หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บทเรียนการพัฒนาโภชนาการ : กรณีศึกษา ร.ร.สุดารัตน์วิทยาคม


โครงการกินดีมีสุข ของโรงเรียนสุดารัตน์ เป็นการต่อยอดงานพัฒนาโภชนาการของโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนในด้านการพัฒนาโภชนาการเพื่อนักเรียนในโรงเรียน

      ที่ลุ่มพื้นที่ราว ๑๖ ไร่ เป็นนาผืนใหญ่ที่เพิ่งจะผ่านการเก็บเกี่ยวมาไม่นานนัก

      ตอซังข้าวในผืนนา ถูกไถกลบเพื่อหมักเป็นธาตุอาหารสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

      ผลผลิตข้าวเปลือกจากนาผืนนี้ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วได้ถูกนำเก็บไว้ในฉางข้าว

      เรื่องราวอาจไม่น่าสนใจ หากทั้งผืนนาและฉางข้าวมิได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น อีกทั้งผลผลิตนั้นก็ถูกใช้ไปเพื่อโภชนาการสำหรับนักเรียนในโรงเรียน

      นาอยู่ในที่ลุ่ม รับน้ำซึ่งไหลผ่านมาจากตัวอำเภอกระนวน สภาพผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกข้าวทำนาของโรงเรียนจึงเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยมิได้ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งนี้มิใช่เป็นเพียงการลดต้นทุนในการผลิตและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่การได้ข้าวที่ปลอดภัยจากสารเคมีสำหรับหุงหาเป็นอาหารให้นักเรียนรับประทานก็เป็นเหตุผลประการสำคัญสำหรับการทำนาด้วยวิธีการนี้

 

      ที่ดอนถัดจากผืนนาขึ้นไป...

      เด็กนักเรียนหลายสิบคนต่างขมักเขม้นรดน้ำพืชผักในแปลงที่ตนเองลงเรี่ยวแรงปลูกไว้

      พืชผักหลายชนิด ยืนต้นอยู่บนผืนดินแห้งจากการแผดเผาของแสงแดดมาตลอดทั้งวัน เมื่อได้รับน้ำผืนดินเริ่มก็ชุ่มฉ่ำ น้ำที่ชะโลมรดลงไปช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้บรรดาพืชผักดูดซึมไปสร้างความเติบโตงอกงามให้กับก้านกิ่งใบ

      การรดน้ำพืชผักใช้เวลาไม่มากและไม่ยุ่งยากนัก เนื่องจากทางโรงเรียนได้วางระบบน้ำเพื่อการนี้โดยต่อน้ำไปเกือบถึงแปลงผักในแต่ละจุด นักเรียนเพียงนำสายยางมาเสียบกับก๊อกน้ำแล้วนำไปฉีดรดพืชผักในแปลงของตนเอง

      แปลงผักขนาดความกว้าง ๑ เมตร ยาว ๕ เมตร เรียงรายอยู่ในพื้นที่ราว ๑ ไร่ เจ้าของแต่ละแปลงผักคือนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ – มัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อยู่ในความดูแลโดยครูเกษตรของโรงเรียน

      การเรียนการสอนวิชาเกษตรซึ่งอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและแทคโนโลยี นักเรียนจะลงปฏิบัติจริงโดยการปลูกพืชผัก ทั้งนี้นักเรียนสามารถเลือกปลูกพืชผักได้ตามความต้องการของตนเอง บ้างก็ปลูกผักบุ้ง บ้างก็ปลูกผักคะน้า ผักสลัด กวางตุ้ง หอมแดง กระเทียม ฯลฯ บางแปลงก็มีส่วนผสมของพืชผักหลายชนิด โดยที่ทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์ผักตามความต้องการของนักเรียน รวมทั้งปุ๋ยคอกที่ใช้ในการบำรุงพืชผัก

      สำหรับการบำรุงดูแลรักษา รดน้ำพรวนดิน นักเรียนจะใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน และหลังจากเลิกเรียนในแต่ละวัน

      ในกรณีที่เป็นวันหยุดยาว โรงเรียนจะมอบหมายให้นักการภารโรงของโรงเรียนเป็นผู้รดน้ำแปลงผักทั้งหมดแทนนักเรียนเจ้าของแปลงผัก

      แปลงผักหลายสิบแปลงในที่ดอนแห่งนี้ บางแปลงไม่มีพืชผักแล้ว มีเพียงดินที่ถูกพรวนจนร่วนซุยพร้อมที่จะเพาะปลูกพืชผักได้ เนื่องจากพืชผักในแปลงได้ถูกเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้าแล้ว

      “ทางโรงครัวของโรงเรียน จะรับซื้อผักจากแปลงผักของนักเรียน เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารกลางวันสำหรับเลี้ยงเด็กทั้งโรงเรียน...”

      อ.สัมฤทธิ์ แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุดารัตน์วิทยาคม กล่าวถึงที่ไปของผลผลิตจากแปลงผักของนักเรียน

      พืชผักที่นักเรียนผลิตได้ จะนำไปจำหน่ายให้กับทางโรงอาหารของโรงเรียนก็ได้ หรือนำไปจำหน่ายในชุมชน จำหน่ายให้กับคุณครูในโรงเรียน กระทั่งนำไปเป็นอาหารที่บ้านก็ได้

      สำหรับการจำหน่ายให้กับโรงอาหารของโรงเรียน ทางโรงอาหารจะประกาศล่วงหน้า ๑ วัน ว่าต้องการผักชนิดใด ประเภทใดบ้าง ตกเย็นวันนั้นหรือเช้าวันรุ่งขึ้น นักเรียนที่ปลูกพืชผักตามความต้องการของโรงอาหาร ซึ่งเติบโตพอจะเก็บเกี่ยวได้แล้วก็จะเก็บเกี่ยวนำพืชผักของตนเองไปจำหน่ายให้กับโรงอาหาร

      เนื่องจากทางโรงเรียนเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยคอก และจัดทำระบบน้ำให้ หลังจากการจำหน่ายพืชผักของนักเรียน โรงเรียนจึงแบ่งรายได้นั้นออกเป้น ๓ ส่วน นำไปเป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป ๒ ส่วน และอีก ๑ ส่วนมอบให้แก่นักเรียนเจ้าของพืชผัก

      แม้รายได้เพียง ๑ ใน ๓ ของนักเรียนจะดูไม่มากในแต่ละรอบการเพาะปลูก แต่ก็มีคุณค่าสำหรับนักเรียนไม่น้อย ไม่เพียงเกิดความภาคภูมิใจในตนเองกับการหาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองเท่านั้น เด็กนักเรียนยังได้ฝึกคุณธรรมความรับผิดชอบต่อตนเอง การมีวินัยในตนเอง ความขยันหมั่นเพียร ความอดทนบากบั่นจากการทำงานนั้น ๆ ของตนเอง รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของนักเรียน

      และผลพวงประการสำคัญที่โรงเรียนได้รับจากการดำเนินงานเช่นนี้ คือ การเข้าถึงวัตถุดิบอาหารที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับนำมาประกอบเป็นอาหารให้นักเรียนภายในโรงเรียน

 

      โรงเรียนสุดารัตน์วิทยาคม เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดกลาง ตั้งอยู่ที่ ม.๑๐ ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ ๓ นักเรียนทุกคนในโรงเรียนจะรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดทำ

      เพราะต้องจัดทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโภชนาการของโรงเรียน กิจกรรมการทำนาของโรงเรียน รวมทั้งการปลูกพืชผักหลายสิบชนิดของนักเรียนจึงเป็นความพยายามของโรงเรียนในการจัดหา/ผลิตวัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนต่าง ๆ สำหรับนำมาประกอบอาหาร

      ราวกลางปี ๒๕๕๒ บริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด  ได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ “โครงการประกวดแผนส่งเสริมโภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เด็กไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยการกระตุ้นและผลักดันให้โรงเรียนเอาใจใส่อย่างจริง ๆ จัง ๆ ในการดูแลเรื่องการกินของเด็กนักเรียนให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักโภชนาการ

      ด้วยความสำคัญของการพัฒนาโภชนาการของนักเรียน โรงเรียนจึงเข้าร่วมโครงการ และได้ส่ง “โครงการกินดีมีสุข” เข้าร่วมประกวด ซึ่งได้รับการคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินงานตามโครงการนั้น

      โครงการกินดีมีสุข ของโรงเรียนสุดารัตน์ เป็นการต่อยอดงานพัฒนาโภชนาการของโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนในด้านการพัฒนาโภชนาการเพื่อนักเรียนในโรงเรียน

      กิจกรรมที่ได้ดำเนินการตามแผนฯ ได้แก่

      การให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการแก่นักเรียน โดยการบูรณาการเข้าสู่แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งทางโรงเรียนได้มอบหมายให้คุณครูผู้รับผิดชอบแต่ละกลุ่มสาระวิชาไปดำเนินการ

      การประกวดเขียนเรียงความ โดยให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ เขียนเรียงความในหัวข้อดังกล่าว            “ผักที่หนูชอบ”

      การประกวดรายการอาหารภายในหนึ่งวันทั้งสามมื้อ ตลอดหนึ่งสัปดาห์ โดยรายการอาหารในแต่ละมื้อและแต่ละวันจะต้องมีความหลากหลาย มีคุณค่า มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ รวมทั้งการคำนึงถึงอาหารที่ปรุง/ประกอบด้วยวัตถุดิบในพื้นถิ่น ฯลฯ

      สำหรับในการประกวดอาหารนั้น จะดำเนินการส่งประกวดเป็นทีม นักเรียนในโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ จะจับกลุ่มกันเป็นทีม ๆ ละ ๕ คน โดยไม่จำกัดว่าสมาชิกในกลุ่มจะต้องอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน

      คุณครูนิตยา ดอนลาดบัตร สะท้อนผลลัพธ์จากกิจกรรมนี้ว่า

      “กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการฝึกให้นักเรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการของตนเอง ออกมาเป็นผลงานประกวดแล้ว ยังเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องอาหารและโภชนาการด้วย...”

      อีกกิจกรรมหนึ่งที่ได้ดำเนินในโครงการฯ คือ “การประกวดการประกอบอาหาร” โดยเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่มีส่วนผสมของพืชผัก การแข่งขันนี้มีนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ จับกลุ่มจำนวน ๑๐ ทีมเข้าแข่งขัน

 

      การเข้าร่วมโครงการประกวดแผนส่งเสริมโภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน ของโรงเรียนสุดารัตน์นั้น ไม่เพียงทำให้เกิดกิจกรรมความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมโภชนาการภายในโรงเรียนดังกิจกรรมที่กล่าวมาเท่านั้น การเข้าร่วมโครงการฯ ยังส่งผลต่อการยกระดับงานส่งเสริมโภชนาการที่โรงเรียนได้ดำเนินการมาก่อนหน้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ดังที่ คุณครูนิตยา ดอนลาดบัตร กล่าวว่า

      “ทำให้งานโภชนาการของโรงเรียนดีขึ้น อย่างเรื่องการปลูกผัก เมื่อก่อนมีการดำเนินการก็จริง แต่ก็ยังไม่เป็นรูปร่างและจริงจังเหมือนเดี๋ยวนี้...

      ...เรื่องอาหารการกินของนักเรียนก็ดีขึ้น คุณภาพอาหารกลางวันดีขึ้น มีส่วนประกอบของผักมากขึ้น นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้รับประทานผักมากขึ้น...”

หมายเลขบันทึก: 341292เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชน ที่น่าสนใจมาก มีพื้นที่นารอบๆโรงเรียน ทำนาเพื่อนำข้าวไปเลี้ยงเด็กในโรงเรียน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็ก เด็กปลูกพืชผักสวนครัว นอกจากจะนำมารับประทานเป็นอาหารกลางวันเเล้ว ที่เหลือ นำไปขายเป็นรายได้ได้ด้วย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท