ภาษาศาสตร์ : พัฒนาการตัวอักษรและอักขรวิธีไทย ฉบับย่อ


ประเทศไทยในปัจจุบัน แม้ภาษาพูดจะมีสำเนียง  คำบางคำ ที่ต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ภาษาเขียนและอักขรวิธีนั้นใช้แบบเดียวกัน ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๑,๓๐๐ ปีของการพัฒนานั้นผ่านการลองผิดลองถูกจากมันสมองของบรรพบุรุษไทยตั้งแต่กษัตริย์ นักอักษรศาสตร์ นักบวช นักวิชาการไทยมาหลายต่อหลายครั้ง หลายรูปแบบ และหลายรุ่น จนกว่าจะมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน  เป็นมาตรฐานเดียวกัน สรุปพัฒนาการแบบสั้น ๆ ได้ดังนี้

                ราวพุธศตวรรษที่ ๑๒ พบจารึกรุนแรกของประเทศไทย ใน จ. อุบลราชธานี จ. ปราจีนบุรี คือ จารึกของเจ้าชายจิตเสน หรือมเหนทรวรมันแห่งอาณาจักรเจนละ ใช้ตัว อักษรคฤนถ์ หรือ ปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ ซึ่งเป็นอักษรของฝ่ายอินเดียใต้ที่แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ และพบจารึก เยธัมมา บนเหรียญกษาปณ์ ของอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

                ราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ ๑๕ เป็นต้นมา พบอักษร ขอมโบราณ ที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะ ทั่วบริเวณภาคอิสาน

                หลังจากพุทธศตวรรษ์ที่ ๑๕ อักษรขอมโบราณได้พัฒนาไปเป็น อักษรขอม

                ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อักษรมอญโบราณ ปรากฏที่อาณาจักรหริภุญชัย จ.ลำพูน และ จ. เชียงใหม่ ซึ่งพัฒนามาจากอักษรปัลลวะ

                พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย นำตัวอักษร มอญโบราณ และ อักษรขอมโบราณ (ซึ่งพัฒนามาจากอักษรปัลลวะทั้งคู่) มาจัดระบบอักขรวิธีใหม่โดยการวางสระไว้บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะและดัดแปลงรูปแบบ เรียกว่า ลายสือไทย เป็นต้นแบบของตัวอักษรไทยในปัจจุบัน

                ราว พ.ศ.๑๙๐๐ พระยาลิไทยแห่งอาณาจักรสุโขทัย พัฒนาระบบอักขรวิธีอักษรไทยโดยวางสระไว้รอบทั้งในบรรทัดและด้านบน ล่าง ของพยัญชนะ เรียกว่า อักษรสมัยพระยาลิไทย จากนั้นจึงแพร่กระจายเข้าไปในภาคเหนือ และปะปนกับ อักษรยวน กลายเป็น อักษรธรรมล้านนา บันทึกวรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา  และ อักษรฝักขาม บันทึกวรรณกรรมทางโลก แล้วแพร่กระจายต่อไปยังอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) และภาคอิสาน เรียกว่า อักษรธรรมอิสาน บันทึกเรื่องทางธรรม และ อักษรไทยน้อย บันทึกเรื่องทางโลก อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของ “อักษรลาวปัจจุบัน” อีกด้วย นับแต่นี้ไป วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา พระสงฆ์มีหน้าที่สอนหนังสือ

                อาณาจักรอยุธยา สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รูปสัณฐานตัวอักษรเปลี่ยนแปลงเป็นทรงเหลี่ยม เส้นตรงหักเหลี่ยมย่อมุม เรียกว่า อักษรไทยย่อ ใช้ในเอกสาราชการ ลักษณะตัวอักษรคล้ายปัจจุบัน เกิดหนังสือแบบเรียน จินดามณี มีสระครบทุกตัว วรรณยุกต์ ๒ รูป คือ เอก โท ในสมัยอยุธยาตอนปลาย พยัญชนะครบ ๔๔ ตัว  

                สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบวรรณยุกต์ครบทั้ง ๔ รูป คือ เอก โท ตรี จัตวา

                ในรัชกาลที่ ๓ แหม่มจัตสัน ชาวอังกฤษออกแบบหล่อตัวอักษรไทยที่ประเทศพม่า 

                พ.ศ. ๒๓๗๑ ร้อยเอกเจมส์ โลว์ ได้นำไปพิมพ์ที่เมืองกัลกาตาประเทศอินเดีย

                พ.ศ. ๒๓๗๙ หมอบลัดเลย์ ซื้อเครื่องพิมพ์อักษรไทยมาพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งโรงพิมพ์ครั้งแรกในปีเดียวกัน จากนั้นโรงพิมพ์ก็เจริญรุ่งเรื่องในเมืองไทย มีการปรับปรุงแบบเรียนจินดามนีอีกครั้ง

                พ.ศ. ๒๓๙๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชได้ประดิษฐ์ ตัวอักษรอริยกะ เพื่อใช้เขียนคำบาลี แต่ไม่เป็นที่นิยม

                ในรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงได้เสนอปรับปรุงอักขระวิธีอีการไทยเรียกว่า อักขรวิธีแบบใหม่ นำรูปแบบอักขรวิธีแบบตะวันตกมาประยุกต์โดยวางสระประสมกันไม่ตรงเสียง วางตัวพยัญชนะติดกันเป็นพืดไม่เว้นวรรค ไม่มีสระกำกับการออกเสียง แต่ไม่ได้ใช้เป็นราชการ

                พ.ศ. ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อำนาจผู้นำเปลี่ยนแปลงอักขระวิธีไทย โดยตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำออกไป ๑๓ ตัว ตัดสระออกไป ๕ ตัว ประกาศให้เป็นตัวหนังสือของทางราชการ และเลิกใช้เมื่อหมดอำนาจในปี พ.ศ. ๒๔๘๗

                พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมา อักขรวิธีไทยก็เข้าสู่รูปแบบปัจจุบัน

                และ นับตั้งแต่ ระบบอินเตอร์เน็ท เข้ามาในประเทศไทย เด็กไทยส่วนหนึ่ง ก็พัฒนาอักขรวิธีไทยให้ วิบัติ และ วินาศสันตะโร

ภาษาย่อมเป็นสื่อให้เรียนรู้วิชาการ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดความรู้สึกต่อกันในรูปแบบของวรรณกรรมในรูปแบบต่าง ๆ

               ภาษาไทยและอักขรวิธีไทย จึงเป็นเครื่องส่งเสริมจิตสำนึกของคนไทยให้รู้สึกถึงความเป็นไทยที่ใช้ภาษาเดียวกัน มีความผูกพันของคนทุกกลุ่มคนให้เป็นหนึ่งใจเดียวกัน เอกภาพของความเป็นชาติไทยย่อมมีพลังเข้มแข็งเมื่อคนไทยรู้สึกถึงความผูกพันและความสำคัญของภาษาไทยและอักขรวิธีไทย            

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสือประกอบการเขียน

ธวัช ปุณโณทก, ศาสตราจารย์, การอ่านจารึกสมัยต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

หมายเลขบันทึก: 343861เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดร้ายต่อชาติจงพินาศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท