วเอ๋ย

เจ้าเนื้อหอมพร้อมชื่นดังอบเชย      เงยหน้ามาจะว่าไม่อำพราง

ได้ชมชิดเข้าสนิทอย่างนี้แล้ว         ขอเชิญแก้วกิริยาเมตตาบ้าง

พี่จะมอบเสน่ห์ไว้ที่ในนาง               อย่าระคางข้องแค้นระคายเคือง...

 

...พระพายชายพัดบุปผชาติ          เกสรสาดหอมกลบตลบห้อง

ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง                 พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับยับ

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น   ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ

หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ             แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง

๓.    พิโรธวาทัง (รสแห่งความพิโรธ) ได้แก่ บทโกรธ ฉุนเฉียว บริภาษต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากอารมณ์เป็นส่วนใหญ่  

ตัวอย่าง ตัวอย่าง พิโรธวาทังในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนขุนแผนบริพาษนางวันทอง

...ตำแยเจ้าเอ๋ยมันแสนคัน           จะเท่ามันคนนี้หามีไม่

กลากเกลื้อนขี้เรื้อนพรรนัย          หยูกยาหาใส่ก็หายคัน

อีชาติชั่วเป็นตัวเท่าตัวหนอน       ไชชอนดิบเดี้ยมจนตัวสั่น

ถึงหายาให้สิ้นถิ่นสุพรรณ           วันเดียวก็จะสิ้นตำรายา

มึงตายเสียเถิดวันทองเอ๋ย           อย่าอยู่เลยชักดาบออกเงื้อง่า

กระทืบโผงผางกลางนาวา          จิกหัวเอามาฆ่าให้ตาย  

๔.  สัลลาปังคพิสัย (รสแห่งความโศกเศร้า) ได้แก่ บทเศร้าโศก คร่ำครวญ เวทนา สงสาร

ตัวอย่าง สัลปังคพิสัยในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนนางวันทองสั่งเรือน

...ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว  เกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี

จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี          จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ

ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม         จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ

ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ         จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป

ต้นน้อยน้อยลูกย้อยระย้าดี         ตั้งแต่นี้จะไปชมต้นไม้ใหญ่

จะทิ้งเรือนไปร้างอยู่กลางไพร    ยุงร่านริ้นไรจะตอมกาย

รากไม้จะต่างหมอนนอนอนาถ    ดาวดาษจะต่างไต้น่าใจหาย

ลงบันไดใจเจียนจะขาดตาย       น้ำตาตกกระจายพรั่งพรายลง

หมายเลขบันทึก: 344735เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆค่ะ

ได้ควมรู้มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท