พราหมณ์ : ยัญญกรรมของพราหมณ์ ในยุคพระเวท


                ยุคพระเวท ประมาณ ๑,๕๐๐ – ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จุดมุ่งหมายสำคัญของยุคนี้คือการทำให้เทพเจ้าพอพระทัย เพราะมีความเชื่อว่า การที่มนุษย์อยู่บนโลกอย่างมีความสุขได้เพราะเกิดมาจากการปกป้องมองเหล่าปวง เทพทั้งปวงที่ต่างก็ทำหน้าที่ตามปรากกฎทางธรรมชาติ เช่นฝ้าร้อง ฝ้าผ่า ฝนตก แผ่นดินไหว ฯลฯ หมวดเพื่อความพึงพอใจของเหล่าบรรดาเทพเจ้า นักปราชญ์ทางศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้จึงต้องสวดมนต์สรรเสริญอำนาจของเทพเจ้า และประกอบพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้าแต่ละองค์ เครื่องมือสำคัญของพราหมณ์ในยุคพระเวทย์ที่สร้างอำนาจให้แก่พราหมณ์ เปรียบได้ดั่งกุญแจไขประตูสวรรค์ นั่นคือ คัมภีร์พระเวท

               ในตอนปลายของยุคพระเวทย์ อิทธิพลของพราหมณ์ได้ก้าวถึงจุดสุดยอดของพิธีกรรมทางศาสนา ยัญญะกรรมมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น ยัญญะกรรมกลายเป็นสิ่งที่พราหมณ์ใช้บังคับเทพเจ้าให้อำนวยสิ่งที่ตนปรารถนา หากทำให้ถูกต้องตามระเบียบวิธี ยัญญะกรรมนั้นจะบังคับให้เทพเจ้าที่ออกชื่อถึงในพิธีจะต้องอำนวยสิ่งที่ ประสงค์ให้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทำผิดขั้นตอนไปแม้แต่เพียงนิด ผลก็จะเป็นย่างอื่นไปในทันที (สุนทร ณ รังสี, ๒๕๒๑ : ๙) ยัญญะกรรมมีพิธีการที่โหดร้ายรุนแรงขึ้น มีความเชื่อถึงการยัญญะกรรมที่จะได้อานิสงค์มากกว่าการทำยัญญะทั่วไป ประกอบด้วยยัญญะกรรม ๔ ประเภท มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ให้ข้อมูลดังนี้ (http://www.old2005.mbu.ac.th/index.php?option=content&task=view&id=154&Itemid=89)

                ๑. อัศวเมธะ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. โคเมธะ ฆ่าโคบูชายัญ ๓. ราชสูยะ ฆ่าช้างบูชายัญ ๔. นรเมธะ ฆ่าคนบูชายัญ

                อัศวเมธะ เป็นเรื่องการบูชาเทวดา ภายหลังที่แผ่อาณาจักรสำเร็จ มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือประเพณีชาวฮินดู ว่า ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลา ๓ ปี มีการบูชาเทวดา ๓ องค์ คือ พระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยม เพื่อป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่าง ๆ พระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้เกิดแก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดี ๆ ให้ลูกม้านั้นกิน  ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน ๓ ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมาก และมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็เป็นอันทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า เจ้าชายแห่งประเทศต่าง ๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้ว จึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ เชื่อกันว่าเมื่อบูชาได้ครบ ๑๐๐ ครั้ง จะได้ไปเป็นพระอินทร์ ผู้มีอำนาจอยู่ในเมืองสวรรค์ ฉะนั้น พระอินทร์จึงเดือดร้อนไม่ใคร่ยอมให้ใครทำสำเร็จครบ ๑๐๐ ครั้ง เพราะเกรงจะไปแย่งตำแหน่งจึงมีการทำลายพิธีไม่ให้สำเร็จอยู่เสมอ
                โคเมธะ หรือการบูชายัญโดยการฆ่าโค เริ่มจาการเลือกโคที่มีลักษณะดี ไม่มีที่ตำหนิมาฆ่าบูชาเทวดา
                ราชสูยะ เป็นการประกาศพิธีราชาภิเษก มีการเชิญกษัตริย์ใน ประเทศใกล้เคียง มาร่วมพิธีบูชายัญนี้ด้วย เพื่อแสดงว่ามีสามัคคีธรรมต่อกันเป็นอันดี พิธีนี้มีการฆ่าช้างบูชายัญ เพื่อแสดงว่ามีสามัคคีธรรมต่อกันเป็นอันดี

                นรเมธะ การฆ่าคนบูชายัญสังเวยเทพเจ้า กษัตริย์ใช้เชลยศึกในสงครามบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเป็นการแสดงความขอบคุณที่ ได้ช่วยให้มีชัยในการรบ สถานที่ประกอบพิธีฆ่าคนบูชายัญมักจะอยู่บนยอดเขา หรือในที่ซึ่งปลอดจากชุมชน  จะมีโบสถ์ซึ่งสร้างขึ้นชั่วคราว ซึ่งจะมีเคารพของเทพเจ้าที่จะบูชาตั้งอยู่ ผู้ถูกทำพิธีบูชาจะถูกตัดศีรษะ และแขวนศีรษะไว้ในบริเวณใกล้เคียงนั้น บางครั้งการบูชายัญก็ไม่ถึงกับประหารชีวิต เพียงแต่ตัดจมูก ตัดหูของเชลยศึกแล้วก็ปล่อยไป การฆ่าคนบูชายัญนี้เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีข้อกำหนดว่า คนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์จะนำคนมาฆ่าบูชาด้วยตนเองไม่ได้ อาจเป็นด้วยผู้เขียนตำราบูชายัญเกรงภัยจะย้อนมาหาตนก็เป็นได้ ยังมีกฎเกณฑ์พิเศษว่า คนที่จะถูกฆ่าบูชายัญจะต้องไม่มีร่างกายพิกลพิการหรือเคยถูกลงโทษเพราะ ประกอบอาชญากรรมร้ายแรงใด ๆ อายุของคนที่ถูกฆ่ามิได้กำหนดไว้ ต่างกับสัตว์ที่นำมาบูชายัญจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี และมีร่างกายสมบูรณ์ไม่บกพร่องพิกลพิการ
                ประภัสสร บุญประเสริฐ (๒๕๔๘ : ๑๒๓ – ๑๒๕) ยังกล่าวถึงการบูชายัญอีกหนึ่งแบบคือ นิรัคฬะ เป็นการบูชายัญที่ฆ่าหมดทั้งสัตว์และคน การบูชายัญชนิดที่จะทำลายอุปสรรคทุกชนิด กล่าวคือการแก้ไขหรือฝ่าฟันอุปสรรคนั้น ผู้บูชาต้องฆ่าทั้งมนุษย์และสัตว์สังเวยเพทเจ้า เพื่อให้เทพเจ้าเห็นอกเห็นใจช่วยให้พ้นอุปสรรคต่าง ๆ 

                เมื่อผู้คนต้องการให้ได้บุญมาก ต้องการให้เทพเจ้าดลบันดาลผลได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาได้ตกอยู่ในมือของพราหมณ์ทั้งสิ้น ทุกพิธีล้วนแต่เป็นความลับ ชนชั้นวรรณะอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นการเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวศาสนาและเพิ่มความ สำคัญให้แก่พราหมณ์ ยุคพระเวทย์นับว่าเป็นยุคแห่งการปฏิวัติศาสนาที่สำคัญในอินเดีย

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

บรรณานุกรม

            สมัคร บุราวาศ. ปรัชญาพราหมณ์ในพุทธกาล. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๖.

            เสฐียร พันธรังสี. ศาสนาปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๙.

           สุนทร ณ รังษี. ปรัชญาอินเดีย ประวัติและลัทธิ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : พิพิธวิทยา. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

            ประภัสสร บุญประเสริฐ. ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

          http://www.old2005.mbu.ac.th/index.php?option=content&task=view&id=154&Itemid=89. สืบค้นเมื่อ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓.

หมายเลขบันทึก: 343865เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากเลยค่ะที่กรุณาใส่อ้างอิงไว้ให้ดูด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท