อยุธยา : อิทธิพลของมุสลิมในสยามจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์


อิทธิพลของมุสลิมในสยามจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

(ที่มา : http://sites.google.com/site/reincarnationthailand/hnangsux-xatth-thrrm-payha/phra-rach-prawati-khxng-smdec-phra-pheth-racha)

               ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชาวมุสลิมได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั่งแต่สมัยใด เราได้ทราบว่าได้มีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศกลุ่มมุสลิมกับประเทศไทยมานานแล้ว จากหลักฐานว่าได้พบเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัยจำนวนมากมายที่ อินโดนีเชีย อิหร่าน ซึ่งชาวมุสลิมมีชื่อเสียงทางด้านค้าขายและการเดินเรือมาตั่งแต่สมัยโบราณ ซึ่งน่าจะมีการขยับขยายชนชาวมุสลิมมายังประเทศไทยจากการค้าขายนี้ก็เป็นได้

            ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กรมศิลปาการได้ทำการขุดกรุพระปรางวัดราชบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าสามพระยา (พ.ศ.๑๙๖๗-๑๙๙๑) ในบรรดาเครื่องสมบัติต่าง ๆ ที่พบนั้น ได้มีเหรียญทองอยู่สองอัน มีอักษรอาหรับว่า “สุลฏอนอัล-อาดิล” และอีกด้านหนึ่งว่า “ชัยนุลอาบิดีนมะลิก” เป็นเหรียญทองที่ทำขึ้นในประเทศแคชเมียร์ใน ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๖๕-๒๑๗ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าในสมัยนั้นได้ทำการติดต่อค้าขายกับประเทศมุสลิม

            ทำเนียบศักดินาในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) กรมใน สังกัดกรมพระคลังคือ “กรมท่าขวา” มี พระจุฬาราชราชมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ถือศักดินา ๑,๔๐๐ ไร่  มีหน้าที่ติดต่อกับพ่อค้าอินเดีย ชวา มาลายู ญวณ และต่อมากับพ่อค้าชาวอังกฤษ ข้าราชการส่วนใหญ่ในกลมนี้เป็นล่าม ส่วนในกรมภูษามาลามีชื่อแขกจริง ๆ ปรากฏอยู่ ๔ คนเป็นพวกช่างขุนชื่อ นายเวระกู นายครูป่า นายประหม่านันตี และนายเอระกะปี ถือศักดินาคนละ ๕๐ ไร่  นอกจากนั้นยังปรากฏในมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่ามี “อาสาจาม” และในจดหมายโบราณของไทยมีคำว่า “แขกเทศ” ซึ่งหมายถึงพวกมุสลิมที่มาจากอินเดีย เปอร์เซียและอารับ ชาวอินเดียเรียกคนต่างด้าวว่า “ปัรเดสี” (Pardesi) แผลงเป็นสำเนียงไทยว่า “ปรเทสี”  กลายเป็น “บรเทศ” ต่อมามีคนแปลบรเทศ เป็น “วรเชษฐุ์” ดังเรียกเพลงดนตรีว่า “เพลงแขกวรเชษฐ์”  ดังนั้นในอยุธยาตั่งแต่ก่อนสมัยสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีพวกเปอร์เชีย อาหรับ และอินเดียเข้ารับราชกาลอยู่ก่อนแล้ว

             เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ ขุนวรวงษาธิราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระยอดฟ้า ได้เกิดมีขุนนาง ๔ คนคิดกำจัดขุนวรวงษาธิราชและถวายราชสมบัติให้กับพระเฑียรราชา ขุนนางทั้ง ๔ คนนั้นคือขุนพิเรนทรเทพ(พระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ.๒๑๑๒-๒๑๓๓) ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศชาวบ้านลานตากฟ้า แขวงเมืองสุพรรณบุรี ในคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า ตำแหน่ง “หลวงศรียศ” อยู่ในทำเนียบขุนนางแขก เป็นแม่กองแขก ดังนี้ หลวงศรียศที่มาร่วมก่อการกับขุนพิเรนทรเทพคงจะเป็นแขกแท้หรือเป็นเชื้อชาติแขกที่บ้านลานตากฟ้าก็ได้ ราชทินนามแขกมักจะมีคำว่า “ศรี” เช่นในกรมขันที มีพระศรีมโนราช หลวงศรีมโนราช ในกรมท่าชั้นหลังมี “หลวงศรีวรข่าน” (รองพระจุลา) ในขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนซื้อม้าสีหมอก มีกลอนว่า

 

                                    “จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ

                       พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี

                       ไปตั้งอยู่มฤทเป็นครึ่งปี

                       กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป

                       ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า

                       ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่

                       ต้องรออยู่ฤดูลมแล่นใบ

                       เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา”


            ในสมัยที่การค้าเจริญรุ่งเรือง เจ้าเมืองมะริดและตะนาวศรีมักเป็น “แขก” เพราะพวกนี้ชำนาญการค้า หลวงทรงพลนั้นเป็น “เจ้ากลมอัศวราช” โดยตรง แต่ที่ใช้ “หลวงศรีวรข่าน” ไปซื้อก็เพราะ หลวงศรีวรข่านเป็นแขก ตำแหน่ง “ศรีวรข่าน” ในทำเนียบชั้นหลังเป็นรองพระจุฬา แต่สูงกว่าตำแหน่ง “ศรียศ”

            ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ได้มีชาวมุสลิมตั่งภูมิลำเนาค้าขาย อยู่บนบกก็มี แพก็มี ชาวมุสลิมในสมัยอยุธยาเรียกมัสยิดว่า “กุฎี” และบางครั้งก็เพี้ยนเป็น กะฎี หรือเขียนเป็น กะดี กล่าวกันว่าชาวไทยมุสลิมที่ปากคลองบางกอกใหญ่นั้นมีมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓-๒๑๗๑) กะดานจารึกอักษรอารับซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วนครั้งอยุธยาเสียกรุง (ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐) ลอยน้ำมา และชาวบ้านคลองบางกอกใหญ่เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดต้นสนมาจนบัดนี้ ก็เป็นหลักฐานอีกประการหนึ่ง     

เฉกอะหมัด

(ที่มา : http://th.wikipedia.org)

            ผู้ที่มีชื่อเสียงปรากฏแน่ชัด เป็นชาวเปอร์เซียสองพี่น้อง ผู้พี่ชื่อเฉกอะหมัด ผู้น้องชื่อมะหะหมัดสุอิด เข้ามาทำการค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๔ ตรงกับปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) ตั่งห้างค้าขายที่ตำบลท่ากายี

            แต่ต่อมามะหะหมัดสุอิดได้กลับออกไปบ้านเมืองตน ฝ่ายเฉกอะหมัดแต่งงานกับหญิงไทย ตั้งรกรากที่อยุธยา ทำการค้าร่ำรวย ครั้งรัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม เฉกอะหมัดได้เข้ารับราชการกรมท่า ทำให้งานในรัชกาลนั้นดีขึ้นเป็นอันมาก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  ออกญาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬา ราชมนตรี  เมื่อพระคลังคนเดิมถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้เฉกอะหมัดว่าการกรมท่ากลางด้วย เมื่อเกิดการจลาจลญี่ปุ่น เฉกอะหมัดและออกญามหาอำมาตย์ได้คุมทหารแขก ไทย จีนต่อต้านญี่ปุ่นจนได้รับชัยชนะ ความชอบครั้งนี้จึงโปรดตั่งให้เป็นออกญาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ว่าที่สมุหนายก

              ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกมุสลิมก้าวเข้ามามีอำนาจในงานราชการ และได้ชักจูงพวกพ้องเข้ามารับราชการมากยิ่งขึ้น สำหรับบุตรชายของเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีนั้นได้โปรดเกล้าให้เป็นออกญาบวรเชฐภักดี (ชื่น) ว่ามีกรมท่าขวา ว่าที่กรมท่าขวาแทนบิดา

            เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาทองปราบดาภิเษกได้ทรงโปรดให้ เฉกอะหมัดดำรงตำแหน่งสมุหนายกจนกระทั่งอายุ ๘๗ ปี จึงให้เลื่อนเป็นออกญาบวรราชนายก จางวางมหาดไทย และโปรดให้ออกญาบวรเชฐภักดี บุตรชายซึ่งมีอายุเพียง ๓๐ ปี ดำรงตำแหน่งแทนและพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาอภัยราชา สมุหนายก พระเจ้าประสาททองนอกจากกจะมีความสัมพันธ์กับเฉกอะหมัดในหน้าที่ราชการ แล้ว ในภายหลังยังเกี่ยวดองกัน เพราะเฉกอะหมัดและออกญาอภัยราชาได้ถวายบุตรสาวของตนทั้งสองเป็นพระสนม ในระยะนี้มีมุสลิมเข้ามาตั่งหลักแหล่งในอยุธยามากขึ้น และมีผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์หลายสิบคน แต่ละคนได้รับที่ดินและบ้านเรือนกันถ้วนหน้า อีกทั้งเจ้าเมืองสงขลาก็เป็นมุสลิม ชาวมุสลิมเหล่านี้เชี่ยวชาญทางด้านการเดินเรือและการค้า สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง จึงขึ้นอยู่กับชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่

            นอกจากจะมีสมุหนายกเป็นมุสลิมแล้ว พระเจ้าปราสาททองยังทรงมีพระคลังเป็นมุสลิมอีกด้วย เหตุนี้จึงทำให้พระองค์หันมาปรับปรุงการค้าทางด้านอ่าวเบงกอลจนเส้นทางการค้าแถบนี้ได้สะดวก มุสลิมเหล่านี้ได้ค้าขายแข่งกับฮอลันดาเรื่อยมา  จนสามารถผูกขาดและควบคุมเส้นทางการค้าทางด้านนี้ไว้ได้

            เมื่อสิ้นรัชสมัยของรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ได้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดิม คือการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเจ้านายชั้นสูง   ในที่สุดสมเด็จพระนารายณ์ทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์โดยความช่วยเหลือของชาวอิหร่าน ซึ่งมีหัวหน้าเป็นออกญาพระคลังมาตั่งแต่รัชกาลของพระราชบิดาของพระองค์ คือออกพระศรีเนาวรัตน์ ท่านผู้นี้เป็นผู้สนับสนุนให้มุสลิมได้เข้ามามีอาจทางการค้าและการปกครองในเมืองไทย เพราะปรากฏว่าในช่วงต้นรัชการสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าเมืองชายทะเลทางด้านฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย นับตั่งแต่เมืองตะนาวศรี มะริด ปราณบุรี เพชนบุรี และเมืองอื่น ๆ ตลอดทางเข้ามาจนถึง ล้วนแต่เป็นมุสลิมทั้งสิ้น

            เมื่อชาวมุสลิมมีอำนาจและผลประโยชน์ทางการค้าขายมากในน่านน้ำแห่งนี้ ทำให้พ่อค้าชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป จีน มาเก๊า มนิลา จึงไม่อยากมาค้าขายกับไทย โดยเฉพาะชาวฮอลันดา

            ชาวฮอลันดาไม่พอใจเพราะไม่สามรถขายแข่งกับชาวมุสลิมได้ และยังถูกขุนนางมุสลิมกีดกันทางด้านสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก จึงได้ทูลฟ้องให้สมเด็จพระนารายณ์เข้าพระทัยว่าเห็นการค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศเหล่านั้นเหตุใดจึงตกต่ำลงไปมาก พระองค์จึงทรงลงพระอาญาขุนนางชาวมุสลิมผู้กระทำผิด ออกญาพิชัย โดยริบทรัพย์ บังคับให้กินหมูเค็มและลูบไล้ร่างกายด้วยหมูจนทั่วตัว แล้วนำไปประหาร แต่กระนั้นพวกมุสลิมก็ยังมีอำนาจเช่นเดิม

            โดยเฉพาะในราชสำนัก ทั้งนี้เพราะชาวมุสลิมที่ชื่ออากอ มูฮัมหมัดได้ถวายคำปรึกษาการถ่ายถอดความรู้ทางด้านการปกครอง การทูต การจัดการพระราชวัง การครัว และการจัดประชุมพบปะ ให้แก่สมเด็จพระนารายณ์จนทรงพระปรีชาสามารถมากในหลายด้าน สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงศึกษาและทรงทราบดีถึงชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิม ในต้นรัชกาลทรงฉลองพระองค์ตามแบบพวกอิหร่านทุกอย่าง ทรงเหน็บกริช ทรงสวมหมวกแขก และยังทรงมีทหารรักษาพระองค์เป็นมุสลิมอีกด้วย ชาวมุสลิมยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการ เข้าเดือนออกเดือน และออกพระศรีเนาวรัตน์ในฐานะพระคลังได้รับสิทธิผูกขาดการค้าไม้บันดา

            นอกจากชาวต่างชาติแล้วยังมีขุนนางไทยไม่พอใจชาวมุสลิมเหล่านี้ด้วย ดังนั้นเมื่อออกพระศรีเนาวรัตน์ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งออกญาโกษาเหล็ก ซึ่งเป็นคนไทยให้ดำรงตำแหน่งนี้แทน พระองค์ทรงเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับอิหร่าน เพราะทรงทราบดีว่าไทยอยู่ในฐานะที่ต้องหาพันธมิตรไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการค้า    พระองค์จึงส่งทูตไปอิหร่านหลายครั้ง โดยปกติจะทรงใช้แขกมัวร์ แต่เผอิญในครั้งหนึ่งออกญาโกษาเหล็กมีเรื่องกับแขกมัวร์ ฟอลคอนในขณะรับราชการในสังกัดกรมพระคลังใต้บัญชาของออกญาโกษาเหล็ก จึงอาสานำคณะทูตไทยไปอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๓ คณะทูตได้เดินทางมาอย่างปลอดภัย และสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาดีเป็นสองเท่าที่แขกมัวร์เคยทูลเกล้าถวาย การที่ฟอลคอนขันอาสาในครั้งนี้นอกจากหวังความดีความชอบแล้ว ฟอลคอนยังไม่ชอบมุสลิมในฐานะที่ตนเป็นคริสตัง ทั้งยังต้องการจะขจัดอิทธิพลขอพวกมุสลิมทางด้านการค้า เพื่อตนเองจะได้ทำการค้าแทน

            นี่คือจุดเริ่มต้นของการแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางด้านการเมืองระหว่างชาวมุสลิมขั้วอำนาจเก่า และฟอลคอนขั้วอำนาจใหม่ชาวคริสตังผู้กำลังมาแรง ส่งผลให้เกิดเป็นเหตุการณ์กบฏมักกะสันในภายหลัง

 


            ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, พ.ศ.๒๕๔๕. หน้า ๑๒.

           วิไลเลขา ถาวรธนสาร, ประภัสสร บุญประเสริฐ, นันทนา เตชวะณิชย์, สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร.  พื้นฐานวัฒนธรรมไทย (HI 121). พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, พ.ศ.๒๕๔๒ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

         ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ ,พิมพ์ครั้งที่ ๔, มติชน: กรุงเทพฯ, ๒๕๔๕, หน้า ๑๕.

         พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. พิมพ์ครั้งแรก, บรรณกิจ : กรุงเทพ, ๒๕๒๓,หน้า ๑๗๑-๑๗๓. เฉกอะหมัดผู้นี้เป็นต้นสกุลบุนนาค  และมีลูกหลานรับราชการกับราชสำนักไทยสืบมาอีกหลายชั่วคน ตนเวลาต่อมาได้เปลี่ยนจากศาสนาอิสลามมาเป็นศาสนาพุทธ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ขุนนางสกุลบุนนาคมีส่วนในการเลือกพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๓, รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕

         ชื่อเชย  มีบุตรสามคนเป็นชายชื่อ ชื่นและชม ที่สามเป็นหญิงชื่อชี ภายหลังบุตรชื่อชมเป็นไข้ทรพิษถึงแก่กรรมเมื่อยังหนุ่ม

          เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม เนื่องจากพระศรีเสวภาคและขุนนางผู้ใหญ่หลายคนเสียชีวิตที่เกิดกบฏแย่งชิงราชสมบัติรวทมั้งออกญากรมนายไวซึ่งเป็นหัวหน้าทหารอาสาญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นทหารญี่ปุ่นจึงก่อการจลาจล แต่ในที่สุดพระเจ้าทรงธรรมอนุญาตให้พวกญี่ปุ่นออกจาอยุธยาโดยอิสระ แต่ญี่ปุ่นพวกนี้ได้เข้ายึดเมืองเพชรบุรี พระเจ้าทรงธรรมจึงทรงยกทัพไปปราบ และมีพระบรมราชโองการให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งพวกญี่ปุ่นก็เดินทางออกนอกประเทศโดยดี

         ทั้งสองเคยราชการร่วมกันครั้งแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ในการปราบจลาจลชาวญี่ปุ่น พระเจ้าปราสาททองในครั้งนั้นได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหกลาโหม

         ชาวฮอลันดาได้เข้ามาตั่งสถานีการค้า บริษัทอีสอินเดียตะวันออกของฮอลันดา กับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๗ การค้าได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในสมัยการจัดการของนายเยเนมีส ฟาน ฟรีต(Jeremias van Vlite) ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นอกจากการอำนวยการค้าแล้ว เขายังได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวประเทศสยามในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันนี้บันทึกของมีค่าทางประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก เรียกว่า พงศาวดารฉบับวัน วลิต

 

วาทิน ศานติ์ สันติ เรียบเรียง

บรรณานุกรม

จันทร์ฉาย ภัคอธิคม.ประวัติศาสตร์ไทยสมัยแรกเริ่มถึงสมัยธนบุรี. เล่ม๑. ๒. มหาวิทยาลัยรามคำแหง : กรุงเทพฯ.

­­ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ. พิมพ์ครั้งที่ ๔.  มติชน : กรุงเทพฯ. พ.ศ.๒๕๔๕.

พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. พิมพ์ครั้งแรก,  บรรณกิจ : กรุงเทพฯ. พ.ศ.๒๕๒๓.

รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต(วัน วลิต). ในวาระ ๔๐๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย –   เนเธอร์แลนด์, ฉบับปรับปรุง,  พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพ. พ.ศ.๒๕๔๘.

วิไลเลขา ถาวรธนสาร, และคณะ.  พื้นฐานวัฒนธรรมไทย (HI 121). พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. มหาวิทยาลัยรามคำแหง : กรุงเทพฯ. พ.ศ.๒๕๔๒.

ศิลปากร, กรม.  จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. จดหมาย มองซิเออร์ เวเรต์ ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๒๕ (ประชุมพงศาวดารภาคที่๔๑ ต่อ – ๔๒ - ๔๓). พิมพ์ครั้งที่ ๑,  องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร. ๒๕๒๒.  

__________, จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๔ (ภาคที่ ๕). พิมพ์ครั้งที่ ๑.  องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร. ๒๕๒๗.

___________, จดหมายเหตุฟอร์บัง  ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๕๐ ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๘๐.    ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร. ๒๕๑๓.

__________,  ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๒๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๔). ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ : องค์การค้าคุรุสภา : พระนคร.

__________,  พงศาวดารเรื่องฝรั่งเศสกับไทย ประชุมพงศาวดารเล่ม ๑๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่   ๒๗). พิมพ์ครั้งที่ ๑, : องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร. ๒๕๒๗.

__________,  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. สำนักพิมพ์คลังวิทยา : พระนคร. ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์.

__________,  เรื่องเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พงศาวดารเล่มที่ ๑๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่๑๕-๑๘). ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร. ๒๕๐๗.

อาทร จันทวิมล ดร. ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทย. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81_%28%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%29_.jpg สืบค้นเมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓

http://sites.google.com/site/reincarnationthailand/hnangsux-xatth-thrrm-payha/phra-rach-prawati-khxng-smdec-phra-pheth-racha สืบค้นเมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 343867เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออภัยอย่างสูงครับ กระผมได้ฟังเขาเล่ามาคงจะเป็นข่าวลือครับว่า เพลงแขกบรเทศถ้าเป็นประเภทชั้นเดียวใช้สำหรับเป็นบทเรียนดนตรีระดับขั้นต้นกับใช้ส่งพระเมื่อเสร็จพิธีกิจของสงฆ์ที่นิมนต์มา ส่วนเพลงต้นวรเชษฐ์ใช้ประกอบท่ารำสอนเด็กประถม ลองสืบค้นดูนะครับกระผมขอโทษและขออภัยอย่างสูงนะครับ

และวงดนตรีสังคีตสัมพันธ์นำชื่อมาใช้สับทำนองกัน

ขอเพิ่มอีกนิดก็แล้วกันครับ“เพลงต้นวรเชษฐ์”นี้ได้มีนักแต่งเพลงลูกทุ่งนำมาใส้คำร้องให้คุณสายันต์ สัญญาร้องชือ่ว่าเพลง กินข้าวกับอะไร และได้มีนักแต่งเพลงลูกทุ่งนำมาใส้คำร้องให้คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ร้องแก้ชื่อว่าเพลง กินข้าวกับน้ำพริก ครับ

คำว่า "ต้น" ไม่ใช่ต้นไม้หรือต้นไม้ต้นนั้นชื่อ ต้นวรเชษฐ ทางกระบวนเพลงดนตรีไทยกำหนดให้ใช้เป็นเพลงแรกของเรื่องนั้นๆเป็นต้นเพลง อย่างเช่นเพลง "ต้นเพลงฉิ่ง" คือการนำเอาเพลงฉิ่งมาเล่นเพลงแรก แต่ถ้าเรียก ตับต้นวรเชษฐ - ตับต้นเพลงฉิ่ง ก็จะมากประเภทหลายความขึ้นไป..ขอบคุณครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท