ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ข้าวปุก ปุก ปุ๊ก... ข้าวเหนียวตำ วัฒนธรรมของหลายถิ่น


Gourmet & CUISINE , February 2010

ปุก ปุ๊ก ปุก ปุ๊ก...

                เสียงสากไม้ตำข้าวเหนียวร้อนๆ นึ่งใหม่ๆ หอมกรุ่นในครกไม้ขนาดใหญ่ เพื่อแปรรูปจากเมล็ดข้าวไปเป็นก้อนแป้งเนื้อนุ่มเนียน

                กิจกรรมนี้ได้เห็นครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีมาแล้วในหมู่บ้านชนพื้นเมืองจีนในมณฑลยูนนาน  ที่จัดโชว์พิธีแต่งงานให้นักท่องเที่ยวชม และมีส่วนร่วมแสดงบทเป็นเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวของหนุ่มสาวพื้นเมือง   

                การตำข้าวเหนียวเป็นส่วนหนึ่งของพิธีแต่งงาน  นัยว่าเจ้าบ่าวต้องแสดงพละกำลังให้ปรากฏแก่แขกเหรื่อทั้งหลาย  ซึ่งบททดสอบคือการตำข้าวเหนียว   เพราะต้องใช้แรงในการตำอย่างมาก  ก้อนแป้งที่ตำเสร็จแล้วก็แบ่งปันแจกจ่ายให้แก่แขกที่มาร่วมงานกินคนละนิดละหน่อย  กินเปล่าๆ นะคะ  ไม่มีเครื่องประกอบ

                ต่อมาก็เห็นการตำข้าวเหนียวคล้ายๆ กันในรายการทีวีของญี่ปุ่น   เป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งนักตำข้าวเหนียวมือหนึ่ง โดยใช้เกณฑ์ความเร็วและคุณภาพของก้อนแป้งที่ตำเสร็จแล้ว

                นี่ก็เหมือนกันตรงที่ใช้ครกไม้และสากไม้ในการตำข้าวเหนียว   รวมทั้งต้องใช้แรงมหาศาล 

                คนญี่ปุ่นนำก้อนแป้งที่ได้จากการตำ  มาทำขนมโมจิค่ะ   มีหลากหลายรูปแบบ   โมจิญี่ปุ่นจึงต่างจากโมจิไทยที่ขายแถวๆ จังหวัดนครสวรรค์ 

                ครั้งล่าสุด ฉันเจอข้าวเหนียวตำที่แม่ฮ่องสอน  ตอนแรกก็ไม่รู้ เพราะหน้าตาแปลกไป  ทำเป็นแผ่นกลมๆ แบนๆ สีม่วงดำ  วางซ้อนๆ กันโดยมีใบตอบคั่น   ป้ายเขียนบอกไว้ว่า “ข้าวปุก” “ข้าวปุกงาดำ”  “ข้าวปุ๊กงาดำ”  หน้าตาเหมือนกันแต่เรียกชื่อต่างกัน 

                ที่เป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นเพราะคำเรียกว่า ข้าวปุก ข้าวปุ๊ก มาจากการเลียนเสียงตำข้าว  เวลาที่สากไม้กระทบกับข้าวเหนียว  ซึ่งเป็นเรื่องปกติค่ะ  ไก่ฝรั่งยังส่งเสียงขัน “ค็อกกะดูเดิ้ลดู” เลย

                นิทานญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งกล่าวถึงการตำข้าวเหนียว มีการบรรยายเสียงตำว่า แปะ ตัง แป๊ะ ตัง ไม่ยักดัง ปุก ปุ๊ก ปุก ปุ๊ก เหมือนที่นี่

                ข้าวปุก มีทั้งที่ทำจากข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวดำค่ะ  ชาวไทยใหญ่นิยมทำเพื่อเลี้ยงพระและแจกเพื่อนบ้านในช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวข้าวประจำปีเสร็จแล้ว จะได้ข้าวใหม่มาตำ  ชาวไทยภูเขาหลายเผ่าทำข้าวปุกเลี้ยงกันในเทศกาลพิเศษต่างๆ

                ชาวไทยใหญ่ ชาวยูนนาน ชาวไทยภูเขา ทำข้าวปุกจากข้าวเหนียวดำ และผสมงาดำลงไปด้วย โดยมีสัดส่วนข้าวและงาประมาณ 3:1  แถมเกลืออีกนิดหน่อย  ก้อนแป้งที่ตำจนละเอียดนุ่มเหนียว จะนำมาแผ่เป็นแผ่นกลมๆ วางบนใบตอง 

                วิถีกินข้าวเหนียวตำแบบนี้  แตกต่างกันค่ะ  เท่าที่ฉันสำรวจดูแล้วมีดังนี้

                แบบที่หนึ่ง นำแผ่นข้าวปุกมาย่างไฟ  จนโป่งพองขึ้นมา ผิวนอกกรอบ เนื้อนุ่ม กินเปล่าๆ  โดยถือกัดกินทั้งชิ้น หรือจะตัดเป็นคำๆ แล้วจิ้มน้ำผึ้งหรือน้ำตาลกินก็ได้ 

                แบบที่สอง นำแผ่นข้าวปุกมาโรยน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดง พับทบครึ่ง แล้วนำไปย่างไฟให้พองจนผิวนอกกรอบ  และน้ำตาลด้านในละลาย

                แบบที่สาม  นำแผ่นข้าวปุกมาย่างไฟ  จนโป่งพองขึ้นมา ผิวนอกกรอบ เนื้อนุ่ม  จากนั้นโรยน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดงและงาดำ ม้วนพับแล้วใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นๆ  

                แบบที่สี่  ทำเหมือนแบบที่สาม แต่โรยทั้งน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดงและนมข้น  ซึ่งแบบนี้ ฉันตั้งชื่อให้เองว่า “โรตีสีดำ”

                ฉันเองชอบกินแบบที่สามค่ะ  และต้องคอยกำกับให้แน่ใจว่าคนขายย่างข้าวปุกให้กรอบทั่วทั้งแผ่น เพราะข้าวปุกที่อร่อยต้องกรอบนอกนุ่มใน และกินตอนที่ยังมีควันฉุยเท่านั้น! 

                ถ้ามีชาจีนร้อนๆ จิบไปพร้อมกับข้าวปุกด้วยแล้วละก็   สุดยอด..

                นี่คือภาพที่เก็บมาจากการชิมข้าวปุกที่เมืองปาย โดยมีเพื่อนๆเป็นนางแบบ

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวปุก
หมายเลขบันทึก: 342220เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 01:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอสูตรส่วนผสมหน่อยได้ไหม อยู่ USA อยากกินมากแต่ไม่รู่ส่วนผสมต้องทำยังบ้างค่ะ

ตามที่เขียนไว้เลยค่ะ ข้าวเหนียว:งาดำ 3:1 และเกลือนิดหน่อย

ตามที่เขียนไว้เลยค่ะ ข้าวเหนียว:งาดำ 3:1 และเกลือนิดหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท